Skip to main content
sharethis

สหภาพยุโรปชวนนักศึกษาถกมุมมองสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล ย้ำจุดยืนต่อต้านโทษประหารชีวิตอย่างเต็มกำลัง เหตุประหารชีวิตถือเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อตัดสินแล้วไม่สามารถหวนคืนได้อีกทั้งยังเป็นวิธีป้องปรามอาชญากรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพ  

31 ต.ค.2565 โครงการ European Union Policy and Outreach Partnership รายงานว่า เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day Against the Death Penalty) วันที่ 10 ต.ค. 2565 คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (อียู) ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดงานแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนและทางเลือกอื่นๆ สำหรับโทษประหารชีวิต

การจัดงานครั้งนี้เน้นย้ำจุดยืนของสหภาพยุโรปในการต่อต้านโทษประหารชีวิตอย่างเต็มกำลัง เพราะการประหารชีวิตถือเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อตัดสินแล้วไม่สามารถหวนคืนได้อีกทั้งยังเป็นวิธีป้องปรามอาชญากรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพ งานเสวนานี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตตามที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 – 2566)

งานเสวนาภายใต้หัวข้อ “โทษประหารชีวิต: เส้นทางสู่การยกเลิก” (“Death Penalty: The Road to Abolition”) ได้รับความสนใจจากนักศึกษาจำนวนกว่าร้อยคนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน ซารา เรโซอากลี อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “สหภาพยุโรปวางการยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้ ณ ใจกลางของนโยบายสิทธิมนุษยชนของเรา เพราะเราเชื่อมั่นว่าการยกเลิกโทษร้ายแรงสูงสุดนั้นจำเป็นต่อการค้ำชูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โทษประหารชีวิตถือเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตที่ได้รับการคุ้มครองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อตัดสินแล้วไม่สามารถกลับคำตัดสินได้ ทั้งยังล้มเหลวในฐานะเครื่องมือป้องกันอาชญากรรมด้วย สหภาพยุโรปดำเนินการทางการทูตอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้พันธมิตรนานาชาติเปิดประเด็นอภิปรายและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการยุติโทษประหารชีวิต ดังที่ปรากฏในงานกิจกรรมวันนี้”

สุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า โทษประหารชีวิตไม่ใช่วิธีที่สามารถระงับการกระทำความผิดได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบของโทษประหารชีวิตให้กับประชาชนทุกช่วงวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไป

มาร์ตา ซังตูส ไปส์ กรรมาธิการ คณะกรรมการสากลเพื่อการต่อต้านโทษประหาร (International Commission Against the Death Penalty: ICDP) ได้กล่าวคำปราศรัยสำคัญ โดยเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมและการยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์แนวโน้มการยกเลิกใช้โทษประหารของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เธอย้ำว่า “ประเทศส่วนใหญ่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ไม่ว่าจะในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติ และไม่นานมานี้เราก็ได้เห็นความก้าวหน้าอันชัดเจนจากการที่รัฐต่าง ๆ จำนวนมากทยอยออกคำสั่งทางกฎหมายห้ามลงโทษประหารชีวิต และอีกหลายประเทศก็ให้คำมั่นในเป้าหมายเดียวกัน เมื่อมีมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลเป็นแนวทางแล้ว การยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลกก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม"

บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมเป็นวิทยากรในการสัมมนาประกอบด้วย คาเรน โกเมซ ดุมปิต สมาชิกคณะกรรมการบริหาร เครือข่ายต่อต้านโทษประหารชีวิตแห่งเอเชีย (Anti-Death Penalty Asia Network: ADPAN) และอดีตกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งฟิลิปปินส์ ขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัด อัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย และ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การสัมมนาในครั้งนี้ มี สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งการสัมมนาได้หยิบยกสถานการณ์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีแนวโน้มที่สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารมาพูดคุย มากกว่าสองในสามของประเทศทั่วโลก รวมถึงทุกประเทศสมาชิกของอียู ได้ยกเลิกการใช้โทษประหารทั้งในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติแล้ว การสัมมนานี้ยังอภิปรายสถานการณ์โทษประหารชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ประกาศยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการแล้ว ในขณะที่ลาวและบรูไนได้ยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตแล้วในทางปฏิบัติ โดยไม่มีการลงโทษประหารชีวิตมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ส่วนมาเลเซียได้ประกาศแผนที่จะนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์และเมียนมาร์ยังคงมีการประหารชีวิตเกิดขึ้นอยู่ในปี พ.ศ. 2565

“กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านโทษประหารชีวิตควรจับตามองอย่างใกล้ชิดและตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการกระทำต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการผกผันของแนวโน้มการยกเลิกโทษประหารทั่วโลก กรณีที่เป็นตัวอย่างได้ดีคือประเทศฟิลิปปินส์ แม้จะให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฉบับที่ 2 เพื่อการกำจัดการประหารชีวิตแล้ว กลุ่มต่อต้านโทษประหารก็ยังต้องคอยติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อเร็วๆ นี้ เราเห็นการผกผันในภูมิภาคอาเซียน ทั้งการพิจารณาคดีและการสำเร็จโทษประหาร ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อหลักนิติธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชน เราจำเป็นต้องมีความร่วมมือข้ามพรมแดนระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการผกผันเหล่านี้เพื่อบรรลุการยกเลิกโทษประหารทั่วโลกทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ” คาเรน โกเมซ ดุมปิต กล่าว 

ปัจจุบัน ประเทศไทยบัญญัติให้มีบทลงโทษประหารชีวิตใน 60 ฐานความผิด แต่การประหารชีวิตเกิดขึ้นไม่มากนัก
ทั้งยังมีข้อจำกัดหลายประการสำหรับนักโทษที่จะถูกตัดสินประหารชีวิต เช่น ข้อยกเว้นตัดสินโทษประหารชีวิตในกรณีหญิงตั้งครรภ์และเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนนักโทษที่ต้องโทษประหารชีวิตในไทยก็ลดลง
อย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญติดต่อกันมาเป็นเวลาสามปีแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net