'ธนพร' ผู้นำแรงงาน เข้าให้ข้อมูลกองทุนยุติธรรมเพิ่ม หลังขอใช้สิทธิฯ แต่ถูกปฏิเสธ คดีฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

  • 'ธนพร' ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และผู้นำสหภาพแรงงาน เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ ผอ.สำนักงานกองทุนยุติธรรม หลังยื่นขอใช้สิทธิจากกองทุน กรณีถูกกระทรวงแรงงานแจ้งความดำเนินคดี ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ถูกปฏิเสธ พร้อมระบุกลไกในการยื่นขอใช้กองทุนมีความยุ่งยากซับซ้อน และไม่สอดรับกับประชาชนทุกอาชีพและสถานการณ์ปัจจุบัน จับตาการพิจารณาอุทธรณ์ หากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเตรียมฟ้องศาลปกครอง
  • PI เผยสถิติมีผู้หญิงนักป้องสิทธิได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนเพียงแค่ 26 จากทั้งหมดที่ถูกฟ้องกลั่นแกล้งและคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม 423 คน 

4 พ.ย.2565 Protection International (PI) รายงานต่อผู้สื่อข่าวว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 4 กระทรวงยุติธรรม ธนพร วิจันทร์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯและผู้นำสหภาพแรงงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จาก PI เดินทางเข้าให้ข้อมูลกับ มนินธ์ สุทธิวัฒนานิติ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานกองทุนยุติธรรม ตามหนังสือเชิญเพื่อขอให้เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฐานะและความสามารถทางเศรษฐกิจของ ธนพร หลังจากที่ธนพรได้ขอความช่วยเหลือจากเงินกองทุนยุติธรรมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีจากกรณีที่ถูกกระทรวงแรงงงานแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อครั้งลุกขึ้นมาอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติเรียกร้องสิทธิทางด้านแรงงานร่วมกับเครือข่ายแรงงานข้ามชาติที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564  โดยการเข้าพบในครั้งนี้มี นาย DIP MAGAR เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนและหัวหน้าทีมประเทศไทยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UNOHCHR  )พร้อมเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมสังเกตุการณ์การหารือในครั้งนี้ด้วย

ธนพร วิจันทร์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯและผู้นำสหภาพแรงงาน

ก่อนหน้านี้ ธนพร ยื่นเอกสารขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม แต่กลับได้รับคำตอบเมื่อวันที่  30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่ากองทุนยุติธรรมไม่อนุมัติเงินกองทุนยุติธรรม จึงทำให้ธนพรต้องยื่นอุทธรณ์กรณีดังกล่าว ประกอบกับกองทุนยุติธรรมได้ขอเอกสารประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับฐานะและความสามารถทางเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอต่อการพิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือเงินจากกองทุน จึงขอให้มีการจัดส่งเอกสารเพิ่มเติม เช่น รายงานความเคลื่อนไหวทางบัญชีหรือ Statement มาเพื่อประกอบการพิจารณา และธนพรได้ทำหนังสือชี้แจงกลับไปโดยได้ย้ำถึงสถานะการตกงาน การขาดรายได้ ซึ่งตกอยู่ในภาวะความจนที่หมิ่นเหม่ รวมถึงได้สะท้อนปัญหาในการเข้าถึงกลไกของกองทุนยุติธรรม และต้องการขอพบกับคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือกรุงเทพมหานครและที่เกินอำนาจของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดที่พิจารณากรณีของธนพร เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจในกรณีดังกล่าวจึงเป็นที่มาของเข้าพบกับ ผอ.สำนักงานกองทุนยุติธรรมติและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยการได้รับหนังสือเชิญให้ข้อมูลเพิ่มเติมในวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมานี้

รายงานข่าวจาก PI ระบุถึงบรรยากาศในการหารือ ว่า ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนยุติธรรมได้ให้ธนพรชี้แจงถึงสถานะและความสามารถทางเศรษฐกิจของธนพร และยังได้อธิบายถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณา 3 ประเด็น 1. ประเด็นเรื่องความสามารถทางเศรษฐกิจที่ประกอบไปด้วยรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน  2. ประเด็นพฤติการณ์ของการกระทำความผิดหรือความเป็นไปได้ในคดีด้วย และ 3. ประเด็นของการไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกฎหมายอื่นๆ ซึ่งจะเป็นส่วนประกอบว่าสำนักงานกองทุนยุติธรรมจะพิจารณาอนุมัติให้หรือไม่ให้เงินจากกองทุนยุติธรรมกับผู้ร้องแต่ละรายด้วย

นอกจากนี้ในช่วงหนึ่งของการพูดคุย เจ้าหน้าที่ได้ยกตัวอย่างกับธนพรว่า หากเป็นพนักงานบริษัทมาขอรับการสนับสนุน จะมีโอกาสได้รับการอนุมัติจากกองทุนมากกว่า เนื่องจากมีใบรับรองเงินเดือนและมีรายละเอียดที่มารายได้ที่ชัดเจน หรือการนำเอกสารที่มีการกู้ยืมเงินมาเพื่อประกอบให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณา เป็นต้น เพื่อมาประกอบการพิจารณาว่าผู้ร้องขอไม่สามารถที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ กองทุนยุติธรรมต้องสนับสนุน  ซึ่งเจ้าหน้าที่จาก PI ได้แย้งในประเด็นนี้ว่า หากเป็นประชาชนที่ประกอบอาชีพอื่น เช่น เกษตรกรหรือนักปกป้องสิทธิระดับชุมชนที่ไม่ได้มีรายได้ที่ชัดเจน รวมถึงตัวของคุณธนพรเองที่ถูกเลิกจ้าง กลุ่มประชาชนเหล่านี้ไม่สามารถมีเอกสารมายืนยันรายได้ หรือมีการรับรองรายได้แบบพนักงานบริษัทเอกชนก็จะไม่สามารถเข้าถึงกองทุนนี้จะยิ่งปรากฎชัดของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมและยิ่งส่งผลถึงความเหลื่อมล้ำที่จะเข้าถึงความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผิดวัตถุประสงค์หลักของกองทุนเรื่องแรกเลยคือเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แต่ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนยุติธรรมได้พยายามชี้แจงถึงวิธีการและขั้นตอนในการขอเงินจากกองทุนในรูปแบบต่างๆ  รวมทั้งได้กล่าวถึงว่ากองทุนยุติธรรมตั้งขึ้นเพื่อที่จะอุดช่องว่างว่าเมื่อไม่มีกฎหมายใดให้ความช่วยเหลือ กองทุนยุติธรรมจะสนุบสนุนในช่องว่างส่วนนั้น และย้ำว่าตนเองได้ทำตามระเบียบและไม่สามารถก้าวล่วงการตัดสินใจของคณะกรรมการได้ โดยบุคคลที่มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติ คือ คณะอนุกรรมการฯ

ธนพร อธิบายกับเจ้าหน้าที่ว่า จากการใช้กลไกของการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมมีเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เยอะมาก และจำนวนเงินที่จะช่วยเหลือก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ค่าเดินทางให้อัตราเปรียบเทียบจากอัตรารถไฟชั้น 2 ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้มีรถน้อยหรือหยุดการวิ่งลง ทำให้ต้องเดินทางมารถส่วนตัวมากกว่าเพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิด 19 เป็นต้น หากเป็นอัตราค่าใช้จ่ายที่อยู่ในระเบียบฯมันก็ไม่สามารถที่จะตอบสนองกับปัจุบันได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กองทุนยุติธรรมเองก็ยอมรับกับสิ่งที่ธนพรสะท้อนว่าเป็นเช่นนั้นจริงและตอนนี้ได้มีความพยามยามที่จะปรับแก้ระเบียบกันอยู่ รวมทั้งยอมรับถึงความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้เสนอทางเลือกของเอกสารประกอบการพิจารณา หากเอกสารเช่นนี้ไม่ได้จะต้องใช้เอกสารแบบไหนมาแทนเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งธนพรก็เข้าใจเจ้าหน้าที่ว่าดำเนินการตามกฎหรือระเบียบในการทำงาน พร้อมทั้งเสนอให้คณะอนุกรรมการฯหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการตอบกลับผลการพิจารณาให้มีรายละเอียดว่ามีการอนุมัติหรือไม่อนุมัติเป็นเช่นไร เหตุใดถึงไม่อนุมัติ 

ช่วงท้ายธนพรได้สอบถามถึงกรอบการพิจารณา โดยระบุว่า ตนวิเคราะห์จากที่ได้ฟังเจ้าหน้าที่ชี้แจงในวันนี้ถึงกรอบเกณฑ์การพิจารณาสามหลัก หลักที่หนึ่งเรื่องความสามารถทางเศรษฐกิจจตนก็น่าจะผ่าน แต่เหตุผลที่ตนจะไม่ได้รับการอนุมัติเงินจากกองทุนยุติธรรมคือคือพฤติการณ์ที่ตนโดนฟ้องร้องคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช่หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตอบ ธนพรว่าก็คงจะใช่ การไปร่วมชุมนุมและถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจจะเป็นเหตุที่ทำให้อนุกรรมการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจอนุมัติหรือไม่อนุมัติได้ โดยประเด็นนี้ PI ได้แย้งไปอีกเช่นกันว่า ในการพิจารณาของกองทุนยุติธรรมก็ต้องเอาหลักเกณฑ์การพิจารณาว่าให้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในกรณีของคุณธนพรศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้นคุณธนพรยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ กองทุนยุติธรรมหรืออนุกรรมการควรตัดสินใจเอาเงื่อนไขนี้มาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณา

ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนยุติธรรม ระบุเพิ่มเติมว่าตอนนี้เรากำลังต่อสู้ให้ผู้อำนวยการกองทุนยุติธรรมของแต่ละจังหวัดพิจารณาอนุมัติเงินในวงเงินที่จะให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินไม่เกินห้าพันบาทได้ ไม่ต้องรอให้คณะอนุกรรมการฯเป็นผู้พิจาณา แต่อนุกรรมการฯเองก็ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในส่วนนี้ของเรา เพราะกังวลเรื่องความรับผิดชอบ เจ้าหน้าที่เราเองก็พยายามในการต่อสู้เรื่องนี้อยู่

หลังการหารือเสร็จสิ้นธนพรให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า วันนี้เรามาฟังเรายิ่งเห็นปัญหาของการเข้าถึงสิทธิกองทุนยุติธรรมมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอกสารที่ต้องมีเยอะเกินความจำเป็น และสิ่งหนึ่งที่เราเห็น คือ กลไกของการทำงานที่ล่าช้าโดยใช้คณะอนุกรรมการฯพิจารณา  “ความล่าช้า คือ ความไม่ยุติธรรม” เราพูดถึงเรื่องขั้นตอนของการไปศาล ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปพบอัยการ ซึ่งบางครั้งเรารู้ล่วงหน้าเพียงแค่  7 วัน หรือเต็มที่หนึ่งเดือน แต่กลไกของคณะอนุกรรมการฯกว่าจะมาถึงรอบการพิจารณาของเราก็เกิดความล่าช้า ทำให้บางครั้งเราอาจจะไม่ได้รับสิทธิในการได้รับการช่วยเหลือ และอีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือ กรอบในการพิจาณาของคณะกรรมการ ที่ตนต้องนำ Statement ต่างๆมาแสดง ต้องมีการพิสูจน์ความจนในการเป็นหนี้สิน ต้องมีภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งตนคิดว่าไม่ควรที่จะใช้เงื่อนไขนี้ในการที่จะมาพิจารณา 

ส่วนกรอบเรื่องพฤติการณ์เราตั้งคำถามว่ามันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะได้รับการพิจาณาหรือไม่เพราะเราถูกดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่รัฐ ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงนั้นมาใช้แล้วเราไปละเมิด จะเป็นไปได้หรือไม่ที่คณะอนุกรรมการฯจะพิจารณาว่าเรานั้นฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่รัฐบาลออกมา จริงๆแล้วเราไปยื่นหนังสือกับกระทรวงแรงงานก็เป็นสิทธิที่ประชาชนจะไปยื่นหนังสือหรือการเรียกร้องหรือการชุมนุมต่างๆ เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนสามารถทำได้  โดยเจ้าหน้าที่ก็ตอบเราว่ามีความเป็นไปได้ ในความเป็นจริงไม่ควรมีการตัดสินการช่วยเหลือด้วย เพราะการเคลื่อนไหวตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 

ในส่วนที่สามตนพูดถึงเงื่อนไขว่าเราไม่ได้รับการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายในด้านอื่น ก็จะมาใช้กองทุนยุติธรรม ถ้าคณะกรรมการตีตราเราไปแล้วว่าเราไปฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้ตนจะนำเอกสารมาเป็นกองใหญ่ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร ตนเลยบอกว่า วันนี้มีการพูดคุยว่าข้อร้องเรียนของตนจะไปอย่างไรต่อ มีการสรุปกันในที่ประชุมว่า จะมีการเขียนบันทึกถ้อยคำว่าตนได้ให้ถ้อยคำและข้อเสนอแนะอะไรไป จะทำบันทึกการพูดคุยในวันนี้ และให้ตนและองค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วมในวันนี้ทำการรับรองและจะส่งไปให้คณะอนุกรรมการฯอีกรอบว่าจะพิจารณาทบทวนอย่างไร

ซึ่งตนได้ยืนยันไปแล้วว่าการพิจารณาในครั้งนี้ ถ้าไม่พิจารณาขอให้ตอบให้ชัดเจนว่าแต่ละกรอบที่ไม่ให้นั้นเป็นเพราะอะไร ใช้เงื่อนไขอะไรให้ผ่านหรือไม่ผ่าน หากกรณีของตนไม่ได้รับการพิจารณาจากกองทุนยุติธรรม เราก็อาจจะใช้หนังสือชี้แจงในการดำเนินการต่อแม้ว่าจะถึงขั้นศาลปกครองก็ตาม

ตอนแรกที่เราขอมาก็ไม่คิดว่าการขอใช้เงินจากกองทุนยุติธรรมจะมีความยุ่งยากขนาดนี้ จนคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินของตนจะมีคำพิพากษาในวันที่ 7 พ.ย. ที่จะถึงนี้อยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลยจากกองทุนยุติธรรม เราจึงควรที่จะต้องต่อสู้ให้มีการแก้ไขทั้งเรื่องของระเบียบ กฎหมาย และการทำกลไกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่าย ซึ่งตอนนี้รัฐฟ้องประชาชนเยอะมาก ทั้งเยาวชนที่ยังไม่มีรายได้ กลุ่มพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ชาวนา กลุ่มนักศึกษา และคนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็โดนคดีที่รัฐใช้กฎหมายในการดำเนินการ

ที่สำคัญอีกส่วนคือองค์คณะของคณะอนุกรรมการฯในการพิจารณาอนุมัติกองทุนเราก็เห็นว่ามีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานและมีหน่วยงานอื่นๆซึ่งคณะกรรมการควรจะเปิดให้มีสัดส่วนจากภาคประชาชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการพิจารณาร่วมเพื่อให้ได้ความเห็นที่รอบด้านและหลากหลายด้วย

“มันไม่มีใครหรอกที่อยากโดนคดีแล้วมาใช้เงินกองทุนแต่วันนี้ถ้ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็เป็นธรรมดาที่ประชาชนจะต้องมาขอใช้กองทุนจากกระทรวงยุติธรรม” ธนพร กล้่าว 

สำหรับกองทุนยุติธรรม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2549 ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2553 สู่การบัญญัติเป็นพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์หลักให้การสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือการบังคับคดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม 

แต่จากการเก็บข้อมูลของ PI ที่ได้เก็บข้อมูลของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนที่เข้าใช้กลไกของกองทุนยุติธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 - จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนเพียง 26 คน เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรม จาก 423 คนที่โดนคดีกลั่นแกล้งและใช้กระบวนการยุติธรรมในการคุกคาม

และล่าสุด กรณีของ ธนพร วิจันทร์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิแรงงานและสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ถูกฟ้องคดีในข้อหาฝ่านฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ได้พยายามเข้าใช้กลไกของกองทุนยุติธรรม ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 6 เดือน ยังไม่ได้รับอนุมัติและอยู่ในระหว่างการยื่นขออุทธรณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท