Skip to main content
sharethis

คนร่วมรำลึกครบรอบ 46 ปีสังหารหมู่ 6 ตุลาฯ คับคั่ง นักกิจกรรมร่วมไว้อาลัย ยืนยันสืบทอดอุดมการณ์ประชาธิปไตย ยิ่งผู้มีอำนาจทำให้ลืมจะยิ่งรำลึก "ราษฎร" แถลงจะไม่รอเลือกตั้งอย่างเดียวยืนยันกฎหมายเลือกตั้งต้องผ่านโดยเร็วและรัฐบาลต้องยุบสภาให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

ภาพใบหน้าผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

6 ต.ค.2565 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีงานรำลึกครบรอบ 46 ปี การสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 โดยงานในช่วงเช้ามีการวางดอกไม้และทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ก่อนมีการกล่าวสดุดีวีรชน 6 ตุลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในกำหนดการวันนี้จะมีการกล่าวพิธีเปิดงานโดย เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. แต่เมื่อถึงเวลาพิธีเปิดงานปรากฏว่าเกศินีมีเพียงการส่งตัวแทนมาร่วมงานเท่านั้น

จากนั้นอนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มธ. กล่าวปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ในหัวข้อ “ฆ่า อย่างไรก็ไม่ตาย : คนรุ่นใหม่ในความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัย” โดยกล่าวถึงประเด็นความต่อเนื่องทางอุดมการณ์ของคนในยุคนั้นที่ส่งต่อมาถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาที่ออกมามีข้อเรียกร้องต่อผู้ปกครองของประเทศนี้โดยตรง แต่เยาวชนก็ถูกปราบปรามโดยการสลายการชุมนุมรวมถึงมาตรการทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมกว่า 1,800 ราย

“วิธีเหล่านี้อาจสยบความกระด่างกระเดื่องได้ชั่วคราว แต่ไม่สามารถที่จะหยุดความขุ่นเคืองในระยะยาวได้ หรือเห็นว่าจะยังสามารถหว่านล้อมเกล่าเกลานิสิตนักศึกษาหรือว่าประชาชนด้วยวิธีการอย่างเดิมต่อได้หรืออย่างใด แต่อย่าลืมยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ประวัติศาสตร์ฉบับท้าทายได้กลายมาเป็นหนังสือยอดนิยมแทนที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ และมีสื่อทางเลือกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกเสมือนให้เข้าถึงได้ นอกเหนือจากสื่อกระแสหลัก จนยากที่จะควบคุมความคิดจิตใจของผู้คนให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป”

“ทั้งหมดนี้คือกระแสความเปลี่ยนแปลงที่มันไม่อาจหยุดยั้งได้ตามใจอีกต่อไป เป็นจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย” อนุสรณ์ กล่าว

‘อนุสรณ์’ ปาฐกถา 46 ปี 6 ตุลา เตือนชนชั้นนำใช้อำนาจกดปราบไม่ได้ผล เพราะสังคมเปลี่ยนไปแล้ว

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (ซ้าย) จาตุรนต์ ฉายแสง (กลาง) และชลน่าน ศรีแก้ว(ขวา) มาร่วมงานในช่วงเช้า

หลังกล่าวปาฐกถาได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมงานวางดอกไม้ที่อนุสรณ์ 6 ตุลา 19 จากนั้น มีการร้องเพลง “จากลานโพธิ์สู่ภูพาน” ซึ่งเป็นเพลงของวัฒน์ วรรลยางกูร อดีตคนเดือนตุลาฯ ที่สุดท้ายต้องลี้ภัยการเมืองหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 และเสียชีวิตอย่างสงบจากอาการป่วยระหว่างลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส รวมถึงมีการกล่าวรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จากตัวแทนภาคประชาสังคมต่างๆ

อรัญญิกา จังหวะ ตัวแทนจากสมัชชาคนจน กล่าวไว้อาลัยถึงนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของคนในประเทศแต่กลับถูกเข่นฆ่าโดยศักดินา แต่อุดมการณ์ของพวกเขายังคงส่งต่อมาถึงคนในปัจจุบันและเป็นส่วนส่ำคัญในการก่อตั้งสมัชชาคนจนที่ออกมาต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเท่าเทียมและความยากจนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิทธิและอำนาจ จากการถูกทำให้จนจากฆาตกรคนเดียวกับที่สั่งสังหารประชาชนเมื่อ 46 ปีที่แล้ว สมัชชาคนจนยืนยันว่าจะขอต่อสู้เพื่อยืนยันอุดมการณ์ของวีรชน 6 ตุลาฯ ต่อไปโดยการสร้างประชาธิปไตยที่กินได้และการเมืองที่เห็นหัวคนจน

ศรีไพร นนทรี ตัวแทนจากสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่าเธอเติบโตมาหลังจากกรรมกรรุ่นพี่ออกมาร่วมต่อสู้ในขบวนการประชาธิปไตยแม้ว่าจะไม่ได้ถูกพูดถึงนัก อย่างเช่น คนงานการไฟฟ้า 2 คนที่ร่วมแจกใบปลิวประท้วงขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร แต่ถูกแขวนคอในจังหวัดนครปฐมจนกลายเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการชุมนุมของขบวนการนิสิตนักศึกษามีการแสดงละครถึงเหตุการณ์นี้แต่ถูกกล่าวหาโดยหนังสือพิมพ์ดาวสยามว่าเล่นละครล้อเลียนองค์รัชทายาทนำไปมาสู่การปราบปรามประชานและนักศึกษาในวันที่ 6 ต.ค.2519

ศรีไพรได้กล่าวถึงผู้ลี้ภัยการเมืองหลัง คสช.ทำรัฐประหารหลายคนรวมถึงคนที่ถูกบังคับสูญหายระหว่างลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ปัจจุบันนี้คนที่ยงัมีชีวิตอยู่ก็ยังไม่สามารถกลับมาประเทศไทยได้เพราะคนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังคงมีอำนาจอยู่

“เราในฐานะผู้ใช้แรงงานและกรรมกรในเขตต่างๆ ที่ในประเทศไทย เราจะร่วมยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับพี่น้องนักประชาธิปไตยและขบวนการเยาวชนในการต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา ทรราชต้องถูกทำลาย ยกเลิก 112 รัฐธรรมนูญไทยต้องแก้ไขได้ทุกมาตรา” ตัวแทนสหภาพแรงงานกล่าวทิ้งท้าย

ผู้แทนสภานักศึกษา มธ.กล่าวว่าสถานที่แห่งนี้เมื่อ 46 ปีที่แล้ว บรรดานักศึกษาที่เป็นอนาคตของชาติได้มารวมตัวกันเพื่อต่อต้านเผ็ดจการ แสดงพลังที่ฝันถึงความเท่าเทียมประชาธิปไตย แต่ฝันของพวกเขาก็ถูกพรากไปโดยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาถูกคนไทยด้วยกันฆ่ากันเองในรั้วมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่รัฐที่ไร้ศักดิ์ศรีพร้อมอาวุธครบมือใช้กำลังกับนักศึกษามือเปล่าที่ไร้ทางสู้

“เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างบาดแผลที่ไม่มีวันหายและไม่มีทางหวนกลับ ผ่านมาแล้ว 46 ปี มีคนบางกลุ่มพยายามที่จะทำให้เหตุการณ์นี้ถูกลืมเพียงเพราะบุคคลที่เคารพและศรัทธา เคารพสักการะของพวกเขาไม่ต้องมีมลทิน หรือไม่ต้องการให้ประชาชนเห้นภาพมงกุฏที่แปดเปื้อนไปด้วยเลือด ความโหดร้ายที่นิสิตนักศึกษาได้รับ โอกาสของพวกเขาที่ถูกพรากไปก็ยังไม่มีผู้ใดมารับผิดชอบ ความฝันถึงความเท่าเทียมและประชาธิปไตยก็ยังเป็นสิ่งที่คนปัจจุบันตามหา รวมทั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ยังคงอยู่”

ตัวแทนกล่าวต่อว่านับตั้งแต่การสังหารหมู่ครั้งนั้น สังคมไทยยังคงย่ำอยู่กับที่ แต่ยิ่งปกปิด พวกเราก็จะยิ่งเปิดโปง ยิ่งทำให้ลืมก็จะยิ่งระลึกถึงความอยุติธรรมที่นักศึกษาเมื่อ 46 ปีก่อนได้รับ และจะยิ่งเป้นไฟแค้นที่ไม่มีวันดับจนกว่านักศึกษาเหล่านั้นจะได้รับความยุติธรรมกลับคืน

จากนั้นผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มคณะราษฎรได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวแนวทางการเคลื่อนไหวต่อจากนี้ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวในฐานะตัวแทนว่า กลไกที่ คสช.สร้างไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา องค์กรอิสระต่างๆ ศาลรัฐธรรมนูญที่ คสช. คัดเลือกมา เป็นเครื่องมือในการอุ้มชูคณะรัฐประหารไม่เคยทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาพ้นจากอำนาจได้ และไม่เห็นบทบาทของรัฐบาลชุดนี้ในการแก้ปัญหานับตั้งแต่สถานการณ์โควิดรุมเล้า ปัญหาเศรษฐกิจ น้ำท่วม และการจัดสรรทรัพยากร รัฐบาลทำแต่สร้างภาพทำแต่เรื่องเฉพาะหน้า แล้วรัฐสภาก็ไม่ทำหน้าที่เป็นทางออกให้กับประเทศ สมาชิกกว่า 2 ใน3 แทบไม่ทำอะไรนอกจากปกป้องอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น เห็นได้จากการที่สภาล่มหลายครั้งทั้งที่ฝ่ายรัฐบาลเองกุมเสียงข้างมากได้ กฎหมายสำคัญก็ไม่ผ่านเลย

“เราราษฎรทั้งหลายจึงไม่อาจเชื่อว่า รัฐบาลและรัฐสภาชุดปัจจุบันจะพาประเทศไปในทิศทางใดได้ การคงอยู่ต่อไปมีแต่เพื่อการยื้ออำนาจเพื่อให้ตัวเองและพวกพ้องเสวยสุขต่อไปบนความทุกข์ของประชาชนเท่านั้น”

ภัสราวลีกล่าวต่อไปว่าเหลือเวลาอีกแค่ 7 เดือนเท่านั้นจะถึงการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถรอเฉยๆ ได้ะรหว่างที่รัฐบาลยังมีอำนาจและทำอะไรกับประเทศก็ได้ ราษฎรจึงขอเรียกร้องให้ยุบสภาและคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุดและทันที โดยจะต้องมีองค์ประกอบอีก 3 ประการคือ

1. ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรีบวินิจฉัยกฎหมายเลือกตั้งที่ค้างอยู่โดยเร็วที่สุด โดยกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนให้มีการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ระบบการเลือกตั้งชัดเจน

2. คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ต้องรีบออกกติกาที่ชัดเจนว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งทำเรื่องอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง และบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกันโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ ส.ส.ทุกพรรคออกแบบการหาเสียงได้และมีสูตรคำนวน ส.ส.ที่ชุดเจน สนับสนุนให้ประชาชนร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เปิดเผยผลคะแนนด้วยระบบอิเล็กโทรนิกส์

3. คณะรัฐมนตรีต้องเร่งรัดทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมความชัดเจนในการเลือกตั้งเร็วที่สุดและประกาศยุบสภาคืนอำนาจประชาชนเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรม

“หากยังไม่มีการตอบรับหรือความคืบหน้าในการคืนอำนาจประชาชนโดยเร็ว เราขอประกาศเดินหน้าเรียกร้องโดยเฉพาะเจาะจงกับพรรคการเมืองทุกพรรคให้รวม่กันกดดันไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ประกาศยุบสภา และร่วมกันเรียกร้องไปยัง กกต.ทุกโอกาสให้จัดเตรียมเลือกตั้งให้โปร่งใสและเป็นธรรมโดยเร็วที่สุด” แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรม Walking Tour สถานที่ในประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ที่มีชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. และกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและอดีตคนเดือนตุลาฯ

นักกิจกรรมนำหุ่นศพเผาในสนามฟุตบอลของ มธ.และโปรยข้าว จาก Mob Data Thailand

จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. มีการนำหุ่นผ้าไปเผาและโปรยเมล็ดข้าวภายในสนามฟุตบอลที่ทาง มธ. กำลังขุดผิวสนามเพื่อทำการปรับปรุงอยู่ ซึ่งการปรับปรุงนี้เป็นประเด็นขึ้นมาในช่วงสองวันที่ผ่านมาเนื่องจากหลังทางกลุ่มผู้จัดงานรำลึกครั้งนี้ประกาศใช้สถานที่ภายใน มธ.เพื่อทำกิจกรรมเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ปรากฏว่าเช้าวันถัดมาผิวสนามถูกขุดขึ้นมา

กลุ่มนักกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์กลางสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีการเผาหุ่นศพ และหว่านเมล็ดข้าวลงบนผืนดิน นอกจากนี้ มีการนำป้ายผ้ามาติดที่รั้วของสนามบอล ปรากฏข้อความต่างๆ เช่น “เราต้องการรัฐธรรมนูญ” “พวกผมเป็นคอมมิวนิสต์คร้าบ” และ “ยังจำได้ไหม? หนี้เลือดที่ยังไม่ได้ชดใช้” 

ผู้สื่อข่าว สัมภาษณ์ 2 นักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงเบื้องหลังของการแสดงออกดังกล่าว โดยทั้ง 2 คนระบุว่าเป็นการแสดงความไม่พอใจที่มหาวิทยาลัยมีการนำสแลนมาล้อมสนามบอล และไถหน้าดิน 

นิ้ง (นามสมมติ) นักศึกษาธรรมศาสตร์ เผยว่า ทางมหาวิทยาลัยมีการไถหน้าดินประมาณวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเธอไม่คิดว่าทางมหาวิทยาลัยจะเอาจริง นอกจากนี้ เธอรู้สึกว่าเหมือนถูกทางมหาวิทยาลัยกลั่นแกล้ง เพราะว่ามีการขอใช้สถานที่ล่วงหน้าแล้ว หรือต่อให้ไม่มีการแจ้ง มหาวิทยาลัยน่าจะทราบว่าทุกปี จะมีการใช้สนามบอลทำกิจกรรมรำลึก 6 ตุลา

นิ้ง มองว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญ เพราะว่าถ้ามีโครงการปรับปรุงหน้าดินสนามฟุตบอลจริง ก็น่าจะสามารถรอให้ผ่านงานรำลึก 6 ตุลา ไปก่อน และค่อยไถหลังจากวันที่ 6 ต.ค. ได้ 

โต๊ส (นามสมมติ) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดการแสดงเชิงสัญลักษณ์ กล่าวเสริมว่า “มันดูออก มันไม่ใช่แค่ครั้งนี้ มันเกิดทุกปี ปีที่แล้ว ก็เหมือนปิดปรับปรุงลานประติมากรรม และเขาจะมีเรื่องการก่อสร้างเข้ามา และต้องเป็นช่วงตุลา ตลอดเลย พอดูแล้วมันก็ดูเหมือนว่ามีเจตนา”

ทั้ง 2 คนระบุว่าเบื้องต้น ยังไม่มีคำชี้แจงจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกมาต่อกรณีดังกล่าว 

สำหรับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ นิ้ง บอกว่า การหว่านข้าว เป็นการแสดงออกเชิงประชดประชัน สะท้อนว่าสนามบอลที่ไถหน้าดินขึ้นมา เหมือนท้องนา ประชาชนเลยอยากช่วยหว่านข้าว “เหมือนปลูกข้าวให้เขา”

ส่วนการเผาศพกลางสนามบอล มีนัยยะตรงที่ศพที่เอามาเผา ไม่ใช่ศพวีรชน 6 ตุลา แต่เป็นศพของผู้นิยมแนวคิดอนุรักษ์นิยม 

โดยที่หุ่นจะมีหน้า มีชื่อของฝ่ายขวาที่มีบทบาทสำคัญในการสังหาร นศ. เช่น กลุ่มกระทิงแดง นวพล สื่อต่างๆ กลุ่มทหาร ตำรวจ และทมยันตี และมีการใส่ชุดจำลองต่างๆ เช่น เครื่องแบบทหาร ตำรวจ และอื่นๆ 
นิ้ง ระบุเพิ่มว่า การเผาเป็นการสื่อถึงความโหดร้ายที่เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน ทำเหตุการณ์ 6 ตุลา 

“ถ้าผู้บริหารจะขวางการชุนนุมไม่ใช่แค่ 6 ตุลา การชุมนุมโดยตลอดของนักศึกษา อย่าเรียกตัวเองว่าธรรมศาสตร์เลย” โตส กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากกิจกรรมในช่วงเช้าแล้ววันนี้ที่ มธ.ยังมีงานเสวนาที่เป็นประเด็นต่อเนื่องเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตและในปัจจุบันอีกหลายเวที รวมถึงงานดนตรีที่ลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครด้วย

ภาพที่ลานคนเมืองเมื่อเวลา 15.00 น. จาก Mob Data Thailand

ละครแขวนคอสะท้อนความรุนแรงในอดีต

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ข้างสนามบอล ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีประชาชนแสดงละครแขวนคอใต้ต้นมะขาม จำลองความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปไต่ถามทำให้ทราบความว่า พวกเขามาจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

กุ๊กไก่ จากกลุ่มอิสระล้อการเมืองฯ เผยว่ากลุ่มนี้มีมานานแล้ว และปกติจะแสดงในการประเพณีฟุตบอลธรรมศาสตร์-จุฬาฯ แต่ตอนนี้ไม่มีงานบอลแล้ว เลยเปลี่ยนมาล้อเลียนในงาน 6 ตุลา 2519 การชุมนุมทางการเมือง หรือตามงานใน ม.

