Skip to main content
sharethis

เปิดตัวอย่างฉลากตามหลักเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก และข้อความคำเตือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หวังลดการดื่ม - นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟต์เบียร์หวั่นขัดกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยวและด้านอาหาร และจำกัดเสรีภาพของผู้ประกอบการและผู้บริโภคจนเกินสมควร

26 ก.พ. 2567 มติชนออนไลน์ รายงานว่าจากกรณี ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. … ที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกรมควบคุมโรค เปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ 12-29 ก.พ. 2567

โดยมีสาระสำคัญ คือกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก และข้อความคำเตือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า ดังนี้

  • กำหนดให้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นภาชนะบรรจุต้องมีปริมาณบรรจุสุทธิไม่น้อยกว่า 175 มิลลิลิตร
  • กำหนดให้บรรจุภัณฑ์และฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องไม่ใช้ข้อความตามที่กฎหมายกำหนด
  • กำหนดให้มีข้อความคำเตือนบนภาชนะบรรจุของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • กำหนดให้มีข้อความคำเตือนถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนภาชนะบรรจุและหีบห่อบรรจุของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งให้จัดทำเป็นรูปภาพ 4 สี 9 แบบ สับเปลี่ยนกันไปตามลำดับในอัตรา 1 แบบ ต่อ 1,000 ภาชนะบรรจุและหีบห่อบรรจุ
  • กำหนดขนาดของข้อความคำเตือนถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

โดยให้ประกาศมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

วันนี้ (26 ก.พ.) เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเพจ “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร – Taopiphop Limjittrakorn” ระบุว่า

[ ฉลากเบียร์น่ากลัว #SoftPower ไหม ]

ตัวอย่างฉลากที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ที่มีอำนาจออกกฎห้ามขายเวลา วัน และออนไลน์) พยายามออกข้อบังคับใช้ให้ติดบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทุกประเภท

ฉลากต้องใส่รูปน่ากลัว 30% ของพื้นที่ขวด ทางสมาคมคราฟท์เบียร์ ลองทำตัวอย่างตามกฎหมายมาสภาพจะออกมาประมาณในภาพครับ

ตอนนี้ร่างรอหมอชลน่านเซ็นรับรองเเละบังคับใช้ได้เลย

ทุกท่านคิดเห็นว่าไงครับ

#สุราก้าวหน้า #ก้าวไกล

นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟต์เบียร์หวั่นจำกัดเสรีภาพของผู้ประกอบการและผู้บริโภคจนเกินสมควร

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2567 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟต์เบียร์ (สมาคมคราฟต์เบียร์) กล่าวในเรื่องนี้ว่า หากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ นอกจากจะส่งผลกระทบกับผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศทุกรายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไทยเบฟฯ บุญรอดฯ ต่างก็จะได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด

และอีกด้านหนึ่งก็จะกระทบกับการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ ทั้งไวน์ วิสกี้ ฯบฯ ที่จะต้องพิมพ์ฉลากดังกล่าวเพื่อนำมาปิดทับฉลากเดิมที่มาจากโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ยุ่งยากและเป็นต้นทุน

นอกจากนี้จะกระทบกับอุตสาหกรรมในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ทุกคนก็กระทบหมด

อย่างไรก็ตาม หลังการทำประชาพิจารณ์ร่างประกาศฉบับนี้สิ้นสุดลง สมาคมจะทำหนังสือร้องเรียนไปยัง คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นตรงกันว่า ร่างประกาศดังกล่าวไม่สมเหตุสมผล ไม่สอดคล้องหรือสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเร่งผลักดันการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ และขัดกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยวและด้านอาหาร และจำกัดเสรีภาพของผู้ประกอบการและผู้บริโภคจนเกินสมควร

“ประกาศนี้เป็นนโยบายการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สุดโต่ง อาจจะกล่าวได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่มีมาตรการการควบคุมการบริโภคเหล้าเบียร์ด้วยมาตรการฉลากแบบนี้ และจากข้อมูลต่าง ๆ ในต่างประเทศ เกณฑ์การควบคุมในลักษณะนี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะใช้เป็น Symbolic หรือการทำเป็นสัญลักษณ์ เช่น รูปผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่บ่งบอกว่าคนตั้งครรภ์ห้ามดื่มหรือใช้รูปเด็กที่มีตัวเลขกำกับ ที่เป็นการห้ามขายให้เด็ก หรือเยาวชน เป็นต้น สำหรับในบ้านเราเอง ตอนนี้ก็มีผู้ประกอบการหลายรายก็เริ่มมีการใช้ Symbolic ในลักษณะแบบนี้บนกระป๋อง บนขวดบ้างแล้ว”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net