Skip to main content
sharethis

กลุ่มอาชญากรรมจากจีนทำการต้มตุ๋นหลอกลวงผู้คนไปบังคับใช้เป็นแรงงานทาสในกัมพูชา ด้วยวิธีการหลอกทั้งทางโทรศัพท์และทางโลกออนไลน์ อาศัยฉวยโอกาสช่วงที่ผู้คนกำลังร้อนเงินหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 เรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่กัมพูชามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนจนทำให้จีนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับกลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนและนานาชาติได้กดดันให้กัมพูชาจัดการกับปัญหานี้

 

4 พ.ย. 2565 สรธร เคยทำงานเป็นกุ๊กร้านอาหารในไทย เขาถูกหลอกจากกลุ่มที่ต้มตุ๋นผู้คนผ่านเฟซบุ๊ก โดยที่นักต้มตุ๋นเหล่านั้นได้โพสต์ให้สัญญาว่าจะจ้างงานเขาในตำแหน่ง "ลูกค้าสัมพันธ์" ที่กัมพูชา โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์และอ้างว่าจะให้เงินเดือนราว 470 ดอลลาร์ (ราว 17,700 บาท) ต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าเงินเดือนของสรธร 2 เท่า

ทำให้ในค่ำวันหนึ่งของพ.ศ. 2564 สรธรตอบรับโฆษณาของนักต้มตุ๋นเหล่านั้น ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นก็มีคนเดินทางมายังที่พักของสรธรและพาเขาไปที่เมืองปอยเปต เมืองของกัมพูชาที่อยู่ติดชายแดนตะวันออกเฉียงใต้ของไทย ใกล้กับจังหวัดสระแก้ว

ไม่นานนักสรธรก็เข้าใจว่าเขาพลาดไปเสียแล้ว เขาถูกทิ้งลงที่คาสิโนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นตึกสูง เขาหันไปหากลุ่มอาชญากรรมที่ทำการยึดหนังสือเดินทางของเขาและใช้ให้เขาไปทำงานคอยล่อลวงนักพนันบนแอพพลิเคชันพนันกีฬาที่มีการหลอกลวงต้มตุ๋น สรธรเล่าว่า หัวหน้ากลุ่มอาชญากรรมขู่เขาว่า หากเขาพยายามหนีไปพวกเขาจะขายสรธรต่อให้กับกลุ่มอาชญากรรมอื่นๆ "ถึงตอนนั้น ผมก็ได้รับรู้ว่า ผมกลายเป็นทาสไปเสียแล้ว"

รัฐบาลกัมพูชาปล่อยให้กลุ่มอาชญากรสัญชาติจีนก่อเหตุค้ามนุษย์ข้ามชาติโดยไม่มีการสกัดกั้นใดๆ ทำให้กลุ่มอาชญากรเหล่านี้หาตัวคนต่างชาติทั้งชายและหญิงไปทำงานให้กับพวกเขาจำนวนหลายหมื่นคน ซึ่งทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนและคนที่ถูกจับไปทำงานเหล่านี้บอกว่าพวกเขาถูกกักตัวบังคับให้ทำงานอยู่ในกลุ่มปั่นโฆษณาหลอกลวงต้มตุ๋นทางไซเบอร์ ในที่ๆ มีผู้คนถูกยัดทะนานรวมกันอยู่จำนวนมาก

กลุ่มคนที่ถูกบังคับใช้แรงงานเหล่านี้ถูกล่อลวงจากโฆษณาที่อ้างว่าจะให้งานถูกกฎหมายแก่พวกเขา แต่กลับพาพวกเขาไปบีบบังคับให้ทำงานหลอกลวงต้มตุ๋นผู้คนทางออนไลน์หรือทางโทรศัพท์ ล่อลวงผู้คนทั่วโลกด้วยการพนัน, การปล่อยกู้, การหาคู่ และอื่นๆ มีการหลอกลวงต้นตุ๋นส่วนหนึ่งที่อาศัยการอ้างพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปลอม และอ้างจะให้เงินทางออนไลน์

 

การละเมิดสิทธิฯ ทารุณกรรม และความโหดร้ายต่อผู้ถูกล่อลวงไปทำงาน

 

เจสัน ทาวเวอร์ ผู้บริหารของสถาบันสันติภาพสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติของจีน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ก่อเหตุในแบบที่มีความช่ำชองในการวางกับดักล่อลวงคน

กลุ่มคนที่ถูกใช้งานคนไหนที่ทำตามเป้าได้จะได้รับรางวัล คนที่ไม่บรรลุตามเป้าได้จะถูกทารุณกรรม ถูกข่มเหงรังแก และถูกขายราวกับเป็นทรัพย์สินให้กับกลุ่มอาชญากรอื่นๆ มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องการฆาตกรรม, มีคนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า และคนมีความคิดจะฆ่าตัวตาย เกิดขึ้นจำนวนมาก

ถึงแม้กลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ทำอะไรคล้ายๆ กับบริษัทเอกชนที่พยายามจะกระตุ้นฝ่ายขาย แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างใหญ่หลวงคือคนที่ถูกจับให้เข้าไปทำงานให้กลุ่มอาชญากรรมจะไม่อนุญาตให้ออกจากงานเหล่านี้ได้เอง

เจคอบ ซิมส์ ผู้อำนวยการประจำประเทศขององค์กรอินเตอร์เนชันแนลจัสติสมิสชันกล่าวว่า คนที่ถูกหลอกทำงานให้กับกลุ่มเหล่านี้จะไม่ถูกไล่ออกถ้าทำเป้าหมายได้ไม่ดี แต่จะถูกลงโทษทางร่างกาย ถูกสั่งให้วิดพื้น, ทำสควอท, ถูกช็อตด้วยไฟฟ้า, ถูกทุบตีทำร้าย, ถูกงดให้อาหาร, ถูกขังในห้องมืด หรืออะไรที่แย่กว่านั้น

กลุ่มอินเตอร์เนชันแนลจัสติสมิสชันที่ซิมส์ทำงานอยู่ได้ทำการช่วยเหลือเหยื่อมากกว่า 100 รายแล้ว ซิมส์บอกว่าคนที่สามารถบรรลุเป้าหมายได้หรือทำได้ดีกว่าเป้าหมายจะได้รับรางวัลเป็นการที่พวกเขาจะมีอิสระมากกว่า ได้รับอาหาร ได้รับเงิน และสามารถมีอำนาจควบคุมเหยื่อรายอื่นๆ ได้มากกว่า

เหยื่อคนที่ถูกหลอกมาทำงานเช่นนี้มาจากหลายที่ทั่วเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น จีน, เวียดนาม, มาเลเซีย, ไต้หวัน และฮ่องกง มีคนจำนวนมากที่บอกว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พวกเขาเลือกจะไปทำงานที่กัมพูชา

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดในเรื่องนี้ให้ชาวโลกรับรู้ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ โดยมาจากหลายแหล่งไม่ว่าจะเป็น นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มผู้หลบหนีออกมาได้ และสื่ออิสระของกัมพูชาอย่าง "วีโอดี"

ในเดือน ส.ค. สื่อดิจิทัลจากเวียดนาม VnExpress ได้รับภาพวิดีโอเหตุการณ์ที่ชาวเวียดนามประมาณ 40 คน พากันแห่หนีออกมาจากคาสิโนในกัมพูชา โดยมียามไล่ตามด้วยไม้และพยายามจะสกัดไม่ให้พวกเขาหนี ซึ่งคนงานส่วนมากพยายามจะว่ายน้ำข้ามฝั่งหนีกลับไปยังเวียดนาม

มีผู้ที่รอดชีวิตจากการถูกหลอกไปใช้แรงงานทาสในกัมพูชากล่าวว่า หลังจากที่เขากลับบ้านมาได้แล้วเขาไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป

เดเด็ก มูล์ยานะ เป็นชายอายุ 25 ปี ที่ถูกทารุณกรรมด้วยไม้กระบองไฟฟ้าและถูกบังคับให้ต้มตุ๋นคนอื่นด้วยการแสร้งเป็นผู้หญิงที่ขายรูปโป๊ของตัวเองในอินเทอร์เน็ต มูล์ยานะบอกว่า "ผมรู้สึกชอกช้ำจนเป็นแผลใจ ผมถึงขั้นรู้สึกอับอายเกินกว่าที่จะออกจากบ้านตัวเอง"

มูล์ยานะ หนีออกจากกัมพูชาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แล้วกลับไปที่บ้านตัวเองในอินโดนีเซีย เขาบอกว่าเขาไม่อยากให้ใครต้องมาเจอแบบเขาอีก

ความสัมพันธ์ของกัมพูชาและจีนเกี่ยวอย่างไรกับเรื่องนี้

 

เจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชาเคยประเมินว่ามีคนราว 100,000 ราย ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการหลอกลวงต้มตุ๋นนี้ แต่ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้มีปัญหาการค้ามนุษย์เกิดขึ้นในวงกว้าง

ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันผู้ที่เคยเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารและอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่พ.ศ. 2528 กล่าวยืนกรานว่ากลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานในกัมพูชาส่วนใหญ่เต็มใจที่จะมา และความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องข้อพิพาทเรื่องการทำสัญญาจ้าง

แต่หลังจากที่มีข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการของกลุ่มอาชญากรในกัมพูชาออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมีแรงกดดันจากนานาชาติเพิ่มขึ้นเรียกร้องให้รัฐบาลปราบปรามอุตสาหกรรมต้มตุ๋นเหล่านี้ และให้มีการปล่อยตัวคนงานข้ามชาติที่ถูกกักตัวเอาไว้ใช้แรงงานทาส

ในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ลดระดับกัมพูชาลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดในดัชนีเรื่องการค้ามนุษย์ ให้พวกเขาอยู่ในอันดับเดียวกับอัฟกานิสถาน, ซีเรีย และเกาหลีเหนือ เรื่องนี้สร้างความอับอายให้กับรัฐบาลกัมพูชาที่กำลังดิ้นรนให้ตัวเองถูกมองว่ามีความชอบธรรมในสายตานานาชาติ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยังคงลิดรอนสิทธิกลุ่มผู้ต่อต้านทางการเมืองและปราบปรามสื่ออิสระอยู่ก็ตาม

ในที่สุดพอถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตำรวจของกัมพูชาก็ได้บุกทลายแหล่งปฏิบัติการของกลุ่มอาชญากรรมในกรุงพนมเปญ และสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นเมืองรีสอร์ทที่เสื่อมโทรม มีชาวต่างชาติจำนวนมากถูกส่งตัวกลับบ้าน

แต่ผู้เชี่ยวชาญก็มองว่าการบุกทลายที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้เป็นแค่การสร้างภาพของรัฐบาลกัมพูชาเท่านั้น ยังคงมีคนงานจำนวนมากที่ถูกส่งตัวไปยังสถานที่ทำงานใหม่ในที่ๆ ลึกลับกว่าในกัมพูชาหรือถูกส่งไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างในลาวและในพม่า

โสภัล เอียร์ นักรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องกัมพูชาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนากล่าวว่า หลังจากที่มีวิดีโอหลักฐานในเรื่องการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานออกมาอย่างปฏิเสธไม่ได้ บวกกับการเรียกร้องทางการทูตจากหลายชาติ ทำให้รัฐบาลกัมพูชาเล็งเห็นว่าควรจะทำอะไรบางอย่าง จนทำให้เกิดการบุกทลายเกิดขึ้น

เรื่องที่รัฐบาลกัมพูชามีความสัมพันธ์แบบเป็นกันเองกับกลุ่มอาชญากรรมนั้น ยังกลายเป็นสิ่งที่ถูกเน้นย้ำให้เห็นทั้งปัญหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่ระบาดหนักในประเทศที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากสงครามกลางเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน และยังมีเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับจีนด้วย

แอลเอไทม์ ระบุว่า ไม่มีประเทศใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากเท่ากัมพูชา โดยที่กัมพูชามองว่าการใกล้ชิดกับจีนนั้นนับเป็นจุดยืนในเชิงยุทธศาสตร์ทะเลจีนใต้ และเพื่อเป็นการคานอำนาจกับเวียดนามซึ่งเป็นศัตรูกันกับกัมพูชาในอดีต

รัฐบาลจีนได้ทำให้กัมพูชากลายเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลประโยชน์รายแรกจากโครงการที่จีนมองว่าสำคัญที่สุดอย่างโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ซึ่งมีการเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่พ.ศ. 2556 อีกทั้งยังมีการขยายอิทธิพลจีนไปในที่ต่างๆ ด้วยการให้กู้ยืมสร้างท่าเรือ ถนน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

นับตั้งแต่นั้นมาการลงทุนของจีนก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนในกัมพูชา แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป ยกตัวอย่างเช่นการทำให้เกิดกลุ่มอาชญากรรมจากจีนที่ฉวยโอกาสตรงจุดนี้ มีจำนวนหนึ่งที่เข้าไปเปิดบ่อนคาสิโนแล้วก็สร้างกำไรให้ตนเองโดยตั้งเป้าหมายเป็นกลุ่มนักพนันที่เดินทางมาจากจีน ซึ่งในจีนนั้นมีกฎหมายห้ามการพนันยกเว้นแต่ในเขตพื้นที่มาเก๊า

มีกลุ่มอาชญากรบางส่วนที่อยู่ในกัมพูชาเป็นอาชญากรที่ทางการจีนต้องการตัวเพราะเคยเปิดบ่อนผิดกฎหมายในจีน แต่ตราบใดที่กัมพูชายังคงเป็นพันธมิตรที่อุทิศตัวให้จีน ทางการจีนก็คงจะไม่หาเรื่องปราบปรามกลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ซึ่งจะสร้างความขุ่นเคืองให้กับกลุ่มชนชั้นนำในกัมพูชาผู้ที่ได้รับผลกำไรจากการเกี่ยวข้องกับแก๊งมาเฟียพวกนี้

 

ขบวนการการต้มตุ๋นทางไซเบอร์

 

หลังจากที่เกิดวิกฤตโควิด-19 เจ้าของบ่อนคาสิโนเหล่านี้ก็หันไปเน้นการหลอกลวงต้มตุ๋นทางไซเบอร์และทางโทรคมนาคมแทน สิ่งที่พวกเขาต้องใช้มีอยู่แค่แรงงานที่พวกเขาสามารถกดขี่ขูดรีดได้เท่านั้น

คนแบบ เรสกี ริซัลดี ดูจะตรงกับความต้องการของกลุ่มอาชญากรกลุ่มนี้ เขาเป็นเชฟจากอินโดนีเซียที่เคยทำงานที่โรงแรมในกาตาร์ และมัลดีฟส์ เขาตกงานเป็นเวลาหลายเดือนเพราะวิกฤตโควิด-19 จนกระทั่งเขาเจอโฆษณาบนเฟซบุ๊กในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในโฆษณาระบุว่าต้องการคนทำงานตำแหน่งลูกค้าสัมพันธ์ในบริษัทการลงทุนที่กัมพูชา

ทางโซเชียลมีเดียแถลงในเรื่องนี้ว่าพวกเขาได้ทำการ "ห้ามไม่ให้มี" เนื้อหาแบบนี้ "มาเป็นเวลานานแล้ว" และได้ลงทุนลงแรงไปกับการลบเนื้อหาเหล่านี้ออกจากเว็บไซต์ แต่ก็ไม่แน่ชัดว่ามีส่วนที่พวกเขาพลาดไปมากแค่ไหน

เรสกี มองว่าตัวเองมีทักษะแบบที่ผู้จ้างงานทางเฟซบุ๊กต้องการไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือโปรแกรมไมโครซอฟต์ออฟฟิศ เขากำลังร้อนเงินมากจึงได้รับงานนี้ที่กัมพูชาในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นับตั้งแต่นั้นเป็นเวลา 4 เดือน เขาก็ต้องเผชิญกับการถูกค้ามนุษย์ 3 ครั้งระหว่างกลุ่มอาชญากรจีนในสีหนุวิลล์ มีอยู่หลายครั้งที่ผู้คุมขังเขาทำการทุบตีและช็อตเขาด้วยเครื่องช็อตปศุสัตว์เมื่อพบว่าเรสกีไม่สามารถหลอกเอาเงินจากเหยื่อได้ตามเป้า

งานแรกที่เรสกีได้ทำคือการหลอกลวงต้มตุ๋นโดยอาศัยโปรไฟล์ปลอม เขาถูกสั่งให้สร้างโปร์ไฟล์เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมด้วยรูปของนายแบบโมเดลชาย เขาส่งต่อโปรไฟล์นี้ให้กับผู้ใช้งานคนอื่นๆ ที่เป็นคนถูกบีบบังคับใช้แรงงานแบบเดียวกับเขาเพื่อให้คอยใช้โปรไฟล์นี้ล่อลวงผู้หญิงที่ชอบผู้ชายให้มาติดกับดักการหาคู่ออนไลน์แล้วก็ล่อลวงให้พวกเขาลงทุนในคริปโคเคอร์เรนซีปลอม

เรสกีบอกว่าคนที่การหลอกลวงเช่นนี้เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงในเวียดนาม, ไทย และอินโดนีเซีย เพราะที่นั่นกำลังมีประชากรชนชั้นกลางมากขึ้น เขาถูกวางให้ทำเป้าหลอกลวงเหยื่อให้ได้อย่างน้อย 30,000 ดอลลาร์ (ราว 1.14 ล้านบาท) พอหลอกได้ถึงจุดนั้นก็จะลบโปรไฟล์ที่ปลอมเป็นนายแบบทิ้งไป

ต่อมา เรสกีก็มีปัญหากับเจ้านายของเขาเมื่อเจ้านายของเขารู้ว่าเขาได้ติดต่อไปที่สถานทูตอินโดนีเซียเพื่อขอความช่วยเหลือ กลุ่มอาชญากรรมลงโทษเขาโดยการพยายามขู่เอาเงินจากเพื่อนของเขาและคนรู้จักของเขา โดยการกุเรื่องขึ้นมาว่าเรสกีมีหนี้การพนันพอกพูน

เมื่อไม่มีใครที่ตอบกลับการขู่เอาเงิน กลุ่มก็ทารุณกรรมเรสกีเป็นเวลา 3 วัน จับเขาตั้งราคาขึ้นขายบนแอพพลิเคชันส่งข้อความ เรสกีเล่าเรื่องอันน่ากลัวเหล่านี้ด้วยท่าทางไร้อารมณ์ความรู้สึกใดๆ เขาบอกว่าเขาเห็นรูปของคนที่ถูกจับมาบังคับใช้แรงงานคนอื่นๆ ขึ้นอยู่บนแอพฯ นี้เช่นกัน มีอยู่รายหนึ่งที่ตัวเปื้อนเลือดแล้วก็มีนิ้วหลายนิ้วถูกตัดออก

ในคืนฝนตกคืนหนึ่งในเดือนกรกฎาคม เรสกีอาศัยจังหวะตอนที่ยามกำลังเผลอหลบหนีออกจากสถานที่ปฏิบัติการหลอกลวงผู้คน ซึ่งที่นั่นมีการต้มตุ๋นคนด้วยการขายตั๋วฟุตบอลโลกปลอม เรสกีสามารถหลบหนีไปที่สถานทูตอินโดนีเซียในกรุงพนมเปญได้สำเร็จ ใช้เวลาอีก 1 เดือนเขาถึงจะสามารถกลับบ้านได้

สรธรเล่าว่า เขารอดจากการถูกใช้ความรุนแรงจากกลุ่มอาชญากรมาได้ กลุ่มที่บังคับใช้แรงงานเขามักจะสวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบรนด์เนมจากหัวจรดเท้าราวกับเป็นชุดยูนิฟอร์มของพวกเขา มีหัวหน้ากลุ่มคนหนึ่งแต่งกายด้วยแบรนด์กุชชี ขณะที่อีกคนหนึ่งใช้แบรนด์หลุยส์วิตตอง

หลังจากที่สรธรถูกค้ามนุษย์ขายทอดต่อเป็นครั้งที่สอง เขาก็เผชิญกับแผลใจที่เจ็บปวดที่สุด เขาถูกใช้ให้ทำงานในบริษัทปล่อยกู้ที่ถูกตั้งขึ้นมาหลอกๆ โดนล่อลวงให้คนที่ต้องการกู้ยืมส่งเงินให้กลุ่มก่อน บอกว่าเป็นวิธีเดียวที่พวกเขาจะได้รับเงินทุนกู้ยืมมากขึ้น มีเหยื่อรายหนึ่งที่เป็นคนวัยกลางคนจากประเทศไทยที่ต้องการเงินไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลของแม่ตัวเอง เขาร้องขอผ่านทางวิดีโอให้กลุ่มอาชญากรช่วยคืนเงินเก็บของเขา ที่เขาถูกหลอกให้จ่ายไปแล้ว

เมื่อหัวหน้าของสรธรกล่าวปฏิเสธ ชายคนที่ถูกหลอกก็เอาปืนพกขึ้นมาจ่อที่ศีรษะแล้วก็ลั่นไก สรธรเล่าว่าคนในกลุ่มอาชญากรเงียบกันหมดหลังมีการลั่นไก สรธรที่ถูกสั่งให้คอยเฝ้ามองหน้าจอได้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด หัวหน้าของเขาแค่เดินออกไป "คนพวกนี้ไม่มีความรู้สึก เพราะพวกเขาเป็นพวกค้ามนุษย์" สรธรกล่าว

สรธรรู้สึกหวาดกลัวอย่างหนักไปอีกหลายสัปดาห์หลังจากนั้น มีคนที่ถูกจับมาบังคับใช้แรงงานหลายคนที่ถูกทำร้ายอย่างเป็นประจำ มีอยู่คนหนึ่งที่ถูกคลุมด้วยถุงพลาสติกสีดำแล้วก็ลากไปที่อื่นโดยที่ไม่กลับมาอีกเลย

สรธรหาวิธีหลบหนีออกมาได้โดยการซ่อนโทรศัพท์มือถือไว้ในที่หนึ่งเพื่อติดต่อกับแม่ของตัวเอง เมื่อติดต่อกับแม่เขาได้ แม่เขาก็แสดงความเป็นห่วงมากเพราะไม่รู้ว่าเขาหายไปไหน 6 เดือน แม่เขาช่วยติดต่อนักกิจกรรมที่คอยปฏิบัติการช่วยเหลือผู้คนที่ถูกหลอกไปบังคับใช้แรงงานเหล่านี้จนทำให้สรธรหนีออกมาได้ มีคนทำงานช่วยเหลือทางฝั่งกัมพูชาคอยพาเขาเดินตัดผ่านทุ่งนา ไร่อ้อย และป่าเป็นเวลา 2 วัน โดยเลี่ยงทางที่เป็นกับดักระเบิดที่วางไว้ตั้งแต่ช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชา

สรธรกลับถึงประเทศไทยได้ในที่สุดเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา ในตอนนี้เขาทำงานเป็นช่างไฟฟ้า ก่อนหน้านี้เขาต้องเผชิญกับโรคนอนไม่หลับเป็นเวลาหลายเดือนและเพิ่งหายเมื่อไม่นานนี้ เขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นเพราะเขาถูกคุมขังอยู่เป็นเวลานาน บางครั้งเขาก็ยังได้รับโทรศัพท์สแปมที่มีการหลอกลวงแบบเดิมมาอี

"ผมบอกพวกมันไปว่า อย่าพยายามเลย ผมเพิ่งกลับมาถึงบ้านได้" สรธรกล่าว "แล้วพวกนั้นก็จะถามกลับตลอดว่า 'คุณหนีไปได้ยังไง' " สรธร กล่าว

 

 

 

เรียบเรียงจาก

‘I was a slave’: Up to 100,000 held captive by Chinese cybercriminals in Cambodia, Los Angeles Times, 01-11-2022

https://www.latimes.com/world-nation/story/2022-11-01/i-was-a-slave-up-to-100-000-held-captive-by-chinese-cyber-criminals-in-cambodia

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net