Skip to main content
sharethis

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อ 7 พ.ย. 65 เยาวชนอายุ 14 ปี ถูก ตร.ไปหาที่บ้าน-โรงเรียน พูดจาข่มขู่คุกคามสมาชิกครอบครัว หลังเจ้าตัวเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองที่เสาชิงช้า เมื่อ 13 ตุลา 65 

 

12 พ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สหายนอนน้อย (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 14 ย่าง 15 ปี สมาชิกกลุ่มนักเรียนล้มฯ เผยว่าถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม 3 ครั้งทั้งที่บ้าน และโรงเรียน และมีการพูดจาขมขู่สมาชิกครอบครัว หลังเธอเข้าร่วมกิจกรรม '13 ตุลา หวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป' ที่เสาชิงช้า กรุงเทพฯ เมื่อ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา

สหายนอนน้อย (นามสมมติ) สมาชิกนักเรียนล้มฯ วัย 14 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เยาวชนอายุ 14 ปี เผยว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นตำรวจสันติบาลมาหาที่บ้าน และพบสมาชิกครอบครัวของเธอ ตำรวจบอกกับครอบครัวเธอว่าให้พาเธอไปพบจิตแพทย์ อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้พบเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง เนื่องจากเธอไม่อยู่ที่บ้านในช่วงเวลาดังกล่าว

เยาวชนอายุ 14 ปี ระบุเพิ่มว่า เจ้าหน้าที่ที่มาหาเธอมีทั้งผู้หญิงและชาย และมีการอ้างด้วยว่าไม่ให้ถ่ายภาพบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่ 

สหายนอนน้อย ระบุต่อว่า นั่นไม่ใช่ครั้งเดียวที่เจ้าหน้าที่มาหา เพราะว่าเมื่อ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา มีบุคคลอ้างตัวว่าเป็นตำรวจมาหาที่บ้านอีกครั้ง แต่ไม่ได้พบตัวเธอ เนื่องจากขณะนั้นเธออยู่ที่โรงเรียน ทำให้ตำรวจเจอแต่พ่อของเธอ 

พ่อของสหายนอนน้อยเล่าให้เธอฟังว่า ตำรวจบอกว่าเธอกำลังกำลังถูกดำเนินคดี และมีหมายฟ้องมาแล้วด้วย อย่างไรก็ตาม ตำรวจไม่ได้นำเอกสารหมายมาให้ดู ทำให้ไม่ทราบว่าถูกดำเนินคดีข้อหาใด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่มีการพูดจาคุกคามพ่อของเธอด้วยว่า "เดี๋ยวได้เห็นดีแน่" และพูดประมาณว่า "มีลูกแบบนี้ฆ่าตัวตายดีกว่า" 

หลังจากตำรวจไม่พบสหายนอนน้อยที่บ้าน เจ้าหน้าที่จึงไปตามหาเธอที่โรงเรียน และไปคุยกับอาจารย์ว่าให้พาตัวเธอมาพบกับเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ถูกทางโรงเรียนปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า ตัวของเยาวชนอายุไม่ถึง 15 ปี ถ้าจะพามาหาเจ้าหน้าที่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองก่อน

สหายนอนน้อย เล่าถึงความรู้สึกว่า ครั้งแรกที่ตำรวจมาหา เธอค่อนข้างกังวลการถูกดำเนินคดีจากฝั่งเจ้าหน้าที่ แต่พอเจอการคุกคามครั้งที่ 2 เธอกลับรู้สึกว่าไม่กังวล และมองว่าสิ่งที่เธอทำไม่ผิดอะไร เพราะเธอแค่ออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเท่านั้น 

"ครั้งแรกที่เจอเลย เราเพียงแค่แสดงความคิดเห็น เราเพียงแค่ใช้ความคิดเห็นของเราแสดงออกมา ความคิดเห็นควรเป็นสิทธิที่สามารถแสดงได้ แต่ว่ากลับมาถูกคุกคาม คุณแม่ก็เป็นห่วงในครั้งแรกที่โดน แต่ตัวหนูก็ยืนยันที่จะสู้ต่อไป เพราะหนูคิดว่าหนูไม่ได้ผิดอะไร แต่ตอนแรกก็ยอมรับว่ากังวล และก็แพนิคอยู่บ้างว่าเราจะโดนคดีอะไรบ้างไหม แต่พอมาโดนครั้งที่ 2 มันเหมือนชินน่ะค่ะ ไม่กังวลแล้ว เพราะสิ่งที่เราทำไม่ได้ผิด เราแค่คิดต่างเอง การที่เขามาแบบนี้ (คุกคาม) เขานั่นแหละที่ผิด กลายเป็นไม่กลัวไปแล้ว" สหายนอนน้อย กล่าว 

อย่างไรก็ตาม เยาวชนอายุ 14 ปี ยอมรับว่าแม้ขณะนี้จะไม่ได้กังวลเรื่องการถูกคุกคาม แต่เธอรู้สึกเป็นห่วง ความรู้สึกทางครอบครัว เพราะที่บ้านค่อนข้างกังวลเรื่องนี้

ทนไม่ไหว จนต้องออกมาพูด

สมาชิกนักเรียนล้มฯ เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเริ่มออกมาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากเธอตกผลึกกับตัวเองว่าไม่อยากทนกับระบอบการเมืองแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ระบอบการปกครองตอนนี้และที่ผ่านมาไม่ค่อยรับฟังเสียงของประชาชน มีการรัฐประหารหลายครั้ง ขณะที่คนที่เคลื่อนไหวก็โดนจับ โดนอุ้มฆ่าบังคับสูญหาย 

สมาชิกกลุ่มนักเรียนล้มฯ ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ของศาลกับสถาบันกษัตริย์ อย่างคำพิพากษาของศาลไทยที่ต้องมีข้อความว่า 'ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์' เป็นต้น ทั้งที่เธอมองว่าในระบอบประชาธิปไตยศาลไม่ควรขึ้นกับใคร และยิ่งมาตรา 112 ที่คู่กรณีคือสถาบันกษัตริย์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการตัดสินของศาล อีกทั้งเธอมองว่า มาตรานี้ไม่ควรมีตั้งแต่แรก 

“เริ่มตกผลึกได้ว่าถ้าเราทนต่อไป ก็ต้องจมอยู่กับระบอบนี้ต่อไป แต่คือคนไทยประชาชนยังมีแต่ความกลัว เพราะด้วยกฎหมายที่ปิดปาก เพราะด้วยกระบวนการยุติธรรม เพราะด้วยศาลของคู่กรณี เพราะอะไรก็แล้วแต่ มันทำให้คนไม่กล้าพูด ทั้งที่การพูดมันไม่ผิด หนูเลยตัดสินใจว่าในเมื่อมันไม่ผิด เราต้องลองสักตั้ง และต้องออกมาพูดสิ” เยาวชนอายุ 14 ปี กล่าว 

สหายนอนน้อย ระบุต่อว่า หลังจากนี้เธอยังคงเข้าร่วมชุมนุมเท่าที่จะไปได้ และจะมีการทำข้อมูลสื่อสารในเพจเฟซบุ๊ก 'นักเรียนล้มฯ' ซึ่งจะรณรงค์ถึงปัญหาการถูกบังคับสูญหายผู้เห็นต่างทางการเมือง 

สำหรับกลุ่มนักเรียนล้มฯ ที่สหายนอนน้อย สังกัด ก่อตั้งเมื่อเดือน ก.ค. 2565 มีข้อเรียกร้องหลักๆ คือ ข้อ 3 ไฟเย็น ปลดแอกกัญชาเสรี และประชาชนอายุ 15 ปี มีสิทธิเลือกตั้ง 

ไม่มีใครบงการ ออกมาเพราะอยากทำ

เยาวชนอายุ 14 ปี กล่าวถึงข้อครหาจากคนบางกลุ่มที่มองว่าคนรุ่นใหม่ถูกคนอื่นบงการให้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า เธอไม่คิดแบบนั้น และมองว่ามันยากมากที่คนอื่นจะมามีอิทธิพล และควบคุมคนรุ่นใหม่ได้โดยง่าย เธอกล่าวต่อว่า สำหรับเธอ มันต้องเกิดจากจิตใต้สำนึกและความอยากทำของเราเอง ต่อให้ใครมาพูดว่า 'ยิ่งต้องทำ' หรือ 'บังคับเรา' มันจะทำให้ยิ่งไม่อยากทำ 

"พวกพี่ๆ ที่ลี้ภัย ที่คนเขาว่าเป็นคนที่อยู่เบื้องหลัง คือพี่เขาไม่ได้มีอิทธิพลอะไรขนาดนั้นเลย คือแบบสุดท้ายอยู่ที่ใจหนูเองว่าแบบอยากทำ อยากเรียกร้อง อยากคอลเอาท์" สหายนอนน้อย กล่าว

เอาความจริงมาสู้ ไม่ใช่ใช้กฎหมายปิดปาก

เยาวอายุ 14 ปี กล่าวทิ้งท้ายว่า เธอยังยืนยันว่าจะออกมาพูดถึงปัญหาต่อไป และอยากฝากถึงผู้ใหญ่บางคนว่า เมื่อไรก็ตามที่เด็กออกมาพูด แล้วถ้าไม่คิดว่ามันเป็นความจริง ให้ออกมาโต้แย้ง ไม่ใช่การปิดปากประชาชนด้วยกระบวนการยุติธรรม

"อยากฝากว่าคุณบอกว่า ไม่อยากให้เราเคลื่อนไหวเพราะเรายังเด็กอยู่ แต่มันใช่เหรอที่คุณมากลัวเด็กคนหนึ่ง เพียงแค่เด็กคนนี้พูดความจริง หรือถ้ามันไม่ใช่ความจริง คุณก็ออกมาโต้แย้งสิ และการปิดปากประชาชนด้วยกฎหมาย หรือศาลของคู่กรณี มันไม่ชอบธรรมเอาซะเลย… เราก็ต้องพูดต่อไปในฐานะที่เราเป็นประชาชน เราเป็นผู้เสียภาษี หนูยืนยันว่าจะพูดต่อไป" สหายนอนน้อย ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net