Skip to main content
sharethis

เหตุกราดยิงบาร์เกย์ที่เกิดขึ้นในสโลวาเกียเมื่อไม่นานมานี้ กลายเป็นอีกหนึ่งในเรื่องสะเทือนขวัญที่กลุ่มชาว LGBTQ+ ในยุโรปกลางต้องเผชิญ ทำให้มีการกลับมาทบทวนว่า การปลุกปั่นความเกลียดชังต่ออัตลักษณ์ชาว LGBTQ+ จากนักการเมืองขวาจัดและกลุ่มศาสนาได้ส่งผลกระทบต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศและทำให้เกิดการปลูกฝังความคิดหัวรุนแรงให้กับวัยรุ่น อย่างเช่นชายที่ก่อเหตุกราดยิงในครั้งนี้ได้อย่างไร

 

20 ต.ค. 2565 เมื่อไม่นานนี้มีเหตุการณ์อาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือชาว LGBTQ+ เกิดขึ้นในประเทศสโลวาเกีย จากการที่คนหนุ่มอายุ 19 ปีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการขวาจัด ใช้อาวุธปืนยิงสังหารชายชาวเกย์ 2 คนในบาร์เกย์ที่เมืองหลวงกรุงบราติสลาวา

ในขณะที่รัฐบาลของสโลวาเกียแสดงการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาว LGBTQ+ แต่ภูมิภาคยุโรปกลางก็ยังคงมีปัญหาการกีดกันเลือกปฏิบัติและการใช้วาจาปลุกปั่นความเกลียดชังทางอัตลักษณ์ที่เรียกว่า "เฮทสปีช" เกิดขึ้นอยู่ทั่วไปต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ

เหตุกราดยิงชาวเกย์ในสโลวาเกียเกิดขึ้นที่หน้าทางเข้าบาร์เกย์ที่ชื่อ "เทพลาเรน" ในย่านดาวน์ทาวน์ของบราติสลาวา เป็นเหตุให้มีชาย 2 คนเสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหนึ่งราย ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุเป็นชายอายุ 19 ปี ชื่อ จูราจ กราชิก ลูกชายของนักการเมืองฝ่ายขวาจัดที่มีชื่อเสียงจากพรรค "วลาสต์" ของสโลวาเกีย

ก่อนหน้าที่กราชิกจะก่อเหตุกราดยิงในวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา เขาได้โพสต์ข้อความเหยียด LGBTQ+ และข้อความเหยียดชาวยิวลงในทวิตเตอร์ และหลังจากนั้นหนึ่งวันคือในวันที่ 13 ต.ค. ก็มีคนพบว่าผู้ก่อเหตุได้เสียชีวิตแล้วในช่วงเช้าของวันนั้น ซึ่งทางตำรวจลงความเห็นเบื้องต้นว่าอาจจะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย

ในวันที่ 14 ต.ค. ตำรวจสโลวาเกียก็แถลงยืนยันว่าจะให้มีการสืบสวนคดีนี้ในฐานะอาชญากรรมจากความเกลียดชังหรือ "เฮทไครม" และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเปลี่ยนสถานะของอาชญากรรมในครั้งนี้ให้อยู่ในประเภทการโจมตีแบบก่อการร้าย

ในขณะที่ประเทศสโลวาเกียมีอัตราการฆาตกรรมเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย แต่อาชญากรรมความรุนแรงที่มีเป้าหมายต่อชนกลุ่มน้อยอย่างเช่นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวโรมานี หรือความรุนแรงต่อคนที่สืบสวนสอบสวนการกระทำของผู้มีอำนาจอย่างกรณีของนักข่าวสืบสวนสอบสวนที่ชื่อ ยาน คูเชียก เป็นเหตุการณ์ที่สังคมรู้จักดี

ประเทศสโลวาเกียมีกลุ่มศาสนาที่มีอำนาจในสังคมคือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก พวกเขายังคงมีจุดยืนที่ต่อต้าน LGBTQ+ อย่างหนักแน่น อีกทั้งยังมีพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดที่ฝังรากในสังคมคอยแพร่กระจายเฮทสปีชต่อต้านชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ศาสนา และเพศวิถี

ซูซานา ชาปูโตวา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสโลวาเกียเป็นที่รู้จักดีกว่ามีมุมมองในเชิงยอมรับและสนับสนุนชนกลุ่มน้อย ในวันที่เกิดเหตุฆาตกรรม เธอระบุในทวิตเตอร์ประณามเรื่องที่เกิดขึ้น แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของเหยื่อและต่อผู้คนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงระบุว่าอาชญากรรมจากฝ่ายขวาจัดในครั้งนี้เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า "ความเกลียดชังฆ่าคนได้"

"คำพูดกลายเป็นอาวุธได้ ความเกลียดชังฆ่าคนได้ ในฐานะของนักการเมือง พวกเราควรจะคอยพิจารณาทุกคำพูดที่พวกเราพูดก่อนที่มันจะสายเกินไป" ชาปูโตวากล่าว

หลังจากนั้นชาปูโตว่าก็ได้เผยแพร่วิดีโอที่เธอสวมกอดให้กำลังใจ โรมัน ซามอตนี เจ้าของบาร์เกย์ที่เกิดเหตุ ซามอตนีกล่าวว่าเขามีแผนการที่จะปิดบาร์เทพลาเรนลง โดยที่บาร์แห่งนี้เป็นหนึ่งในน้อยแห่งในกรุงบราติสลาวาที่ถือได้ว่าเป็น "เซฟสเปซ" ซึ่งหมายถึงพื้นที่แสดงออกอย่างได้โดยไม่ต้องถูกตัดสินจากสังคมสำหรับกลุ่มประชาคม LGBTQ+

ในวันที่ 15 ต.ค. 2565 ก็มีการจัดรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุสังหารที่ย่านดาวน์ทาวน์ของกรุงบราติสลาวา โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 20,000 คน มีเจ้าหน้าที่ทางการของสโวลาเกียที่มีชื่อเสียงในประเทศเข้าร่วมด้วย

มีสื่อหลายแห่งที่ชี้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการของพวกขวาจัดที่ "ปลูกฝังความคิดหัวรุนแรง" (radicalize) ให้กับผู้คนในสังคม นายกรัฐมนตรีของสโลวาเกีย เอ็ดดูอาร์ด เฮเกอร์ เรียกผู้ก่อเหตุว่าเป็น "วัยรุ่นที่ถูกปลูกฝังความคิดหัวรุนแรง"

"คนสองคนถูกฆาตกรรมเพียงเพราะพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ" เฮเกอร์กล่าว

 

"นี่เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ... ในประเทศที่มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตย คนรักเพศเดียวกันมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตได้อย่างเสรี" เฮเกอร์กล่าว

 

'เฮทสปีช' และการกีดกันในระดับการเมือง

ในขณะที่ประเทศยุโรปกลางอย่าง สาธารณรัฐเชก, ฮังการี, โปแลนด์ และสโลวาเกีย ต่างก็เป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่เรียกว่า "วิแชกราด" และล้วนแต่เป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป รวมถึงมีกฎหมายที่ห้ามการกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของเพศสภาพ แต่ใน 4 ประเทศเหล่านี้ก็ยังคงมีความไม่เท่าเทียมทางกฎหมายอยู่

เช่นในสาธารณรัฐเชก หรือที่เรียกว่า เช็กเกีย นั้น ถึงแม้ว่าจะมีการอนุญาตให้มีการจดทะเบียนคู่ชีวิตระหว่างคนรักเพศเดียวกัน และเป็นประเทศที่จัดงานไพรด์พาเหรดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค แต่ประธานาธิบดี มิลอส เซมาน ก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาจะใช้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายอนุญาตการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันถ้าหากร่างกฎหมายนี้ได้รับการรับรองจากรัฐสภา

ในประเทศสโลวาเกีย ไม่มีการอนุญาตทั้งในเรื่องการจดทะเบียนคู่ชีวิตหรือการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน ในฮังการี มีการอนุญาตจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ตั้งแต่ปี 2552 แต่มีการระบุในรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้มีการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2555 ในโปแลนด์มีการเสนอกฎหมายหลายฉบับที่ต้องการให้มีการรับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตแต่ก็ไม่สามารถผ่านร่างมาบังคับใช้เป็นกฎหมายได้

ทั้งในประเทศโปแลนด์ และประเทศสโลวาเกีย มีสถาบันศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกที่เป็นอุปสรรคหลักๆ ที่คอยข่มเหง ตีตราชาว LGBTQ+

เมื่อตอนที่ ซูซานา ชาปูโตวา ยังคงเป็นผู้แทนลงแข่งขันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสโลวาเกียปี 2562 เธอได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเธอสนับสนุนชาว LGBTQ+ แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เธอถูกโจมตีจากคริสตจักรคาทอลิกของสโลวาเกีย พวกเขากล่าวหาว่าการโหวตลงคะแนนให้ชาปูโตวาเป็นเรื่อง "บาปหนา"

ในปี 2563 อาร์คบิชอปแห่งคราคูฟ เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโปแลนด์ เคยพูดต่อสาธารณะชนว่าสิทธิของคนรักเพศเดียวกันถือเป็น "โรคระบาด" ใหม่ และเรียกร้องให้ประชาชนชาวโปแลนด์ต่อต้านสิทธิเหล่านี้

ในฮังการี ชุมชนชาว LGBTQ+ ตกเป็นเป้าโจมตีจากการรณรงค์หาเสียงของพรรคขวาจัด "ฟีเดซ" ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บาน จนทำให้เกิดการสั่งห้ามไม่ให้มีหลักสูตรเพศสภาพศึกษาในมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังยกเลิกสิทธิในการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางเพศในเอกสารระบุตัวตนให้กับบุคคลที่แปลงเพศแล้ว รวมถึงยกเลิกหน่วยงานกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (Equal Treatment Authority) ที่มีหน้าที่คุ้มครองประชาชนไม่ได้ถูกกีดกันเลือกปฏิบัติในทางเชื้อชาติสีผิวหรือเพศสภาพด้วย

นักเขียนชาวเชกที่ชื่อ รัดกา เดเนมาร์โกวา ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า คำกล่าวและการกระทำของนักการเมืองและสถาบันศาสนามีส่วนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลูกฝังเฮทสปีชจนทำให้กลายเป็นเรื่องกระแสหลักในโซเชียลมีเดีย และในการถกเถียงอภิปรายทางการเมืองกับทางศาสนา

เดเนมาร์โกวาระบุในโพสต์เฟสบุคว่า "ผู้ก่อเหตุจะถูกปลุกฝังความเกลียดชังผ่านทางการโกหกหลอกลวง, อคติ, ภาพเหมารวม, ความคลั่งศาสนา และข้อมูลที่ผิด รวมถึงจากคำปราศรัยอันโกรธเกรี้ยวของนักการเมือง

เดเนมาร์โกวาระบุอีกว่า "ในสาธารณรัฐเชก พวกเรามีผู้แทนสมัครลงเลือกตั้งประธานาธิบดี (อันเดรจ บาบิส) ผู้ที่แสดงความโกรธเกรี้ยวต่อต้านประชาคม LGBT โชคร้ายที่ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียว และนี่ไม่ใช่แค่คำพูดล่าสุดของเขาอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เขาเคยบอกว่าเขาจะไม่แต่งตั้งคนที่เป็นเลสเบียนหรือเกย์ให้เป็นผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นความคิดที่น่ารังเกียจและมีลักษณะแบบเผด็จการฟาสซิสต์ ที่สมควรเป็นความคิดของพวกสวะที่ไม่สมควรมีอยู่ในโลกอารยะ"

หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า สิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในยุโรปกลาง คือการถูกปฏิเสธไม่ให้มีตัวตนในสังคมของตัวเอง

หนึ่งวันหลังจากที่เกิดเหตุกราดยิงที่บาร์เกย์ โรมัน ซามอตนี เจ้าของบาร์เกย์ กล่าวให้สัมภาษณ์สื่ออิสระของสโลวาเกีย เดนนิค เอ็น ว่า มุขนายกคริสตจักรของพวกเขาบอกว่าการจูบกันของชาวเกย์ไม่ควรถูกนำเสนอผ่านทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุช่องของรัฐ เพราะมันจะ "เป็นอันตรายต่อเด็ก" ซึ่งซามอตนีพูดเปรียบเปรยว่าราวกับเป็นการจับพวกเขาผูกกับหินแล้วโยนลงทะเลให้หายไป มุขนายกคนเดียวกันยังห้ามไม่ให้มีการพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศในโรงเรียนด้วย และมีคนอื่นที่อยากแบนธงสีรุ้งของผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ให้อยู่บนอาคารของรัฐ

"พวกเรากำลังเผชิญความพยายามอย่างเป็นระบบในการลบพวกเราทิ้งจากพื้นที่สาธารณะ" ซามอตนีกล่าว

 

 

 

เรียบเรียงจาก

EASTERN EUROPEGunman dead in potential hate crime in Slovakian capital, Los Angeles Blade, 13-10-2022
https://www.losangelesblade.com/2022/10/13/gunman-dead-in-potential-hate-crime-in-slovakian-capital/

Murder of two gay men by far-right teen signals worsening plight of Slovakia's LGBTQ+ community, Global Voices, 17-10-2022

https://globalvoices.org/2022/10/17/murder-of-two-gay-men-by-far-right-teen-signals-worsening-plight-of-slovakias-lgbtq-community/

'Radicalised' Teen Kills Two Men At Gay Bar In Slovakia, Barrons, 13-10-2022

https://www.barrons.com/news/two-men-shot-dead-at-gay-bar-in-slovakia-01665657607

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/LGBT_rights_in_Hungary

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net