Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบรายงานแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานผิดปกติกว่า 4 ล้านราย โดยมีข้อเสนอที่รัฐไทยต้องทบทวนอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะการปรับภูมิทัศน์ด้านความมั่นคง ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการ แก้ปัญหาด้านเอกสารแสดงตน และการเข้าถึงสวัสดิการและการบริการขั้นพื้นฐาน

11 ส.ค. 2567 ยูทูบ 'Thailand Migration Reform Consortium - เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน' โพสต์วิดีโอเมื่อ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขอย่างยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ประจำวันที่ 8 ส.ค. 2567 โดยมีการนำเสนอรายงาน 4 เรื่องใหญ่ ประกอบด้วย คำนิยามและองค์ประกอบของการโยกย้ายถิ่นฐานแบบผิดปกติ สถานการณ์ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในประเทศไทย ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพิจารณา และข้อเสนอและข้อสังเกตถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

สืบเนื่องคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (กมธ.การกฎหมายฯ) สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติตั้งอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขอย่างยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในการประชุมของ กมธ.การกฎหมายฯ ครั้งที่ 3 เมื่อ 18 ต.ค. 2566 และได้ใช้ระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ในการพิจารณาศึกษา รวบรวมข้อมูล และข้อเท็จจริง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาปัญหาเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในไทยซึ่งสะสมมาอย่างยาวนาน นำเสนอผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และหาแนวทางแก้ไขต่อไป รวมถึงพิจารณาในเรื่องตัวบทกฎหมาย และช่องว่างทางกฎหมายที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเปราะบางนี้ได้  ตอนนี้ทางอนุกรรมาธิการฯ ได้ทำรายงานเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอนำเสนอให้สภาฯ แห่งนี้ได้พิจารณา ทั้งสถานการณ์ ปัญหาภาพรวม และข้อสังเกตและข้อเสนอต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

วิดีทัศน์ประกอบการนำเสนอรายงาน (ที่มา: ยูทูบ Thailand Migration Reform Consortium (TMR))

กัณวีร์ สืบแสง ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการฯ ได้กล่าวถึงนิยามและความหมายของการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ คือการอพยพโยกย้ายโดยอยู่นอกรอบกฎหมายของประเทศนั้นๆ เราเห็นกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาทั้งแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย และยังมีอยู่เรื่องเกี่ยวกับบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้แหละคือการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ

สส.พรรคเป็นธรรม ระบุว่า องค์ประกอบของการโยกย้ายถิ่นฐานแบบผิดปกติมีทั้งหมด 4 อย่าง 1. การเดินทางเข้ามาแบบไม่ปกติหรือผิดกฎหมาย 2. การอยู่ในประเทศนี้แบบไม่ปกติ 3. ทำงานหรือได้รับการจ้างงานแบบไม่ปกติ และ 4. อยู่ในกลุ่มเปราะบางการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงาน

สถานการณ์ภาพรวมของประเทศไทยตอนนี้ อ้างอิงข้อมูลจากกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่าประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติจำนวนประมาณ 3.4 ล้านคน มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ยังอยู่ในประเทศไทยปี 2567 จำนวนประมาณ 5 แสนกว่าคน ผู้ลี้ภัยจำนวนประมาณ 1 แสนคน กลุ่มผู้ลี้ภัยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คนที่อยู่ในประเทศไทยมากกว่า 40 ปี หรือก็คือผู้ลี้ภัยสงครามเพื่อนบ้านพม่า เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1988 และอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย 9 ค่าย ประมาณ 8 หมื่นคน ผู้หนีความไม่สงบจากพม่าหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2564 กลุ่มนี้จำนวนประมาณ 51,000 กว่าคน และกลุ่มสุดท้ายผู้หนีภัยที่อยู่ในนอกพื้นที่ที่รัฐจัดให้ ประมาณ 2 หมื่นคน แบ่งเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยในเมืองและได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ ประมาณ 5 พันกว่าคน และกลุ่มที่ไม่อยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ 1.5 หมื่นคน

สไลด์ประกอบการนำเสนอรายงานจำนวนผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบผิดปกติ (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก Thailand Migration Reform Consortium - เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน)

ความจำเป็น 3 อย่างที่ต้องพิจารณา

กัณวีร์ กล่าวว่า มีข้อสังเกตที่ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1. เรื่องทัศนคติที่ยังใช้เลนส์กรอบความมั่นคงในการพูดถึงปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างผิดปกติ การลี้ภัย และการอพยพของคนที่ไม่มีสัญชาติไทย มองว่าเป็นสิ่งที่ผิด ทำให้ไทยไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างก้าวหน้าว่าเราจะแก้ไขปัญหา หรือมีต้องมีนโยบายอะไรบ้าง

2. มิติทางเศรษฐกิจ เนื่องด้วยการลดลงของประชากรไทยที่ตอนนี้สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ และในอีก 80 ปีข้างหน้าเราจะเหลือกำลังคนเพียง 35 ล้านคน ซึ่งเป็นโจทย์ที่เราต้องพิจารณาว่าเราจะทำยังไงกับกำลังคนที่หายไป เราจะทำยังไงกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชาติ

3. มิติด้านความมั่นคงแห่งชาติและความเป็นมนุษย์ เราต้องเปลี่ยนความคิดความมั่นคงเป็น “ความมั่นคงของมนุษย์” เราต้องมองมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ เราต้องมองว่าจะทำยังไงที่จะตอบสนองความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะเพื่อนร่วมโลกของเรา เราไม่ได้บอกว่าต้องช่วยเขาตลอดเวลา แต่เราจะเอาเขามาช่วยพัฒนาประเทศไทยได้อย่างไร

กัณวีร์ สืบแสง นำเสนอรายงานพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบผิดปกติ (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก Thailand Migration Reform Consortium - เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน)

8 ภาพรวมปัญหา รวมศูนย์กลางการตัดสินใจที่ส่วนกลาง-การเยียวยาผู้เผชิญการถูกคุกคาม

กัณวีร์ ได้กล่าวถึง 8 ภาพรวมปัญหาจากการศึกษาของอนุกรรมาธิการฯ ประกอบด้วย 1. การไม่มีแนวนโยบายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์ นโยบายในปัจจุบันไม่ตอบสนองและไม่ตอบโจทย์ เรามีนโบายที่ดำเนินคดีเฉพาะผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายเท่านั้น เราไม่มองในมิติอื่นๆ ทั้งในมิติด้านมนุษยธรรม มิติด้านสิทธิมนุษยชน และสวัสดิการต่างๆ

2. การรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลางเท่านั้น การที่หน่วยงานส่วนกลางต้องตัดสินใจนโยบายในสถานการณ์ชายแดน ซึ่งเราต้องคิดดูว่าแต่ละพื้นที่ชายแดนของไทย ส่วนกลางจะเข้าใจปัญหาได้ลึกซึ้งกว่าคนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่หรือไม่ 3. การประสานงานระหว่างหน่วยงาน ความยุ่งยากซับซ้อน และการใช้ระยะเวลานานในการจัดการ ทำให้หลายคนตกหล่น ไม่สามารถที่จะยืนด้วยขาตัวเองหรือเป็นมนุษย์คนหนึ่งในโลกนี้

4. การเข้าถึงสิทธิการบริการขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา และอีกหลายๆ ด้าน 5. ปัญหาการเข้าถึงเอกสารแสดงตน อันนี้ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ไร้เอกสารต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงเอกสารต่างๆ ได้ แม้กระทั่งผู้ลี้ภ้ยที่หนีภัยความตายมาจากประเทศต้นกำเนิด เขาไม่สามารถที่จะนำเอกสารแสดงตน อย่างเอกสารทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนเข้ามาด้วย เวลาที่เขาหนีตายเข้ามา

6. ปัญหาการเข้าถึงถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เรื่องนี้สำคัญเพราะว่าการที่เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในที่ไหนก็ตามในโลกนี้ หากเขาไม่สามารถมีถิ่นที่อยู่ได้ ไม่มีบ้านให้พักอาศัย เขาจะใช้สิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ได้ยังไง เขาจะไม่สามารถมีชีวิตได้เลย ไม่ได้แค่ชีวิตเดียวแต่พวกเขามีครอบครัว และลูกหลานอีกด้วย และ 7. การเข้าถึงสัญชาติไทยของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ 5 แสนคน การได้รับสัญชาติ

8. ปัญหาการเข้าถึงการเยียวยาเมื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และเผชิญกับความรุนแรง คนเหล่านี้เมื่อเข้ามาเผชิญกับการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ มีคนที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ไม่ว่าเขาจะโดนละเมิดอย่างไร สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานไม่ว่าเขาจะโดนละเมิดอย่างไร เขาจะไม่มีปากไม่มีเสียง ที่บอกว่าเขาเป็นผู้ถูกละเมิด เขาจะเป็นผู้ถูกละเมิดแบบบริสุทธิ์ก็คือ ใครๆ ก็ตามสามารถละเมิดชีวิตของเขาได้ เพราะว่าเขาเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

สไลด์ประกอบการนำเสนอรายงานภาพรวมปัญหาเรื่องผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบผิดปกติ (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก Thailand Migration Reform Consortium - เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน)

ข้อเสนอด้านการแก้ไขกฎหมาย

รัฐวิศว์ เอื้อประชานนท์ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ข้อสังเกตแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนของทางคณะกรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอมี 4 ด้านดังนี้ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2. ปรับปรุงกลไกและโครงสร้างการบริหารประชากรผู้ที่ย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ 3. การเข้าถึงเอกสารแสดงตนสำหรับประชากรผู้โยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ และ 4. คือการเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐานสำหรับผู้โยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ

รัฐวิศว์ กล่าวว่า ข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายจำนวน 4 พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1. พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เพราะเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย และการผลักดันกลับ 2. ปรับปรุงและแก้ไข พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 (แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจดทะเทียนแรงงานข้ามชาติ การต่อใบอนุญาต การให้ใบอนุญาตทำงาน และการพิสูจน์สัญชาติ

3. เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม) การคุ้มครองผู้โยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ การเข้าถึงสถานะทางทะเบียนบ้าน การให้สิทธิที่อยู่อาศัย และ 4. เสนอให้พิจารณาการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ลี้ภัย สำหรับคนที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง อันเนื่องมาจากภัยประหัตประหารได้ ทดแทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร และไม่สามารถกลับประเทศต้นทาง พ.ศ. 2562 หรือ National Screening Mechanism (NSM)

ข้อสังเกตและข้อเสนอเพื่อแก้ไขกลไกโครงสร้างบริหารจัดการ

รัฐวิศว์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกลไกการจัดการเรื่องนี้นั้น ทางอนุกรรมาธิการฯ เสนอคือ เรื่องแรกต่อกระทรวงแรงงาน มีข้อเสนอให้ดำเนินการให้คณะกรรมการการจัดการบริหารการทำงานของคนต่างด้าว ได้ดำเนินการให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เพื่อรองรับสถานการณ์ความรุนแรง และก็มาตรการการเกณฑ์ทหารของรัฐบาลทหารพม่า

ต่อมา กระทรวงมหาดไทย ต้องมีการจัดการให้ศูนย์สั่งการชายแดนไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ให้มีโครงสร้าง อำนาจบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน และเป็นทางการ ส่วนที่ 3 เห็นควรให้ ครม. สำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาศึกษาปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการที่ดูแลเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อรองรับต่อสังคมสูงวัย โดยเฉพาะการจัดตั้งหน่วยงานระดับกรม หรือระดับกระทรวง คนเข้าเมือง

และส่วนที่ 4 เสนอให้พิจารณาปรับปรุงกลไกการคัดกรองผู้โยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติแบบครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะบูรณาการกลไกการคัดกรองที่มีอยู่ เช่น กลไกการคัดกรองระดับชาติ และกลไกการส่งต่อระดับชาติ เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการค้ามนุษย์

สไลด์ประกอบการนำเสนอรายงานแก้ไขปัญหาผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบผิดปกติ (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก Thailand Migration Reform Consortium - เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน)

ข้อเสนอเรื่องการเข้าไม่ถึงทะเบียน และเอกสารแสดงตน

เลขาฯ อนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า มีข้อสังเกตให้กระทรวงมหาดไทยในเรื่อง ‘การเข้าถึงเอกสารแสดงตนสำหรับประชากร สำหรับผู้โยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ’ จำนวน 3 ข้อ ประกอบด้วย 2.1 พิจารณาปรับปรุงนโยบายระดับชาติว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด และการจดทะเบียนต้องเป็นไปโดยถ้วนหน้า ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสัญชาติ 2.2 พิจารณากฎหมายลำดับรองเพื่อเป็นการจัดทำทะเบียนให้คนอยู่ ผู้ไม่มีเอกสารแสดงตน รวมถึงผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติกลุ่มต่างๆ อย่างครอบคลุม และ 2.3 พิจารณาแก้ไขปฏิรูปหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการมีถิ่นที่อยู่ และการขอคนสัญชาติไทย ให้กับทั้งกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน

ข้อสังเกตถึงกระทรวงต่างๆ ในการยกระดับการเข้าถึงสวัสดิการและบริการขั้นพื้นฐาน

สุดท้าย เรื่องการเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐาน เลขาฯ อนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า มีข้อเสนอให้กับกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้พิจารณากำหนดนโยบายที่ส่งเสริมและก็จัดการศึกษา และทำแผนบริหารจัดทำแบบกระจายทรัพยากรการศึกษาให้กับเด็กติดตามแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ในส่วนนี้รวมถึงกำหนดคำนิยามผู้ทรงสิทธิ์เพิ่มเติมให้กับกรณีของ กยศ.

ต่อมา ในข้อที่ 2 ข้อสังเกตถึงกระทรวงสาธารณสุข จัดทำนโยบายแนวทางการตรวจสุขภาพให้กับผู้ไม่มีสัญชาติไทยทุกกลุ่มสำหรับผู้ที่มีบัตรแสดงตนสำหรับกลุ่มที่ได้รับการออกเอกสารแสดงตนแล้ว ข้อ 3 สำหรับกระทรวงแรงงาน ให้จัดทำแก้ไขกฎหมายลูกเพิ่มเติมที่มีความซับซ้อน และ/หรือจำกัดสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานภาคเกษตร หรือเกี่ยวข้องกับแรงงานที่ทำงานที่บ้าน

ข้อที่ 4 สุดท้ายสำหรับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พิจารณากำหนดแนวทางและข้อปฏิบัติในเรื่องของการคุ้มครองเด็กข้ามชาติ และเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยเน้นถึงบทบาทหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กข้ามชาติ รวมถึงคุ้มครองให้ความช่วยเหลือแก่คนพิการ

หลังจากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีการอภิปรายต่อรายงาน แต่ไม่มีการคัดค้านรายงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ จึงเห็นชอบและส่งข้อสังเกตุไปยังคณะรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net