โควิด-19 และผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กๆ

  • ในประเทศไทยช่วงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) การปิดสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อเด็กหลายล้านคน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 พบว่าครอบครัวในประเทศไทยเกือบครึ่งหนึ่งไม่พร้อมที่จะให้ลูกเรียนออนไลน์ โดย 51% ไม่มีอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์, 26% ไม่มีอินเทอร์เน็ต และพ่อแม่ผู้ปกครอง 40% ไม่มีเวลาที่จะดูแลลูกในการเรียนออนไลน์
  • การปิดสถานศึกษาทำให้เด็กเรียนรู้ลดลงอย่างชัดเจน แต่ใช้เวลากับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เด็กปฐมวัย-อนุบาลเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปกว่า 90% ส่วนระดับประถมพบสัญญาณเตือน “กล้ามเนื้อบกพร่อง” จับดินสอผิดวิธี ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนไม่ได้ การทรงตัวนั่งเขียนไม่ดี ทำงานเสร็จช้าไม่ทันเพื่อน เรียนไม่รู้เรื่อง มีภาวะเครียด ขาดเรียนบ่อย
  • ครูหวั่นเด็กยุคโควิดพัฒนาการจะช้าลงทั้งการจัดการอารมณ์และพัฒนาการของร่างกาย การมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมรวมทั้งทักษะในการเข้าสังคมอาจลดลง ผู้ปกครองกังวลเด็กท่องอินเตอร์เน็ตก่อนวัยอันควร-กลัวลูกที่เรียนสายอาชีพไม่ได้รับทักษะจำเป็นติดตัว
  • กศส. ให้แนวทางการฟื้นฟูหลังโควิด 1. สังเกต วิเคราะห์พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆ 2. สํารวจสุขภาพจิตใจของเด็กๆ 3. หยุดการเร่งสอนเร่งเรียนเมื่อพัฒนาการและสมองยังไม่พร้อมเรียนรู้ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ 4. ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ให้บูรณาการและสอดคล้องกับการพัฒนาฐานกาย 5. ครอบครัวกับโรงเรียนต้องทำงานประสานกัน
  • นักวิชาการแนะแม้โรงเรียนเปิดแล้วแต่พ่อแม่ต้องควรส่งเสริมลูกต่อไปอีก หมั่นสำรวจสุขภาพจิตใจของทั้งเด็กและตัวเองด้วย ส่วนผู้ปกครองหวังให้สถานศึกษาโดยเฉพาะการเรียนสายอาชีพจัดหลักสูตรซ่อม-เสริม รื้อฟื้นและฝึกฝนทักษะของเด็กที่ขาดหายไปในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา, นอกจากนี้ควรสำรวจตรวจตราการเล่นอินเตอร์เน็ตของลูกคอยชี้ถูกชี้ผิดและเอาลูกออกจากหน้าจอหากพบว่าใช้อินเตอร์เน็ตมากเกินไป

โควิด-19 กระทบต่อการศึกษาของเด็กทั่วโลก

ในประเทศไทยช่วงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) การปิดสถานศึกษาทั้งโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อเด็กหลายล้านคน | แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ ทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะการเรียนในห้องเรียน ข้อมูลจากองค์กรกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ชี้ว่านับตั้งแต่มีการปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 เป็นต้นมา เด็กนักเรียนทั่วโลกสูญเสียชั่วโมงเรียนไปมากกว่าสองล้านล้านชั่วโมง และเด็กๆ มากกว่า 4 ใน 5 ประเทศมีการเรียนรู้ที่ถดถอย ทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็กๆ ได้สะสมไว้กำลังหายไป เด็กๆ ลืมวิธีการอ่านและเขียน บางคนจำไม่ได้แม้แต่ตัวอักษร เด็กเล็กในเกือบทุกประเทศซึ่งกำลังจะเริ่มเข้าเรียนต่างไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะเหล่านี้เลยเนื่องจากการศึกษาปฐมวัยที่ขาดหายไป แค่ในช่วง 6 เดือนแรกหลังการแพร่ระบาด เด็กอย่างน้อย 1 ใน 3 คน ทั่วโลกถูกตัดขาดจากการศึกษาโดยสิ้นเชิงเพราะไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ทางไกล อย่าง ‘การเรียนออนไลน์’ เด็กและเยาวชนประมาณ 24 ล้านคน มีความเสี่ยงที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา

การเรียนออนไลน์: ‘อุปสรรค’ และคำถามต่อ ‘ประสิทธิภาพ’

การเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ได้ฉายให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกประการหนึ่ง นั่นคือการเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารและสัญญาณอินเตอร์เน็ตของเด็กไทย | แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) การปิดสถานศึกษาทั้งโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อเด็กหลายล้านคน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 พบว่าครอบครัวในประเทศไทยเกือบครึ่งหนึ่งไม่พร้อมที่จะให้ลูกเรียนออนไลน์ โดยร้อยละ 51 ไม่มีอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์, ร้อยละ 26 ไม่มีอินเทอร์เน็ต และพ่อแม่ผู้ปกครองร้อยละ 40 ไม่มีเวลาที่จะดูแลลูกในการเรียนออนไลน์

วัชรพงษ์ อายุ 44 ปี อาชีพเกษตรกรและรับจ้างทั่วไป ให้ข้อมูลว่าลูกสาวของเขาอายุ 9 ปี เรียนในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ ระดับชั้น ป.3 ปัญหาที่ต้องเผชิญในช่วงโควิด-19 คือการที่ลูกต้องเรียนออนไลน์นั้นต้องใช้อุปกรณ์อย่างเช่นคอมพิวเตอร์ ซึ่งเขามองว่าสำหรับเด็กระดับ ป.3 อาจจะยังไม่จำเป็น แต่หากไม่ซื้อให้ลูกก็กลัวว่าลูกจะเรียนไม่ทันคนอื่น

“ความจริงเด็ก ป.3 ควรได้ใช้คอมพิวเตอร์ในชั้นเรียนที่โรงเรียนแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นวิชาหนึ่งที่โรงเรียนก็น่าจะเพียงพอ เด็กวัยนี้ควรมีกิจกรรมอย่างอื่นมากกว่าอยู่หน้าจอคอม แต่การเรียนออนไลน์ช่วงโควิดมันเหมือนทำให้เด็กได้เข้าถึงเร็วขึ้น”

เขายังระบุว่าพ่อแม่ต้องให้เวลาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกระหว่างการเรียนออนไลน์ ยิ่งนักเรียนอายุน้อยๆ ไม่มีทางที่จะเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือในการเรียนออนไลน์ได้เอง ซึ่งหากพ่อแม่ไม่ลงทุนทั้งการซื้ออุปกรณ์และให้เวลาแก่ลูกการเรียนออนไลน์จะไม่สัมฤทธิ์ผลอย่างแน่นอน

“แม้จะมีการบอกว่าใช้โทรศัพท์มือถือราคาไม่แพงนักก็ให้ลูกเรียนออนไลน์ได้แล้ว แต่ในการปฏิบัติจริงสเปคของโทรศัพท์ไม่เพียงพอ เครื่องค้างบ้าง จะเรียนไม่ทันคนอื่น เลยต้องลงทุนซื้อโน้ตบุ๊คให้ลูก” วัชรพงษ์ กล่าว

นั่นคือความกังวลของผู้ปกครองเด็กที่เรียนในโรงเรียนเอกชนในตัวเมือง แต่ทั้งนี้เด็กส่วนใหญ่ในไทยนั้นเรียนในโรงเรียนของรัฐและอยู่นอกตัวเมืองเป็นส่วนใหญ่

ครูโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่สูงแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดการเรียนการสอนให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่สูง ระบุว่าในช่วงโควิด-19 นั้นมีความกังวลเรื่องเด็กเรียนไม่ต่อเนื่องเด็กช่วงโควิด-19 มีการเรียนที่ไม่ต่อเนื่องและต้องปรับตัวหลายอย่าง

"เด็กในเมืองจะพร้อมกว่านะในฐานะที่เป็นครูสอนบนดอยรู้สึกปรับตัวลำบาก ครูจะต้องมาไล่แจกชีตและสอนไม่เต็มคาบ ยิ่งโควิดภาระงานครูก็เยอะขึ้นไปอีกเพราะต้องทำแบบออนไลน์ เด็กไม่ใช่จะมีสัญญานทุกคน ละไหนที่ว่ารัฐบาลจะให้เน็ตฟรีกับนักเรียนไม่รู้ให้รึยังไม่ได้ตาม"

สอดคล้องกับ ผู้ใหญ่บ้านในเขตพื้นที่สูงของ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ท่านหนึ่ง ระบุว่าในพื้นจะยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กๆ ในช่วงการเรียนออนไลน์ เพราะบางครอบครัวก็สามารถซื้ออุปกรณ์อย่างดีให้ลูกไว้ใช้เรียนออนไลน์ได้ แต่ขณะที่บางครอบครัวแค่จะเติมเงินโทรศัพท์มือถือยังเป็นเรื่องยาก และปัญหาที่สำคัญมากที่สุดบนดอยก็คือการหาสัญญาณโทรศัพท์

