ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงปลดล็อกรายเล็กผลิตเบียร์-ขยายการผลิตสุรากลั่น

ก่อนสภาฯ โหวตร่าง 'สุราก้าวหน้า' 1 วัน ครม. มีมติเห็นชอบแก้ร่างกฎกระทรวงอนุญาตผลิตสุรา ปลดล็อกรายเล็กผลิตเบียร์ขาย-บริโภค สุรากลั่นขยายการผลิตจากขนาดเล็กเป็นขนาดกลางเพิ่มเติม ห้ามจ่ายแจก เตรียมหามาตรการเก็บภาษีใหม่

 

1 พ.ย. 2565 สื่อ The Momentum และ way magazine รายงานวันนี้ (1 พ.ย.) เวลาประมาณ 14.00 น. อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. … ซึ่งมีการพิจารณานับตั้งแต่มีการเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะมีการปรับปรุงหลักการและรายละเอียดที่ได้รับการเสนอแนะจากคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และต้องมีการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายลำดับรอง ว่าด้วยการขอใบอนุญาตผลิตสุราทั้งระบบ การยกเลิกกฎกระทรวงเรื่องการขอใบอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การขอใบอนุญาตสุราใหม่ เพื่อปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาตผลิตสุรา เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ แม้จะมี พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ครอบคลุมเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ในประเด็นนี้มีประชาชนบางส่วนเห็นว่ากฎหมายที่ประกาศใช้ปัจจุบันมีความตึงเกินไป อยากให้ผ่อนคลายมากขึ้น ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่จึงอยากให้หลายภาคส่วนสบายใจ ไม่ถึงขนาดสุดโต่งจนเกินไป และยังมีการดูแลเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ การปกป้องดูแลสุขภาพประชาชน ดูแลอุบัติเหตุที่มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้เอื้อนายทุน และได้พิจารณารอบคอบ รวมถึงพิจารณาในเรื่องชุมชน ทำให้ประชาชนในระบบสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น โดยยังมีมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบ

ณัฐกร อุเทนสุข ที่ปรึกษาพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต และโฆษกกรมสรรพาสามิต ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ใบอนุญาตผลิตสุรามีสองประเภท คือ 1. ใบอนุญาตการผลิตสุราแช่ หรือเบียร์ และ 2. ใบอนุญาตสุรากลั่นชุมชน

สำหรับการผลิตสุราแช่ เดิมต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือต้องมีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 1 แสนลิตรต่อปี โดยเงื่อนไขดังกล่าวจะถูกยกเลิก หมายความว่า เบียร์โรงเล็กไม่จำเป็นต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท รวมถึงไม่จำเป็นต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการรายใหญ่ก็จะได้สิทธิเดียวกัน หากแต่สินค้าและเครื่องมือการผลิตจะต้องเป็นไปตามระเบียบของกรมโรงงานและกรมควบคุมมลพิษ

"ต่อไปนี้ Brew Pub หรือการผลิตเบียร์โรงเล็ก ไม่จำเป็นต้องสิบล้านบาท แต่ยังต้องมีระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ตัวสินค้าก็ต้องมีระเบียบควบคุม และเครื่องไม้เครื่องมือยังต้องเป็นไปตามกรมโรงงานอุตสาหกรรม และในส่วนการควบคุมมลพิษก็เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษที่จะดูแล" ณัฐกร กล่าว

 ณัฐกร อุเทนสุข ที่ปรึกษาพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต (ที่มา: เฟซบุ๊ก กระทรวงการคลัง : Ministry of Finance)
 

ส่วนกรณีการผลิตที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ผลิตและบริโภคภายในครัวเรือนก็สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ 1. ต้องขอใบอนุญาตกรมสรรพสามิต 2. กำลังการผลิตไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี 3. ผู้ผลิตต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ หรืออายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และ 4. สุรา เบียร์ หรือสุราแช่ประเภทอื่น เมื่อผลิตแล้วต้องให้กรมสรรพสามิตตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 

ขณะที่ใบอนุญาตประเภทที่ 2 หรือสุรากลั่น ณัฐกร กล่าวว่า ได้ขยายการปลดล็อกจากสุรากลั่นขนาดเล็กเป็นขนาดกลางเพิ่มเติม หรือกำลังการผลิตไม่เกิน 50 แรงม้า และกำลังคนไม่เกิน 50 คน ทำให้จากเดิมทีที่การผลิตสุรามีเพียงขนาดเล็กและขนาดใหญ่ การปรับปรุงนี้จะทำให้สุรากลั่นระดับชุมชนหรือปานกลางขยายตัวได้

"พอกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตก็จะถูกลง พอ 'economies of scale' ถูกลง ท้ายที่สุดจะส่งผลให้คุณภาพสุราดีขึ้น เราจะสามารถเปิดเป็นระดับ S, M, L ได้อย่างเต็มรูปแบบ" ณัฐกร กล่าว 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกสื่อมวลชนสอบถามถึงการผลิตเพื่อนำไปแจกจ่าย แลกกับเพื่อนบ้าน หรือเพื่อการอื่นๆ ณัฐกร ตอบเพียงว่า การผลิตในครัวเรือนเป็นไปเพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น โดยเน้นย้ำถึงการห้ามนำไปแจกหรือแลกเปลี่ยน เพราะจะเข้าข่ายการค้า ขณะเดียวกัน หากไม่มีการขออนุญาตในการผลิตก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย และในอนาคตจะต้องมีมาตรการตรวจสอบจำนวนการผลิตในครัวเรือน เพื่อนำไปสู่การเสียภาษีต่อไป

"สินค้าที่ออกไปโดยไม่ได้เสียภาษี อาจมีผลกระทบอย่างเดียวคือเรื่องสุขภาพ เพราะไม่ได้มีการตรวจสอบ" ณัฐกร กล่าว

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้นก่อนหน้าร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ฉบับที่... พ.ศ. ... ว่าด้วยการปลดล็อกเรื่องแรงม้า-แรงคน ในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเรียกชื่อเล่นว่า พ.ร.บ. 'สุราก้าวหน้า' เสนอโดยพรรคก้าวไกล จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 ในวันที่ 2 พ.ย.นี้ เพียงวันเดียว  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท