ชาวบ้านแม่ลาน้อย ลุกขึ้นต้านสัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรด์ ชี้เอื้อนายทุน แต่ทำลายสิ่งแวดล้อม-วิถีชุมชน

ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น อำเภอแม่ลาน้อย ยังคงผนึกกำลังการเคลื่อนไหวต่อต้านไม่เอาเหมืองแร่ฟลูออไรด์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และแม่น้ำแม่ลา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงคนในพื้นที่หลายชุมชนตลอดลำห้วย โดยได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ระงับยกเลิกโครงการนี้

จวน สุจา ตัวแทนชาวบ้าน และเป็นสมาชิกอบต.ตำบลแม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า แรกเริ่มเดิมที มีการสัมปทานเหมืองแร่ตอนแรก เมื่อ 30 ปีมาแล้ว ซึ่งสมัยนั้น ไม่มีประชาพิจารณ์ ไม่มีประชาคม ก็เลยมีการทำเหมืองแร่เกิดมาได้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2532 รัฐบาลสมัยนั้น มีนโยบายปิดป่า จึงทำให้มีการยกเลิกสัมปทานเหมืองแร่นี้ไปด้วย ก็เลยหยุดไป จนกระทั่งในปี 2562 บริษัท ยูนิเวอร์แซลมายนิ่ง จำกัด ได้มีการยื่นขอสัมปทานเหมืองแร่นี้ขึ้นมาใหม่ จนทำให้ชาวบ้านหลายหมู่บ้านในเขตพื้นที่ตำบลสันติคีรี อ.แม่ลาน้อย ซึ่งอยู่ต้นน้ำ รวมไปถึงชาวบ้านในเขตพื้นที่ ต.แม่ลาหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่กลางน้ำ และต้องอาศัยน้ำจากลำน้ำแม่ลา ทำใช้นำประปาภูเขา และใช้ทำการเกษตร พากันรวมตัวคัดค้านไม่เห็นด้วย

“ยกตัวอย่าง เฉพาะแม่ลาหลวง ถ้าลำน้ำลาได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ ก็จะทำให้พี่น้องชาวบ้านในเขตแม่ลาหลวง กว่า 900 หลังคาเรือนจะไม่มีน้ำประปาใช้สำหรับอุปโภคบริโภคกันเลย เพราะว่าน้ำแม่ลาหลวงนั้นเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงคนแม่ลาหลวงทั้งหมดเลย และยังเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชนด้วย ซึ่งน้ำแม่ลาหลวง ไหลลงสู่แม่น้ำยวม จากนั้นไหลไปรวมกับแม่น้ำแม่สะเรียง แม่ลาน้อย สบเมย แน่นอนว่าคนที่อยู่ข้างล่างจะได้รับผลกระทบกันหมด”

จวน สุจา ตัวแทนชาวบ้าน อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

จวน บอกอีกว่า ที่ผ่านมา บริษัทจะเข้ามาทำสัมปทานเหมืองแร่ โดยที่ไม่ได้ผ่านประชาคมชาวบ้านที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำและท้ายน้ำเลย ถึงแม้ว่าในชุมชนของตนจะอยู่กลางน้ำ อยู่ไกลไปจากรัศมีพื้นที่การสร้างเหมืองแร่ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ หรือภาคหลวงแร่ระบุเอาไว้ว่า ถ้าพื้นที่ชุมชนอยู่เกินรัศมี 3 กิโลเมตร ไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชาคม  แต่ว่าพวกเรานั้นก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ เหมือนกัน 

“ดังนั้นถ้าเหมืองแร่นี้เปิดเมื่อไหร่ ชุมชนของเราก็จะต้องได้ใช้น้ำขุ่นน้ำแดงตลอด 30 ปี เพราะว่าการที่บริษัทจะเอาแร่ออกมามันต้องมีการเอาแร่ล้างน้ำ ซึ่งตอนที่มีการทำเหมืองแร่เมื่อ 30 ปีก่อน จำได้ว่า ได้ทำให้มีหินทรายไหลลงมาทับตะกอนเข้ามาเต็มที่นาของชาวบ้านเต็มไปหมด และทำให้ลำน้ำแห้งลงอย่างเห็นได้ชัด ตอนนั้น ตนยังจำได้ว่า มีการขุดเหมืองเอาแร่ อันไหนเป็นแร่ก็เอาล้างน้ำขนออกไป ส่วนไหนที่ไม่ใช่แร่ เป็นหินตะปุ่มตะป่ำเขาก็จะเอาทิ้งโยนลำน้ำเต็มไปหมด ซึ่งมันได้ทำลายระบบนิเวศ ทำให้น้ำตื้นเขิน ปลาปูไม่มีที่อยู่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่เลี้ยงคนทั้ง 3 อำเภอ ทั้งแม่ลาน้อย แม่สะเรียง สบเมย ซึ่งต่างได้รับผลกระทบกันไปเต็มๆ”

จวน สุจา บอกอีกว่า จากการขอยื่นบัตรประทาน ในครั้งนี้ ชาวบ้านแม่ลาหลวงถือว่าโดนปกปิด พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพราะว่าทั้งนายอำเภอ อุตสาหกรรมจังหวัด ผู้ว่าฯ ได้เอียงไปทางบริษัทกันหมด บอกว่าชุมชนแม่ลาหลวงนั้นมีพื้นที่อยู่เกินรัศมี 3 กิโลเมตรของภาคหลวงแร่ ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่ เพราะถึงแม้เราอยู่กลางน้ำ ปลายน้ำ แต่ก็มีสิทธิที่จะคัดค้าน

“เพราะถ้ามีการเปิดเหมืองแร่ คนแม่ลาหลวง จะทำการเกษตร ปลูกกระเทียมอะไรไม่ได้ เพราะว่าน้ำแห้ง จากที่เคยปลูกกระเทียม 100 ถัง ก็จะเหลือแค่ 10 ถัง เราเชื่อว่าถ้าทำเหมืองแร่ 30 ปี ยังไงน้ำมันต้องแห้งอย่างแน่นอน และดินหินทรายที่เขาทิ้งลงลำน้ำลาก็จะไหลลงมาเข้าที่นาที่สวนชาวบ้านกันหมด รวมไปถึงสารเคมี สารตะกั่วจากเหมืองแร่ที่ชาวบ้านจะต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาเรื่องเหมืองแร่ฟลูออไรด์ ที่แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ได้ผุดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อจู่ๆ ก็มีหนังสือจากอุตสาหกรรมจังหวัด ส่งมาถึงผู้ใหญ่บ้านห้วยมะกอก ขอให้ปิดประกาศการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน

เสรี พิรุฬห์กันทร ผู้ใหญ่บ้านห้วยมะกอก ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564  ได้รับหนังสือจาก อุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ มส อ 033 (5) 239 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน 124/1 ถนนขุนลุมประพาส อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เรื่อง ขอความร่วมมือปิดประกาศการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ถึงผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลสันติคีรี สิ่งที่ส่งมาด้วยมี ประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่อง ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ จำนวน 1 ชุด มีข้อความว่า ด้วยเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรที่ 3/2538 ของบริษัท ยูนิเวอร์แซลมายนิ่ง จำกัด ชนิดแร่ฟลูออไรด์ ตั้งอยู่ใน หมู่ที่ 4 ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่มาปิดประกาศ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ในวันที่ 25 มี.ค.2564 ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากท่านให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปิดประกาศ การขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ให้ทราบทั่วกัน ถ้าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายนี้ หรือมีการเกี่ยวข้องด้วยประการใดก็ดี ให้ทำคำร้องพร้อมด้วยหลักฐานไปยื่นต่อกลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.แม่ฮ่องสอน ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ปิดประกาศนี้เมื่อครบกำหนดสามสิบวัน ในวันที่ 23 เม.ย. 2564 แล้วถ้าไม่มีผู้ใดร้องคัดค้าน เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ จ.แม่ฮ่องสอน จะได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ต่อไป

ซึ่งการมีหนังสือคำสั่งมาให้ติดประกาศแบบนี้ ทำให้ชาวบ้านหลายหมู่บ้าน หลายตำบลในเขตอำเภอแม่ลาน้อย รู้สึกวิตกกังวล และพากันออกคัดค้านไม่เห็นด้วย  เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวใกล้ๆ กันเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่ทำมาหากินของชาวบ้าน และเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า และใกล้แม่น้ำแม่ลาหลวง ที่ไหลลงมาสู่แม่น้ำยวมที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจะทำให้ปลาในแม่น้ำใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังหวั่นได้รับผลกระทบเสียงดังจากการระเบิดหิน หากปล่อยให้มีการสัมปทานจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีค่าเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ที่ชาวบ้านตื่นตัวออกมาคัดค้านกันก็เพราะว่า บริเวณเหมืองแร่นั้นอยู่ใกล้ลำน้ำ ถ้าเหมืองเข้ามาจริงๆ ชาวบ้านก็จะอยู่ไม่ได้ ทั้งๆที่ก่อนหน้า ได้เคยมีการสัมปทานเหมืองแร่นี้ครั้งแรกเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว แต่จู่ๆ ทางบริษัท ได้มีการขอยื่นสัมปทานกันใหม่อีกรอบ ซึ่งทำให้ชาวบ้านมีความวิตกกังวล จึงพากันคัดค้านไม่เอาเหมืองแร่”เสรี พิรุฬห์กันทร ผู้ใหญ่บ้านห้วยมะกอก บอกเล่าให้ฟัง

เสรี พิรุฬห์กันทร ผู้ใหญ่บ้านห้วยมะกอก เป็นตัวแทนยื่นหนังสือต่อนายอำเภอแม่ลาน้อย คัดค้านการสัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรด์

วันที่ 23 ม.ค. 2564 ตัวแทนชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไว้แล้ว ซึ่งต่อมาได้มีหนังสือตอบกลับจากศูนย์ดำรงธรรม แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการขอประทานบัตร หลังจากนั้นได้มีหนังสือจากอำเภอแม่ลาน้อย เชิญเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน เนื่องจากมีชาวบ้านคัดค้าน และเป็นช่วงที่มีเชื้อไว้รัสโควิด 19 ระบาดหนัก ผู้นำชุมชนจึงไปเจรจากับนายอำเภอแม่ลาน้อย ทำให้ต้องเลื่อนการจัดประชุมออกไปก่อน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา ชาวบ้านทราบว่าบริษัทผู้ขอสัมปทาน ได้ว่าจ้างให้บริษัท เอ บี อี เอ็น เอนจีเนียริง คอนซัลแตนท์ จำกัด จัดทำการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม และปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล เนื่องจากชาวบ้านไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นและต้องการคัดค้านให้ถึงที่สุด จากการคัดค้านการขอสัมปทานเหมืองดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้นำชุมชนจำนวนหนึ่งถูกกดดัน จากทั้งฝ่ายบริษัทและหน่วยงานทางราชการ ทำให้ชาวบ้านกังวลเป็นอย่างมาก จึงได้รวมตัวกันทำกิจกรรมคัดค้านอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2564

สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ก็ได้พูดถึงประเด็นเรื่องเหมืองแร่ฟลูออไรด์แม่ลาน้อย ว่า  แต่ก่อนนายทุนเคยเข้ามาสัมปทานบัตรเมื่อ 30 ปีก่อน  จากนั้นได้หยุดไป  แล้วเมื่อสองปีที่ผ่านมา ได้มีการขอยื่นสัมปทานอีกรอบหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านได้พากันออกคัดค้าน เนื่องจากที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เรียนรู้และรับรู้ถึงผลกระทบที่ตามมากับชุมชนของตนเอง โดยเฉพาะชุมชนต้นน้ำที่อยู่ใกล้เหมืองแร่ เช่น  บ้านโป่งน้ำร้อน บ้านห้วยมะกอก ห้วยตะพาบ ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรง คือเรื่องสิ่งแวดล้อม กระทบต่อลำน้ำลา ซึ่งเป็นต้นน้ำของพี่น้องชาวบ้านแม่ลาหลวง นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายปัญหาที่ชาวบ้านหวั่นวิตกและมันจะต้องเกิดขึ้นถ้ามีการทำเหมืองแร่ นั่นคือ  ปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาการลักเล็กขโมยน้อย ปัญหาเรื่องฆาตกรรม ปัญหาเรื่องการคมนาคมขนส่งที่จะตามมาอีกด้วย

สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน

“ในมุมมองของผม ผมว่าพื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของคนอำเภอแม่ลาน้อย ดังนั้น จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการสัมปทานเหมืองแร่ ซึ่งมันสวนทางและย้อนแย้งกันกับแนวทางการอนุรักษ์ ในขณะที่รัฐ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ นั้นต้องการรักษาผืนป่า แต่ถ้ามีเหมืองแร่ มีการสัมปทานเหมืองแร่ ก็จะทำให้เสียทั้งพื้นที่ป่า ทำลายทรัพยากรไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแร่ ต้นไม้ แม่น้ำ สัตว์ป่า สัตว์น้ำก็จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก”

ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น ผนึกกำลังการเคลื่อนไหวต่อต้านไม่เอาเหมืองอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 19 เม.ย. 2564 นายอุทิศ ซาววงศ์ สจ.อำเภอแม่ลาน้อย พร้อมด้วย นายก อบต.สันติคีรี  นายก อบต.แม่ลาหลวง นายก อบต.ขุนแม่ลาน้อย นายก อบต.แม่นาจาง นายก อบต.แม่โถ กำนัน ต.สันติคีรี  กำนัน ต.แม่ลาหลวง รักษาการกำนัน ต.แม่นาจาง กำนัน ต.แม่โถ ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านชาว ประมาณ 20 คน รวมตัวเข้ายื่นหนังสือคัดค้านสัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรด์ หวั่นส่งผลกระทบด้านสุขภาพประชาชน สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนในชุมชน ผ่านนายอำเภอแม่ลาน้อย โดยมี ว่าที่ร้อยตรีวิทยา โปทาศรี ปลัดอาวุโสอำเภอแม่ลาน้อย เป็นผู้รับหนังสือแทน ณ ห้องประชุมอำเภอแม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

“สำหรับการรวมตัวของผู้นำชุมชนและชาวบ้านในครั้งนี้ เนื่องจากมีข้อมูลว่ามีการขอสัมปทานทำเหมืองแร่ และระเบิดหินเพื่อการอุตสาหกรรม บริเวณพื้นที่เขตหมู่บ้านห้วยมะกอก หมู่ที่ 4 ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 114 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา  ชาวบ้านและผู้นำชุมชนได้ขอคัดค้านการสัมปทานเหมืองแร่และขอให้ยุติโครงการ ทั้งนี้จะมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 5 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลสันติคีรี ตำบลแม่ลาหลวง ตำบลแม่โถ ตำบลแม่นาจาง และตำบลขุนแม่ลาน้อย จึงร่วมกันขอคัดค้านอย่างเต็มที่ เหตุผลในการขอคัดค้านในครั้งนี้คือผลกระทบที่ตามมา จะมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาการคมนาคม ปัญหาคนต่างด้าว และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ฉะนั้นชาวบ้านและแกนนำต่างๆ จึงขอคัดค้านอย่างเต็มที่และขอให้ยุติโครงการ”

ต่อมา วันที่ 26 มิ.ย. 2565 พี่น้องชาวบ้านเกือบ 1,000 คน จาก 8 หมู่บ้าน ใน จ.แม่ฮ่องสอน ได้มีการรวมตัวกันคัดค้านการทำ 'เหมืองแร่ฟลูออไรต์' บ้านห้วยมะกอก ซึ่งกินพื้นที่กว่า 114 ไร่ หวั่นกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และแม่น้ำแม่ลา แม่น้ำสายหลักของชาวบ้าน

เฟซบุ๊กเพจ “R2S” หรือ The Rights to Space, Rights to Speak (R2S) ซึ่งเป็นพื้นที่สื่อสารประเด็นสิทธิชนเผ่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รายงานว่า เช้าวันที่ 26 มิ.ย. 2565 มีประชาชนเกือบ 1,000 คน จาก 8 หมู่บ้าน ในพื้นที่บ้านห้วยมะกอก, บ้านห้วยตะพาบ, บ้านห้วยตองก๊อ, บ้านหัวลา, บ้านแม่ลาหลวง, บ้านสันติสุข, บ้านห้วยมะกอกน้อย, บ้านโป่งน้ำร้อน ต.แม่ลาหลวง และต.สันติคีรี จ.แม่ฮ่องสอน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมตัวกันคัดค้านการทำ 'เหมืองแร่ฟลูออไรต์' ตามจุดสำคัญที่เป็นทางผ่านของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อคัดค้านเวทีรับฟังความเห็นของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่มีแผนจัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านห้วยมะกอก ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ประชาชนที่มาทั้งหมดร่วมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการทำเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ที่บ้านห้วยมะกอก จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และแม่น้ำแม่ลา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงคนในพื้นที่หลายชุมชนตลอดลำห้วย

ชาวแม่ลาน้อยบุกสภา ยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการสภา ระงับและทบทวนการสร้างเหมืองแร่

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 ชาวบ้านในพื้นที่ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรรมาธิการฯ กรณีที่บริษัทเอกชนได้ดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรด์ให้ทำการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่ซึ่งมีการขอสัมปทานดังกล่าวฯนี้ อยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เป็นต้นน้ำของลำน้ำลา และอยู่ติดกับชุมชน มีชุมชนที่จะได้รับผลกระทบรวมกันกว่า 10 ชุมชน เป็นทั้งชุมชนที่อยู่รอบเหมืองและชุมชนที่ใช้น้ำตลอดสายน้ำ ซึ่งการทำเหมืองแร่ฯ ในพื้นที่ใกล้ชุมชนและติดลำน้ำเช่นนี้ อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชุมชน ปัญหาสุขภาพ และน้ำปนเปื้อนสารเคมี เป็นต้น

กมธ.ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้าน

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายอภิชาต สิริสุนทร ประธานกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และ นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบพื้นที่และรับฟังปัญหาและข้อกังวลจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กรณีที่บริษัทเอกชนได้ดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรต์  โดยได้เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่สัมปทาน และจัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้าน ชึ่งมีชาวบ้านเข้าร่วมให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นประมาณ 200 คน ณ บ้านห้วยตะพาบ หมู่ 4 ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

จากนั้น จวน สุจา พร้อมตัวแทนชาวบ้าน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่สภาผู้แทนราษฎร โดย ส.ส.มานพ คีรีภูวดล ได้ลงพื้นที่และพาชาวบ้านไปยื่นหนังสือ ซึ่งหลังจากที่กรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ และมาเห็นหนังสือที่ยื่นขอประทานบัตร  ระบุไว้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ถึงขึ้นบอกว่า นี่มันไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม มันคือป่าต้นน้ำที่ยังอุดมสมบูรณ์ 

“ขอยืนยันว่า ที่ผ่านมา ไม่ได้ผ่านประชาคมใดๆ เลย  ชาวบ้านห้วยมะกอก ฯลฯ ไม่มีใครเข้าร่วมประชาคม  ในขณะที่นายอำเภอ อุตสาหกรรมจังหวัด พาตำรวจ ขนคนเข้าไปในพื้นที่  พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า อยากขนคนนอกเข้าไปนั่งในห้องประชุม เพื่อถ่ายรูป แล้วมาอ้างว่าได้มีการประชาคมเรียบร้อยแล้วหรือเปล่า แต่ชาวบ้านได้ทำการปิดถนนกั้นไม่ให้เข้าไป จนเป็นประเด็นออกมาเป็นข่าวขึ้นมา นอกจากนั้น ชาวบ้านยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ที่ผ่านมา ที่ทางบริษัทได้มีหนังสือถึงส่วนกลางไปว่า มีการประชาคมเรียบร้อยแล้ว มีลายเซ็นของชาวบ้านในพื้นที่แนบมาแล้วนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการแอบอ้างและหลอกลวงชาวบ้าน ในช่วงโควิด มีนักการเมืองในพื้นที่บางคนหนุนหลัง มีการนำสิ่งของเครื่องใช้มาแจกจ่ายให้ชาวบ้านในช่วงโควิด แล้วได้ขอให้ชาวบ้านเซ็นรับ แต่กลายเป็นว่าได้นำเอาลายเซ็นชาวบ้านไปประกอบในหนังสือยื่นประทานบัตร ว่ามีการทำประชาคมแล้ว ทางบริษัทพยายามดึงกลุ่มคนที่เป็นที่นับถือของชาวบ้าน อย่างเช่น พระ ผู้นำท้องถิ่น ให้ไปโน้มน้าวให้ชาวบ้านเห็นด้วย จนเกิดปัญหา สร้างความแตกแยกของชาวบ้าน แต่ถึงอย่างไรพี่น้องชาวบ้านก็ยังยืนหยัดต่อสู้คัดค้านกันอย่างเต็มที่ ซึ่งการยื่นหนังสือร้องเรียน คัดค้าน ต่ออุตสาหกรรมจังหวัด, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หยุดทบทวนนั้น เพราะมติประชาคมหมู่บ้านที่ทางบริษัทสัมปทานยื่นไปนั้น มันเป็นของปลอม ชาวบ้านไม่ได้ยินยอมมีได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด” จวน สุจา ตัวแทนชาวบ้านบอกย้ำยืนยัน

ล่าสุด มีรายงานว่าทางกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร

ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอให้พิจารณาทบทวนโครงการนี้แล้ว.

 

ข้อมูลประกอบ

  • ชาวบ้านแม่ลาน้อยคัดค้านไม่เอา"เหมืองแร่" ยื่นหนังสือให้ยุติโครงการ,คมชัดลึก,20 เม.ย.  2564
  • ประชาชน 8 หมู่บ้าน รวมตัวคัดค้าน 'เหมืองแร่ฟลูออไรต์' บ้านห้วยมะกอก จ.แม่ฮ่องสอน,ประชาไท,27 มิ.ย. 2565
  • ข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊กเพจ R2S
  • กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
  • นักข่าวพลเมือง: วิถีชุมชนกับความกังวลเหมืองแร่ฟลูออไรต์ จ.แม่ฮ่องสอน, CitizenThaiPBS,16 ต.ค. 2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท