Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาไต่สวนพยานฝั่งผู้ร้องคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ‘อี ควิน เบอดั้บ’ ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม เบอดั้บถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาลร่วมการพิจารณาคดี ด้วยชุดเครื่องแบบนักโทษและถูกใส่กุญแจข้อเท้าทั้งสองข้าง มีองค์กรสิทธิมนุษยชน นักศึกษากฎหมาย และเจ้าหน้าที่จากเวียดนามเข้าร่วมสังเกตการณ์ นัดต่อไป 19 ส.ค. นี้

 

6 ส.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงาน เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญารัชดาไต่สวนพยานผู้ร้อง (พนักงานอัยการ) 2 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย และพนักงานสอบสวนจากกระทรวงความมั่นคงสาธารณะประเทศเวียดนาม โดยแบ่งการไต่สวนเป็นสองช่วงคือในช่วงเช้าเวลา 9:00 - 13:15 น. และในช่วงเย็นเวลา 16:30 - 19:00 น. ศาลนัดไต่สวนพยานผู้ร้องอีก 2 ปาก และพยานผู้ถูกร้องขอ 4 ปาก ต่อในวันที่ 19 ส.ค. 2567 เวลา 13.30 น. และวันที่ 30 ส.ค. 2567 เวลา 13:00 น.ในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน กรณีอี ควิน เบอดั้บ (Mr. Y Quynh Bdap) ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา

เดิมวันนัดไต่สวนพยานผู้ร้องได้กำหนดไว้เป็นวันที่ 1 ส.ค. 2567 แต่เนื่องจากก่อนวันกำหนดนัดพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ไต่สวนพยานผ่านทางจอภาพ (Video Conference) อ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของเบอดั้บและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และศาลได้อนุญาตจึงทำให้ไม่มีการนำตัวเบอดั้บมาศาลในวันที่ 1 ส.ค. 2567 เมื่อทนายมาศาลในวันกำหนดนัดจึงได้แถลงคัดค้านคำสั่งอนุญาตและขอให้ศาลเลื่อนนัดไต่สวนพยานเพื่อที่จะได้ให้ศาลมีคำสั่งใหม่ให้นำตัวเบอดั้บมาร่วมการสืบพยานในศาลด้วย พนักงานอัยการได้แถลงคัดค้านคำคัดค้านของทนายความโดยให้เหตุผลว่าการเลื่อนคดีออกไปจะทำให้เกิดความล่าช้า ในท้ายที่สุดศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนนัดไต่สวนพยานผู้ร้องออกไปและกำหนดวันนัดใหม่เป็นวันที่ 2 ส.ค. 2567

ในวันที่ 2 ส.ค. เบอดั้บได้ถูกพาตัวมาศาลเพื่อร่วมการพิจารณาคดี แต่เนื่องจากไม่สามารถไต่สวนพยานได้หมดในช่วงเช้า จึงได้มีการไต่สวนพยานต่อในช่วงเย็นและค่ำของวันเดียวกัน การไต่สวนพยานได้ทำขึ้นที่ห้องพิจารณาคดีที่ 807 โดยมีล่ามภาษาเวียดนามที่ศาลจัดหาให้เป็นผู้แปล ศาลอนุญาตให้เพียงคู่ความเข้าห้องพิจารณาดังกล่าว ในส่วนผู้สังเกตการณ์คดีถูกจัดให้เข้าสังเกตการณ์คดีผ่านการถ่ายทอดสดผ่านภาพจอภาพในห้องพิจารณาคดีที่ 701

นอกจากนี้ มีผู้พบเห็นว่าเบอดั้บยังคงถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยชุดเครื่องแบบนักโทษพร้อมกุญแจเท้าที่ขาทั้งสองข้าง หลังเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะบุคคลเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายตามวงเล็บ 6 มาตรา 26 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อให้มีคำสั่งยุติการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากพฤติการณ์การใส่กุญแจโซ่เท้าและชุดเครื่องแบบนักโทษ ต่อมาทราบว่าศาลยกคำร้องดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่าเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการใช้เครื่องพันธนาการตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ โดยศาลมิได้ดำเนินการไต่สวนโดยพลันตามมาตรา 26 แห่ง พรบ.ป้องกันและปราบกรามการทรมานฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด

มีองค์กรสิทธิมนุษยชน นักศึกษากฎหมาย และผู้สนใจเข้าร่วมการสังเกตการณ์ด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่จากประเทศเวียดนามเข้าร่วมสังเกตการณ์ประมาณ 15 คน

ในช่วงเช้ามีผู้สังเกตเห็นชาวเวียดนามคนหนึ่งถ่ายรูปในห้องพิจารณาคดีก่อนที่จะมีการพิจารณาคดี ทนายความของเบอดั้บจึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ทราบ เจ้าหน้าที่รับปากว่าจะตักเตือนให้

ต่อมาในระหว่างการพิจารณาช่วงเย็น เบอดั้บได้แถลงต่อศาลว่าขณะที่ตนถูกนำตัวมาที่ห้องพิจารณาภายนอกห้องพิจารณาบนชั้น 8 มีบุคคลซึ่งอยู่บริเวณที่กลุ่มชาวเวียดนามยืนอยู่ถ่ายรูปของตนเอง แต่เนื่องจากเบอดั้บไม่สามารถยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวคือใครหรือเป็นชาวเวียดนามที่เป็นเจ้าหน้าที่หรือสายลับของทางการเวียดนามหรือไม่ ศาลจึงไม่สามารถเรียกบุคคลดังกล่าวมาปรากฏตัวต่อศาลได้ แต่รับปากว่าจะกำชับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้เข้มงวดมากขึ้น

อี ควิน เบอดั้บ ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มชาติพันธุ์มองตานญาดเพื่อความยุติธรรม  (Montagnards Stand for Justice - MSFJ) เพื่อฝึกอบรมกลุ่มชาติพันธุ์มองตานญาดในเวียดนามเกี่ยวกับกฎหมายเวียดนามและกฎหมายระหว่างประเทศ กลไกภาคประชาสังคม และวิธีการรวบรวมและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการประหัตประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยสาเหตุทางศาสนาต่อสหประชาชาติและนานาชาติ เบอดั้บได้ช่วยเตรียมรายงานหลายฉบับที่ได้เสนอต่อสหประชาชาติเกี่ยวกับการประหัตประหารด้วยสาเหตุทางศาสนาในเวียดนาม งานเขียนของนายเบดั๊บ เป็นส่วนหนึ่งในเอกสาร “หนังสือถึงรัฐบาลเวียดนาม” ที่ออกโดยสหประชาชาติ

เบอดั้บลี้ภัยมายังประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ต่อมา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 เบอดั้บถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจับกุม โดยอ้างว่ามีคำขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนและศาลในประเทศเวียดนามมีคำพิพากษาลงโทษเบอดั้บฐานก่อการร้ายจากเหตุจลาจลเมื่อปี 2566 ในจังหวัดดั๊กลัก โดยที่เบอดั้บไม่ได้ปรากฏตัวที่ศาลในระหว่างพิจารณาคดี (พิจารณาคดีลับหลัง) ทั้งนี้เบอดั้บไม่ได้อยู่ในประเทศเวียดนามขณะเกิดเหตุจลาจลและระหว่างพิจารณาคดีแต่อย่างใด เบอดั้บให้การปฏิเสธว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว และอ้างว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของตนตลอดมาโดยเฉพาะเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวมองตานญาด เป็นการกระทำโดยสงบและไม่ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด

เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน มีความห่วงกังวลว่า กรณีของเบอดั้บเป็นกรณีการกดปราบข้ามชาติ (Transnational Repression) ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามซึ่งแม้ว่า ประเทศไทยและประเทศเวียดนามไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน แต่รัฐบาลเวียดนามก็สามารถร้องขอให้ประเทศไทยส่งตัวบุคคลที่กระทำความผิดเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้ โดยอาศัยช่องทางการทูตตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551

ประเทศเวียดนามเป็นรัฐสมาชิกต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานตั้งแต่ปี 2558 และมีการรายงานที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานอย่างกว้างขวางในประเทศ อีกทั้งเบอดั้บเป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งตกเป็นเป้าหมายของทางการเวียดนามในการคุกคามตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขจัดกลุ่มคนที่เห็นต่างในการนับถือศาสนาที่รัฐบาลเวียดนามไม่ยอมรับ หากรัฐบาลไทย ผลักดันกลับ อาจเป็นการผลักดันที่ทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงต่อการถูกกระทำทรมาน กระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือ ถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งขัดกับกฎหมายภายในประเทศอย่างพ.ร.บ. ทรมาน-อุ้มหาย กฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับที่ไทยเป็นรัฐภาคีและมีพันธกรณีอันได้แก่ อนุสัญญา ICCPR, CAT, ICPPED และกฎหมายจารีตประเพณี อย่างหลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-Refoulment)  ซึ่งจะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศต้องเร่งพิจารณาถึงผลกระทบที่ร้ายแรงดังกล่าวและไม่ส่งตัวเบอดั้บกลับประเทศเวียดนาม

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชน ประชาชน และองค์กรภาคประชาชนที่สนใจ ร่วมติดตามความคืบหน้าของคดีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หรือสามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนในวันที่ 19 ส.ค. 2567 เวลา 13.30 ณ ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา รัชดา เพื่อให้มั่นใจว่าเบอดั้บ จะไม่ถูกทางรัฐบาลไทยผลักดันกลับไปเผชิญภัยอันตรายใดๆ และเพื่อให้มั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างประเทศในคดีอาญาจะมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส และสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจได้ เพื่อป้องกันไม่เกิดกรณีการกดปราบข้ามชาติ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐอย่างเป็นระบบและกว้างขวาง

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net