Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจากการประชุมวิชาการ 30 ปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 'โควิด-19 เปลี่ยนโฉมระบบบริการสุขภาพไทย เรียนรู้วิกฤต-ต่อยอดโอกาส-เติมเต็มศักยภาพกำลังคนสุขภาพ'

15 ก.ย. 2565 หน่วยงานสื่อสาร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รายงานว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผลทำให้ระบบบริการสุขภาพไทยปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อสร้างมาตรการป้องกัน ควบคุมและรักษาโรค มีการปรับปรุงระบบการเบิกจ่าย การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดหาวัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงระบบการดูและรักษาผู้ป่วยทั้งในและนอกโรงพยาบาล ซึ่งการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้โรงพยาบาลทุกระดับมีการปรับปรุงสถานที่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ มีระบบการคัดแยกผู้ป่วยทั่วไปออกจากผู้ป่วยโควิด-19 และเปิดพื้นที่เพิ่มให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักโดยเฉพาะ มีการปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์กักตัว และวางระบบการบริการทางการแพทย์นอกโรงพยาบาล ในลักษณะ Home Isolation เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาและการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น มีระบบการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วกว่าเดิม รวมไปถึงมีการบริหารจัดการที่ทำให้การกระจายอุปกรณ์ทางการแพทย์สามารถเข้าถึงหน่วยบริการได้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม แม้มีการพัฒนาการเบิกจ่ายให้รวดเร็วมากขึ้น แต่การเบิกจ่ายเงิน ในระบบ Home Isolation และกรณีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนยังล่าช้าอยู่ จากปัญหาของการเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องมีการพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคต

แนวทางการแก้ปัญหาข้างต้น ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง ทำให้เห็นภาพสถานบริการสาธารณสุขในต่างจังหวัด สามารถจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี แต่ในส่วนของกรุงเทพมหานครยังมีความสับสน เนื่องจากศูนย์บริการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ ต้องแบกรับจำนวนประชากรมากกว่าต่างจังหวัด อีกทั้งโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ มีหลายสังกัด การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินจึงมีความยุ่งยาก ขณะที่ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สามารถเข้าถึงชุมชนได้มากกว่าและเชื่อมโยงสนับสนุนกันและกันได้ค่อนข้างดี ดังนั้นกรุงเทพมหานครควรต้องส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ให้ทำงานได้ใกล้เคียงกับ อสม. ในต่างจังหวัด โดยพัฒนาองค์ความรู้และนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในภาวะฉุกเฉิน โรงพยาบาลในเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม และโรงพยาบาลสังกัด กทม. สามารถประสานงานกันได้ด้วยดี โดยระดับผู้บริหารมีการประชุมหารือกันตลอด และมีการแบ่งปัน รวมถึงใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันในภาวะฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงโควิด-19 การรับรองยาและวัคซีนสำหรับประเทศไทยทำได้ค่อนข้างล่าช้า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากบริษัทยาไม่ได้ขอขึ้นทะเบียน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจต้องปรับปรุงให้การขึ้นทะเบียนยาทำได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้ง พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ยังไม่ครอบคลุมอำนาจในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุม จัดการปัญหาในระดับชาติ ซึ่งประเด็นนี้ควรมีการศึกษาและปรับแก้ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างโครงการที่นำมาแก้ไขภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาระบบมาตรฐานข้อมูลสุขภาพเพื่อการเชื่อมโยงฐานข้อมูลแบบบูรณาการ การพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในเขตสุขภาพที่ 13 การปรับปรุงระบบบันทึกข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยโรค
โควิด-19 การพัฒนาระบบใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์นำร่องตามมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

ผศ.(พิเศษ) นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าระบบสุขภาพก่อนการระบาดของโควิด-19 ของประเทศไทยมีการบริหารจัดการระบบสุขภาพของค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เห็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของประชาชนในเขตเมืองหรือกรุงเทพมหานคร ปัญหาการบริหารจัดการวัคซีน ทำให้มีวัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ระบบข้อมูลกระจัดการะจาย กำลังคนไม่เพียงพอ ฯลฯ แต่ด้านหนึ่งก็มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน มีการปรับเปลี่ยนนโยบายและการทำงานให้ทันกับปัญหามากขึ้น ซึ่งภาพอนาคตระบบสาธารณสุขไทยหลังจากนี้เชื่อว่า จะมีการปรับระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อมุ่งไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัดและเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยเน้นการส่งเสริมและป้องกันโรค มีระบบการแพทย์ทางไกล และนวัตกรรมการแพทย์ใหม่ๆ โดยประเด็นที่ต้องพัฒนาและแก้ปัญหาต่อไป อาทิ การพัฒนาระบบปฐมภูมิเขตเมือง การพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ การพัฒนาระบบการสื่อสารเผยแพร่ข้อมูล การสร้างความรู้ด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน การปรับปรุง แก้ไข กฎ ระเบียบต่างๆ ให้ง่ายต่อการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีเกิดโรคระบาด ฯลฯ

รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงงานวิจัยที่สนับสนุนการวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ว่า โครงการสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการวางแผน การปรับตัวในช่วงวิกฤตของระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองสถานการณ์พลวัตระบบของการระบาดของโรคโควิด-19 และโครงการสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายจากการใช้แบบจำลองสถานการณ์พลวัตระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานของวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ใน 4 ประเด็นสำคัญคือ สามารถนำไปคาดการณ์สถานการณ์ทางระบาดวิทยาของประเทศไทยหลังการผ่อนคลายมาตราการควบคุมโรคในระลอกเดือนมกราคม 2563 เพื่อเยียวยาด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาในประเทศ สามารถคาดการณ์สถานการณ์ด้านระบาดวิทยาทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในระหว่างการระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งการทดสอบผลลัพธ์ของการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทดสอบผลลัพธ์เชิงนโยบายในการเพิ่มสมรรถนะของระบบการตรวจโรคค้นหาผู้สัมผัสโรคและกักแยกโรค ภายหลังการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเดือนมกราคม 2564 และทดสอบผลลัพธ์เชิงนโยบายในการเพิ่มสมรรถนะของระบบบริบาลสุขภาพให้เพียงพอต่อการดูแลรักษาโรคผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 และระลอกเดือนมกราคม 2565

ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กล่าวว่า บทเรียนที่ได้จากการระบาดของโรคโควิด-19 ในมุมมองของนักวิจัย สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากผลการวิจัยมีหลากหลายประเด็น อาทิ โรคโควิด-19 ทำให้สังคมเห็นความสำคัญของโรคระบาดต่อระบบเศรษฐกิจ ทุกประเทศประสบปัญหากับระบบการเงินการคลังด้านสาธารณสุข ซึ่งส่งผลกระทบระยะยาว digital technology จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตราการปิดประเทศ นอกจากนี้ การเปรียบเทียบผลกระทบทางเศษฐกิจของการเปิดประเทศของประเทศเคนยา สิงคโปร์ และไทย ยังพบว่า เคนยามีสัดส่วนในการพึ่งพานักท่องเที่ยวมาก คล้ายกับประเทศไทย ทำให้การปิดประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในขณะที่สิงคโปร์มีสัดส่วนในการพึ่งพานักท่องเที่ยวน้อย ทำให้การปิดประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อย ซึ่งจากบทเรียนดังกล่าวสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีการเพิ่มการลงทุนในระบบสุขภาพในทุกประเทศ ทั้งที่ทุกประเทศกำลังประสบปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ และสังคมเห็นความสำคัญของโรคระบาดที่มีต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ คือปัจจัยชี้ขาดความยั่งยืนระบบสุขภาพ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้รายจ่ายด้านสุขภาพต่อหัวประชากรเพิ่มสูงขึ้นคือ ปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น ยาที่มีราคาแพง ส่วนวิทยาศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตทางด้านสาธารณสุข ฉะนั้นการตื่นตัวด้านสาธารณสุขภายหลังที่มีโควิด-19 จึงเป็นโอกาสในการเพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพในระยะสั้น แต่ระยะยาวอาจพบปัญหาการปรับลดงบประมาณลง ขณะเดียวกันถือเป็นโอกาสในการปฏิรูประบบสุขภาพโดยต้องทำให้เกิดการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อรองรับการระบาดของโรคต่างๆ หรือปัญหาวิกฤตทางด้านสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต  