สมาชิกกลุ่มอิสระล้อเลียนการเมืองฯ ระบุต่อว่า ส่วนหนึ่งอยากมาแสดงในงาน 6 ตุลา เพราะสมาชิกหลายคนมาจากคณะสังคมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และต้องการแสดงอะไรใหม่ๆ ที่ยังคงแก่นสารประเด็นทางสังคมเอาไว้

กุ๊กไก่ เผยต่อว่า เหตุที่จำลองเหตุการณ์นี้ขึ้นมา เนื่องจากเป็นภาพจำที่หลายๆ คนได้เห็นแล้ว จะเข้าใจได้เลยว่า ความรุนแรงนี้เกิดขึ้นใน 6 ต.ค. และเขาอยากย้ำเตือนความทรงจำ และไม่อยากให้ทุกคนลืมว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้ของช่วงนั้น

“ผมมองเป็นเหตุการณ์ในอดีต เหตุการณ์หนึ่งที่เป็นเหมือนบันทึกการต่อสู้ของนักศึกษา ที่ได้ต่อสู้กับผู้มีอำนาจ และเหมือนมันเป็นเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ให้คนที่อยู่รุ่นหลังได้เห็นว่ามันเคยเกิดขึ้นแล้ว และเราจะทำยังไงให้เหตุการณ์แบบนั้น ต้นเหตุ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก หรือมีเหตุการณ์อะไรอย่างนี้ได้น้อยที่สุด”

“อีกอย่างหนึ่งคือเสริมสร้างกำลังใจในตัวเองกับคนที่เป็นแนวร่วมของเรา เพื่อให้เราเห็นว่าอดีตของเราเป็นไง เพื่อให้สามารถก้าวไปในอนาคตได้” สมาชิกกลุ่มอิสระล้อการเมืองฯ ทิ้งท้าย

จุดเทียนระลึก 6 ตุลา ส่งต่ออุดมการณ์

เวลา 17.30 น. ประชาชนรวมตัวกันที่ลานประติมากรรม '6 ตุลา' มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จุดเทียนร่วมกัน โดยมีตัวแทนกล่าวแถลงว่าการจุดเทียนเป็นไปเพื่อการระลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ความโหดร้ายที่ประชาชนได้รับ และรำลึกถึงผู้เสียชีวิต และถือเป็นการจุดเทียนอุดมการณ์เพื่อส่งต่ออุดมการณ์ โดยมุ่งหวังว่าจะเกิดความยุติธรรมแก่เหยื่อและผู้กระทำ และสรรสร้างสังคมที่ดี

จากนั้น ประชาชนร่วมร้องเพลง 'แสงดาวแห่งศรัทธา' ประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชน จากนั้น ตะโกนเผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎรจงเจริญ ท้ายสุด มีการแสดงดนตรีโดยวงสามัญชน

ธรรมศาสตร์ รังสิต จัดจุดเทียน เสวนา รำลึก 46 ปี 6 ตุลา

เวลา 17.00 น. อาคารศูนย์เรียนรวม SC1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม 6 ตุลา รังสิต รำลึก เพื่อรำลึกถึงวีรชนและเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยมีกิจกรรมวางพวงหลีดรำลึกจาก นักศึกษาและกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการจัดงานคู่ขนานกับศูนย์ท่าพระจันทร์

จากนั้น มีการจัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง “6 ตุลา เรื่องที่อยากเล่า” โดย วิชัย แสงดาวฉาย นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ เลขานุการโครงการบัณฑิตศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. คนยุค 6 ตุลาฯ และอดีตนักกิจกรรม “6 ตุลา พิพากษาฆาตกร” กฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมยุค 6 ตุลาฯ และ “6 ตุลา มองอดีตและปัจจุบัน” และพรรณิการ์ วานิช คณะกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า

ตอนท้ายของกิจกรรมมีการจุดเทียนและกล่าวรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ รวมถึงจุดเทียนเพื่อไว้อาลัย

นอกจากนี้ รอบบริเวณพื้นที่การจัดงาน มีป้ายเชิงสัญลักษณ์และรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ติดอยู่บริเวณอาคาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net