Skip to main content
sharethis

กสม.เห็นด้วยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุสถานการณ์คลี่คลาย กระทบเสรีภาพการแสดงออก ชงยุติดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืน พร้อมหนุนคุ้มครองสิทธิกระบวนการสอบสวน LGBTQ+ และกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติทางเพศ


30 ก.ย. 2565 ทีมสื่อ กสม. รายงานวานนี้ (29 ก.ย.) เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 35/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  • กสม. ขานรับยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ชงยุติการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืน
  • เสนอคุ้มครองสิทธิในกระบวนการชั้นสอบสวนของผู้หลากหลายทางเพศ แนะแยกพื้นที่คุมตัว หนุนกฎหมายกลางว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติ และกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ

กสม. ขานรับยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ชงยุติการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืน

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศและคำสั่ง ที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมดโดยให้มีผลในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไปนั้น

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

กสม. เห็นด้วยและขอขอบคุณ ศบค.ที่มีมติดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลายไปมากแล้ว และที่ผ่านมา ในหลายกรณี การดำเนินการตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดที่ออกตามประกาศดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่ง กสม. เคยมีข้อเสนอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวมถึงข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 ด้วยแล้ว

กสม. เห็นว่า เมื่อมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวมถึงข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งต่าง ๆ แล้ว พนักงานสอบสวนควรยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ หรือคดีเกี่ยวเนื่องกับความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง สำหรับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีควรใช้ดุลพินิจในการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี หรือหากเห็นว่าสังคมโดยรวมจะไม่ได้รับประโยชน์หากมีการดำเนินคดีก็ควรเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดในการสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าว โดยคำนึงถึงความจำเป็นของการดำเนินคดี รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญ

เสนอคุ้มครองสิทธิในกระบวนการชั้นสอบสวนของผู้หลากหลายทางเพศ แนะแยกพื้นที่คุมตัว หนุน กม.กลางว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติ และ กม.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ 

ภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 33 เรื่อง กล่าวอ้างว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในชั้นการสืบสวนสอบสวนจากผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งมีความประสงค์ขอให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงปฏิบัติหน้าที่ที่มีความละเอียดอ่อนต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในขั้นตอนต่างๆ เช่น การจับกุม การตรวจค้นตัว การตรวจปัสสาวะ และขอให้จัดพื้นที่ให้บริการโดยเฉพาะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ประกอบกับมีกรณีร้องเรียนว่าเรือนจำไม่จัดให้มีห้องขังผู้ต้องขังสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยปรากฏข้อมูลระหว่างปี 2563-2565 มีสถิติเรื่องร้องเรียนที่กล่าวอ้างว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศคิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด

นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย

กสม. จึงได้รวบรวมสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงจากเรื่องร้องเรียน ศึกษาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน งานวิจัย ความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างการปฏิบัติในต่างประเทศ คำวินิจฉัย คำพิพากษา แล้วเห็นว่า แม้ว่าสังคมไทยจะมีการเปิดกว้างและยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังมิได้มีการบัญญัติกฎหมายเพื่อการรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่บุคคลดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ยังมิได้ให้การรับรองสถานะทางกฎหมายของบุคคลข้ามเพศให้สามารถเปลี่ยนแปลงตามเพศสภาพของตนเองได้ และยังมิได้มีการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการค้นตัวผู้ต้องหา การตรวจตัวผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย รวมทั้งการถามปากคำผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับเพศให้คุ้มครองสิทธิครอบคลุมไปถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน กสม. จึงเห็นว่าสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเหนือสิ่งอื่นใด คือ การสร้างความตระหนักรู้และการสร้างความเข้าใจให้แก่เจ้าพนักงานตามกฎหมายซึ่งเป็นต้นทางแห่งความยุติธรรมให้ได้รับรู้และเข้าใจถึงแนวทางการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ปฏิบัติหน้าที่บนหลักของความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติและไม่มีทัศนคติเกลียดชังต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าในการแก้ไขบทบัญญัติในการคุ้มครองสิทธิความเท่าเทียมทางเพศที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในชั้นสอบสวนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สรุปได้ดังนี้

1) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

การควบคุมตัวที่สถานีตำรวจ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแนวทางปฏิบัติให้สถานีตำรวจทุกแห่งจัดสรรสถานที่ให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความมิดชิดเป็นส่วนตัวสำหรับบุคคลทุกเพศ รวมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยให้ผู้กำกับการสถานีตำรวจแต่ละแห่ง ใช้อำนาจสั่งการให้มีการจำแนกห้องควบคุมเป็นการเฉพาะคราวได้เพื่อควบคุมตัวบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่นเดียวกับกรณีมีการจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน และในการค้นตัว ให้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพศเดียวกันค้นตัวผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา สำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามก่อนด้วยความสุภาพ โดยคำนึงถึงลักษณะรูปพรรณสัณฐานของผู้ต้องหา การเปลี่ยนแปลงของเพศสรีระ และจัดเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายแจ้งความจำนงเป็นผู้ตรวจค้น

การควบคุมตัวในชั้นราชทัณฑ์ ให้กรมราชทัณฑ์จำแนกประเภทและแยกการคุมขังผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นการเฉพาะต่างหาก โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมสำหรับผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เรือนจำทั่วประเทศปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

นอกจากนี้ ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ส่งเสริมเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างหลากหลายได้อย่างสันติไปยังทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการจัดการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) จัดทำคู่มือคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพว่าด้วยการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานที่เหมาะสมต่อไป 

2) ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง

ให้กระทรวงยุติธรรม เร่งผลักดันให้มีกฎหมายกลางว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ รวมทั้งสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพและคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. .... เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศด้วย นอกจากนี้ ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ให้สามารถส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในเชิงรุกมากขึ้น เช่น ควรแก้ไขให้อำนาจคณะกรรมการ วลพ. สามารถหยิบยกปัญหาขึ้นวินิจฉัยเองได้ เป็นต้น เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net