“บางบ้านอยู่จุดอับสัญญาณ ต้องเดินหาสัญญาณมือถือ ซึ่งเด็กก็ไม่สามารถนั่งเรียนในบ้านแบบพื้นที่ที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตครอบคลุม”

ช่วงเดือน มิ.ย. 2564 สวนดุสิตโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “หัวอกครู ผู้ปกครอง นักเรียน” กับการเรียนออนไลน์” จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,749 คน โดยสิ่งที่ครูกังวลเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์มากที่สุด 1. อุปกรณ์ไม่พร้อม อินเทอร์เน็ตช้า (ร้อยละ 77.18) 2. ผู้ปกครองไปทำงาน ไม่มีใครดูแลผู้เรียนที่บ้าน (ร้อยละ 69.74) 3. เด็กเรียนไม่เข้าใจ/เรียนไม่ทัน (ร้อยละ 67.31) สิ่งที่ผู้ปกครองกังวลมากที่สุด 1. เด็กไม่มีสมาธิ ขาดความกระตือรือร้น (ร้อยละ 66.16) 2. เด็กไม่เข้าใจเนื้อหาที่ครูสอน (ร้อยละ 64.64) 3. ผู้เรียนได้ความรู้ไม่เต็มที่ (ร้อยละ 61.65) และสิ่งที่เด็กนักเรียนกังวัลเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์มากที่สุด 1. เรียนไม่เข้าใจ เรียนไม่ทัน (ร้อยละ 74.25) 2. ไม่ได้พบเพื่อน ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (ร้อยละ 63.47) 3. ได้ความรู้ไม่เท่ากับเรียนในห้องเรียน (ร้อยละ 62.28)

ส่วนข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อต้นปี 2565 ระบุว่าแม้ว่าจะมีความพยายามในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ต หรือการผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ตลอดจนการลดขนาดห้องเรียนในโรงเรียนลง แต่การแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบทางลบต่อภาพรวมของคุณภาพการเรียนการสอน จำนวนเด็กที่ขาดเรียนก็เพิ่มขึ้นทั้งในการเรียนในห้องเรียนและการเรียนออนไลน์

‘เด็กยุคโควิด-19’ กลุ่มประชากรที่ต้องจับตาในหลายด้าน

หลายฝ่ายต่างกังวลถึง ‘เด็กยุคโควิด-19’ ที่มีโอกาสจะเป็นโอกาสเป็น ‘เด็กหางแถว’ ในอนาคต | แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

นายจตุพร (นามสมมติ) อายุ 47 ปี อาชีพฟรีแลนซ์ มีลูกชายอายุ 17 ปี ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นช่วงรอยต่อที่ลูกชายของเขาเปลี่ยนผ่านจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สู่ชั้น ปวช.1 ในสถาบันอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ กังวลถึงการเรียนการสอนภาคปฏิบัติที่ในช่วงเรียนออนไลน์แทบที่จะทำไม่ได้เลย

“เรียนช่างต้องเน้นภาคปฏิบัติเป็นสำคัญ เรียนออนไลน์ได้แต่ทฤษฎี หรือถ้าครูจะสอนทางออนไลน์อุปกรณ์อะไรก็เทียบไม่ได้กับที่มีที่วิทยาลัย”

การเรียนสายช่างนั้นต้องอาศัยทักษะมีความเฉพาะเจาะจงและต้องได้รับการสอนจากครูที่มีประสบการณ์แบบตัวต่อตัว เหล่านี้จึงสร้างความยากลำบากที่จะสอนผ่านออนไลน์ จตุพรจึงห่วงว่าที่ผ่านมาลูกของเขาจะได้รับการเรียนการสอนที่มี “คุณภาพ” และ “สัมฤทธิ์ผล” มากน้อยแค่ไหน

“กลัวว่าครูจะปล่อยผ่านให้เกรดง่ายๆ คือถ้าเรียนแบบมัธยมปลายคงไม่เป็นไรมากเพราะไปอ่านหนังสือเพิ่มได้ แต่การลงเรียนช่างวิชาในภาคปฏิบัติแต่ละวิชามันเหมือนเป็นทักษะที่ต้องติดตัวไปตลอด ขันน๊อตตัวไหน เดินสายไฟยังไง นี่ก็กลัวว่าเด็กช่างยุคโควิดจะสู้เด็กช่างช่วงปกติไม่ได้”

นอกจากนี้เด็กในช่วงปฐมวัยและประถมศึกษาตอนต้นก็ยังได้รับผลกระทบจากการไม่ได้ไปโรงเรียนในช่วงโควิด-19 ด้วยเช่นกัน ข้อมูลจากการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) พบว่าการปิดสถานศึกษาทั้งโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในช่วงโควิด-19 ทำให้เด็กเรียนรู้ลดลงอย่างชัดเจน แต่ใช้เวลากับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก การปิดเรียนแต่ละวันในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กปฐมวัย-อนุบาลเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปกว่าร้อยละ 90 ของระดับการเรียนรู้ที่ควรจะได้ ส่งผลให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้ขึ้น ทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็กๆ สะสมไว้หายไป เด็กๆ ลืมวิธีการอ่านและเขียน บางคนจำไม่ได้แม้แต่ตัวอักษร เด็กเล็กเริ่มเข้าเรียนแต่กลับไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะหรือการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เนื่องจากการเรียนรู้ในช่วงปฐมวัยที่ขาดหายไป 

การวัดทักษะพื้นฐานด้านภาษา คณิตศาสตร์ และ Executive Functions (EFs) ของเด็กระดับอนุบาล 3 จำนวน 73 จังหวัด ระหว่างปี 2563-2565 พบว่าเด็กอนุบาล 3 ยุคโควิด-19 ขาดความพร้อมเข้าเรียนประถมต้นในปัจจุบัน ผลกระทบนี้ทำให้เด็กปฐมวัยรุ่นนี้มีโอกาสเป็นเด็กหางแถวมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเด็กปฐมวัยที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอย มีโอกาสสูงที่จะประสบปัญหาการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษา เพราะพวกเขาคือเด็กอนุบาลยุคโควิด-19 ที่ข้ามมาเรียนชั้นประถมต้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ในระดับชั้นประถมศึกษาก็พบสัญญาณเตือน “กล้ามเนื้อบกพร่อง” จากข้อค้นพบของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองที่นอกจากการสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน ทีมโค้ชโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำเครื่องวัดแรงบีบมือทดสอบวัดสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดพบว่าร้อยละ 98 ของเด็กๆ มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งปกติค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม และจากการทดสอบมีผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 1.19 เท่านั้น และมากร้อยละ 50 จับดินสอผิดวิธี ซึ่งสะท้อนว่ากล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนไม่ได้ การทรงตัวนั่งเขียนไม่ดี ทำงานเสร็จช้าไม่ทันเพื่อน เรียนไม่รู้เรื่อง มีภาวะเครียด ขาดเรียนบ่อย

ครูโรงเรียนแห่งหนึ่งในย่านยานนาวา กรุงเทพฯ ระบุถึงข้อกังวลต่อเด็กยุคโควิด-19 ว่าหลักๆ นั้นกังวลเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมรวมทั้งทักษะในการเข้าสังคมของตัวเด็ก

"ช่วงที่ผ่านมานี่เห็นชัดเลยว่านักเรียนพูดหน้าห้อง หรือนำเสนองานหน้าห้องมีปัญหามากๆ บางคนพูดแทบไม่ได้ อ้ำอึ้งกันหลายคน สาเหตุหลักๆ เดาว่าอาจจะเป็นเพราะเขาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์มาตลอดเกือบๆ 2 ปี คือคนที่ยังมีทักษะด้านนี้ปกติก็ยังมีอยู่ แต่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในระยะยาว"

ครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในย่านบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ระบุว่ามีความกังวล 2 อย่าง กับ 1 ความไม่มั่นใจว่าเป็นความกังวล ดังนี้ 1.ปฏิสัมพันธ์ของเด็กในช่วง 2-3 ปีมานี้น้อยลง เด็กได้รู้จักกันน้อย ทำให้เวลาที่ต้องทำงานกลุ่ม หรืองานอื่นๆ ร่วมกันก็จะไม่ค่อยกล้าเท่าไหร่ ตรงนี้มีผลต่อการจัดการอารมณ์ด้วย เมื่อก่อนมันยังได้ทะเลาะกัน แก้ปัญหากัน ตรงนี้เลยได้ฝึกกันน้อย ซึ่งผลสุดท้ายก็ทำให้เขาไม่มั่นใจในตัวเองมากขึ้นกลัว ผิด กล้าเรียนรู้น้อยลง

