Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับเครือข่ายองค์กรสิทธิฯ จัดงานแถลงข่าว “กรณีอี ควิน เบดั๊บ ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกส่งกลับ”

2 ส.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งข่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับ มูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ มูลนิธิประชาชนเพื่อประชาชน และ The Fort ร่วมจัดงานแถลงข่าวกรณีนายอี ควิน เบดั๊บ ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกส่งกลับ ณ The Fort สุขุมวิท 51  กรุงเทพมหานคร  เวลา 14.00-16.00 น.

ตัวแทนกลุ่มชาติพันธ์ุมองตานญาด

กิจกรรมภายในงานเริ่มต้นด้วยการฉายข้อความทางวิดีโอ จาก จากอี ฟิก ฮดอก หรือแจ๊ค ตัวแทนกลุ่มชาติพันธ์ุมองตานญาดเพื่อความยุติธรรม (Montagnards Stand for Justice – MSFJ)

แจ๊ค (คนในจอ)

แจ๊คกล่าวถึงเบดั๊บในมุมมองที่รู้จัก โดยแจ๊คได้พบกับเบดั๊บเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยในปี 2561 หลังตนเองลี้ภัยมายังประเทศไทยในปี 2560 จากภัยประหัตประหารจากทางการเวียดนามเนื่องจากพ่อของตนถูกสังหารโดยรัฐบาลเวียดนาม จากการที่ตนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเด็กไร้สัญชาติในกัมพูชา

แจ๊คกล่าวถึงการรณรงค์ของกลุ่ม MSFJ โดยมองว่าทางการเวียดนามพยายามเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเพื่อเชื่อมโยงให้พวกตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จลาจลเพื่อยกระดับข้อหล่าวหา แจ๊คย้ำว่าหากเบดั๊บถูกส่งตัวกลับ เขาจะต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกทรมานถึงชีวิต และเรียกร้องให้เบดั๊บสามารถโยกย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สามอย่างปลอดภัย

“MSFJ ถูกก่อตั้งขึ้น โดยมีพันธกิจเพื่อการต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนด้วยสันติวิธี และยึดหลักกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมกลุ่มพื้นเมืองให้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของเขา ได้จัดประชุมเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าใจเรื่องสิทธิ ให้ความรู้เรื่องการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน และรวบรวมรายงานการละเมิดสิทธิฯ กว่าร้อยรายงานเพื่อส่งให้ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ เป็นที่น่าเสียใจที่รัฐบาลเวียดนาม มองว่าการรณรงค์ เป็นภัยคุกคาม และใช้มาตราการใส่ร้ายป้ายสี เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน ทั้งยังกล่าวหาว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องการก่อการร้าย”

สัณหวรรณ ศรีสด

ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ)

วงเสวนาเริ่มด้วย สัณหวรรณ กล่าวถึงภูมิหลังของประเทศเวียดนามรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมองตานญาดที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งจำนวนมากถูกทางการเวียดนามปราบปรามและจับกุมคุมขัง ในหลายครั้ง ชาวมองดานญาดก็มักถูกตีตราจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ

สัณหวรรณ ศรีสด

“ในกรณีของเบดั๊บ เขาเริ่มทำกิจกรรมมานานแล้ว และถูกจับกุมหลายครั้งในประเทศเวียดนาม และมีข้อมูลว่าถูกทรมานระหว่างการคุมขัง จนถึงปี 2561 เบดั๊บ เริ่มแสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทย และได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR  ต่อมาเบดั๊บตั้งองค์กร MSFJ เพื่อสนับสนุนเสรีภาพในด้านศาสนาและความเท่าเทียม เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามเกิดเหตุการจลาจลในจังหวัดดั๊กลัก มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยถึงร้อยคน ร่วมถึงเบดั๊บ ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ดังกล่าวและถูกแจ้งข้อหา แม้เบดั๊บยืนยันว่าตนอยู่ไทยและไม่ได้เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีคำพิพากษาในคดีนั้นแล้ว และคำพิพากษาดังกล่าวถูกใช้เพื่อขอให้ไทยส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ทั้งนี้ตลอดกระบวนการดำเนินคดีดังกล่าว ตัวเบดั๊บอยู่ที่ไทยตลอด ไม่มีโอกาสได้สู้คดี รวมถึงไม่ได้รับข้อมูลใดๆ ที่ชี้ว่าเขาเป็นผู้กระทำผิด”

สัณหวรรณทิ้งท้ายว่า เบดั๊บไม่ใช่คนแรกที่ประสบปัญหานี้ ก่อนหน้านี้ก็มีชาวเวียดนามหายตัวไปในไทยและถูกพบอีกครั้งในเรือนจำเวียดนาม

สุณัย ผาสุข

นักวิจัยอาวุโส ฮิวแมนไรต์ วอตช์ (Human Rights Watch)

สุณัยเน้ยย้ำถึงความเร่งด่วนกรณีของเบดั๊บ โดยศาลมีนัดถัดไปในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 เพื่อตัดสินว่าไทยจะส่งตัวเบดั๊บกลับเวียดนามหรือไม่ และอธิบายถึงรูปแบบอาชญากรรมการกดปราบข้ามชาติซึ่งรวมไปถึงกรณีการส่งตัวของเบดั๊บ

“รูปแบบกรณีนี้ เป็นลักษณะการกดปราบข้ามพรมแดน (Trans National Repression) และ Human Rights Watch เรียกคำเฉพาะว่า ‘Swap mart’ หรือตลาดแลกเปลี่ยน ที่รัฐบาลประเทศต่างๆร่วมมือกัน เอื้ออำนวยให้ต่างชาติเข้ามาปฏิบัติในทางละเมิดกฎหมายทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศต่อผู้ลี้ภัยคนเห็นต่างที่มาแสวงหาที่ปลอดภัยพักพิงอยู่ ในทางกลับกันรัฐบาลนั้นก็สามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปอีกประเทศเพื่อปฏิบัติการเช่นเดียวกันได้ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีผู้ลี้ภัยไทยในเวียดนามอีก 3 คน เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง จากมาตรา 112 หายตัวไป จนทุกวันนี้ยังไม่มีวี่แววจากทางการทั้งสองประเทศว่าเกิดอะไรขึ้น มีการดำเนินการแล้วอย่างไร ในขณะเดียวกันเราเห็นได้ว่ามีเจ้าหน้าที่เวียดนามเข้ามาปฏิบัติการไล่ล่าผู้ลี้ภัยเวียดนามในไทย แม้แต่คนที่มีสถานะผู้ลี้ภัยแล้วก็ตาม”

สุณัย ผาสุข (คนในจอภาพ)

สุณัยชี้ให้เห็นว่า รูปแบบการกดปราบข้ามพรมแดนเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐที่ละเมิดกฎหมายในทุกมิติ ทั้งกฎหมายลายลักษณ์อักษร ประกอบไปด้วยกฎหมายภายในประเทศอย่างมาตรา 13 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กฎหมายระหว่างประเทศ คืออนุสัญญา ICPPED และอนุสัญญา CAT ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี ในมิติกฎหมายจารีตประเพณีก็เช่นกัน คือผิดหลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-refoulement)

“สิ่งที่น่าจับตามองคือทางการไทยได้ให้น้ำหนักกับการพิจารณาคดีที่ลักลั่นและไม่เป็นธรรมของเวียดนาม มากกว่าหลักสิทธิมนุษยชนรวมถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีการระบุชัดเจน แม้ไทยจะอ้างว่าการไม่ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้นจะส่งผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับเวียดนาม แต่หากไทยยังคงทำตามคำขอของเวียดนามจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในวงกว้าง และจะสร้างความลำบากแก่หน่วยงานหลายฝ่าย เนื่องจากจะทำให้หน่วยงานระดับสากล มองว่าไทยไร้สัจจะที่เคยให้ไว้ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีของเบดั๊บนั้นจะเป็นบทพิสูจน์สำคัญดังที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐาได้รับรองไว้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน” สุณัยกล่าว

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์

นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ชนาธิปกล่าวว่า ทางแอมเนสตี้ฯ ได้ติดตามกรณีเบดั๊บ และติดตามการพิจารณาคดีกรณีดังกล่าว เห็นการทำงานร่วมกันระหว่างทางการไทยและทางการเวียดนาม และมองว่าทางการไทยยังขาดความเข้าใจในเรื่องประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์

ชนาธิปเน้นถึงประเด็นการบังคับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในเวียดนาม โดยเฉพาะกับนักกิจกรรมชาวมองตานญาด หากพิจารณาสถานการณ์เวียดนามในภาพกว้างจะเห็นได้ว่า กฎหมายหลายฉบับ รวมถึงกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือจัดการกลุ่มคนเห็นต่างจากรัฐ หรือคนที่นับถือศาสนาที่ภาครัฐไม่อนุมัติรับรอง ด้วยการใช้กฎหมายคุกคาม ปราบปราม จับกุม นักกิจกรรมจำนวนมาก

“แอมเนสตี้เคยทำวิจัยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเวียดนาม เมื่อปี 2562  พบว่ามี นักโทษทางความคิดถึง 128 ที่ถูกจับกุมคุมขังแค่เพราะออกมาเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหรือทำกิจกรรมเรื่องศาสนา ในจำนวนนั้นมีชาวมองตานญาด 24 คน ถือเป็นจำนวนที่เยอะ…สำหรับชาวมองตานญาดมักถูกตั้งข้อหา เช่น ข้อหาหลบหนีไปต่างประเทศเพื่อทำการต่อต้านรัฐ หรือข้อหาบ่อทำลายนโยบายความสามัคคีของชาติ รวมถึงข้อหาก่อการร้าย”

ชนาธิปกล่าวต่อไปว่า “ที่ผ่านมามีผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ จำนวนหลายคนได้เขียนจดหมายถึงรัฐบาลเวียดนามว่ากฎหมายเหล่านี้ที่มีปัญหา และพูดถึงกฎหมายมาตราที่เบดั๊บถูกตั้งข้อหาเป็นพิเศษ (ข้อหาก่อการร้าย) ว่ากฎหมายฉบับนี้มีการบัญญัติความผิดทางอาญาไว้อย่างกำกวมจนอาจถูกนำไปใช้ล่วงล้ำกิจกรรมที่ได้รับความคุ้มครองภายในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และอาจถูกนำมาใช้ภายในประเทศ โดยนิยามกิจกรรมที่มีความชอบธรรมเหล่านั้นที่เป็นการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานว่าเป็นการก่อการร้าย”

ชนาธิปทิ้งท้ายถึงประเด็นความเสี่ยงในการเผชิญการทรมานภายใต้การควบคุมตัวในประเทศเวียดนาม แอมเนสตี้มีงานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเมื่อปี 2559  พบว่านักโทษทางความคิดของเวียดนาม ซึ่งมีชาวมองตานญาดจำนวนมาก ถูกบังคับสูญหาย ควบคุมตัว และกรณีที่ถูกควบคุมตัวและรู้ชะตากรรม เมื่อได้รับการปล่อยตัวมีการให้ข้อมูลว่าพวกเขาถูกทรมาน ดังนั้นหากทางการไทยส่งตัวเบดั๊บกลับไป ไม่มีทางมั่นใจได้เลยว่าเบดั๊บจะไม่ถูกซ้อมทรมาน ซึ่งเป็นการขัดต่อกฎหมายภายในประเทศไทยที่ห้ามผลักดันกลับบุคคลใดที่มีความเสี่ยงจะเผชิญกับเหตุทรมาน

อังคณา นีละไพจิตร

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยชาติ

และอดีตสมาชิกสหประชาชาติด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ ผู้แทนจากภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิค

อังคณาเริ่มด้วยการกล่าวถึงคำว่า  ‘Transnational Transfer’  ซึ่งเป็นชื่อรายงานทางวิชาการที่คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance: WGEID) ศึกษากรณีการส่งตัวบุคคลข้ามประเทศ ซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นสูญหาย ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก “ในประเด็นการบังคับให้บุคคลสูญหาย นิยามที่ให้ไว้โดยสหประชาชาติ คือ การลักพาตัว หรือการถูกทำให้หายตัวไปโดยการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคนของรัฐ โดยทำให้คนเหล่านี้อยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย องค์ประกอบสำคัญของการบังคับให้สูญหาย คือ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคล  เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่รับรู้ในเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือชะตากรรมของบุคคลนั้น

อังคณา นีละไพจิตร

ปัจจุบันทางสหประชาชาติ WGEID และ คณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (Committee on Environment and Development: CED) ได้มีการทำงานร่วมกันในการนิยามคำว่า ‘Short term disappearance’ สำหรับกรณีที่ใครก็ตามถูกนำตัวไป และถูกปฏิเสธไม่ให้ญาติ หรือทนายเยี่ยม หรือไม่มีใครทราบว่าเขาอยู่ที่ไหน และรัฐปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็น ก็เข้าข่ายเป็นการอุ้มหาย

อังคณาเสนอให้เห็นถึงข้อท้าทายในประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัย ประการแรกคือ ประเทศไทยไม่ได้รับรองแนวปฏิบัติด้านการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาติ หรือของสหภาพยุโรป ทำให้ประเทศไทยไม่มีมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธฺมนุษยชน รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยด้วย ประการที่สอง คือ ประเทศไทยไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิง ที่ผ่านมาอาจมีความริเริ่มในการเริ่มทำนโยบายในการคัดกรองต่างๆ แต่ปัจจุบันยังไม่ปรากฏความชัดเจนว่าประเทศไทยจะให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยหรือผู้แวงหาที่พักพิงได้อย่างไร ประการที่สาม คือ เรื่อง ข้อตกลงระหว่างประเทศ (Bilateral Agreement) ซึ่งสหประชาชาติห่วงใยเรื่องนี้มาก เนื่องจากประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงหลายประเทศมักมีข้อตกลงร่วมกันในการส่ง หรือแลกเปลี่ยนผู้ต้องหา หรือผู้ร้ายข้ามแดน ประการสุดท้าย เมื่อเดือนมกราคม 2560 ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้มีกลไกคัดกรองระดับชาติ (National Screening Mechanism -NSM) แต่ผ่านมา 7 ปีแล้วก็ไม่มีการดำเนินการในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

อังคณากล่าวทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอแนะว่า “ประเทศไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 (Convention Relating to the Status of Refugees 1951) และปรับปรุง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เนื่องจากปัจจุบัน ในขณะที่ประเทศไทย พ.ร.บ. ทรมาน-อุ้มหาย และอนุสัญญามีผลบังคับใช้ ซึ่งมาตรา 13 พูดถึงหลักการไม่ผลักดันสู่อันตราย แต่ พ.ร.บ. คนเข้าเมืองกลับยังไม่มีความริเริ่มที่จะปรับปรุงให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ทรมาน-อุ้มหายเลย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะเป็นการขัดกันของกฎหมาย

นอกจากนี้ต้องมีการนำมติคณะรัฐมนตรีในปี 2560 เรื่องกลไกคัดกรองระดับชาติ (NSM) และการยุติการกักเด็กที่ติดตามผู้ปกครองในที่กัก มาดำเนินการให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ

สุดท้ายคือ เรื่องการส่งผู้ร้ายหรือผู้ต้องหาข้ามแดน ที่ผ่านมาการดำเนินการเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องผ่านศาล โดยเจ้าหน้าที่ประเทศที่มีข้อตกลงสามารถดำเนินการส่งผู้ร้ายหรือผู้ต้องหาข้ามแดนได้เอง ทำให้ไม่มีหลักฐานใดๆ ว่ามีใครบ้างถูกส่งกลับไปบ้าง เกิดปัญหาว่าหลายคนที่ถูกนำตัวออกจากประเทศหนึ่ง และไม่พบในประเทศอื่นใด ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นบุคคลสูญหาย ดังนั้นทุกคดีที่จะส่งบุคคลใดกลับประเทศต้นทาง หรือประเทศอื่นใดต้องผ่านกระบวนการนำขึ้นสู่ศาล เพื่อให้มีหลักฐาน เช่นมีคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาล เพื่อเป็นหลักฐาน และสามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคลเหล่านั้นอยู่ที่ไหน และอยู่ในสภาพไหน”

วิทยากรกล่าวทิ้งท้าย

อังคณากล่าวว่า “ในขณะที่ประเทศไทยมีเจตจำนงทางการเมืองในการป้องกันและยุติการบังคับบุคคลให้สูญหาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยต้องตระหนัก โดยสำนักงานอัยการสูงสุดต้องมีท่าทีที่ชัดเจน และไม่ลืมว่าตาม พ.ร.บ. ทรมาน-อุ้มหาย พนักงานอัยการเป็นหนึ่งในพนักสอบสวน พนักงานอัยการต้องมีกลไกคุ้มครองบุคคล และมีความเข้าใจ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเฉพาะมาตรา 13 เพื่อรับประกันว่าคนที่ถูกส่งกลับจะไม่เป็นอันตรายและไม่ถูกบังคับให้สูญหาย และต้องไม่ลืมว่าความผิดเรื่องการซ้อมทรมานมิได้หมายถึงการการทรมานทางร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ในมาตรา 6 กฎหมายยังคุ้มครองผลกระทบต่อจิตใจด้วย สุดท้าย อยากให้คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย มีความการกระตือรือร้นมากกว่านี้เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและดำเนินการโดยเร็วที่สุด”

สุณัยกล่าว “กระทรวงการต่างประเทศต้องเร่งพิจารณาว่าด้วยประเด็นที่ว่าต้องส่งตัวเบดั๊บ กลับไปเวียดนามตามการร้องขอของทางการเวียดนามนั้นจะเป็นผลกระทบร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย ทำความเห็นส่งไปให้คณะรัฐมนตรีและทางอัยการ และในส่วนของอัยการควรฟังความให้รอบด้านมากกว่านี้ แสดงท่าทีที่ไม่เป็นฝักฝ่ายที่ชัดเจน ว่าประเด็นของเบดั๊บมีข้อกังวล ไม่ได้อยู่ที่ว่านั่นเป็นคดีการเมืองหรือไม่อย่างไรนั่นเป็นประเด็นรอง ประเด็นหลักคือ การที่ทางการเวียดนามไม่สามารถรับประกันได้ว่าส่งตัวไปแล้วจะไม่เกิดภัยอันตรายใดกับเบดั๊บ และพิจารณาประกอบจากข้อมูลหลักฐานจากสหประชาชาติและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เป็นที่ชัดเจนมากกว่ามีการปฏิบัติละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคนเห็นต่าง โดยเฉพาะคนที่ถูกหมายหัวเป็นความสำคัญต้นๆ อย่างกรณีเบดั๊บที่ถึงขั้นส่งตัวแทนกระทรวงความมั่นคงภายในมาสังเกตการณ์พิจารณาคดี ก่อนหน้านั้นก็ส่งตำรวจทั้งนอกและในเครื่องแบบเข้ามาในไทย เหล่านี้ไม่ใช่สัญญาณที่ดีเลยว่าจะมีการรับประกันความปลอดภัยของเบดั๊บเมื่อส่งตัวกลับไปแล้ว หวังว่ารัฐไทยจะทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยการไม่ส่งตัวเบดั๊บกลับเวียดนาม”

ชนาธิปกล่าว “ข้อสังเกต คือ วันนี้เราไม่มีชาวเวียดนามหรือชาวมองตานญาดมานั่งร่วมเสวนาด้วย บ่งบอกได้ว่าชาวมองตานญาดชาวเวียดนามมีความเสี่ยงมากขนาดไหนในการเปิดหน้าออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ ซึ่งอาจทำให้เขาเป็นเหยื่อของการกดปราบข้ามชาติ อยากให้ทางการไทย โดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศเก็บไปพิจารณาอย่างดี และให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ”

(จากซ้าย) สหวรรณ, ชนาธิป, อังคณา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net