Skip to main content
sharethis

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เพิ่งจะประกาศว่ากองทัพสหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวัน ถ้าหากจีนทำการรุกราน สื่อโกลบอลวอยซ์มองว่าคำให้สัมภาษณ์นี้รวมถึงการออก "กฎหมายนโยบายไต้หวันฉบับปี 2565" ของสหรัฐ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากขึ้นในการคุ้มครองไต้หวันจากเดิมที่สหรัฐฯ มักจะแสดงออกแบบคลุมเครือในเรื่องนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่ากฎหมายฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านร่างเป็นการป้องปรามจีนหลังจากที่มีการคุกคามไต้หวันหนักขึ้นช่วงที่ผ่านมา

 

20 ก.ย. 2565 ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อโทรทัศน์เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า กองทัพสหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันถ้าหากจีนทำการรุกราน การให้สัมภาษณ์เช่นนี้มีขึ้นหลังจากที่คณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านร่าง "กฎหมายนโยบายไต้หวันฉบับปี 2565" (Taiwan Policy Act 2022) ซึ่งจะมีการให้งบประมาณแก่ไต้หวัน 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 240,000 ล้านบาท) เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

นอกจากนี้ในกฎหมายนโยบายไต้หวันฉบับปี 2565 ยังระบุถึงการเตรียมมาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ทางการจีนรายสำคัญและต่อระบบธนาคารของจีนเพื่อโต้ตอบถ้าหากจีนทำการรุกรานไต้หวัน ในกฎหมายใหม่ระบุอีกว่าสหรัฐฯ จะการันตีให้ไต้หวันมีสถานะเดียวกับ "พันธมิตรรายใหญ่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต" ซึ่งนับเป็นพันธมิตรที่มีความร่วมมือกันในด้านยุทธศาสตร์การทหารและการช่วยเหลือแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีต่อกัน

ทางการจีนได้แสดงออกต่อต้านกฎหมายนโยบายไต้หวันฉบับใหม่นี้ โดยที่ ฉินกัง เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่าถ้าหากสภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายนี้ รากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะล่มสลายลง

เมื่อมีการผ่านร่างกฎหมายนโยบายไต้หวันปี 2565 แล้ว มันจะมาแทนที่กฎหมายฉบับเดิมคือกฎหมายนโยบายไต้หวันปี 2522 โดยที่กฎหมายนโยบายไต้หวันในยุคสมัยนั้นเขียนขึ้นในช่วงที่ยังคงมีสงครามเย็นระหว่างโลกตะวันตกกับสหภาพโซเวียต แต่รัฐบาลจีนในยุคนั้นคือเติ้งเสี่ยวผิงได้ผูกสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ และประกาศว่าอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรอื่นๆ ในการต่อต้านโซเวียต ทำให้สหรัฐฯ ในยุคนั้นยกเลิกการยอมรับไต้หวันในทางการทูตแล้วหันมาเทใจให้กับจีนแผ่นดินใหญ่แทน ในขณะเดียวกันกฎหมายก็ยังระบุให้ไต้หวันยังนับเป็นรัฐที่ปกครองตนเองและมีการขยายสมรรถนะทางการทหารในการป้องกันตนเอง

ในกฎหมายนโยบายไต้หวันฉบับเก่าปี 2522 ยังระบุอีกว่าทางกฎหมายไม่ได้การันตีว่าทางสหรัฐฯ จะทำการแทรกแซงถ้าหากจีนทำการโจมตีหรือรุกรานไต้หวันแต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้การันตีว่าจะปล่อยให้การโจมตีเกิดขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งในปี 2523 รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยกเลิกสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกันระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ หนึ่งปีหลังจากที่สหรัฐฯ สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน

ในเชิงทางการแล้ว สหรัฐฯ ยอมรับให้จีนแผ่นดินใหญ่เป็นตัวแทนของ "จีนหนึ่งเดียว" แต่ก็ยังคงรักษาหลักการเรื่องการดำเนินการอย่างสันติต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศคาบสมุทรไต้หวัน ดังนั้นแล้วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาทางการสหรัฐฯ ก็ทำตัวกำกวมมาตลอดว่าจะช่วยปกป้องไต้หวันหรือไม่ถ้าหากมีการรุกรานจากจีน

แต่คำกล่าวของไบเดนล่าสุดก็มีการแสดงให้เห็นถึงการที่สหรัฐฯ มีความชัดเจนมากขึ้นในการดำเนินพันธกิจคุ้มครองไต้หวัน ไบเดนได้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ผ่านทางรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ อย่าง "60 Minutes" โดยมีพิธีกรคือ สก็อตต์ เพลลีย์

ในรายการเพลลีย์ถามคำถามว่า ไบเดนต้องการให้สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน รับรู้ว่าเขามีพันธกิจอย่างไรกับไต้หวัน ไบเดนตอบว่าเขาจะยังคงปล่อยให้มีนโยบายจีนหนึ่งเดียวแล้วก็ให้ไต้หวันเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าพวกเขาอยากจะเป็นอิสระจากจีนหรือไม่ สหรัฐฯ ไม่ได้ผลักดันให้ไต้หวันเป็นอิสระจากจีน มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเขาเอง

เมื่อเพลลีย์ถามว่าสหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันหรือไม่ ไบเดนก็ตอมว่า ใช่ สหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันถ้าหากมีการโจมตีไต้หวันในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเมื่อเพลลีย์ถามย้ำว่ากองกำลังของสหรัฐฯ จะคุ้มครองไค้หวันหรือไม่ในกรณีที่จีนทำการรุกราน ไบเดนก็ตอบย้ำว่า "ใช่"

ถึงแม้ว่าทำเนียบขาวจะแถลงหลังจากการให้สัมภาษณ์ของไบเดนว่า นโยบายของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่การโหวตรับร่างกฎหมายนโยบายไต้หวันฉบับใหม่โดย ส.ว. จากทั้งสองพรรคใหญ่ของสหรัฐฯ ก็เป็นเสมือนการส่งสัญญาณจากระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ ต้องการสร้างความเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นมากขึ้นกับไต้หวัน

ในกฎหมายฉบับใหม่ในปี 2565 ระบุว่า ทางการสหรัฐฯ จะทำการหารือประเมินสถานการณ์ร่วมกับไต้หวันเพื่อเน้นให้ไต้หวันมีสมรรถนะทางการทหารในการรับมือการรุกรานจากจีนได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ระบุถึงการดำเนินมาตรการต่างๆ ต่อจีนถ้าหากจีนทำการรุกรานไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการคว่ำบาตร

ลินเซย์ เกรแฮม ส.ว. สายอนุรักษ์นิยมของสหรัฐฯ ผู้ที่เพิ่งจะเดินทางเยือนไต้หวันและเป็นผู้โหวตรับร่างกฎหมายใหม่นี้กล่าวย้ำผ่านทวิตเตอร์ว่า กฎหมายใหม่นี้ "เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวันในแง่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทหาร" นอกจากนี้ยังนับเป็นการส่งสัญญาณถึงจีนว่า "อเมริกายืนหยัดอย่างหนักแน่นเคียงข้างไต้หวันผู้เป็นพันธมิตรทางประชาธิปไตยของพวกเรา"

ทางการไต้หวันระบุว่าพวกเขายินดีที่มีการผ่านร่างกฎหมายนโยบายไต้หวันฉบับใหม่ เพราะการที่จีนคว่ำาตรทางเศรษฐกิจและทำการซ้อมรบรอบพื้นที่ประเทศของพวกเขาโดยเฉพาะหลังจากการเยือนของแนนซี เปโลซี ทำให้เกิดการคุกคามต่อความมั่นคงของประชาชนในไต้หวันและเป็นการก่อกวนความสงบสันติของภูมิภาคแปซิฟิก

หลังจากการเยือนไต้หวันของเปโลซี จีนก็ทำการคุกคามไต้หวันด้วยการส่งเครื่องบินรบและเรือรบจำนวนมาวางกำลังโดยรอบไต้หวันอ้างว่าเพื่อทำการซ้อมรบเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังทำการยิงขีปนาวุธออกจากจีนแผ่นดินใหญ่แล้วไปตกอยู่ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์ด้วย

ไอแซก สโตน ฟิช นักวิเคราะห์การเมืองผู้เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียมองว่า กฎหมายใหม่ของสหรัฐฯ มีเป้าหมายต้องการป้องปรามไม่ให้จีนรุกรานไต้หวัน นอกจากกฎหมายฉบับนี้แล้วสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณในแง่อื่นๆ ในการที่จะป้องปรามจีนด้วยการไม่ทุ่มหนักเกินไปในเรื่องการช่วยยูเครนต้านการรุกรานของรัสเซียเพราะจะทำให้จีนมองว่าสหรัฐฯ จะต้องรับศึก 2 ด้าน อีกแแง่หนึ่งที่สหรัฐฯ ส่งสัญญาณป้องปรามจีนคือการแสดงออกต่อสาธารณะว่าสหรัฐฯ สนับสนุนไต้หวัน

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลจีนอย่าง วิกเตอร์ เกา นักวิชาการผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนอ้างว่าการออกกฎหมายใหม่ของสหรัฐฯ เป็น "การประกาศสงคราม"

ในไต้หวันก็มีนักวิจารณ์บางส่วนที่กังวลว่ากฎหมายใหม่ของสหรัฐฯ อาจจะเป็นการยั่วยุให้จีนดำเนินการแบบก้าวร้าวยิ่งกว่าเดิม แต่กลุ่มคนที่มีแนวคิดสนับสนุนการเป็นอิสระของไต้หวัน เช่น อดีต ส.ส. เฉินโป๋เหว่ย ก็ได้โต้แย้งความคิดนี้ โดยได้กล่าวย้ำเตือนว่า "การเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศพวกเราไม่ควรจะถูกมองว่าเป็นการยั่วยุ ทั้งไต้หวันและสหรัฐฯไม่ได้ทำอะไรในการที่จะรุกรานจีนเลย และไม่มีเจตนาจะทำเช่นนั้น แต่เป็นจีนต่างหากที่เป็นผู้เริ่มหาเรื่องก่อนและยั่วยุุให้เกิดความบาดหมาง"

นอกจากนี้ท่าทีของกลุ่มสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนในโลกออนไลน์ของจีนเองก็ดูจะมีท่าทีโต้ตอบเรื่องกฎหมายใหม่ต่างออกไปจากท่าทีโต้ตอบของพวกเขาตอนที่เปโลซีเดินทางเยือน กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิดในโลกออนไลน์จีนไม่ได้โหมกระหน่ำปลุกปั่นชาตินิยมเท่าตอนที่เปโลซีเดินทางเยือนแต่พยายามลดระดับความเป็นชาตินิยมและลดการแสดงความคิดเห็นเชิงสนับสนุนสงครามลงในโซเชียลมีเดียเว่ยปั๋ว กลุ่มชาตินิยมกลุ่มนี้แค่พูดถึงกฎหมายใหม่จากสหรัฐฯ โดยกล่าวย้ำคำแถลงจุดยืนขอรัฐบาลจีน บ้างก็บ่นว่าทำไมมีการปิดกั้นการพูดคุยในเรื่องนี้จากการที่คำสำคัญอย่าง #TaiwanPolicyAct ไม่ปรากฏในรายการค้นหาสิ่งที่กำลังเป็นกระแส

หลังจากที่ ส.ว. ผ่านร่างกฎหมายไต้หวันฉบับใหม่แล้ว สภาของสหภาพยุโรปก็ผ่านร่างมติประณามการที่จีนใช้กำลังกองทัพคุกคามไต้หวันด้วยเช่นกัน ในมติระบุว่าการที่จีนกระทำการยั่วยุเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป

‘จีน’ ออกโรงประณามไบเดน พร้อมใช้มาตรการทุกอย่างโต้

อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันนี้ เว็บไซต์ มติชน ออนไลน์ รายงานอ้างสำนักข่าว รอยเตอร์ ระบุว่า นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกมาเผยเมื่อวันที่ 19 กันยายนว่า จีนออกมาประนามนายโจ ไบเดน ว่าได้ฝ่าฝืนนโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อกรณีของความขัดแย้งระหว่างไต้หวันและจีน หลังนายไบเดนออกมาเผยว่ากองทัพสหรัฐพร้อมส่งกำลังทหารเข้าช่วยเหลือไต้หวันหากถูกจีนบุกรุก

นางหนิงกล่าวว่า จีนมีสิทธิที่จะใช้มาตรการทุกอย่างในการตอบโต้กิจกรรมใดๆ ที่มีจุดมุ่งหมายในการแยกประเทศ และทางการจีนจะมุ่งมั่นเพื่อที่จะทำให้การรวมชาติระหว่างจีน และไต้หวันจะเป็นไปอย่างสงบ

นอกจากนี้ นางเหมา หนิง ได้แนะนำให้สหรัฐรับมือกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันด้วยความระมัดระวัง และเหมาะสม อีกทั้งสหรัฐไม่ควรส่งสัญญาณ “ที่ผิด” ให้แก่ฝ่ายสนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวัน โดยเตือนว่าสหรัฐไม่ควรทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน และไม่ควรทำลายความสงบสุขในช่องแคบไต้หวัน

นางหนิงกล่าวว่า มีเพียงจีนเดียวในโลก ไต้หวันก็เป็นส่วนหนึ่งของจีน และรัฐบาลจีนเป็นรัฐบาลเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมายของจีน
 

เรียบเรียงจาก

Taiwan Policy Act 2022: The US becomes less ambiguous about defending Taiwan, Globol Voices, 19-09-2022
https://globalvoices.org/2022/09/19/taiwan-policy-act-2022-the-us-becomes-less-ambiguous-about-defending-taiwan/

 

กฎหมาย The Taiwan Policy Act of 2022

https://www.foreign.senate.gov/imo/media/doc/SBS%20Taiwan%20Policy%20Act%20FINAL%20(1).pdf

 

 

ช้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Taiwan_Relations_Act

https://en.wikipedia.org/wiki/Joint_Communiqu%C3%A9_on_the_Establishment_of_Diplomatic_Relations

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net