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลวิจัยที่ศึกษาผลกระทบในช่วงแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ช่วงปี 2563 มีการสำรวจโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยพบ 98% ของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ระบาดหรือไม่ก็ตาม มีการเตรียมการรับมือการระบาดของโรค ส่วนผลกระทบที่สำคัญ 3 อันดับแรกคือ 1.การจัดการสถานที่ 2.การจัดการยา เวชภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์ 3.การจัดการบุคลากร นอกจากนี้บริการใหม่ที่เปิดในโรงพยาบาลเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรกมากที่สุด คือ ARI clinic , COVID isolation ward และ PUI Ward  ด้านการจัดการในช่วงสถานการณ์วิกฤตต้องมีการคิดนอกกรอบ เพื่อการจัดระบบการดูแลผู้ป่วย เช่น การทำโรงพยาบาลสนาม การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลผุ้ป่วย รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ เช่น การทำ home isolation, community isolation  ทั้งนี้มีการคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพช่วง Post-COVID จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยโควิด-19 โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.47% จากการรักษาแบบผู้ป่วยนอก และ 0.22% จากการรักษาแบบผู้ป่วยใน นอกจากนี้ สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือที่ดีในการติดตามสถานการณ์ มีการเรียนรู้และปรับตัว เช่น การปรับวิถีการดํารงชีวิตใหม่ที่เรียกว่า New Normal ตลอดจนควรมีการพัฒนาและต่อยอดระบบต่างๆ ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น การบูรณาการระบบเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ระดับพื้นที่ โดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร การสนับสนุนและบริหารการใช้ทรัพยากรสุขภาพระหว่างพื้นที่ ระบบสารสนเทศและกลไกด้านการเงินการคลังและงบประมาณเพื่อตอบสนองเหตุฉุกเฉิน

ด้าน ดร.นพ.ฑิณกร โนรี ผู้จัดการสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ มูลนิธิสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สะท้อนข้อมูลว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต และพบว่า ก่อนโควิด-19  25% ของแพทย์ มีการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร ส่วน 75% กระจายอยู่ต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยติด 1 ใน 5 ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศที่มีความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี โดยมีความพร้อมด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น ด้านสถานที่ มีการจัดทำโรงพยาบาลสนาม การรักษาในชุมชน  ด้านบุคลากร เช่น แพทย์และพยาบาลประจำโรงพยาบาล มีการขยายขีดความสามารถ ให้มีความพร้อมและศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19  ด้านอุปกรณ์ กำหนดหลักเกณฑ์การใช้วัสดุที่ขาดแคลนและการควบคุมกลไกการจัดซื้อวัสดุในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19  ด้านระบบบริการ มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ในการบริหารจัดการให้มีความคล่องตัวมากขึ้น มีการบรรจุบุคลากรในระบบราชการได้เพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ตำแหน่ง ซึ่งทำให้เกิดขวัญและกำลังใจกับบุคลากรด้านสาธารณสุขมากขึ้น

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส. ได้สนับสนุนให้มีการวิจัยเชิงระบบเพื่อให้เห็นสถานการณ์ของปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยมีสมรรถนะของระบบสุขภาพที่สามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ ผลการวิจัยที่ได้นำมาเสนอในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และงานวิจัยทุกเรื่องได้ถูกนำไปประโยชน์ในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ รวมถึงผลงานวิจัยเหล่านี้ได้ถูกต่อยอดและขยายผลอย่างกว้างขวาง ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพไทยและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย

 

ข้อมูลจาก:
การประชุมวิชาการ 30 ปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เวทีหัวข้อ “สมรรถนะระบบสุขภาพไทยเป็นอย่างไรในยุค ก่อน-ระหว่าง-หลัง covid-19” ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net