Skip to main content
sharethis

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นหนังสือถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้เร่งตรวจสอบและเยียวยา กรณีผู้ได้รับลูกหลงจากเหตุการณ์สลายชุมนุมถูกยิงกระสุนยาง อยู่ภาวะทุพพลภาพ หลานผู้ได้รับผลกระทบวอนให้ คฝ. มีความรับผิดชอบสังคม 

25 ก.พ. 2565 มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม รายงานว่า วันนี้ (25 ก.พ. 2565) เวลา 10.00 น. คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และตัวแทนมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ยื่นหนังสือเร่งตรวจสอบหนังสือร้องเรียน กรณีประชาชนผู้ได้รับลูกหลงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน กับ วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคารรัฐศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

สืบเนื่องจาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม รับเรื่องร้องเรียน มานะ หงษ์ทอง อายุ 64 ปี ประชาชนผู้อาศัยใกล้บริเวณแฟลตดินแดง กรุงเทพฯ ที่เกิดเหตุการณ์สลายการชมนุม ได้รับลูกหลงถูกยิงด้วยกระสุนยางบาดเจ็บสาหัส โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม เมื่อวันที่ (15 สิงหาคม 2564) ปัจจุบันอาการบาดเจ็บอยู่ในสภาวะทุพพลภาพ จากกระสุนยางยิงเข้าบริเวณศรีษะ ไม่สามารถขยับตัวได้ โดยญาติเป็นผู้ดูแลใกล้ชิด 

 

“ด้วยข้อเท็จจริงข้างต้นสมาคมนักฎหมายสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการสลายการชุมนุมที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่อันส่งผลให้ประชาชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับความเสียหายร้ายแรง และติดตามคดีเพื่อเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งการสืบสวนสอบสวนเพื่อผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายและให้ผู้เสียหายได้รับการฟื้นฟูเยียวยาโดยเร็ว” บางส่วนหนังสือ ระบุ 

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เร่งรัฐตรวจสอบ-เยียวยา เหตุลูกหลงสลายชุมนุม

ด้าน คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่รับเรื่องและบันทึกความร้องทุกข์ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด ที่สน.ดินแดน เมื่อวันที่ (16 สิงหาคม 64) ทว่าเป็นเวลากว่า 6 เดือน ปัจจุบันกลับไร้วี่แววการดำเนินงานจากหน่วยงานภาครัฐ “เราต้องการทำให้ประเด็นนี้เป็นที่รับทราบ เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการช่วยเหลือ อยากให้ทางกสม.ช่วย เรื่องการติดตามคดี ที่ยังไม่มีความคืบหน้า เหตุผู้บริสุทธิ์ได้รับการชดเชยเยียวยา” 

คอรีเยาะ กล่าว เราคาดหวังการสลายการชุมนุมของรัฐอย่างไม่ละเมิดสิทธิ และใช้ความรุนแรง ต้องการให้กรณี มานะ เป็นบรรทัดฐานของรัฐ ในการดำเนินการรับผิดชอบความเสียหาย ไม่ใช่รอให้ผู้เสียหายดำเนินการเองเมื่อเหตุการณ์เกิดก็ต้องยอมรับผลกระทบด้วย ต้องให้ทางรัฐช่วยเหลือ โดนให้ทางกสม.ช่วยเร่งติดตาม

“เป็นเรื่องการของนโยบายทางการเมืองเรื่องเกมการเมือง บ้านเรายังมีวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล จริงเราก็มีบทเรียนมาเยอะมากเลย ทั้งที่ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ไหนถูกลงโทษทางกฎหมายเลย เรื่องการชุมนุมเหมือนกัน เรื่องที่คนล้มบาดเจ็บ แต่ไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ แต่เราอยากเห็นว่ารัฐมีแนวทางในการป้องกัน แต่เหตุการณ์ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่” เธอทิ้งท้าย 

 

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรับเรื่องประสานหน่วยงาน-เข้าถึงระบบช่วยเหลือ

ส่วน วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อธิบายว่า ทางกสม.รับไว้พิจารณาการดำเนินงานเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับระบบช่วยเหลือ เร่งการตรวจสอบคดี ดำเนินคดีผู้กระทำผิด เยียวยาผู้เสียหาย และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ รับไว้จะมีกระบวนการตรวจสอบ ประสานการคุ้มครองหน่วยงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พม. หรือที่เกี่ยวข้อง เหตุเนื่องจากกรณี ‘มานะ’ สภาพร่างกายอยู่ในภาวะทุพพลภาพ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้ได้รับผลกระทบ

“กรณีเรื่องผู้ได้ชุมนุมทางการเมืองเราได้รับเรื่องมา เหตุการณ์ที่ดินแดนเรามีความเห็นว่าการดำเนินการสลายการชุมนุม ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลายครั้ง มีกรณีที่ไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการ เราเองก็มีข้อเสนอแนะตามนโยบายให้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ” เรื่องของการเยียวยา โดยมีกรมคุ้มครองสิทธิ รับเรื่องประเด็นอาญา ซึ่งเว้นประเด็นทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาในการได้รับเยียวยา กสม.จะขอติดต่อเยี่ยมผู้ที่ได้รับผลกระทบในลำดับต่อไป  วสันต์ กล่าว

 

หลานผู้เสียหายวอนรัฐ มีความรับผิดชอบสังคม 

เอกรินทร์ หงษ์ทอง อายุ 43 ปี อาชีพอิสระ หลานของผู้เสียหาย เปิดเผยว่า เหตุการณ์การชุมนุมจะเกิดจากสาเหตุฝั่งไหนก็ตาม แต่ความเสียหาย รถ  ร้านค้า บริเวณใกล้เคียง ควรมีเจ้าหน้าที่เข้ามาชี้แจง เขาเป็นผู้ควบคุมเหตุการณ์สถานการณ์ตอนนั้น เพราะผู้ที่เสียหายผลกระทบชัดเจนชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป  แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบในสังคม ไม่มีคำขอโทษจากหน่วยงานไหนเลย 

“เห็นชีวิตของคนเปลี่ยนไป โอเคเรายอมรับได้ ถ้าคนของเราไปจุดพลุ ไปอะไร แต่นี้ไม่มี แต่ไม่มีคำขอโทษจากหน่วยงานไหนเลย ชีวิตเขาเปลี่ยนไปควรได้รับการชดใช้อย่างยุติธรรม จะมีลูกผู้ชายสักคนไหน ผมดูแล้วมันเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาแล้วต้องมีค่าชดเชย ต้องการให้ความยุติธรรมให้กับเขา” เอกรินทร์ กล่าว 

หลานผู้ได้รับความเสียหาย ยังอธิบายอีกว่า ลำบากนิดหนึ่งไม่มีคนดูแลแกอีกแล้วมีแต่พี่สาว ผู้เสียหายไม่มีบุตร โดยมีพี่สาวและหลานชาย เป็นผู้ดูแลโดยยอมรับว่าทำให้สถานการณ์ครอบครัวลำบาก เพราะผู้เสียหายไม่สามารถพูดได้รู้เรื่อง มีเสียงไม่เป็นภาษา ลุกไปห้องน้ำเองไม่ได้ ตนเป็นคนไม่มีเวลามาก ถ้าอยู่ก็ได้ช่วยเหลือดูแลบ้าง

ขณะนี้ มานะ ใช้สิทธิตามประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากนัก 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net