Skip to main content
sharethis

ปาฐกถาพิเศษ “Modern Time ใน Postmodern Time” โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล ท่ามกลางระบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป คนทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมขยับมาสู่การจ้างงานที่ไม่มั่นคงของฟรีแลนซ์, ไรเดอร์, แม่บ้าน และแรงงานในโลกยุคใหม่อีกหลายกลุ่ม โดยที่รัฐและทุนไม่ได้เข้ามารับผิดชอบชีวิตคนทำงาน

 

11 ต.ค. 2565 เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2565 เวลา 11.00 – 16.30 น. เครือข่ายแรงงานภาคเหนือร่วมกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation), มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) และ ตี่ตาง จัดงาน “คุณค่าของคน ≠ คุณค่าของงาน” เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล หรือ Decent Work Day ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค. ของทุกปี ขึ้นที่โรงแรมฮอลิเดย์การ์เด้น จังหวัดเชียงใหม่

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ “Modern Time ใน Postmodern Time” โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากให้จินตนาการถึงชีวิตและสถานะของแรงงานปัจจุบัน สมชายกล่าวว่าตนเองจะนึกถึงหนัง 2 เรื่องในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน อย่าง “Modern Times” (1936) ของ ชาลี แชปลิน และ “ฟรีแลนซ์…ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” (2015) ทั้ง 2 เรื่องเป็นหนังที่เกี่ยวกับชีวิตแรงงานที่แตกต่างกัน

ในหนังเรื่อง Modern Times เสนอภาพชีวิตคนทำงานในโรงงานที่ระบบทุนนิยมได้ทำให้คนทำงานกลายเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ของงาน เช่นใน Modern Times คนทำงานจะทำหน้าที่ขันน็อตทั้งวัน โดยที่ไม่รู้ว่าขันน็อตไปเพื่ออะไร

“คนทำงานมีหน้าที่ขันน็อต วันทั้งวันก็ขันน็อตๆ ส่วนขันน็อตเพื่อไปทำอะไร ไม่รู้ หน้าที่เขาคือขันน็อต เขากลายเป็นส่วนหนึ่งการผลิตที่ใหญ่มากภายใต้ระบบอุตสาหกรรมภายใต้ระบบทุนนิยม ที่สร้างระบบการผลิตที่ทำให้คนเป็นเพียงปัจจัยการผลิต” สมชาย กล่าว

ข้อถกเถียงที่ตามมาคือ “มนุษย์กับงาน” ตัวคนทำงานอาจจะไม่ได้รู้สึกรักในงานที่ทำ เกิดความภาวะแปลกแยกระหว่างคนกับงาน ไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำงานไปเพื่ออะไรหรือสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำงานในระบบที่ใหญ่โต และตกอยู่ในภาวะของการเป็นปัจจัยการผลิต ตามคำอธิบายแบบเดิมจะกล่าวว่า คนทุกคนที่เป็นแรงงานในรูปแบบนี้จะถูกเอารัดเอาเปรียบ และเกิดความรู้สึกร่วมกันต่อระบบการจ้างงานที่ไม่เห็นประโยชน์จากการใช้แรงงานในตัวคนทำงาน

“เวลาเราพูดถึงระบบ นายจ้าง นายทุน อาจมีดีบ้าง เลวบ้าง แต่ระบบไม่เห็นหัวเรา (คนทำงาน) เช่น ระบบประกันสังคมไม่ดึงเราเข้าไป หรือคุ้มครองเราน้อยมาก ระบบการจ้างงานแบบดั้งเดิมที่อยู่ในโรงงานได้สร้างให้เกิดสภาวะที่มีคนทำงานคล้ายๆ กันเกิดขึ้น และกลายเป็นความรู้สึกร่วมกัน” สมชาย กล่าว

 

ระบบการจ้างงานแบบดั้งเดิมแรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงงาน ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมทอผ้าในอังกฤษระยะเริ่มต้นมีการออกแบบเครื่องมือมาเพื่อให้เด็กสามารถทำงานได้ ต่อมามีการต่อสู้เรื่องสิทธิเด็กและการทำงานของเด็ก กำหนดหลักเกณฑ์อายุขั้นต่ำของเด็ก ในระบบการจ้างงานแบบดั้งเดิมช่วงแรกปัญหาาที่พบมาจากการใช้แรงงานเด็ก มีการทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีสวัสดิการใดๆ และมีการกดขี่ขูดรีดกันเกิดขึ้น

ทางออกสำหรับชีวิตผู้ใช้แรงงานเมื่ออยู่ในโรงงานอยู่ที่การรวมตัวกันเป็น “สหภาพแรงงาน” เนื่องจากลำพังแรงงานเพียงคนเดียวไม่สามารถไปต่อรองกับนายจ้างได้ ในระยะเริ่มต้นนายจ้างเองก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของแรงงาน เพราะมีแรงงานอีกจำนวนมากที่พร้อมจะเข้าโรงงาน

“เขา (นายจ้าง) ก็จะบอกว่ามันเป็นเสรีภาพของแต่ละคน ถ้าอยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ออกไป แบบนี้หมายความว่าถ้าไม่เกิดการรวมตัวกันในระยะที่แรงงานอยู่ในโรงงาน การขูดรีดหรือการเอารัดเอาเปรียบก็จะเกิดขึ้นเมื่อแรงงานยังอยู่ในโรงงาน การต่อรองจะเกิดขึ้นจากสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการยกระดับค่าจ้าง” สมชาย กล่าว

แรงงานภาคเหนือเรียกร้อง 'สวัสดิการ' มองเห็น 'คุณค่าคนทำงาน' ในวัน 'งานที่มีคุณค่า'

สังคมไทยจะคุ้นเคยกับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ในช่วงระยะเริ่มต้นไม่ได้มีค่าแรงขั้นต่ำ มีแต่ “ค่าแรงขั้นสูง” เป็นกฎหมายที่บอกว่านายจ้างห้ามจ่ายค่าแรงเกินอัตราที่กำหนดไว้ เช่น ห้ามจ่ายค่าจ้างสูงกว่า 350 บาทต่อวัน โรงงานไหนจ่ายสูงกว่า 350 บาท ถือว่าผิดกฎหมาย เป็นการดึงลูกจ้างกัน

“สหภาพแรงงานเรียกร้องให้เกิดมาตรฐานการจ้างงานที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าจ้าง สวัสดิการ วันหยุด ความปลอดภัยในการทำงาน สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อรองที่สำคัญมาก” สมชาย อธิบาย

สมชาย มองว่า ในโลกปัจจุบันยังมีสถานการณ์การทำงานที่คล้ายกับการทำงานในโรงงานอยู่ ยังมีแรงงานที่ต้องทำงานในโรงงาน สถานประกอบการ และถูกเอารัดเอาเปรียบยังมีให้เห็น ที่ชัดเจนสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติที่เขามาทำงานในไทย เช่น แคมป์ก่อสร้าง สถานประกอบการ ภาคการเกษตร ฯลฯ หากเปรียบเทียบกับแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติยังถือว่าคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับที่ย่ำแย่กว่า ทั้งยังไม่มีการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองได้

“เชียงใหม่มีแรงงานหลายกลุ่ม แต่ผมคิดว่าแรงงานกลุ่มหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นสภาพการจ้างงานที่มีปัญหาคือแรงงานข้ามชาติ ก่อนโควิด-19 มีแรงงานข้ามชาติอยู่เกือบ 100,000 คนที่อยู่แบบถูกกฎหมาย แต่หลังโควิด-19 ลดลงมา ถ้าจะให้พูดผมคิดถึงสถานการณ์ของแรงงานที่ยังอยู่ในโรงงานของสังคมไทยหรืออยู่ในสถานประกอบการ ถ้าเราดูแรงงานเพื่อนบ้านที่ทำงานในแคมป์ก่อสร้าง ทำงานในภาคการเกษตร เป็นตัวอย่างที่ผมคิดว่าสวัสดิการ ค่าจ้าง หรือความปลอดภัยค่อนข้างต่ำมาก” สมชาย กล่าว

 

อีกประเด็นหนึ่งที่สมชายคิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของแรงงาน มากกว่าทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการจ้างงานเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างมีนัยยะ โดยมีแรงานที่เป็นการจ้างงานในระยะสั้นเพิ่มมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งคนตัวเล็กๆ ในสังคม ทั้งงานภาคเอกชน งานเหมาช่วง, Freelance, แรงงานพาร์ทไทม์ และภาครัฐที่มีการจ้างเหมา การต่อสัญญาปีต่อปี คนกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มของการจ้างงานแบบ precarious work หรือ งานที่ไม่มั่นคง

“เรากำลังอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง การจ้างงานแบบระยะยาว มีความมั่นคง มีสวัสดิการ เริ่มน้อยลง และเปลี่ยนแปลงเป็นการจ้างงานแบบไม่มั่นคงที่กระทบคนทุกกลุ่ม แต่คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนตัวเล็กๆ เราไม่ได้เผชิญกับ decent work อย่างเดียว แต่ในโลกของเรากับ precarious work งานที่ไม่มั่นคง” สมชาย กล่าว

 

ขณะที่คนหลายกลุ่มพยายามจะพูดถึง decent work งานที่มีคุณค่า แต่โลกกำลังเผชิญกับ precarious work งานที่ไม่มั่นคงเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญปัจจุบันโรงงานไม่ได้หายไป แม้คนจะเป็นแรงงานในโรงงานลดลง แต่สมชายชี้ว่า “โรงงานอยู่ทุกที่” ของการทำงาน เช่นอาชีพไรเดอร์ที่มีถนนเป็นโรงงาน

“เราไม่ได้ทำงานในโรงงาน แต่ว่าตอนนี้โรงงานมันใหญ่กว่าในอดีต เราไม่ได้เข้าไปทำงานในโรงงาน แต่โรงงานมันมาครอบชีวิตเรา ไรเดอร์โรงงานคือท้องถนน” สมชาย อธิบาย

โรงงานคือท้องถนนของไรเดอร์

การจ้างงานรูปแบบใหม่ที่อาชีพไรเดอร์เผชิญทำให้เกิดคำถามว่า ใครคือนายจ้าง ส่งผลให้เกิดการต่อรองได้น้อย บริษัทแพลตฟอร์มสามารถเปลี่ยนอัตราค่ารอบให้ต่ำลงได้เองโดยที่ต้องถามความเห็นจากไรเดอร์ ถ้าเป็นการทำงานในโรงงานการเปลี่ยนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานเช่นนี้ต้องผ่านการเจรจาต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างก่อน การจ้างงานของบริษัทแพลตฟอร์มตัดช่องทางการมีส่วนร่วมของไรเดอร์ออกไปด้วยคำว่า “พาร์ทเนอร์” ไม่ใช่ “ลูกจ้าง”

สมชาย ระบุว่า ตัวนักกฎหมายเองก็จะหลงอยู่กับข้อถกเถียงที่ว่าเป็นลูกจ้างหรือไม่เป็นลูกจ้าง

“บัดนี้เราเห็นการจ้างงานอีกแบบหนึ่ง ในความเห็นผมเรามีนายจ้าง แต่ว่านายจ้างของเราไม่เหมือนเจ้าของโรงงาน สภาพการจ้างงานดูสับสนอลหม่านมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีนายจ้าง” สมชาย กล่าว

 

อีกตัวอย่างเช่นการที่มหาวิทยาลัยหรือสถานที่ราชการจำนวนมากจ้างแม่บ้านที่ทำงานผ่านบริษัททำความสะอาด โดยที่แม่บ้านจะต้องถูกประเมินการทำงานทั้งจากบริษัทและหน่วยงานที่จ้าง เป็นการประเมิน 2 ต่อ เท่ากับแม่บ้านมีนายจ้าง 2 คน ซึ่งในมุมคนทำงานรูปแบบการจ้างงานเช่นนี้เป็นการจ้างงานที่ไม่มั่งคงมากขึ้น

เช่นเดียวไรเดอร์ การเป็นพาร์ทเนอร์ในภาษาอังกฤษคือการเป็นหุ้นส่วนที่ส่วนตัดสินใจด้วยกันได้

“การตัดสินใจฝ่ายเดียว ไม่เรียกว่า พาร์ทเนอร์ การที่วันดีคืนดีมาลดค่ารอบโดยไม่บอก ไม่ต่อรองกัน อันนี้คือลูกจ้าง ลูกจ้างที่ไร้ความสามารถในการต่อรองอย่างสิ้นเชิง” สมชาย กล่าว

 

ช่วงแรกที่เกิดอาชีพไรเดอร์หลายคนที่เข้ามาทำงานคิดว่าเป็นอาชีพที่อิสระ แต่ปัจจุบันเกิดคำถามต่อการเป็นไรเดอร์ว่า อิสระจริงหรือไม่ หรือเราต้องขูดรีดตัวเองเพิ่มมากขึ้น หากอยู่ในอาชีพอื่นเช่นข้าราชการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน พัก 1 ชั่วโมง

“แต่ไรเดอร์ถ้าทำงาน 8 ชั่วโมง ผมไม่แน่ใจว่าจะมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพหรือไม่ บางเจ้าไปรอใช้เวลา 45 นาที 1 วัน วิ่งได้กี่รอบ” สมชาย อธิบาย

 

