Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) และ พนง.โรงงานซัพพลายเชน ‘ฮอนด้า’ ที่ปราจีนฯ กว่า 100 คน ชุมนุมปราศรัยแจงการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัท เรียกร้องให้รับแกนนำสหภาพฯ ที่ถูกปลดกลับเข้าทำงาน 

 

สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-25 พ.ย.) มีรายงานว่า บริษัท วาย-เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือยามาชิตะ รับเบอร์ และมีบริษัท ฮอนด้า เป็นลูกค้ารายใหญ่ สั่งปลดพนักงาน จำนวน 5 ราย คาดหมายเบื้องต้นเกี่ยวข้องกับที่พนักงานมีความต้องการจัดตั้งสหภาพแรงงานภายในบริษัทดังกล่าว และวานนี้ (28 พ.ย.) สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ CILT ได้จัดชุมนุมสาธารณะที่หน้าทางเข้าการนิคม 304 จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของ บ.วาย-เทค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

29 พ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ประสิทธิ์ ประสพสุข ประธานสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ CILT วันนี้ (29 พ.ย.) ถึงบรรยากาศการปราศรัยและชุมนุมวานนี้ (28 พ.ย.) เริ่มการชุมนุมตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. โดยได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่รัฐภาคส่วนต่างๆ มาร่วมสังเกตการณ์ ไม่ว่าจะเป็น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี ผู้จัดการนิคม ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และอื่นๆ 

บรรยากาศการชุมนุม

สำหรับ CILT เป็นสหภาพแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตไฟฟ้า สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า และเครื่องหนัง โดยมีสมาชิกกว่า 75,000 คน และเป็นสมาชิกของ IndustriALL Global Union  

ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า จุดมุ่งหมายของจัดปราศรัยครั้งนี้ เพื่อให้สังคมได้รับทราบว่า บริษัทวาย-เทค มีการละเมิดสิทธิแรงงานอะไรบ้าง และพยายามที่จะใช้สื่อสังคมกดดันบริษัท เรียกร้องให้บริษัทรับพนักงาน ซึ่งเป็นแกนนำสหภาพฯ 5 รายที่ถูกปลดก่อนหน้านี้กลับเข้าทำงาน

นอกจากนี้ ทางสมาพันธ์ฯ ต้องการเรียกร้องให้บริษัทฮอนด้า ออกมาร่วมรับผิดชอบ เนื่องจากบริษัทซัพพลายเชนของฮอนด้า ละเมิดสิทธิแรงงาน 

ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯ ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ มีการร้องเรียนไปยังบริษัทฮอนด้าแล้ว ซึ่งต้องจับตาต่อไปว่าทางบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น จะมีการดำเนินมาตรการแก้ไขอย่างไรหรือไม่ แต่ถ้าไม่ ทางสมาพันธ์ฯ ระบุว่าอาจจะมีการแอ็กชันในระดับสากล และกดดันฮอนด้า ต่อไป เพื่อให้รับทราบว่าการนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง และบริษัทต้องมีส่วนรับผิดชอบ

ขณะที่บรรยากาศการชุมนุมครั้งนี้ มีสมาชิกสหภาพแรงงานมาร่วมชุมนุมราว 100 กว่าคน ซึ่งประสิทธิ์ ยอมรับว่าคนมาบางตา เนื่องจากพนักงานหลายคนกังวลว่า ถ้าออกมาร่วมชุมนุมแล้วจะทำให้บริษัทประเมินเงินพิเศษ หรือโบนัส ออกมาไม่ดี 

“อำนาจการบริหารจัดการอยู่ที่บริษัท สมมติ โบนัส เขาไม่ได้ชอบใจใคร อาจจะประเมินโบนัสได้เกรดต่ำสุด มันก็อาจจะโบนัสอาจจะไม่ได้ หรือได้แค่เดือนเดียวหรือเดือนครึ่ง จากที่บริษัทประกาศว่าได้โบนัส 5 เดือน บวกกับเงินอีกหนึ่งหมื่น” ประสิทธิ์ กล่าว 

สมาชิกสมาพันธ์แรงงาน CILT ระบุต่อว่า วันนี้ก็จะมีการชุมนุมในช่วงเวลาเดิมอีกครั้งต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ขณะที่เมื่อสื่อถามว่าจะมีการยื่นข้อเรียกร้องให้กับทางบริษัทด้วยหรือไม่ ทาง CILT กล่าวว่ากำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

นอกจากการชุมนุมและปราศรัยแล้ว มีการยื่นหนังสือถึงกรมสวัสดิการฯ ให้ช่วยตรวจสอบว่า ทางบริษัท วาย-เทค ละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่ อย่างเรื่องการกำหนดวันลาพักร้อน และอื่นๆ

เชื่อฝั่งแรงงานจะชนะ-แต่ใช้เวลานาน

ก่อนหน้านี้ทางสหภาพแรงงาน และ CILT มีการไปยื่นเรื่องร้องเรียนถึงคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ให้ตรวจสอบการที่บริษัทปลดแกนนำจัดตั้งสหภาพฯ จำนวน 5 คนแล้ว แต่กระบวนการค่อนข้างใช้เวลานาน ราว 90 วัน หรือ 3 เดือน 

สมาชิก CILT เชื่อว่าฝั่งลูกจ้างมีโอกาสชนะสูง และจะได้รับกลับเข้าทำงาน เนื่องจากตามข้อเท็จจริง ลูกจ้างไม่มีความผิดตามสัญญา หรือกฎบริษัท และพิสูจน์ได้ว่า แรงงานทั้ง 5 รายเป็นแกนนำสหภาพฯ เขาอยู่ในระหว่างการทำข้อเรียกร้องยื่นต่อบริษัท ซึ่งทางแรงงานมีหลักฐานทั้งบันทึกการประชุม รูปถ่าย มีการลงลายมือชื่อ เพื่อเป็นหลักฐานโต้แย้งเวลาที่บริษัทอาจอ้างว่าภาวะเศรษฐกิจ จึงต้องเลิกจ้างคนงาน อันนั้นเป็นเหตุเบื้องหน้า แต่เบื้องหลัง เป็นเพราะเป็นแกนนำสหภาพแรงงาน กำลังจะทำคำร้องยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิ์ ระบุว่า ยังมีโอกาสที่นายจ้างจะอุทธรณ์คำสั่งต่อศาล ซึ่งตามกระบวนการต่อศาลระบุว่า ก่อนจะส่งเรื่องถึงผู้พิพากษาในการกำหนดประเด็นพิพากษา ต้องผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อน หรือให้มีการตกลงหาข้อยุติทั้ง 2 ฝ่าย คดีจะได้ไม่ต้องขึ้นถึงศาล เขาก็จะพิพากษาตามยอมการไกล่เกลี่ยกันได้แบบไหน ซึ่งอันตราย เพราะนายจ้างจะทุ่มเงินเอาเงินฟาดหัวคนงาน เพื่อให้ยอมถอนการฟ้องร้อง 

รัฐต้องจริงจังสิทธิแรงงานมากกว่านี้

ประสิทธิ์ ทิ้งท้ายว่า เขาอยากให้กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงที่ดูแลเรื่องสิทธิแรงงาน ต้องเอาจริงเอาจังกับการคุ้มครองแรงงานมากกว่านี้ เขาเชื่อถ้าเล่นตามกฎหมาย เอาผิดนายจ้างไม่ได้แน่นอน ดังนั้น เจ้าหน้ารัฐต้องรู้เท่าทันเจตนาของบริษัทด้วย ให้สามารถเป็นที่พึ่งพิงของแรงงานได้ 

ต่อมาคือ ส่วนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ซึ่งมีสำนักงานในเอเชีย และประเทศไทย เป็นหน่วยงานระดับนานาชาติที่ช่วยเหลือคุ้มครองแรงงานสากล แต่กลายเป็นว่า ILO ตอนนี้เป็นเหมือน ‘เสือกระดาษ’ ไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้ เช่น ให้ยอมรับอนุสัญญา ILO มาตรา 87 และ 98 ประเทศไทยต้องตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงานมากกว่านี้ และไปกดดันรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากกว่านี้ 

“เราอยากจะสื่อสารให้ทุกหน่วยงาน ควรจะมาโฟกัสเรื่องของสิทธิแรงงานมากกว่า ผลประโยชน์ในเรื่องของเศรษฐกิจของชาติ แม้ว่าเศรษฐกิจของชาติจะรุ่งเรืองก็ตาม แต่ถ้ามันแลกมาด้วยคราบน้ำตาของคนงานของประเทศไทย ที่มันถูกขูดรีดถูกเลิกจ้างอย่างนี้ มันไม่เป็นธรรม” สมาชิก CILT ทิ้งท้าย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net