Skip to main content
sharethis

'ปิยบุตร แสงกนกกุล' ให้สัมภาษณ์ 'มติชนออนไลน์' วิเคราะห์การเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า แนะ 'เพื่อไทย' รับ 'ก้าวไกล' เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะถ้าให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ขบวนใหญ่ที่ซัดกับระบอบรัฐประหารจะเสียหาย เชื่อภาพการขัดแย้งกันของกองเชียร์ 2 พรรคที่อยู่ในโซเชียลจะนำมาประเมินว่านี่เป็นทั้งหมดไม่ได้ - รองโฆษกพรรคเพื่อไทยแนะ 'ประยุทธ์' ให้ของขวัญปีใหม่ ปชช.เป็นการประกาศวางมือจากตำแหน่งนายกฯ เร่งยุบสภา เลือกตั้งโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2565 มติชนออนไลน์ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า วิเคราะห์ทิศทางการขับเคลื่อนทางการเมืองของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยมีคำถามส่วนหนึ่งถามถึงกรณีการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกลจะร่วมจัดตั้งรัฐบาล กับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่?

ขึ้นอยู่ที่พรรคอันดับ 1 หรือพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจ พอคุณเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องพิจารณาว่าใครมาร่วมกับคุณ แต่ส่วนตัวผม ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย จะเอาพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล เพราะถ้าให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ขบวนใหญ่ที่ซัดกับระบอบรัฐประหารจะเสียหายเยอะ เพราะถ้าพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล พรรคก้าวไกลก็ต้องค้าน ไม่งั้นเป็นมวยล้มต้มคนดู งวดหน้าคะแนนน้อยกว่าเดิมอีก สภาพการณ์จะเกิดอะไรขึ้น ขนาดวันนี้ผู้สนับสนุน 2 พรรคยังทะเลาะกันหนักมาก ถ้าอยู่คนละซีกจะยิ่งกว่านี้ และสภาพการณ์สู้กับระบอบรัฐประหาร คสช.จะเสียหายเยอะ อีกข้อถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทยจะนำพรรคก้าวไกลไปร่วมคือ ถ้าคุณต้องการควบคุมการเจริญเติบโตของพรรคก้าวไกล คุณต้องเอามาไว้ใกล้ตัว นี่ผมคิดแทนเขา ถ้าคุณปล่อยให้เขาไปวิ่งข้างนอก เขามีเวลาของเขา เดี๋ยวเขาก็รอการเลือกตั้งครั้งถัดไปเรื่อยๆ เขาจะโตกว่านี้อีก

กลไกรัฐธรรมนูญแบบนี้ กลไกการเมืองแบบเก่ามาผสมอยู่มาก ท้ายที่สุดแม้รัฐบาลจะทำผลงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดี แต่ท้ายที่สุดจะมีปัญหาอยู่แล้ว เช่น การบริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง มีทุจริตหรือไม่ มันจะมาอยู่แล้ว เพราะเป็นธรรมชาติการเมืองสไตล์ดั้งเดิม เพื่อหาทรัพยากรในการเลือกตั้งครั้งถัดไป แต่พรรคก้าวไกลตั้งแต่อดีตพรรคอนาคตใหม่ไม่มีเรื่องพวกนี้ มีแต่รอวันโต รอประชาชนเห็นพ้องต้องกันว่าจะเอาแบบนี้แล้ว จะเทเสียงมาให้พรรคก้าวไกลทั้งหมด

แต่สำหรับพรรคการเมืองแบบ Traditional Party (พรรคแบบดั้งเดิม) ในประเทศไทย ไม่ว่าเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ในท้ายที่สุดถ้ามองระยะยาว 10-20 ปีข้างหน้า การเมืองไทยก็เปลี่ยนอยู่แล้ว แม้จะช้าหน่อยก็ตาม เป็นไปไม่ได้จะอยู่แบบนี้ตลอดเวลา ถ้าปล่อยให้พรรคก้าวไกลไปสุกสกาวคนเดียว แม้ไม่มีอำนาจรัฐ พูดง่ายๆ จะเรียกว่ากลายเป็นพรรคดั้งเดิมทั้งหมดในการเมืองไทย รวมหัวกันกำจัดพรรคก้าวไกล แต่หารู้ไม่นั่นจะทำให้เขาโตกว่าเดิม ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลทำงานใกล้ชิดกัน เสียงอาจแชร์กัน แต่หากผ่านด้วยวิธีอะไรก็ตามแต่ ให้พรรคก้าวไกลไปบินเดี่ยว เสียงพรรคก้าวไกลจะชัดกว่าเดิม โดยเฉพาะนโยบายต่างๆ

ผมเปรียบเทียบแบบนี้ พรรคการเมืองไทยที่ตั้งมาทั้งหมด เป็นพรรคที่รอไม่ได้ อยากเป็นรัฐบาลทันที ทุกพรรค แม้กระทั่งพรรคไทยรักไทยที่เริ่มตั้ง อยากเป็นรัฐบาลทันที จึงต้องดึง ส.ส.มารวมพรรค รอไม่ได้ ยิ่งเป็นเร็วยิ่งดี มีทรัพยากรไปต่อยอด แต่อดีตพรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคก้าวไกล ไม่ได้คิดแบบนี้แต่แรก อยากเป็นไหม อยากเป็น แต่หากรีบเร่งมากจนตัวเองเสียอุดมการณ์ความคิดที่ตั้งมา ก็ไม่เป็นไร รอได้ รอให้ความคิดคนเปลี่ยนแล้วหันมา ดังนั้นผมมองการเมืองระยะยาว 10-20 ปีต่อไป หากกลุ่มพรรคดั้งเดิมรอไม่ได้ ไม่ว่าอย่างไรต้องร่วมรัฐบาล เก็บ ส.ส.แลกรัฐมนตรีไปเรื่อยๆ แล้วนโยบายไม่ได้ต่างกันเยอะ เข้ามานโยบายคล้ายกันหมด กับอีกพรรคหนึ่งที่รอได้ และนโยบายมีความแหลมคมเด่นชัด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ประชาชนอาจบอก งวดนี้ยังไม่เลือก แต่เดี๋ยวไม่แน่ครั้งหน้าเลือก

ผมเชื่อว่าก้อนใหญ่ของพรรคดั้งเดิม ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนได้อีกแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับวงการธุรกิจคือมันโตจนถึงทางตันแล้ว มันใหญ่กว่านี้ไม่ได้แล้ว และแก้ปัญหาได้ไม่จบ ได้แค่ยื้อเวลา ได้แค่นี้ แต่ในขณะที่พรรคก้าวไกลกำลังขึ้น แต่ยังขึ้นมากไม่ได้ เพราะสภาพสังคมเป็นแบบเดิมอยู่ แต่ประชาชนรู้แล้วว่ามีพรรคนี้ ดังนั้นผ่านไปอีก 10-20 ปี ตอนนี้ไทม์มิ่งมันเหมาะสมแล้ว ประชาชนเห็นพ้องว่าต้องพรรคนี้ (พรรคก้าวไกล) แล้ว ทำให้พรรคทะยานขึ้นไปทันที

กองเชียร์พรรคเพื่อไทย กับกองเชียร์พรรคก้าวไกลทะเลาะกัน จะส่งผลต่อการร่วมรัฐบาลหรือไม่? 

ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของผู้สนับสนุน ผมเข้าใจว่าผู้สนับสนุนและคนที่เชียร์พรรคก้าวไกล หวังว่าวันหนึ่งพรรคก้าวไกลจะก้าวขึ้นมาเป็นพรรคขนาดใหญ่และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ก็คิดอยู่เสมอว่าจะต้องเป็นพรรคอันดับหนึ่งและเป็นแชมเปี้ยน ดังนั้นจึงต้องเป็นแกนนำรัฐบาลอีกต่อไปเช่นกัน เมื่อผู้สนับสนุนพรรคคิดแบบนี้จึงเป็นธรรมดาที่จะขัดแย้งกัน ทั้งนี้ จะนำสิ่งที่อยู่ในโซเชียลกับในทวิตเตอร์มาประเมินว่านี่เป็นทั้งหมดไม่ได้ ยกตัวอย่างเมื่อไปเดินถนนหาเสียง อาจจะไม่ขัดแย้งอะไรกันเลยก็ได้ แต่เมื่อเป็นโซเชียลมีเดียจะถูกตีฟูขึ้นเรื่อยๆ อีกข้อหนึ่งในส่วนของแกนนำพรรค ผมคิดว่าพวกเขาน่าจะพูดคุยกันได้ ไม่ได้ทะเลาะอะไรกันถึงขนาดที่จะทำงานร่วมกันไม่ได้

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ใน '‘ปิยบุตร’ วิเคราะห์ก้าวไกล ปลุกมั่นคงจุดยืน-รอวันโต' (มติชนออนไลน์, 31 ธ.ค. 2565)

รองโฆษกพรรคเพื่อไทยแนะ 'ประยุทธ์' ให้ของขวัญปีใหม่ ปชช.เป็นการประกาศวางมือจากตำแหน่งนายกฯ เร่งยุบสภา เลือกตั้งโดยเร็ว

1 ม.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวว่านางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ปี 2566 ของขวัญที่ประชาชนอยากได้และอยากได้ยินจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือการประกาศว่า ‘พอแล้ว’ จากตัวอย่าง 1 ใน 3 ป.คือ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ออกตัวว่าไม่น่าเหมาะกับตำแหน่งนายกฯ ดังนั้น นับจากนี้ไปที่จะเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนจะครบวาระของสภา การใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไม่เอื้อประโยชน์ใดต่อตนเองและพรรคที่จะไปร่วมด้วย ต้องไม่เกิดการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆที่เป็นคู่แข่ง อย่าโยกย้ายข้าราชการเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง อย่าใช้งบประมาณไปในทิศทางที่แฝงผลประโยชน์ทางการเมือง หากมีการฝ่าฝืนนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมื่องอีกด้วย โดยเฉพาะในกรอบ 180 วันของ กกต.ก่อนถึงวันเลือกตั้ง

นางสาวตรีชฎา กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองหนึ่ง และประกาศจะเป็นแคนดิเดตนายกของอีกพรรคการเมืองหนึ่ง นอกจากจะสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดี ฝืนหลักการประชาธิปไตยด้วยการแต่งตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองนั้นขึ้นเป็นเลขานายกรัฐมนตรี เป็นการเอื้อประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ และขณะเป็นนายกรัฐมนตรี การหาเสียงก็ยังค้างอยู่และยังไม่ผลักดันตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งปี 2562 ได้สำเร็จ ทั้งเรื่องค่าแรง 400-425 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 20,000 บาท โครงการมารดาประชารัฐ ฯลฯ ประชาชนยังคงจดจำได้และยังคงทวงถามมาจนถึงทุกวันนี้

“เลือกตั้งปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯจากพรรคพลังประชารัฐ เมื่อเลือกตั้งเสร็จก็อาศัยเสียง ส.ว. 249 คน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนร่วมในการสรรหา โหวตให้เป็นนายกฯตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ การเลือกตั้งปี 2566 หาก พล.อ.ประยุทธ์ อยากจะเป็นนายกฯอีก ก็ไม่ควรเอาเปรียบผู้ถูกเสนอชื่อคนอื่น ด้วยการอาศัยเสียง ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอีก จึงจะเป็นการแข่งขันภายใต้กติกาเดียวกัน” นางสาวตรีชฎา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net