Skip to main content
sharethis
  • สตช.แถลงผลงานจับกุมผู้ต้องหาชาวพม่า พร้อมผู้ติดตามชาวไทย 3 ราย คดียาเสพติด และฟอกเงิน เมื่อ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนสื่อพม่ารายงานผู้ถูกจับเป็นนายหน้าค้าอาวุธให้กองทัพพม่า มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดหนึ่งใน ส.ว.ไทย ‘อุปกิต ปาจรียางกูร’
  • ด้าน อุปกิต แจงแล้วไม่มีอะไรในกอไผ่ รู้จักกับนายหน้าค้าอาวุธให้กองทัพพม่านับ 10 ปี ยืนยันว่าตัวเองและผู้ถูกจับไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ส่วนธุรกิจไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่สุจริต ตัดพ้อนายหน้าขายอาวุธให้กองทัพพม่า ถูกมองเป็นยักษ์เป็นมาร


21 ก.ย. 2565 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. รายงานเมื่อ 21 ก.ย. 2565 ชี้แจงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมหน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง สนธิกำลังจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับรายสำคัญคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สตช. ขอเรียนชี้แจงถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมหน่วยร่วมปฏิบัติที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันปิดล้อมตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับรายสำคัญ ดังนี้

จากกรณีเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2565 เวลา 6.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมหน่วยร่วมปฏิบัติที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันปิดล้อมตรวจค้นจำนวนหลายจุดและทำการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญตามหมายจับได้จำนวน 4 ราย ในข้อหา ร่วมกันสมคบกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ร่วมกันช่วยเหลือสนับสนุนการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และร่วมกันสมคบการฟอกเงินฯ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจค้นจำนวนหลายจุด เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในหลายพื้นที่ รวมถึงสามารถตรวจยึดทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท และได้ทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับชายสัญชาติเมียนมา อายุ 53 ปี ภายหลังทราบชื่อว่า 'ทุนมินลัต' 1 รายจับกุมชายไทย อายุ 38 ปี 1 ราย จับกุมหญิงไทย อายุ 44 ปี 1 ราย จับกุมหญิงไทย อายุ 50 ปี 1 ราย จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน บช.ปส. เพื่อนำตัวดำเนินคดีและดำเนินการสืบสวนขยายผลบุคคลในเครือข่ายและทรัพย์สินตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องของกฎหมาย

นอกจากนี้ เมื่อ 20 ก.ย. 2565 บช.ปส. นำตัวผู้ต้องหาไปยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญาเพื่อควบคุมไว้ระหว่างการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และสรุปสำนวนคดีตามขั้นตอนกฎหมาย 

ทั้งนี้ บีบีซีไทย อ้างรายงานจากไทยรัฐ และข่าวสด รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากชุดสืบสวน บก.สส.บช.น. เกี่ยวกับการจับกุมทุนมินลัตเพิ่มด้วยว่าสามารถจับกุมได้ที่คอนโดมิเนียมหรู ชื่อว่า "เบ็ล แกรนด์" พระราม 9 ชั้น 41 ช่วงเช้าวันที่ 17 ก.ย. 2565 โดยทุนมินลัติซื้อห้องพักอยู่อาศัยไว้ 3 ห้อง รวมมูลค่า 30 ล้านบาท

นอกจากนี้ตำรวจยังเข้าตรวจค้นพื้นที่จังหวัดเชียงราย ขยายผลจับกุมผู้ร่วมขบวนการเป็นผู้ชายไทย 1 คน และผู้หญิง 2 คน นำตัวมาส่งพนักงานสอบสวน บช.ปส. ดำเนินคดีเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ก่อนนำตัวไปฝากขังศาลอาญาผัดแรก เป็นเวลา 12 วัน เมื่อ 21 ก.ย. เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งหมดยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวต่อศาล แต่ศาลไม่อนุญาต ส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง

ขณะที่รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากพนักงานสอบสวน บช.ปส. นำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังต่อศาลอาญา ก็จะเร่งรัดดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทำการสืบสวนสอบสวน ขยายผลถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

วันนี้ 22 ก.ย. 2565 สำนักข่าว Nations รายงานว่า สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวิชัย ไชยมงคล​​ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แถลงความคืบหน้ากรณีจับกุมทุนมินลัต นักธุรกิจชาวพม่าว่ายังไม่พบความเกี่ยวข้องกับนักการเมืองไทย จนกว่าจะมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของนักธุรกิจเมียนมารายดังกล่าวที่ถูกจับกุม ซึ่งมีกองบัญชาตำรวจนครบาล เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจับกุม และต้องให้ตำรวจนครบาลเป็นผู้สืบสวนต่อไป ขณะที่ ป.ป.ส. จะเป็นการติดตามยึดทรัพย์นักธุรกิจเมียนมาคนดังกล่าวต่อไป

ผู้ถูกจับเป็นนายหน้าค้าอาวุธให้กองทัพพม่า-สายสัมพันธ์ใกล้ชิด ‘อุปกิต’ ส.ว.ไทย

เว็บไซต์สื่อพม่า 'Myanmar Now' เผยว่าผู้ต้องหาชาวพม่าที่ถูกทางการไทยจับกุมชื่อว่า "ทุนมินลัต" ซึ่งเป็นนักธุรกิจ และนายหน้าค้าอาวุธให้กองทัพพม่าด้วย 

ยะตะหน่าหม่อง โฆษกของจัสติซฟอร์เมียนมา (Justice for Myanmar - JFM) ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของทุนมินลัต ให้สัมภาษณ์กับ Myanmar Now เมื่อ 21 ก.ย. 2565 เผยว่า แสดงความยินดีต่อผลงานของตำรวจไทยที่สามารถจับกุมทุนมินลัต และคณะผู้ติดตามของเขาได้

“นอกเหนือจากอาชญากรรมที่ทำให้พวกเขาถูกจับกุม พวกเขายังเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกับกองทัพพม่า ซึ่งเปิดทางไปสู่การก่ออาชญากรรมที่โหดร้าย (Atrocity) พวกเขาต้องมีส่วนรับผิดชอบ และถูกคว่ำบาตรแบบเฉพาะเจาะจง” ยะตะหน่าหม่อง กล่าวกับ Myanmar Now

Myanmar Now อ้างรายงานจาก Justice for Myanmar หรือ JFM และแหล่งข่าวนิรนามในไทยซึ่งติดตามคดีของทุนมินลัตอย่างใกล้ชิด อ้างว่า ผู้ต้องหา 4 รายที่ถูกจับกุมนั้น ถูกจับกุมจากการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผ่านบริษัทชื่อว่า ‘Myanmar Allure Group’ ก่อนนำมาขายให้คณะกรรมการท่าขี้เหล็ก ทางตะวันออกของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา นอกจากนี้ แหล่งข่าวระบุด้วยว่า เงินทุนในการประกอบธุรกิจ Myanmar Allure Group มาจากการค้ายาเสพติดผ่านธุรกิจบริหารกาสิโนในเมืองท่าขี้เหล็ก

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่ามีรายงานจากท่าขี้เหล็กนิวส์เอเจนซี่ เมื่อปี 2557 ระบุบริษัท Myanmar Allure Group เคยลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับคณะกรรมการการไฟฟ้า ท่าขี้เหล็ก ในรัฐฉาน เพื่อทำให้ท่าขี้เหล็กมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง 

นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวปรากฏภาพอุปกิต และทุนมินลัต ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท Myanmar Allure Group เข้าร่วมพิธีเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ร่วมกับประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนท้องถิ่นท่าขี้เหล็ก นายกเทศมนตรีเมืองท่าขี้เหล็ก และอื่นๆ 

(ซ้าย) ทุนมินลัต ผู้ถูกจับกุม และ (ขวา) อุปกิต ปาจรียางกูร (ที่มา: Tachilek News Agency)

รายงานจาก JFM เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเผยให้เห็นวิธีที่บริษัท Myanmar Allure Group ขยายธุรกิจ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการเซ็นข้อตกลงการสร้างรีสอร์ต เมื่อปี 2542 ผู้ที่เซ็นลงนามขณะนั้นคือ พันโทขิ่นหม่องลัต พ่อของทุนมินลัต และเวลานั้นนั่งตำแหน่งอธิบดีการท่องเที่ยว ภายใต้รัฐบาลทหารเมียนมา และอุปกิต ปาจรียางกูร ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภาไทย และในฐานะตัวแทนบริษัท Myanmar Allure Group 

รายงานของ JFM อ้างด้วยว่า อุปกิต ปาจรียางกูร ถือเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่ใกล้ชิด และยาวนานของทุนมินลัต 

ภายหลัง คาสิโน อัลลัว รีสอร์ต ถูกสร้างบนที่ดินของรัฐ บริหารโดย ทุนมินลัต ผู้อำนวยการบริหาร โดยกลุ่มบริษัทเครือข่ายของ ‘สตาร์แซปไฟร์’ แต่ตอนที่กาสิโนเปิดตัวเมื่อ 2546 กาสิโนดำเนินงานโดย Myanmar Allure Group บริษัทที่ก่อตั้งโดยทุนมินลัต และอุปกิต

JFM ระบุว่า สตาร์แซปไฟร์ เป็นผู้เล่นคนสำคัญในฐานะโบรกเกอร์ค้าอาวุธและยุโธปกรณ์ทางทหารจากจีน และอิสราเอล ในนามของกองทัพพม่า ซึ่ง JFM ระบุยืนยันว่า ‘ทุนมินลัต’ “มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง” 

Myanmar Now รายงานด้วยว่า หนึ่งในผู้ติดตามชาวไทยที่ถูกจับกุมเป็นอดีตผู้อำนวยการ Myanmar Allure Group และมีรายงานว่าเป็นลูกเขยของ ‘อุปกิต’ อีกด้วย

ทั้งนี้ รายงานจาก JFM ระบุด้วยว่า อุปกิต ปาจรียางกูร ขายธุรกิจรีสอร์ตกาสิโนท่าขี้เหล็ก เมื่อปี 2562 เป็นจำนวนเงินมากกว่า 8 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ หรือ 298,908,000 บาท ให้นักธุรกิจไทยอีกราย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับทุนมินลัต

อย่างไรก็ตาม Myanmar Allure Group อ้างว่าดำเนินการภายใต้กลุ่มสตาร์แซปไฟร์ แต่ทาง JFM ชี้ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ Myanmar Allure Group ยังเป็นหุ้นส่วนชาวไทย และระบุว่า ‘คนรู้จักชาวไทยของทุนมินลัต ทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนการลงทุนกาสิโนให้ทุนมินลัตด้วย’

รายงานของ JFM เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมาระบุว่า “รีสอร์ต ‘Allure และความเชื่อมโยงกับเครือข่ายผลประโยชน์ทางธุรกิจที่กว้างขวางของ ‘สตาร์แซปไฟร์’ นำมาสู่ปัญหาการฟอกเงิน และเงินทุนที่ผิดฏหมายที่ร้ายแรง” 

เมื่อ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา JFM อ้างว่า อุปกิต ยังคงมีความเชี่อมโยงกับกิจกรรมของบริษัท Myanmar Allurre Group อย่างเงียบๆ และเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการสืบสวนต่อไป

‘อุปกิต’ โร่แจงความสัมพันธ์กับนายหน้าค้าอาวุธ-ยันไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ธุรกิจไฟฟ้าเป็นธุรกิจสุจริต 

เว็บไซต์สื่อไทยโพสต์ รายงานเมื่อ 22 ก.ย. 2565 เวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา อุปกิต ปาจรียางกูร  ส.ว. กล่าวถึงกรณีที่มีการเชื่อมโยงกับทุนมินลัต ซึ่งถูกระบุว่าเป็นนายหน้าค้าอาวุธให้กองทัพเมียนมา และถูกทางการไทยจับกุมในคดียาเสพติด และฟอกเงิน โดยยืนยันว่าการทำธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าที่เมืองท่าขี้เหล็ก กับแม่สาย เป็นธุรกิจที่สุจริตถูกต้อง 

อุปกิต ระบุต่อว่า เขารู้จักกับทุนมินลัต มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว และยืนยันได้ว่าเขาเป็นนักธุรกิจใหญ่ของเมียนมา มีความสนิทสนมกับผู้นำพม่าจริง และเขารับประกันได้ว่าทุนมินลัตไม่มีเรื่องยาเสพติด โดยเฉพาะตนและครอบครัวไม่มีประวัติด่างพร้อย ทำธุรกิจกันมาเป็น 10 ปีแล้วไม่เคยยุ่งเกี่ยวเรื่องอย่างนี้

"ข่าวที่ออกมาผมเห็นแล้วก็ตกใจ เหมือนกับมาพาดพิงถึงผม จึงต้องมาตอบคำถามของสื่อมวลชนทั้งหมด ผมเคยเป็นเจ้าของโรงแรมที่ท่าขี้เหล็ก ไม่เคยปิดบัง ผมพูดมาตลอดว่าเคยเป็นเจ้าของโรงแรมนี้อยู่ฝั่งท่าขี้เหล็ก ทำธุรกิจมาด้วยความสุจริตตลอดไม่เคยไปยุ่งเกี่ยว หรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด สมัยก่อนไม่ใช่เป็นธุรกิจเดียวที่ผมทำก่อนที่จะมาเมืองไทย เมื่อก่อนผมเป็นข้าราชการอยู่กระทรวงต่างประเทศแล้วลาออกตอนอายุ 30 กว่าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโรงแรมเป็นหนึ่งในธุรกิจของผม และตอนหลัง 8-9 ปีที่แล้ว ผมเข้ามาลึกซึ้งกับพระพุทธศาสนา จึงไม่อยากไปยุ่งอะไรที่เกี่ยวกับชายแดนแล้ว ผมจึงเข้ามากรุงเทพฯ และมาเริ่มทำบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และไม่เคยเหยียบขาเข้าไปเลย 8-9 ปี ผมมาเรียน วปอ. หลังจากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา" อุปกิต กล่าว

นายอุปกิต กล่าวต่อว่า เมื่อตนได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว.แล้ว ตนอยากเคลียร์ทุกอย่างไม่อยากเป็นมลทิน จึงได้ขายโรงแรมไป และไม่ได้ปิดบังอะไร มีการชี้แจงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคนที่สงสัย เพราะไม่ได้มีอะไรที่ดำ หรือผิดปกติเลย โดยเฉพาะสมัยที่ตนยังเป็นเจ้าของโรงแรมอยู่ ตนเคร่งเรื่องยาเสพติด มีการใช้สุนัขดมไม่ให้คนขึ้นรถ เพราะทำธุรกิจชายแดนมันหมิ่นเหม่ แต่ตนก็เข้าใจ เพราะจากที่อ่านจากข่าวทุนมินลัต หลังจากที่ตนขายโรงแรมแล้ว เขาก็ยังอยากทำธุรกิจขายไฟต่อ จึงมาจดทะเบียนบริษัทในไทย ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นตอนที่ด่านปิดเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งตนก็เคยร่วมทำธุรกิจไฟกับเขา โดยปกติตอนที่ด่านเปิด การไฟฟ้าพม่าจะเอาเงินสดมาให้เราที่โรงแรม แล้วเอาข้ามด่านมาธนาคารกสิกรไทย เพราะการไฟฟ้าภูมิภาคไม่รับเงินสดเนื่องจากไม่มีพนักงานนับเงิน และกลัวธนบัตรปลอม และชายแดนใช้เงินบาท เราจึงเอาเงินเข้าแบงก์เพื่อออกเป็นแคชเชียร์เช็ค จ่ายให้กับการไฟฟ้า ซึ่งเป็นอย่างนี้มาหลายปีจนด่านปิด ก็เกิดปัญหา เพราะตนก็เลิกธุรกิจหมดแล้ว แต่ทุนมินลัต รับทำต่อ เขาไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจ่ายให้การไฟฟ้าอย่างไร จึงฝากคนโอน

"ในกรณีนี้อาจจะไปเกี่ยวพันกับคนส่ง ยกตัวอย่างกรณีมีร้านอาหารวันดีคืนดีมีพ่อค้ายาเสพติดมาทานข้าว แล้วเอาเงินขายยามาจ่าย อย่างนี้ต้องมาจับเจ้าของร้านด้วยหรือไม่ เขาจะรู้หรือไม่ จึงต้องให้ความเป็นธรรมว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคนพม่า คนที่ใกล้ชิดกับผู้นำ คนที่สถานทูตเขารับประกันว่าไม่มีประวัติด่างพร้อย อายุตั้ง 50 กว่าแล้ว เพราะถ้าทำเรื่องยาก็ต้องมีประวัติอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ไม่มีลิงก์เกี่ยวกับยาเลย มีแต่เรื่องโอนเงินเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งตนอ่านพบอีกว่าเป็นพ่อค้าอาวุธกลายเป็นยักษ์เป็นมาร ทั้งที่เขาเป็นตัวแทนประเทศอิสราเอลในการขายยุทโธปกรณ์ เท่าที่ทราบเขาเป็นตัวแทนอย่างถูกต้องขายให้รัฐบาลพม่า นี่คือธุรกิจที่เขาทำ และเขาจะมาปักหลักทำธุรกิจไฟฟ้าที่เมืองไทย เขามีเงินทองและทรัพย์สินที่โอนมาจากต่างประเทศ สามารถพิสูจน์ที่มาที่ไปทั้งหมดได้ และเขาเพิ่งซื้อคอนโด เพราะเตรียมที่จะมาอยู่ไทย ตอนนี้ก็โดนยึดหมด คิดว่าเป็นเรื่องของคดีที่เขาต้องพิสูจน์กับศาล" อุปกิต กล่าว

นายอุปกิต กล่าวยืนยันว่าได้ติดต่อกับนายทุนมินลัต มาตลอด เพราะรู้จักกันมา 20 กว่าปี ยืนยันว่าไม่ได้ขายอาวุธเถื่อนและไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดแน่นอน แต่ไม่มั่นใจเรื่องความเชื่อมโยงระบบโอนเงิน

เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา หรือยัง อุปกิต กล่าวว่ายังไม่ได้คุยกันเพราะเป็นเรื่องกระทันหัน และช่วงนี้ปิดสมัยประชุม ความจริงตนต้องไปต่างประเทศกับคณะกรรมาธิการ อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมที่จะคุยกับทุกคน เพราะรู้จักตนดี ยืนยันว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร และไม่ได้กังวลใจ ไม่เช่นนั้นคงไม่ได้มาคุยกับสื่อมวลชน แต่ก็เห็นใจผู้ที่ถูกกล่าวหาควรจะได้รับความยุติธรรม

หมายเหตุ - เมื่อ 23 ก.ย. 2565 เวลา 11.54 น. มีการอัปเดตเนื้อหาข่าวเรื่องรายละเอียดการจับกุม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net