Skip to main content
sharethis

'ชัยวัฒน์ มีสันฐาน' นักวิชาการวิเคราะห์ 'ซาบรี' นายกฯ มาเลย์ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ 19 พ.ย.นี้ สะท้อนความแตกแยกพรรคร่วมรัฐบาล เชื่อ 'มหาธีร์' กลับมายาก-คนรุ่นใหม่ไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง นโยบาย 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่เปลี่ยน

 

24 ต.ค. 2565 สื่อ 'Workpoint Today' อ้างรายงานจากต่างประเทศเมื่อ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา สืบเนื่องจาก อิสมาเอล ซาบรี ยาคอบ นายกรัฐมนตรี และรองประธานพรรค 'พรรคสหมลายูแห่งชาติ' หรือ 'อัมโน' ประกาศยุบสภาเมื่อ 10 ต.ค. 2565 เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากปัญหาความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลให้มาเลเซีย ต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดการเดิม ซึ่งรัฐบาลจะหมดวาระลงใน ก.ย.ปีหน้า (2566)

อิสมาเอล ซาบรี ยาคอบ รักษาการนายกฯ มาเลเซีย (ที่มา: เว็บสำนักนายกฯ มาเลเซีย)

เมื่อ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา นายอับดุล กานี ซาเลห์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของมาเลเซีย (EC) ได้ออกมาประกาศว่า การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย จะมีขึ้นในวันที่ 19 พ.ย.นี้ โดยจะเปิดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้รับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ย.นี้ และมีการเปิดให้ประชาชนสามารถลงคะแนนเสียงล่วงหน้าได้ในวันที่ 15 พ.ย. 2565

การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการแย่งชิงเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติที่มีอยู่ 222 ที่นั่ง จะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคอัมโน (UMNO) ของอิสมาอิล ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลชุดปัจจุบัน กับกลุ่มพันธมิตรปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) หรือพันธมิตรแห่งความหวัง ที่นำโดยอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้าน โดยพรรคที่ได้สภาชิกในสภามากกว่ากึ่งหนึ่งของ 222 ที่นั่ง หรือ 112 ที่นั่ง จะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ 

นอกจากนี้ ยังคาดว่า มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย วัย 97 ปี จะลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ด้วย หลังจากที่นายมหาธีร์เปิดเผยกับนิเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) สื่อญี่ปุ่นว่า เขามีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะลงสนามเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมาเลเซียต้องเผชิญกับความไร้เสถียรภาพเนื่องจากความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของพรรคพรรคอัมโน ทำให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่ก็เกิดความบาดหมางขึ้นในหมู่พันธมิตรรัฐบาล จนมาเลเซียต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 3 คน ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 เป็นที่มาของการกดดันให้นายอิสมาอิลประกาศยุบสภา เพื่อให้พรรคจะสามารถกลับมาคว้าชัยชนะครั้งใหญ่ได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การยุบสภาของอิสมาอิล ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 60 วัน ซึ่งจะตรงกับช่วงฤดูมรสุมของมาเลเซียที่มักจะมีฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการออกมาใช้สิทธิของประชาชน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 21 ล้านคน และคาดว่าจะใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง 1,010 ล้านริงกิต (หรือ 8,126 ล้านบาท)

'ยุบสภา' สะท้อนการเมืองแบบฝักฝ่ายใน 'อัมโน'

ชัยวัฒน์ มีสันฐาน นักวิชาการจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในรายการ ‘ผ่าประเด็นร้อนโลกมุสลิม "เลือกตั้ง 2022: อนาคตการเมืองมาเลเซีย”’ ซึ่งเผยแพร่บนเพจเฟซบุ๊ก ‘ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ วิเคราะห์การเมืองมาเลเซีย 3 ประเด็นใหญ่ คือ สาเหตุที่ ‘ซาบรี’ ประกาศยุบสภา ‘มหาธีร์’ มีโอกาสกลับมาเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ และคนรุ่นใหม่เป็นตัวแปรสำคัญของการเลือกตั้งมาเลเซียครั้งนี้หรือไม่

ชัยวัฒน์ กล่าวถึงสาเหตุที่ อิสมาเอล ซาบรี ยาคอบ ตัดสินใจประกาศยุบสภา ก่อนกำหนดหมดวาระ ก.ย.ปีหน้า (2566) มีสาเหตุมาจากการกดดันภายในพรรคอัมโนด้วยกันเอง มากกว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก

นักวิชาการจาก มธ. ระบุว่า ปัญหาการยุบสภาของมาเลเซียบ่อยครั้ง เป็นผลสืบเนื่องจากเมื่อปี 2561 หลังพรรคอัมโน นำโดย นาจิบ ราซัค อดีตผู้นำมาเลย์ เสื่อมความนิยมจากปัญหาคดีทุจริตคอรัปชัน ‘1MDB’ ทำให้การเลือกตั้งในปี 2561 พรรคอัมโนพ่ายแพ้ และทำให้มหาธีร์ โมฮัมหมัด จากพรรคเบอร์ซาตู หรือพรรคสหประชาชนมาเลย์ สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล และขึ้นเป็นนายกฯ ในเวลาต่อมา

 

ชัยวัฒน์ มีสันฐาน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามหาธีร์ จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมของกลุ่มพันธมิตรแห่งความหวัง หรือ ปากาตัน ฮาราปัน แต่ก็ต้องเผชิญปัญหาเสียงปริ่มน้ำ หรือมี ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของที่นั่งในสภาทั้งหมดไม่มาก และต้องหวังพึ่งพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากมาสนับสนุน เพื่อรักษาความเป็นรัฐบาล

ข้อมูลเมื่อปี 2561 พบว่ากลุ่มพันธมิตรแห่งความหวัง หรือปากาตัน ฮาราปัน ซึ่งมีนักการเมืองชื่อดังอย่าง มหาธีร์ โมฮัมหมัด จากพรรคเบอร์ซาตู และอันวาร์ อิบราฮิม ได้ที่นั่งในสภาเพียง 122 ที่นั่งจากทั้งหมด 222 ที่นั่ง มากกว่ากึ่งหนึ่งเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น ขณะที่กลุ่มพรรคการเมืองในนาม ‘แนวร่วมแห่งชาติ’ (บีเอ็น) ซึ่งมีพรรคอัมโน อดีตพรรครัฐบาลรวมอยู่ด้วย ได้นั่งเพียง 79 ที่นั่ง    

ปัญหารัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำของมาเลย์ ยังคงดำรงอยู่ แม้ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนตัวนายกฯ มาแล้ว 2 คน โดยเมื่อปี 2563 หลังนายมูห์ฮิดดิน ยัสซิน นำ ส.ส.พรรคเบอร์ซาตู ทิ้งพรรคร่วมอย่าง 'ปากาตัน ฮาราปัน' ในช่วงปลาย ก.พ. 2563 ก่อนไปจับมือกับพรรคอัมโน และพรรคพีเอเอส ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านในเวลานั้น ก่อนที่นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน จะสามารถรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาล และสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา

มูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกฯ คนที่ 8 ของมาเลเซีย (ที่มา: เว็บสำนักนายกฯ มาเลเซีย)

อย่างไรก็ตาม มูห์ยิดดิน เป็นนายกฯ อยู่ได้แค่ประมาณ 1 ปีกว่า ก็ต้องประกาศลาออกเมื่อ 16 ส.ค. 2564 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังรุนแรง และความขัดแย้งในฝากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคอัมโนถอนการสนับสนุนเขาจนทำให้มุห์ยิดดิน ประกาศลาออก และกลายเป็น 'อิสมาเอล ซาบรี ยาคอบ' จากพรรคอัมโน ขึ้นมาเป็นนายกฯ แทน

"ไม่เหมือนสมัยก่อน ตัวแปรสำคัญก็คือเมื่อไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นพรรคที่ครองเสียงข้างมาก อย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด จึงทำให้รูปแบบการเมืองของมาเลเซียมันเปลี่ยนไป ทุกคนสามารถที่จะไปอยู่กับฝักใฝ่ฝ่ายไหนก็ได้ และอะไรมันก็เกิดขึ้นได้" ชัยวัฒน์ กล่าว

ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ซาบรียุบสภาครั้งนี้สะท้อนการเมืองแบบฝักฝ่ายในพรรคอัมโน เนื่องจากซาบรี ถูกกดดันจากเบอร์ 1 ของพรรคอย่าง 'ฮามิด ฮามิดี' ประธานพรรคอัมโนคนปัจจุบัน และเบอร์ 2 คือ โมฮัมหมัด ฮาซาน รองประธานพรรคอัมโน ที่ต้องการกดดันให้ซาบรี ลาออก และเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง และอีกนัยหนึ่งสะท้อนว่า นายกฯ ซาบรี ไม่สามารถเจรจาด้านผลประโยชน์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคอัมโน ทำให้เขาตัดสินใจล้มกระดานยุบสภาในที่สุด    

"การที่อิสมาเอล ซาบรี ต้องยุบสภามาจากปัจจัยภายในล้วนๆ ถ้าเขายุบตอนนี้มันมีโอกาสที่คนอื่นจะสามารถเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก เบอร์ 2 ก็สามารถที่จะขึ้นมาสมัคร เพื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในขณะที่ตัวประธานพรรค ก็สามารถที่จะสมัครเข้ามาได้อีก" ชัยวัฒน์ กล่าว 

'มหาธีร์' รีเทิร์นรอบ 3 ยาก

ในรายการกล่าวถึงโอกาสที่มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตผู้นำมาเลเซีย อายุ 97 ปี จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคำรบ 3 หรือไม่นั้น เพราะการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 มหาธีร์ ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ที่เกาะลังกาวี และให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า แม้ว่าเขาจะไม่เสนอตัวเองในฐานะแคนดิเดตนายกฯ แต่ถ้าประชาชนเรียกร้องให้เขาเป็นนายกฯ อีกครั้ง เขาก็ยินดีหากยังไหวอยู่

มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯ มาเลเซีย ถ่ายเมื่อ 2561 โดย Chatham House

นักวิชาการจาก มธ. มองลักษณะการใช้สัมภาษณ์ของมหาธีร์ ถือเป็นลักษณะเฉพาะของอดีตผู้นำวัย 97 ปี คือไม่ปิดโอกาสตัวเอง แต่เมื่อถามว่ามีโอกาสที่จะได้กลับมาเป็นนายกฯ มาเลเซียได้ไหม นักวิชาการจากรั้วแม่โดม บอกเลยว่ายาก

"ตอนที่มหาธีร์ เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ปีแรก ตั้งแต่ปี 2019-2020 (พ.ศ. 2562-2563) สิ่งที่มหาธีร์ สัญญาไว้ หลายๆ อย่างมันก็ไม่ได้เป็นไปตามที่เขาได้รับปากไว้ มันไม่สามารถไปสู่เป้าหมายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับนาจิบ ราซัค เอาเข้าจริงนาจิบ เพิ่งจะเข้าสู่กระบวนการ และเพิ่งได้รับโทษจริงๆ ในยุคปัจจุบันนี้" 

"การกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ผมมองว่าของมหาธีร์ ค่อนข้างจะยาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่กล้าฟันธง เพราะการเมืองในมุมของมาเลเซียเองมันเปลี่ยนไปจากเดิมมากๆ มันไม่มีอะไรแน่นอนจริงๆ" ผู้เชี่ยวชาญการเมืองมาเลย์กล่าว

สำหรับการดำเนินคดีกับนายราจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย วัย 69 ปี บีบีซีไทย รายงานล่าสุดเมื่อ 22 ส.ค. 2565 ศาลกลางแห่งมาเลเซีย ยืนตามคำวินิจฉัยเดิม ตัดสินจำคุก 12 ปี พร้อมปรับเงิน 46.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,784 ล้านบาท ข้อหาฟอกเงิน และการกระทำผิดหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อสินทรัพย์ที่ดูแลอยู่ (breach of trust) หลังตรวจสอบพบว่านาจิบ รับเงินกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 315 ล้านบาท จากกองทุน "1 มาเลเซีย ดีเวลอปเมนต์ เบอร์ฮัด" หรือ 1MDB

สำหรับโทษดังกล่าวจะใช้หลักเกณฑ์การลงโทษโดยให้นับเวลาจำคุกของทุกคดีไปพร้อมกัน แล้วยึดโทษจำคุกหนักที่สุด ซึ่งในกรณีของนายนาจิบ คือ 12 ปี และการแพ้อุทธรณ์ครั้งสุดท้ายนั้นส่งผลให้ราจิบ ต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ หลังถูกตัดสินว่ามีความผิดตั้งแต่ปี 2563

นาจิบ ราซัค อดีตผู้นำมาเลเซีย เมื่อปี 2555 (ที่มา: wikimedia commons)

คนรุ่นใหม่จะไม่เป็นตัวแปรการเลือกตั้ง

ย้อนไปเมื่อปี 2562 รัฐสภามาเลเซียมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 119 ข้อ 1(a)  โดยปรับเปลี่ยนอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งในระดับชาติ และในระดับรัฐ จากอายุ 21 ปีขึ้นไป เป็นอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่งผลให้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากเมื่อปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 14.9  ล้านคน เพิ่มเป็นจำนวน 21 ล้านคน ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นราว 6 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ชัยวัฒน์ มองว่า เสียงของคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้อาจไม่มีผลมากนัก เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าคนรุ่นใหม่จะออกไปเลือกตั้งหรือไม่ เขามองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีพลังดึงดูดให้คนออกไปเลือกตั้งเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 ซึ่งขณะนั้นมีกระแสต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ และต่อต้านนาจิบ ราซัค 

"ครั้งนี้เสียงเยาวชนจะไม่ได้ส่งผลมากนักต่อการเลือกตั้งเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มันผ่านไปแล้ว" ชัยวัฒน์ กล่าว

ข้อวิเคราะห์ของชัยวัฒน์ ดูจะสอดคล้องกับข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์เมอร์เดก้า (Merdeka Center) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจความคิดเห็น โดยก่อนหน้านี้ เมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมามีการสำรวจความเห็นประชากรรุ่นใหม่ พบว่ามีเพียง 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นจะไปเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ของมาเลเซีย หากมีการจัดเลือกตั้งเร็วๆ นี้ และข้อมูลจากเมอเดก้า ระบุด้วยว่า ประชากรอายุ 18-30 ปี ให้ความสนใจเรื่องการเมืองเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ และอีก 70 เปอร์เซ็นต์ไม่สนใจการเมือง โดยกลุ่มคนที่ไม่สนใจการเมืองให้เหตุผลว่า การเมืองเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินไป

หมดยุคพรรคใหญ่พรรคเดียว 

ชัยวัฒน์ กล่าวว่า สภาวะปัญหาของรัฐบาลมาเลเซียจะดำรงอยู่อีกพักใหญ่ เนื่องจากมาเลเซียตอนนี้ขาดผู้นำที่เข้มแข็ง และบารมี เหมือนในยุคก่อนหน้า แต่มองในแง่ดีก็เป็นโอกาสให้คนที่มีความสามารถ แต่ไม่มีบารมีได้เข้ามาทำงานเพื่อประเทศ

“การไม่มีผู้นำที่ควบคุมคนกลุ่มหนึ่งให้อยู่ในมือได้เหมือนที่นาจิบ ทำ มันทำให้ไม่เกิดการเมืองในรูปแบบเดิม แต่ผมคิดว่าการเป็นเช่นนี้ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งของมาเลเซียเหมือนกัน ที่จะทำให้คนมีความสามารถ แต่ว่าไม่มีบารมีเพียงพอ ได้แสดงความสามารถ และสร้างบารมีของตัวเองได้ ไม่ได้ติดกับผู้มีบารมีเพียงคนเดียว และไม่ได้เงยตัวเองขึ้นมา หรือพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้” 

“ภาพที่ออกมาจะไม่เป็นการเมืองที่มีพรรคใหญ่พรรคเดียว ที่ตรึงอำนาจในประเทศเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากพรรคเองก็ต้องดูกระแส และในแต่ละช่วงอายุอย่างที่บอกไป มันก็จะมีการเลือกพรรคตามนโยบาย” ชัยวัฒน์ กล่าว

ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า กลุ่มคนที่มีอายุมากส่วนใหญ่ยังคงเห็นดีเห็นงามกับพรรคอัมโน ซึ่งมีนโยบายเน้นชาติพันธุ์มาเลย์เป็นหลัก หรือนโยบายภูมิบุตรา ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็จะชายตามองไปยังพรรคอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายความเท่าเทียม และก้าวหน้ากว่า

นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ มองด้วยว่าคนรุ่นใหม่ที่มีอายุมากขึ้นเช่นช่วงคนที่อายุ 22-30 ปี พอได้พบโลกภายนอกก็จะมีความเห็นด้านนโยบายที่เปลี่ยนไป และมีความเป็นปฏิบัตินิยมมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมาเลย์ มองว่า การยุบสภาในการเมืองมาเลเซียครั้งนี้อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และจะเกิดขึ้นอีกบ่อยครั้ง หากการเจรจาด้านผลประโยชน์ระหว่างนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลไม่ลงตัว

เจรจาสันติภาพ 3 จังหวัดภาคใต้ได้รับผลกระทบหรือไม่

การเลือกตั้งมาเลเซียครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการเจรจาสันติภาพ 3 ชายแดนภาคใต้หรือไม่ อย่างไร ชัยวัฒน์ กล่าวว่า รัฐมาเลเซียมีการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เบาบางลง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มาเลเซียต้องเผชิญปัญหาหลายประการ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลหันไปเน้นความสำคัญกับกิจการภายในเป็นอันดับหนึ่ง และจะกลับมาให้ความสำคัญกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้อีกครั้งต่อเมื่อรัฐบาลมีเสถียรภาพ 

“การร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ก็จะดำเนินไปตามครรลองของมัน มีตัวแทน มีผู้ร่วมอำนวยความสะดวกในการเจรจาต่างๆ ยังคงรันไปปกติ แต่ว่าการกลับมาให้ priority กับเรื่องนี้มากขึ้นก็ต่อเมื่อเสถียรภาพของรัฐบาลมันมีความมั่นคง และเรื่องนี้ถูกจับกลับไปเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล”

“แต่อย่างไรก็ตาม มันก็จะถูกรันไปด้วยตัวของมัน เพราะว่าไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรี นโยบายต่างประเทศของมาเลเซียก็แทบจะไม่เปลี่ยนไป เพราะทุกคนที่เป็นแกนนำอยู่ทั้งหมด ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสาขาของพรรคอัมโน ที่แตกกระจายออกมาทั้งสิ้น ดังนั้น mindset ที่มีต่อการบริหาร แม้ว่าต่างพรรคกัน แต่ไม่ได้ต่างไปจากเดิมเท่าไร” ชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ภาพประกอบข่าว วงประชุมใหญ่มาราปาตานีครั้งที่ 4 ถกปมเอกภาพในกระบวนการสันติภาพ ชายแดนใต้/ปาตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net