Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาเตรียมนัดไต่สวนอัยการผู้ร้อง คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน อี ควิน เบอดั้บ นักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม ในวันพรุ่งนี้ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานก่อนจะมีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ทางการไทยส่งตัวเบอดั้บกลับไปยังเวียดนามหรือไม่ต่อไป

 

31 ก.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงาน พรุ่งนี้ (1 ส.ค. 2567) เวลา 13.00 น.ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดไต่สวนพยานผู้ร้อง (พนักงานอัยการ) จำนวน 4 ปาก คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน กรณีอี ควิน เบอดั้บ (Mr. Y Quynh Bdap) นักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม โดยศาลจะนัดไต่สวนพยานผู้ถูกร้อง (อี ควิน เบอดั้บ ) จำนวน 4 ปาก ต่อเนื่องในวันที่ 19 ส.ค. 2567 เพื่อไต่สวนก่อนมีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ทางการไทยส่งตัวเบอดั้บข้ามแดนไปยังประเทศเวียดนามหรือไม่

อี ควิน เบอดั้บ ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มชาติพันธุ์มองตานญาดเพื่อความยุติธรรม  (Montagnards Stand for Justice - MSFJ) เพื่อฝึกอบรมกลุ่มชาติพันธุ์มองตานญาดในเวียดนามเกี่ยวกับกฎหมายเวียดนามและกฎหมายระหว่างประเทศ กลไกภาคประชาสังคม และวิธีการรวบรวมและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการประหัตประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยสาเหตุทางศาสนาต่อสหประชาชาติและนานาชาติ เบอดั้บได้ช่วยเตรียมรายงานหลายฉบับที่ได้เสนอต่อสหประชาชาติเกี่ยวกับการประหัตประหารด้วยสาเหตุทางศาสนาในเวียดนาม งานเขียนของเบอดั้บเป็นส่วนหนึ่งในเอกสาร “หนังสือถึงรัฐบาลเวียดนาม” ที่ออกโดยสหประชาชาติ

ประเทศเวียดนามเป็นรัฐสมาชิกต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานตั้งแต่ปี 2558 และมีการรายงานที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานอย่างกว้างขวางในประเทศ รวมทั้งรายงานข้อสังเกตเชิงสรุปโดยคณะกรรมการตามอนุสัญญาเมื่อปี 2561 และแถลงการณ์ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 โดย Mary Lawlor ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งโดยสรุประบุว่า เวียดนามมักจำคุกผู้ที่มีส่วนร่วมในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่การรับตำแหน่งในปี 2563 เธอได้เขียนจดหมายถึงรัฐบาลเวียดนามถึง 17 ครั้ง เกี่ยวกับการจับกุมและจำคุกนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในรายงานที่นำเสนอแก่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2564 กล่าวว่าเวียดนามมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกจำคุกเป็นเวลานานกว่าสิบปี นอกจากนี้ เวียดนามยังได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้งในรายงานของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องการแก้แค้นผู้ที่ให้ความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยรายงานของปีที่แล้วระบุว่าหลายองค์กรหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมกับกลไกสิทธิมนุษยชนเนื่องจากกลัวการแก้แค้นจากรัฐบาล

ในงานแถลงข่าวที่ผ่านมา ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อภิปรายถึงการบังคับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในเวียดนามโดยเฉพาะกับนักกิจกรรมชาวมองตานญาด ซึ่งแอมเนสตี้เคยทำวิจัยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเวียดนามเมื่อปี 2562 พบว่ามีนักโทษทางความคิดถูกจับกุมจากการออกมาจัดกิจกรรม เรียกร้องสิทธิ และแสดงความคิดเห็น และสำหรับชาวมองตานญาดมักถูกตั้งข้อหา เช่น ข้อหาหลบหนีไปต่างประเทศเพื่อทำการต่อต้านรัฐ หรือข้อหาบ่อนทำลายความสามัคคีของชาติ รวมถึงข้อหาก่อการร้าย บ่งชี้ได้ว่ากรณีนายอี ควิน เบดั๊บ อาจเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และการร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนยังมีลักษณะเป็นการกดปราบข้ามชาติ (Transnational repression) ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ร่วมมือกัน เอื้ออำนวยให้เจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติเข้ามาปฏิบัติในทางละเมิดกฎหมายทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายสากล ดังที่สุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโส ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ได้ระบุว่า ไม่นานมานี้เวียดนามได้ส่งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมาที่ไทยเพื่อคุยถึงความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการจะทำอย่างไรให้สามารถส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศตนได้ตามต้องการ

อี ควิน เบอดั้บ ภัยมายังประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ต่อมา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 เบอดั้บถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจับกุม โดยอ้างว่ามีคำขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนและศาลในประเทศเวียดนามมีคำพิพากษาลงโทษนายเบดั๊บฐานก่อการร้ายจากเหตุจลาจลเมื่อปี 2566 ในจังหวัดดั๊กลัก โดยที่เบอดั้บไม่ได้ปรากฏตัวที่ศาลและไม่ได้อยู่ในประเทศเวียดนามขณะเกิดเหตุจลาจลแต่อย่างใด เบอดั้บให้การปฏิเสธว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว และอ้างว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของตนเป็นการกระทำโดยสงบและไม่มีความรุนแรงตลอดมา กรณีดังกล่าวทำให้เกิดข้อห่วงกังวลว่าเบอดั้บอาจถูกรัฐบาลไทยส่งกลับประเทศเวียดนามโดยคำสั่งศาลให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามที่กระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามร้องขอ  ทั้งนี้ ตามกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของประเทศไทย หากความผิดซึ่งเป็นเหตุให้ร้องขอนั้นเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองก็จะเป็นข้อยกเว้นว่าศาลจะสั่ง “ไม่ให้ส่ง” บุคคลตามที่ร้องขอได้   และปัจจุบันในประเทศไทยมีพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่ระบุว่ารัฐบาลไทยจะส่งเบอดั้บกลับประเทศต้นทางไม่ได้หากเบอดั้บต้องตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงต่อการถูกกระทำทรมาน กระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือ ถูกบังคับให้สูญหาย

ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จะส่งจดหมายร้องเรียนถึงอัยการสูงสุดและผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย  ให้ตรวจสอบ ตามม. 29 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่ระบุว่า “ผู้ใดพบเห็นหรือทราบการทรมาน การกระทําที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือ ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทําให้บุคคลสูญหาย ให้แจ้งพนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ชักช้า” ด้วยเหตุว่าหากการดำเนินการใดใดที่จะทำให้มีการส่งกลับนายอี ควิน เบดั๊บ กลับประเทศเวียดนามนั้น อาจเข้าข่ายละเมิดพระราชบัญญัตินี้ ตาม ม. 13 ที่ระบุ ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูก กระทําทรมาน ถูกกระทําการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ํายีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือ ถูกกระทําให้สูญหาย

นอกจากนี้ จากการสังเกตการณ์การไต่สวนนัดที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ยังมีผู้พบเห็นว่าเบอดั้บถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยชุดเครื่องแบบนักโทษพร้อมกุญแจเท้าที่ขาทั้งสองข้าง ซึ่งพฤติการณ์การใส่กุญโซ่เท้าและชุดเครื่องแบบนักโทษดังกล่าว เป็นมาตรการที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะบุคคลเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายตามวงเล็บ 6 มาตรา 26 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อให้มีคำสั่งยุติการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยจะยื่นคำร้องในวันนัดไต่สวนพรุ่งนี้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชน ประชาชน และองค์กรภาคประชาชนที่สนใจ ร่วมติดตามความคืบหน้าของคดีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หรือสามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์นัดไต่สวนในวันที่ 1 ส.ค. 2567 เวลา 13.00 ณ ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา รัชดา เพื่อให้มั่นใจว่านายเบดั๊บ จะไม่ถูกรัฐบาลไทยผลักดันกลับไปเผชิญภัยอันตรายใดๆ และเพื่อให้มั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างประเทศในคดีอาญาที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศจะมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส และสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจได้ เพื่อป้องกันไม่เกิดกรณีการกดปราบข้ามชาติ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐอย่างเป็นระบบและกว้างขวาง

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net