Skip to main content
sharethis

วิกฤตในพม่าทำให้ชาวพม่าจำนวนมากต้องการอพยพเข้าไทย แต่ด้วยกระบวนการที่ล่าช้าของ ตม.ฝั่งไทย ทำให้คนนับแสนติดอยู่ที่ชายแดนด้วยสภาพชีวิตที่ทุกข์ยาก และถ้ายังไม่มีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้จากฝั่งไทยก็เสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตมนุษยธรรมครั้งใหญ่ได้ มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การทะลักเข้ามาของผู้อพยพพม่าในครั้งนี้ มีชนชั้นกลางที่มีทักษะฝีมือและหัวการค้าเข้ามาสร้างเศรษฐกิจให้พื้นที่ใกล้เคียงชายแดนด้วย

 

15 ธ.ค. 2565 บทความของกวี จงกิจถาวร ซึ่งเผยแพร่ในบางกอกโพสต์เมื่อ วันอังคารที่ผ่านมา (13 ธ.ค.) แสดงความกังวลต่อสถานการณ์วิกฤตที่ชายแดนไทย-พม่า โดยระบุว่า ในขณะที่กลุ่มการเมืองและนักการเมืองไทยกำลังเตรียมพร้อมกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง พวกเขาก็ละเลยวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ใกล้จะเกิดขึ้นที่แถบชายแดนตะวันตกของประเทศ

ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19 และก่อนหน้าการรัฐประหารในพม่าที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. 2564 พื้นที่เขตชายแดนซึ่งไม่ได้รับการปักปันเขตแดน 2,401 กม. ระหว่างพม่าและไทยยังคงเป็นพื้นที่ๆ ที่ค่อนข้างสงบและอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังวิกฤต COVID-19 และหลังวิกฤตรัฐประหารในพม่า พื้นที่ชายแดนแห่งนี้ก็อาจจะกลายเป็นระเบิดเวลาขนาดใหญ่ เพียงแค่ประกายไฟเล็กๆ ก็อาจจะจุดชนวนให้เกิดวิกฤตได้ ซึ่งชนวนที่ว่านี้เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลไทยด้วย

หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยเคยทำการประเมินไว้เมื่อไม่นานนี้เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดน ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย และพม่า สรุปว่า ชายแดนไทย-พม่านั้นมีความเปราะบางมากที่สุด ในขณะที่ชายแดนอื่นๆ ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาการจัดการชายแดนมากเท่าชายแดนไทย-พม่า เนื่องจากว่าชายแดนอื่นๆ ไม่ได้มีการไหลทะลักเข้ามาของกลุ่มผู้ขอลี้ภัยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ในระดับที่เสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตมนุษยธรรมได้มากเท่าชายแดนไทย-พม่า

มีการยกตัวอย่างกรณีก่อนหน้านี้ เช่น กรณีชายแดนไทย-กัมพูชา เคยมีความกังวลในเรื่องแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายมากเป็นอันดับที่ 1 ในมุมมองของรัฐบาลไทย ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาตกต่ำ แต่ในตอนนี้กัมพูชามีเสถียรภาพมากขึ้นและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยทำให้รัฐบาลทั้งสองประเทศร่วมมือกันในเรื่องเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดหนักของ COVID-19 มีชาวกัมพูชาราว 50,000 รายที่ทำงานในประเทศอย่างถูกกฎหมาย

อย่างไรก็ตามในกรณีของชายแดนไทย-พม่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีการจัดการในเรื่องแรงงานข้ามชาติในแบบเดียวกันแต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่ดีนัก มีจำนวนผู้ที่ต้องการข้ามแดนจากฝั่งพม่ามายังฝั่งไทย 20 เท่า เทียบกับจำนวนผู้ต้องการข้ามแดนจากฝั่งกัมพูชา โดยเฉพาะในช่วง 23 เดือน ที่ผ่านมา

มีอยู่สองเรื่องที่เชื่อมโยงกันสามารถจำแนกได้คือ การที่มีจำนวนผู้ข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้นโดยอาศัยช่องทางธรรมชาติและมีกลุ่มผู้ลักลอบพาคนข้ามแดนที่มีการประสานงานกันมาเป็นอย่างดี อีกเรื่องหนึ่งคือการที่ฝั่งไทยไม่มีความเตรียมพร้อมมากพอในการรับมือกับผู้อพยพที่จะทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมากพร้อมๆ กันในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งในตอนนี้ไทยมีจำนวนจุดตรวจคนข้ามแดนในพื้นที่ดังกล่าวอยู่เพียง 6 แห่งเท่านั้น

มีอีกเรื่องหนึ่งที่มากเกินกว่าที่ทางการไทยจะยอมรับ คือเรื่องการอพยพเข้ามาใหม่ทีละจำนวนมากได้สร้างปัญหาให้กับระบบการสาธารณสุขในพื้นที่ระดับจังหวัดไปแล้ว จากที่สาธารณสุขในจังหวัดเหล่านั้นต้องรับศึกหนักอยู่แล้วจากกรณีการระบาดของ COVID-19 และโรคระบาดอื่นๆ อย่าง มาลาเรีย ในตอนนี้มีชาวพม่าอย่างน้อย 250,000-300,000 ราย จากทั่วทุกสารทิศของประเทศพม่าได้มากระจุกตัวอยู่ที่ชายแดนไทย-พม่า ซึ่งโดยมากแล้วเป็นพื้นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์

ในตอนนี้ชาวพม่าที่ต่อคิวรอเข้าไทยส่วนใหญ่ได้แต่ใช้ชีวิตอ่างอัตคัดขัดสนไปเรื่อยๆ เพื่อรอจนกว่าจะถึงคิวของตัวเองหรือโชคดีพอที่จะได้ข้ามแดนไปหางานหรือเสาะแสวงความมั่นคงในชีวิตที่ดีกว่าได้ สำหรับคนที่มีเงินทองมากหน่อยพวกเขาสามารถเลือกเมืองที่พวกเขาต้องการอาศัยอยู่ได้โดยง่ายในฝั่งไทย

อย่างไรก็ตามชาวพม่าที่อาศัยอยู่ตามชายแดนก็กำลังกังวลและรู้สึกถึงความไม่แน่นอนในชีวิตมากขึ้น จากการที่ประเทศอินโดนีเซียกำลังจะขึ้นเป็นประธานของอาเซียนในเดือน ม.ค. 2566 ประเทศอินโดนีเซียมีประวัติแสดงจุดยืนอย่างแข็งกร้าวต่อพม่ามาเป็นเวลานาน จึงอาจจะทำให้อาเซียนมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่อเผด็จการพม่าได้ และถ้าหากว่าเผด็จการทหารพม่าโต้กลับต่อพื้นที่แถบชายแดนของพม่า กลุ่มชาวพม่าที่รอข้ามแดนเหล่านี้ก็อาจจะตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนกและพยายามข้ามแดนเข้ามาในฝั่งไทยโดยไม่สนใจความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น

รัฐบาลไทยอาศัยมาตรการชั่วคราวตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือมาตรการขยายเวลาที่แรงงานข้ามชาติชาวพม่าได้รับใบอนุญาตทำงานนานขึ้น 3 เท่า แต่กระบวนการแบบราชการนิยมจัดของไทย และการทุจริตคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางในส่วนท้องถิ่น ทำให้ผู้ที่มีโอกาสจะได้เป็นแรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังไม่ได้รับใบอนุญาตหรือแม้กระทั่งไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการรับใบอนุญาตได้อย่างแท้จริง ประเทศไทยต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วนอย่างน้อย 600,000 ราย เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากยุคหลังโรคระบาด COVID-19

นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรจะแก้ไขปัญหานี้โดยไม่มีความล่าช้า และ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ควรจะต้องรับผิดชอบต่อการที่ทีมงานของเขาทำงานล่าช้าในการนำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาใช้ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการปกครองที่ดี และหลักความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อทำให้แน่ใจว่าจะเกิดสันติภาพแลัเสถียรภาพในประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ของชายแดนตะวันตกแล้ว ประเทศไทยควรจะยกเครื่องวิธีปฏิบัติการด้านความมั่นคงในชาติใหม่หมด เนื่องจากในอดีตไทยกับพม่าเคยเป็นปฏิปักษ์ต่อกันถึงได้มีวิธีปฏิบัติการด้วยการคุมเข้มความมั่นคงชายแดนอย่างเดียว ทั้งที่บริบทและขอบเขตของระบบนิเวศด้านความมั่นคงในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว

ภัยที่ใหญ่ที่สุดอย่างแท้จริงซึ่งไทยต้องเผชิญอยู่ในตอนนี้คือการขาดความมั่นคงของมนุษย์ (การที่มนุษย์ควรได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้รับหลักประกันด้านสิทธิ ความปลอดภัย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์-ผู้แปล) ในหมู่ประชาชนชาวพม่าที่อาศัยอยู่ตามชายแดน จากที่กองทัพพม่าทำการสู้รบกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAOs) มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ในอดีตไทยเคยหนุนหลัง EAOs เพื่อใช้เป็นแนวป้องกันประเทศจากกองทัพทัตมาตอว์ของพม่า อย่างไรก็ตามสภาพการณ์ด้านความมั่นคงเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงแล้วในตอนนี้

ประเทศไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์ราบรื่นมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2554 ทั้งรัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหาร ไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์ที่เสถียรและมีการร่วมมือกันในแบบที่ใช้การได้ ความสัมพันธ์ของไทยกับ EAOs ก็ยังคงเป็นมิตรกันอยู่ จากการที่ไทยยังคงรักษาสายสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขา โดยเฉพาะกับกลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดชายแดนไทย

ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อบุคคลที่ขาดแคลนในพื้นที่ชายแดนผ่านทางสภากาชาดไทยและกลุ่มองค์กรระดับรากหญ้าในจังหวัด แต่ความช่วยเหลือก็เป็นไปอย่างกระจัดกระจายน่าจะเป็นเพราะว่าขาดการคัดวางแผนยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบหรือการวางแผนในระยะยาว รัฐบาลประยุทธควรจะต้องทำให้แน่ใจว่าผู้คนที่อยู่ที่ชายแดนจะได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและความช่วยเหลือฉุกเฉินอย่างทันท่วงทีและอย่างเพียงพอ เพื่อที่พวกเขาจะยังคงสามารถอยู่ในฝั่งประเทศพม่าได้

เมื่อสภาวะปกติกลับคืนมา พวกเขาจะสามารถกลับบ้านของตัวเองไปได้โดยที่ไม่มีความยากลำบาก ประเทศไทยควรจะหนักแน่นในการใช้วิธีการนี้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีสมรรถภาพและอำนาจที่น่าเชื่อถือในระดับหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนแถบชายแดนฝั่งพม่าปลอดภัยและมีสุขภาพดี การทำเช่นนี้จะทำให้ทั้งไทยและประชาคมโลกมีปัญหาให้ต้องแก้น้อยลงไปอีกเรื่องหนึ่ง

มองในแง่ดีแล้ว เรื่องนี้ก็ทำให้เกิดเหตุการณ์พิเศษเฉพาะตัวขึ้นมาเหมือนกัน คือการบูมอย่างกะทันหันของธุรกิจขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอีในแถบชายแดน โดยเฉพาะที่แม่สอด, เชียงใหม่ และที่แม่ฮ่องสอน โดยมาจากผู้ประกอบการชาวพม่า

หลังจากการรัฐประหาร สภาพเศรษฐกิจในพม่าเสื่อมโทรมลงไปจนถึงจุดที่ชนชั้นกลางของพม่ายังต้องหนีออกจากประเทศ ในอดีตนั้น ชนชั้นกลางเหล่านี้เคยเลือกที่จะยังอยู่ในประเทศและพยายามเสี่ยงดวงที่นั่นต่อไปแทนที่จะออกไปเผชิญกับความเสี่ยงในแบบที่คาดเดาไม่ได้นอกประเทศ อย่างไรก็ตามในทุกวันนี้ชนชั้นกลางของพม่าก็เห็นความเสี่ยงในอนาคตของตัวเองชัดเจนขึ้น และพวกเขาก็มาที่ชายแดนโดยหวังว่าจะข้ามแดนมายังไทยได้ ผู้อพยพกลุ่มนี้แตกต่างจากผู้อพยพที่หนีมาในช่วงยุคเผด็จการทหารปี 2531 กลุ่มคนที่มาในครั้งนี้มีการศึกษาดีกว่า มีความเป็นสากลมากกว่า และมีความเป็นผู้ประกอบการค้าขายมากกว่า

หนึ่งในสัญญาณที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้คือการที่มีร้านน้ำชาแบบพม่าผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดที่เปิดบริการทั้งกับชาวไทยและชาวพม่า แค่ในแม่สอดที่เดียวก็มีร้านน้ำชาพม่าในทุกระดับมากกว่า 20 ร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านสไตล์เน้นการประดับตกแต่งไปจนถึงร้านที่เน้นการขายแบบเร็วๆ เรื่องนี้ยังเกิดขึ้นในเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงด้วย มีชาวพม่าที่เข้าไทยในช่วงหลังๆ บางคนที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ อย่างหมอ, พยาบาล, ช่างเทคนิค และวิศวกร พวกเขาควรจะได้รับอนุญาตให้ใช้ทักษะวิชาชีพของตนเองไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ผู้นำรัฐบาลไทยควรจะเข้าใจพลวัตใหม่ในตอนนี้และช่วยเหลือพวกเขา

ถ้าหากรัฐบาลไทยยังคงใช้วิธีแบบตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลงในเรื่องการจัดการกิจการชายแดนและกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง อีกไม่นานไทยก็จะต้องเผชิญกับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกครั้งใหญ่ที่สุดในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์นับตั้งแต่ที่มีสงครามเวียดนาม ในช่วงที่มีสงครามเวียดนามเมื่อราว 40-50 ปีที่แล้วไทยเผชิญกับวิกฤตด้านผู้อพยพจากชายแดนฝั่งตะวันออก รัฐบาลในยุคนั้นมีการประสานความร่วมมืออย่างเต็มรูปแบบและมีความกระตือรือร้น รวมถึงประชาคมโลกในตอนนั้นมีการผนึกกำลังกัน ซึ่งทำให้สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านมนุษยธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน การที่มีสงครามยูเครนยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องทำให้โลกหันเหความสนใจไปทางนั้น และทรัพยากรก็ถูกใช้จนเหลือศูนย์ในความขัดแย้งของยุโรป

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันแถบชายแดนตะวันตกของไทยกับพม่านั้นกำลังจะมีสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการปะทุ จากการที่ปัญหาวิกฤตของพม่ากำลังจะกลายเป็นที่เพ่งเล็งจากประธานอาเซียนใหม่คืออินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศตะวันตกที่มีความกระตือรือร้นในการที่จะลงโทษเผด็จการทหารพม่ามากขึ้นในฐานะที่เผด็จการพม่าก่อเหตุทารุณต่อประชาชนของตัวเอง ข่าวหน้าหนึ่งของสื่อระดับโลกเมื่อไม่นานนี้ก็เน้นพูดถึงเรื่องที่เผด็จการพม่าส่งลงโทษประหารชีวิตนักเรียน-นักศึกษา 7 คน

ภายใต้สภาพการณ์ใหม่นี้ ไทยควรจะต้องทำการประสานงานและประสานความร่วมมือจากภายใน รวมถึงสร้างนโยบายในเชิงรุกให้อยู่เหนือทางลมต้าน ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเกิดหายนะในเชิง "ความมั่นคงของมนุษย์" ขึ้นที่ชายแดนฝั่งตะวันตก

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Humanitarian peril on western border, Kavi Chongkittavorn, Bangkok Post, 13-12-2022

https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2459075/humanitarian-peril-on-western-border

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net