Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) แถลงขอผู้นำแรงงานทั่วโลกช่วยเหลือ จี้ฮอนด้า ตรวจสอบ-ป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานในซัพพลายเชน หลังบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ญี่ปุ่น 'วาย-เทค' เมืองปราจีนฯ ปลดคนงาน 5 ราย ปมตั้งสหภาพฯ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ที่บริษัทละเมิด กม.แรงงานสัมพันธ์

 

23 พ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (22 พ.ย.) ว่า ประสิทธิ์ ประสพสุข สมาชิกสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ CILT เผยว่า ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ทางสมาพันธ์แรงงานฯ ได้รับรายงานมีคนงานบริษัท วาย-เทค จำกัด นิคมอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น และเป็นบริษัทลูกของยามาชิตะ รับเบอร์ และมีบริษัทฮอนด้า เป็นลูกค้ารายใหญ่ ได้ละเมิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ด้วยการสั่งปลดแกนนำสหภาพแรงงานออก 5 คน และทำการข่มขู่คุกคามคนงาน ให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพฯ

สำหรับ CILT เป็นสหภาพแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตไฟฟ้า สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า และเครื่องหนัง โดยมีสมาชิกกว่า 75,000 คน และเป็นสมาชิกของ IndustriALL Global Union  

ประสิทธิ์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ทาง CILT ได้รับการติดต่อจากพนักงานของวาย-เทค ขอเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ด้านโลหะ ซึ่งทางสมาพันธ์ฯ สามารถรับคนที่เป็นกิจการเดียวกันเป็นสมาชิกภายใต้สังกัดได้เลย โดยตอนนี้มี 13 สมาชิกสหภาพแรงงาน โดยมีวาย-เทค เป็นบริษัทที่ 13 และขณะนี้มีพนักงานโรงงานเข้าร่วมสหภาพฯ ของบริษัทวาย-เทค แล้ว 112 คน  

สมาชิก CILT ระบุว่าสาเหตุที่ทำให้แรงงานทั้ง 5 รายถูกเลิกจ้าง คาดว่าเป็นเพราะทางบริษัทสืบทราบว่า พนักงานทั้ง 5 รายเป็นแกนนำก่อตั้งสหภาพแรงงานในบริษัท แม้ว่าทางบริษัทจะอ้างว่าเหตุผลที่ไล่พนักงานออก เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และไปแผนกอื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ทางบริษัทมีการเสนอเงินชดเชยเลิกจ้าง แต่ทางพนักงานยังคงปฏิเสธ

นอกจากนี้ บริษัทวาย-เทค มีการกดดันพนักงาน ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การห้ามสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ทำงานล่วงเวลา หรือโอที และข่มขู่การประเมินเงินพิเศษประจำปี หรือโบนัส ซึ่งการประเมินดังกล่าวอาจส่งผลให้ถูกตัดเงินโบนัส และกรณีที่แย่ที่สุดคืออาจจะไม่ได้เลย และมีการข่มขู่ว่าจะไล่ออกถ้ายังเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ อยู่

ทางสหภาพแรงงาน CILT มองว่ากรณีนี้เป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 และได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้ว แต่ทาง CILT มีข้อกังวลว่าในด้านกระบวนการ อาจต้องต่อสู้ยืดเยื้อยาวนานกว่าพนักงานจะได้รับความเป็นธรรม 

ประสิทธิ์ ระบุว่า เพื่อช่วยเหลือพนักงาน ทางสหภาพฯ จึงจัดปราศรัยเพื่อรวบรวมพนักงานโรงงาน วาย-เทค เพื่อรวมข้อเรียกร้องเจรจาต่อรอง และเอาเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขให้บริษัทรับแกนนำสหภาพแรงงานฯ ที่ถูกไล่ออกกลับเข้ามาทำงาน

ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัท วาย-เทค เลิกจ้างพนักงาน ซึ่งก่อตั้งและมีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงาน ย้อนไปเมื่อปี 2560 เว็บไซต์ "IndustriALL Global Union" (อินดัสเทรียลโกลบอลยูเนียน) ระบุว่า เมื่อ ต.ค. 2560 บริษัทวาย-เทค เคยไล่พนักงาน 30 คนที่มีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงานออกจากบริษัท และนี่เป็นหนึ่งในกรณีที่ทำให้ประเทศถูกตัดสิทธิ์พิเศษทางศุลกากรสหรัฐฯ หรือ GSP เมื่อปี 2562

บริษัทออกประกาศกันแรงงานร่วมชุมนุม

วานนี้ (22 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งเพิ่มเติมว่า สมาชิกสมาพันธ์แรงงาน ‘CILT’ จะจัดปราศรัยบริเวณหน้าโรงงานบริษัทวาย-เทค เพื่อพูดคุยกับพนักงานโรงงานถึงข้อเท็จจริง สิทธิแรงงาน และสิ่งที่นายจ้างกำลังกระทำผิดกฎหมายอย่างไร หลังมีข่าวว่าบริษัทพยายามแยกแกนนำและสมาชิกสหภาพแรงงานออกจากพนักงานโรงงานคนอื่นๆ 

ประสิทธิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า บริษัทแยกพนักงานสมาชิกสหภาพแรงงานให้ขึ้นมาทำงานบนออฟฟิศ เพื่อแยกสมาชิกสหภาพแรงงานออกจากพนักงานโรงงาน เพื่อไม่ให้สมาชิกสหภาพแรงงาน สามารถปลุกระดม หรือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคนงาน

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน บริษัทประกาศประชาสัมพันธ์ ขอให้พนักงานไม่ไปเข้าร่วมการชุมนุมและเวทีปราศรัยที่จัดโดยบุคคลภายนอก 

“บริษัทฯ ทราบว่า จะมีการชุมนุมจากบุคคลภายนอก ขอให้หลักเลี่ยงการเข้าไปมีส่วนร่วม เกี่ยวข้อง และไม่เข้ามุงดูเหตุการณ์ และระวังการลงชื่อเอกสารใดๆ ให้ตรวจสอบละเอียด”

“อ้างถึงระเบียบบังคับบริษัท เรื่อง วินัยและการลงโทษ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือความเสียหายต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจบริษัท

“ข้อ 47. พนักงานต้องไม่จัดประชุม นัดชุมนุม ภายใน หรือบริเวณโดยรอบบริษัท ก่อนได้รับอนุญาต อย่ากีดขวางการจราจรเข้า-ออกบริษัท

“ข้อ 51. ต้องไม่ออกจากจุดปฏิบัติงานก่อนเวลาเลิกงานที่บริษัทฯ กำหนดไว้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้างาน

“บริษัทฯ ขอให้พนักงานทุกคน ประพฤติปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประกาศ คำสั่ง ของบริษัทฯ พนักงานผู้ใดฝ่าฝืน หรือละเว้นการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง พนักงานจะได้รับโทษตามมาตรการทางวินัยที่กำหนดไว้ และระวังการลงชื่อเอกสารใดๆ ขอให้ตรวจสอบละเอียด” ประกาศของบริษัทระบุ

รูปจาก LINE บริษัท Y-Tec

ผจก.นิคมอุตสาหกรรม ไม่อนุญาตชุมนุม

ประสิทธิ์ ระบุความคืบหน้าการจัดชุมนุมว่าไม่สามารถจัดได้แล้ว เนื่องจากผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมไม่อนุญาตให้แรงงานจัดชุมนุมปราศรัย และเสนอให้ไปไลฟ์สดอ่านแถลงการณ์บนสื่อโซเชียลมีเดียแทน ซึ่งนี่เป็นวิธีการที่ประสิทธิ์ไม่เห็นด้วย 

ตอนนี้ทางสมาพันธ์แรงงานฯ CILT กำลังหาวิธีอื่นๆ ในการสื่อสารกับแรงงาน โดยอาจจะหาพื้นที่จัดชุมนุมอื่นๆ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่หน้านิคมอุตสาหกรรม 304  

สุดท้าย ตัวแทนสหภาพแรงงานฯ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนงานในขณะนี้เป็นผลจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ล้าหลัง เพราะกฎหมายแรงงานสัมพันธ์มีตั้งแต่ 2518 และไม่สอดรับกับสนธิสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO มาตรา 87 และ 98 และกระทรวงแรงงานก็อ่อนแอ และควรปกป้องแรงงานมากกว่านี้   

“ถ้าเราสามารถแก้กฎหมายให้มันดีกว่านี้ ให้มันเป็นประโยชน์ต่อสิทธิแรงงานต่อคนงานที่เป็นคนหมู่มากมันก็จะช่วยหนุนช่วยให้สิทธิแรงงานมันเติบโตได้ เพราะตอนนี้มันถูกกดทับโดยไม่ความเป็นธรรมของกฎหมาย และถูกกดทับโดยชนชั้นปกครองที่ปกครองประเทศอยู่ตอนนี้ ซึ่งไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย ก็ทำให้เราลำบากเข้าไปอีก” 

“จริงๆ แล้วรัฐบาลควรปกป้องแรงงานไทยไม่ใช่ไปปกป้องนักลงทุนต่างชาติมากกว่า ...เอาใจนักลงทุนมากกว่าเรื่องของสิทธิแรงงาน” ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย 

CILT ออกแถลงการณ์ถึงผู้นำแรงงานทั่วโลกต่อการละเมิดสิทธิในไทย

ทั้งนี้ เมื่อ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา สมาพันธ์แรงงาน ‘CILT’ ออกแถลงการณ์สื่อสารถึงสมาชิกสหภาพแรงงานทั่วโลก และผู้นำแรงงานที่เข้าร่วมประชุม ที่กำลังเข้าร่วมประชุมคองเกรสครั้งที่ 5 สมาพันธ์แรงงานสากล หรือ ITUC ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่วันที่ 17-22 พ.ย. 2565 ต่อกรณีที่บริษัทวาย-เทค ไล่พนักงานออก และขอให้ทางฮอนด้า ตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงาน และแทรกแซงในบริษัทซัพพลายเชนหากพบว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงาน

รายละเอียดข้อเรียกร้อง

สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ CILT ซึ่งมีสมาชิกเป็นพี่น้องสหภาพแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตไฟฟ้า สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า และ เครื่องหนัง กว่า 75,000 คน และเป็นสมาชิกของ IndustriALL Global Union อยากจะขอสื่อสารไปยังพี่น้องสหภาพแรงงานทั่วโลก รวมทั้งพี่น้องผู้นำแรงงานที่กำลังเข้าร่วมประชุมคองเกรสครั้งที่ 5 ของ สมาพันธ์แรงงานสากล หรือ ITUC ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่วันที่ 17 ถึง 22 พฤศจิกายน 2565  ถึงสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย 

เรายังเผชิญกับความยากลำบากในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ภายใต้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่อ่อนแอและล้าหลัง และการทำลายสหภาพแรงงานอย่างยาวนานต่อเนื่อง ซึ่งปรากฎเป็นข่าวในระดับสากล จากการที่ IndustriALL Global Union ยื่นข้อเรียกร้องต่อ คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพการสมาคม หรือ CFA ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ในปี 2558 และ การที่ประเทศไทยถูกรัฐบาลสหรัฐ ฯ ตัดสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรหรือ GSP ในปี 2562 โดยทั้งสองเรื่องมีสาเหตุมาจากความล้มเหลวในการคุ้มครองมาตรฐานแรงงาน โดยเฉพาะในประเด็นด้าน สิทธิเสรีภาพการสมาคมและเจรจาต่อรองร่วม และการทำลายสหภาพแรงงาน ซึ่งกว่าร้อยละ 90 เกิดขึ้นกับสหภาพแรงงานในบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีผู้นำสหภาพแรงงาน จำนวนมากถูกนายจ้าง ปลดออกจากงาน ทันทีที่รู้ว่าพวกเขาเป็นแกนนำในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และนักลงทุนในประเทศไทยส่วนมากเป็นสัญชาติญี่ปุ่น CILT มีความพยายามอย่างหนักในการรณรงค์ให้คนงานจัดตั้งสหภาพแรงงาน และเข้าร่วมสหภาพแรงงาน แต่กลับถูกนายจ้างต่อต้านอย่างรุนแรง และ ปลดออกคนงานที่เป็นแกนนำทันที กรณีตัวอย่างล่าสุด เมื่อไม่กี่วันมานี้ นายจ้างบริษัทวาย-เทค สัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ยามาชิตะ รับเบอร์ และมีฮอนด้า เป็นลูกค้ารายใหญ่ ได้ละเมิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ด้วยการสั่งปลดแกนนำสหภาพแรงงานออก 5คน และ ทำการข่มขู่คุกคามคนงาน ให้ลาออกจากการเป็นสมาชิก

โดยทาง CILT ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งคนงาน บริษัท วาย-เทค จำกัด เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพฯ ในสังกัด ปัจจุบันมีคนงานสมัครเป็นสมาชิกแล้ว 112 คน จากพรนักงานทั้งหมด 1,200 คน บริษัทสืบทราบความเคลื่อนไหวนี้ จึงมีการเลิกจ้างแกนนำคนสำคัญของเรา 5 คนภายใน โดยบริษัทจ้างทนายความเข้ามาให้การช่วยเหลือในการเลิกจ้าง มีการแจ้งข้อกล่าวหา ว่า ปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมกับที่รับมอบหมายและเข้าไปยังแผนกอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อปิดบังความจริงที่ว่าพวกเขาถูกเลิกจ้างเพราะเป็นสมาชิกและมีส่วนร่วมกับสหภาพ ฯ และบริษัทได้พยายามเสนอค่าชดเชยเพื่อให้ลูกจ้างยอมออกจากงาน แต๋ลูกจ้างได้ปฏิเสธไม่ยอมรับยอมรับการเลิกจ้างดังกล่าว 

สหภาพฯ เตรียมที่ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เนื่องจาก นายจ้างละเมิดกฎหมาย มาตรา121 พรบ.แรงงานสัมพันธ์ ซึ่งจะต้องใช้เวลาต่อสู้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3เดือน สิ่งที่เราต้องการความสมานฉันท์จากพี่น้องนักสหภาพแรงงานทั่วโลกคือ การประสานงานทำความเข้าใจกับ นายจ้างญี่ปุ่น ให้เคารพสิทธิของคนงานในการเข้าร่วมสหภาพ หยุดคุกคามคนงานทุกรูปแบบและหันหน้ามาสร้างแรงงานสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ และขอเรียกร้องให้บริษัทรับ แกนนำกลับเข้าทำงานตามเดิมโดยเร็ว 

บริษัทแห่งนี้ เคยทำลายสหภาพแรงงานมาแล้วครั้งหนึ่ง นี่จึงเป็นครั้งที่ 2 โดนครั้งแรก เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2560 ซึ่งบริษัทได้เลิกจ้างคนงานที่ทำการจัดตั้งสหภาพแรงงานกว่า 30 คน โดยทาง IndustriALL Global Union ได้ สรุปเรื่องร่างที่เกิดขึ้นลงในเว็บไซต์ ภายใต้บทความ “Thailand: auto parts maker Y-Tec fires workers for unionizing” เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 และ เคสการละเมิดสิทธิ์ครั้งนั้น ก็เป็นหนึ่งในเคสที่อยู่ในข้อร้องเรียนให้มีการตัดสิทธิ์ GSP โดยรัฐบาลสหรัฐ ฯ เนื่องจากประเทศไทยล้มเหลวในการคุ้มครองและป้องกันการทำลายสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังเกิดการละเมิดสิทธิ แรงงาน ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นหลายครั้ง ซึ่ง ฮอนด้า ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีปัญหา เช่น กรณีของ บริษัทสยาม ยาชิโยะ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับฮอนด้า โดยปลายปี 2563 บริษัทได้ทำผิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ด้วยการเลิกจ้างตัวแทนคนงานที่เจรจากับบริษัท 4 คน โดยทั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และศาลแรงงานของไทย ได้ตัดสินว่าบริษัททำผิดและต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้าง นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ยังมีอีกหลายบริษัทในซัพพลายเชนของฮอนด้า ที่ละเมิดสิทธิและทำลายสหภาพแรงงาน จนเป็นสาเหตุให้ประเทศไทยถูกร้องเรียนผ่านคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพการสมาคมของ ILO และถูกสหรัฐ ฯ ตัดสิทธิ GSP ตามที่กล่าว ไม่ว่าจะเป็นที่ ยามาดะ นากาชิม่า หรือ ยาชิโยดา

CILT ขอเรียกร้องไปยัง ฮอนด้า ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ์แรงงาน และมีส่วนรับผิดชอบอย่างแข็งขัน ไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิแรงงานในทุกบริษัทที่เป็นห่วงโซ่การผลิต และขอให้เข้าแทรกแซงบริษัทซัพพลายเออร์ในทันที่ที่เกิดการทำลายสหภาพแรงงาน ขอความสมานฉันท์จากพี่น้องสหภาพแรงงานญี่ปุ่น และทั่วโลก ในการร่วมต่อสู้กับคนงานในประเทศไทย เพื่อปกป้องสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงานและสิทธิในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และขอสนับสนุนให้ สหภาพแรงงานญี่ปุ่น จัดทำ global framework agreement (GFA) ซึ่งจะเกิดประโยชน์มหาศาลต่อคนงานในประเทศไทยและประเทศอื่น GFA จะเครื่องมือสำคัญในการหนุนเสริมช่วยปกป้องสิทธิแรงงานในบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ลงทุนอยู่ทั่วโลก 

ด้วยความสมานฉันท์
สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net