สมชาย อธิบายเสริมว่า ไรเดอร์เป็นอาชีพที่ถูกผลักให้รับผิดชอบตัวเอง ซึ่งอาชีพในโลกสมัยใหม่หลายอาชีพก็ผลักให้เป็นเช่นนี้เหมือนกัน โดยที่นายจ้างไม่ต้องเข้ามารับผิดชอบคนทำงาน เห็นได้ชัดในอาชีพไรเดอร์ที่คนทำงานต้องซื้อรถเอง จ่ายค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์เอง ดูแลความปลอดภัยตัวเอง ทั้งหมดที่นายจ้างควรจะรับผิดชอบถูกผลักให้เป็นความรับชอบผิดของลูกจ้าง

“เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานเกิดขึ้นอย่างกว้างขว้าง อาจจะเป็นเพราะเทคโนโลยี แต่ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องอุดมการณ์ที่เปลี่ยนไป การขยายตัวของธุรกิจขนาดใหญ่ การขยายตัวของกลุ่มทุนหรืออะไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในการที่ดึงเอาคนเข้าไป แต่เป็นการดึงคนเข้าไปอยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคง” สมชาย กล่าว

 

เวลาถามเรื่องคุณค่าของงานและคุณค่าของคน สมชาย ระบุว่า มี 4 เรื่องสำคัญที่ต้องนึกถึง

หนึ่ง คุณค่าของงานต้องมองจากคนทำงานด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่การประเมินคุณค่าของงานมักจะถูกประเมินจากสายตาของรัฐและทุนเป็นหลัก ที่กำหนดคุณค่าของงานว่างานไหนเป็นงานที่สำคัญ โดยขาดมุมมองจากคนทำงานที่ให้ความหมายและคุณค่าของงาน การคิดถึงคนทำงานมากขึ้นจะนำสู่มาตรฐานการจ้างงานแบบใหม่ เพื่อชีวิตคนทำงาน  

สอง “สร้างเครือข่ายคนทำงาน” ที่สัมพันธ์กับงานในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้สามารถรวมตัวกันต่อรองได้ง่ายขึ้น หน้าตาของ “สหภาพแรงงาน” อาจเปลี่ยนแปลงไป เช่น ไรเดออร์อาจจจะรวมตัวกันผ่านเครือข่ายออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก และมารวมตัวกันในพื้นที่จริงเฉพาะประเด็นที่ต้องการเรียกร้องก็เป็นได้ เนื่องจากโลกของสหภาพแรงงานต่างออกไปจากเดิม การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานจึงต้องคิดให้สอดคล้องกับงานกลุ่ม

 

สาม ต้องยึดมั่นว่า “แรงงานคือแรงงาน” ทะลายมายาคติการจำแนกแยกย่อยแรงงาน เช่น แรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานเหมาช่วง แรงงานข้ามชาติ ฯลฯ การแบ่งแยกตัวแรงงานเช่นนี้เชื่อมโยงกับการคิดแบ่งสวัสดิการของแรงงาน มายาคติเหล่านี้ควรถูกทำลายไป สังคม รัฐ และทุนต้องตระหนักว่าแรงงานคือแรงงาน สวัสดิการและการให้สิทธิประโยชน์ของรัฐและทุนควรครอบคลุมแรงงานทุกคน

สี่ ในมิติมนุษย์ “แรงงานคือมนุษย์” แรงงานไม่ใช่แค่คนทำงาน พวกเขายังมีชีวิตยืนยาวหลังการทำงาน มีครอบครัวที่ต้องดูแล การจ้างงานจึงต้องสัมพันธ์กับชีวิตระยะยาว และระบบสวัสดิการหลังวัยทำงาน การยอมรับให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ

 

“เราต้องคิดถึงระบบที่รองรับคนในทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังช่วงเวลาการทำงาน เราต้องมีระบบสวัสดิการสังคม ไม่ใช่เฉพาะแรงงานที่อยู่ในประกันสังคมอย่างเดียว ใครก็ตามควรได้รับบำนาญประชาชน ผมคิดว่าใครที่อยู่ในสังคมไทยหลังจากวัยทำงานทุกคนต้องมีสวัสดิการรองรับที่ช่วยในการมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่อยู่แบบเดือนละ 600 – 700 บาท ในชีวิตความเป็นจริงทำอะไรได้ เงินส่วนนี้ไม่ใช่เงินสงเคราะห์ด้วย เราทำงานให้สังคมโดยรวมได้ประโยชน์มาทั้งชีวิต เมื่อถึงวัยที่เราไม่ทำงาน เราต้องมีสวัสดิการทุกคน ทุกคนต้องถูกคิดถึง” สมชาย กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net