2.ในเรื่องสุขภาพ ทั้งสายตาที่ต้องใช้กับการเรียนออนไลน์ การอยู่แต่กับบ้านที่ไม่ได้ออกไปไหน ยิ่งวัยรุ่นถ้าไม่ได้ใช้ร่างกายจะมีผลต่อพัฒนาการร่างกายและสมองมาก อย่างร่างกายบางคนอ้วน บางคนผอม บางคนป่วยง่ายไปเลย สำหรับสมองก็สังเกตจากโฟกัสได้น้อยลง มีความอดทนน้อยลง

“อีกเรี่องไม่มั่นใจว่าเป็นข้อกังวลไหม แต่เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส คือพอช่วงที่เด็กเขาได้อยู่บ้าน เรียนออนไลน์ก็สามารถแอบเปิดจอหลอกครูได้ ทำให้เด็กมีเวลากับตัวเองมากขึ้น เด็กบางคนที่เจอสิ่งที่ชอบ หรือพ่อแม่ส่งเสริมก็ใช้เวลาตรงนี้ได้ลอง ได้เล่นได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบไป ดีไปเลย”

"ตรงนี้เราว่ามันดีมาก เด็กได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่เขาอยากรู้จริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่โรงเรียนอยากให้รู้ เราเองก็ใช้ช่วงเวลาตรงนี้แนะนำเด็กไป ไม่ก็พยายามเชื่อมวิชาเราให้ตรงกับสิ่งที่เด็กเขาทำอยู่"

แต่ในอีกมุม ครูท่านนี้ระบุว่าเด็กที่ยังไม่ได้เจอสิ่งที่ชอบ หรือพ่อแม่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมก็จะหลุดไปกับเกมเลย บางคนเล่นเกมได้ดีก็ดีไป แต่บางคนหลุดจริงๆ ใช้เวลาทั้งวันจนกระทบสุขภาพ กระทบความรับผิดชอบ ตรงนี้เราว่าเขาเสียโอกาสมากบางบ้านทะเลาะกับพ่อแม่ไปเลย กลับกัน ถ้าเขาได้มาโรงเรียนเราจะช่วยพาเขาจัดการตัวเองได้ระดับหนึ่ง

"ถ้ามองในภาพรวม พัฒนาการของเด็กรุ่นนี้จะช้าลง ทั้งการจัดการอารมณ์ พัฒนาการของร่างกาย และพัฒนาการสมอง มีแค่บางคนเท่านั้นที่ใช้เวลาว่างพัฒนาตัวเองได้ พบตัวเองได้ไวขึ้น"

ทุกฝ่ายต้องช่วยกันฟื้นฟูให้ทันท่วงที

กศส. ได้ให้แนวทางการฟื้นฟูพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาตอนต้นระดับโรงเรียนและครอบครัวไว้มีขั้นตอน ดังนี้ 1. สังเกต วิเคราะห์พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่เคยทำได้ แต่ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม 2. สํารวจสุขภาพจิตใจของเด็กๆ ว่ามีความสุขในการเรียนหรือไม่ 3. หยุดการเร่งสอนเร่งเรียน ชะลอ 8 สาระวิชาเมื่อพัฒนาการและสมองยังไม่พร้อมเรียนรู้ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะจะส่งผลเสียให้การเรียนเป็นความทุกข์และทำให้เด็กหันหลังให้กับห้องเรียน 4. ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ให้บูรณาการและสอดคล้องกับการพัฒนาฐานกาย เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กระดูก ข้อแขน ขา ลำ ตัว และระบบประสาทสัมพันธ์ ทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่องในช่วงชั้นประถมต้น และ 5. การฟื้นฟูได้เร็ว ครอบครัวกับโรงเรียนต้องทำงานประสานกัน จะเป็นภาระใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้

จุฑารัตน์ สถิรปัญญา รองศาสตราจารย์และหัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ชุมชน สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว และเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวไว้ใน ‘รายงานฉบับพิเศษห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), ต.ค. 2565’ ว่าจากการศึกษาในพื้นที่จริงคนที่ต้องเตรียมตัวให้เด็กก็คือพ่อแม่ แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคิดว่าพอลูกไปโรงเรียนก็หมดหน้าที่ตัวเองเพราะครูจะคอยดูแลต่อ

จุฑารัตน์ เห็นว่าแม้โรงเรียนจะเปิดแล้วแต่พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตว่าลูกที่หายไปจากโรงเรียนสองปีควรจะทำอะไรได้มากกว่าตอนนี้ ควรส่งเสริมอะไรให้ลูกได้อีกและที่ขาดไม่ได้คือควรหมั่นสำรวจสุขภาพจิตใจของทั้งเด็กและตัวเองด้วย ซึ่งความสัมพันธ์กับคนภายในครอบครัวก็สำคัญ เช่น การจัดโต๊ะอาหาร เลยแนะนําให้พ่อแม่ลองชวนลูกๆ ช่วยกันหยิบน้ำจากตู้เย็นมาเทในแก้วแล้ววางตามที่นั่งของคน ในครอบครัววิธินี้จะทำให้รู้ว่าเด็กเข้าใจความสัมพันธ์ในครอบครัวมากแค่ไหน ทั้งหมดนี้เป็นฮาวทูที่ใช้ในการรับมือของพ่อแม่ เพื่อส่งเสริมให้ลูกเกิดการเรียนรู้ตามวัยในช่วงสถานการณ์โควิด แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้รับการชี้แนะจากครูก็จะไม่มีวิธีรับมือและเกิดความเครียด ซึ่งจะทำให้ลูกเครียดตามไปด้วย ดังน้ันความไม่รู้ของพ่อแม่ก็ทำให้ความสดใส ของลูกลดลงได้

“เด็กยุคนี้นอกจากต้องเร่งเพื่อเรียนให้ทันตามใบงาน ยังต้องมารับอารมณ์ทางลบของคนในครอบครัวจากสถานการณ์โควิด ทั้งที่ความสุขของเด็กเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเรียนรู้ เพราะถ้าไม่มีความสุขก็จะไม่เกิด ความพร้อมในการเรียนรู้ โดยเฉพาะครอบครัวที่พ่อแม่มีวุฒิภาวะน้อยหรือไม่ได้ทำงานในช่วงโควิด ความเครียดและทุกข์ใจของพ่อแม่นั้นลูกจะซึมซับได้หมด สุขภาพจิตของพ่อแม่จึงสำคัญมาก เพราะมีผลกระทบถึงลูก ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องหมั่นสำรวจสุขภาพจิตของตนเองด้วย" หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุไว้ในรายงานฉบับพิเศษห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19 ของ กสศ.

ในแง่มุมของผู้ปกครอง จตุพรมองว่าสำหรับนักเรียนสายอาชีวะนั้น สถานศึกษาจำเป็นต้องรื้อฟื้นและฝึกฝนทักษะของเด็กที่ขาดหายไปในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา อาจจะมีหลักสูตรซ่อมให้ในช่วงวันหยุดหรือช่วงเลิกเรียน

“การเรียนปฏิบัติเพิ่มเติมจากที่ไม่ได้เรียนเลยในช่วงโควิด วิทยาลัยต้องมีหลักสูตรซ่อมให้ในช่วงวันหยุดหรือช่วงเลิกเรียน อาจจะเสียเวลา แต่ปล่อยผ่านไม่ได้ เพราะเรียนสายช่างทักษะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” จตุพร กล่าว

ส่วนวัชรพงษ์ให้ความเห็นว่าในช่วงโควิด-19 นั้นเขาสังเกตว่าลูกของเขาเข้าถึงสื่ออินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมาก และกลายเป็นกิจวัตรสืบเนื่องมาจนถึงช่วงการระบาดคลี่คลายและสามารถไปเรียนได้อย่างปกติแล้ว เขาคิดว่าช่วงโควิด-19 ได้ทำให้เด็กจำนวนมากที่ยังไม่ถึงวัยจำเป็นที่ต้องเข้าถึงสื่อเหล่านี้กลับเข้าถึงได้ง่ายก่อนวัยอันควร แม้ในด้านหนึ่งถือเป็นการศึกษาหาความรู้ให้เด็กมีความรู้รอบตัวมากขึ้น แต่ในด้านหนึ่งพิษภัยที่มากับอินเตอร์เน็ตก็มีมากด้วยเช่นกัน จำเป็นต้องเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ควรแนะนำการรับสื่อให้กับลูกๆ และนำพวกเขาออกมาจากหน้าจอเมื่อเห็นว่าลูกใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากเกินไป

"เราปิดกั้นเขาหมดไม่ได้ แต่ควรมีเวลานั่งดูพฤติกรรมเล่นเน็ตลูก ชี้ให้เขาเห็นว่าอันไหนถูกอันไหนผิด และเมื่อเห็นว่าเขาใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากเกินไป ก็ชวนลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง" วัชรพงษ์ กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท