แรงงานภาคเหนือเรียกร้อง 'สวัสดิการ' มองเห็น 'คุณค่าคนทำงาน' ในวัน 'งานที่มีคุณค่า'

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ และองค์กรเครือข่ายร่วมกันจัดงาน “คุณค่าของคน ≠ คุณค่าของงาน” ขึ้นที่เชียงใหม่ เนื่องในวัน 'งานที่มีคุณค่าสากล' หรือ Decent Work Day ชู 6 ข้อเรียกร้อง เพื่อชีวิตแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ระบุ รัฐต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพ เข้าถึงระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

 

10 ต.ค. 2565 เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2565 เวลา 11.00 – 16.30 น. เครือข่ายแรงงานภาคเหนือร่วมกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation), มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) และ ตี่ตาง จัดงาน “คุณค่าของคน ≠ คุณค่าของงาน” เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล หรือ Decent Work Day ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค. ของทุกปี ขึ้นที่โรงแรมฮอลิเดย์การ์เด้น จังหวัดเชียงใหม่

ภายในงานมีกิจกรรมการแสดงละคร เวที “เราต้องการสวัสดิการ” โดยตัวแทนแรงงานจากอาชีพต่างๆ อาทิ แรงงานแม่บ้าน แรงงานภาคเกษตร แรงงานก่อสร้าง ไรเดอร์ ฯลฯ เพื่อบอกเล่าปัญหาของแรงงานในแต่ละอาชีพ ต่อด้วยปาฐกถาพิเศษ “คุณค่าของคน คุณค่าของงาน” โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กิจกรรมการโต้วาที “คุณค่าของคนสำคัญกว่าคุณค่าของงาน” จากตัวแทนแรงงาน และการเวทีเสวนา “คุณค่าของคน ≠ คุณค่าของงาน” ร่วมเสวนา โดย อักษรสิริ ต้อยปาน จากสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส, ทรงพันธ์ ตันตระกูล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์ มช. และ ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร, ชัชลาวัณย์  เมืองจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ และศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน

ภาพขณะละครเวที “เราต้องการสวัสดิการ”

วัน 'งานที่มีคุณค่า' สหภาพคนทำงานแสดงเจตจำนง 5 ข้อ ในนามของ 'ผู้ใช้แรงงาน'

กลุ่มเครือข่ายแรงงานภาคเหนือมีการออกแถลงการณ์ เนื่องในวัน “งานที่มีคุณค่า” ระบุ สถานการณ์การจ้างงานปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติยังคงถูกละเมิดสิทธิแรงงานหลายประการ และมีการเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าจ้างระหว่างแรงงานหญิงและแรงงานชาย มีความรุนแรงทางเพศในที่ทำงาน รวมถึงแรงงานหลายภาคส่วนยังเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือจึงมีการเสนอ 6 ข้อเรียกร้อง เพื่อชีวิตคนทำงาน ดังนี้

  1. รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน
  2. รัฐบาลต้องนำหลักการการคำนวณค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานแรงงานสากล มาใช้สำหรับการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน และใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั่วทั้งประเทศ
  3. รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาการจ้างงานยืดหยุ่น เสี่ยง และไม่มั่นคง (precarious work) รวมถึงการจ้างงานบนแพลตฟอร์มที่บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในฐานะนายจ้าง โดยรัฐต้องไม่ตีความแรงงานแพลตฟอร์มเป็นคนงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบตามที่บริษัทพยายามกล่าวอ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการหมวดหมู่สถานะจ้างงานผิดประเภท (misclassification)
  4. รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นแผนนโยบายระยะยาว 5 ปี หรือ 10 ปี โดยต้องกำหนดนโยบายที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีความโปร่งใสและเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
  5. รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
  6. รัฐบาลต้องยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี  และให้แก้ไข พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานภาคบริการ

 

แถลงการณ์เนื่องในวัน “งานที่มีคุณค่า”

 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ให้ความหมายของ “งานที่มีคุณค่า” คือ งานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ ประกอบด้วยหลักการสำคัญดังนี้

1.เสรีภาพในการสมาคม สิทธิการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของคนทุกคนและการเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดสภาพการจ้างงาน การไม่ใช้แรงงานบังคับ การไม่ใช้แรงงานเด็ก และการไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน

2.การจ้างงานประจำ

3.การประกันสังคม

4.ระบบการปรึกษาหารือตามหลักมาตรฐานแรงงานสากล 5.การมีความเท่าเทียมทางเพศ

 

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือพบว่า สถานการณ์การจ้างงานปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยนั้น แรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติยังถูกละเมิดสิทธิแรงงานหลายประการ ได้แก่

คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังคงเผชิญปัญหา ทั้งเรื่องรายได้ที่ค่าจ้างที่ได้รับส่วนใหญ่อยู่ในฐานค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งแทบไม่พอในการดูแลตัวเองและครอบครัว นายจ้างตัดลดสวัสดิการต่าง ๆ และอุปสรรคในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน รวมถึงไม่มีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีชุดต่างๆ

คนงานทำงานบ้านและคนทำงานในภาคการเกษตรยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน  ไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม รวมถึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น

แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับสิทธิเฉกเช่นแรงงานทั่วไปตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น ไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและวันลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ และเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องอาชีพ และเอกสารที่ใช้ในการขึ้นทะเบียน นายจ้างบางรายไม่ได้นำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม และคนงานส่วนที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมก็ยังมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น การใช้สิทธิในกองทุนว่างงาน ทุพลภาพ และกรณีการรับเงินบำเหน็จชราภาพ

มีการเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าจ้างระหว่างแรงงานหญิงและแรงงานชาย

มีความรุนแรงทางเพศในที่ทำงาน

แรงงานในภาคบริการยังคงถูกเลือกปฏิบัติและตีตราจากสังคม ด้วยเหตุผลของความแตกต่างทางเพศ ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพเฉกเช่นแรงงานทั่วไป

แรงงานที่ขับรถส่งอาหารในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยังขาดการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการด้านต่าง ๆ ต้องแบกรับความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางรายได้ ความมั่นคงในอาชีพ และความเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกายจากการทำงานโดยต้องรับผิดชอบตนเอง

 

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จึงมีความเห็น ดังนี้

1. รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน

2. รัฐบาลต้องนำหลักการการคำนวณค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานแรงงานสากล มาใช้สำหรับการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน และใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั่วทั้งประเทศ

3. รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาการจ้างงานยืดหยุ่น เสี่ยง และไม่มั่นคง (precarious work) รวมถึงการจ้างงานบนแพลตฟอร์มที่บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในฐานะนายจ้าง โดยรัฐต้องไม่ตีความแรงงานแพลตฟอร์มเป็นคนงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบตามที่บริษัทพยายามกล่าวอ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการหมวดหมู่สถานะจ้างงานผิดประเภท (misclassification)

4. รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นแผนนโยบายระยะยาว 5 ปี หรือ 10 ปี โดยต้องกำหนดนโยบายที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีความโปร่งใสและเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

5. รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

6. รัฐบาลต้องยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี  และให้แก้ไข พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานภาคบริการ

 

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ

9 ตุลาคม 2565

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท