Skip to main content
sharethis

'บาชาร์ อัล อัสซาด' ผู้นำเผด็จการที่อื้อฉาวของซีเรียดูเหมือนว่าจะทำการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของตัวเองจนเป็นที่ยอมรับในสายตาของกลุ่มประเทศอาหรับและประเทศตุรกี หลังจากที่เคยถูกกล่าวหาเรื่องอาชญากรรมสงครามและการทารุณกรรมจนทำให้ประเทศเหล่านี้เมินหน้าหนี แต่ทว่าท่าทีของชาติตะวันตกก็ยังคงแข็งกร้าวต่ออัสซาด และมีนักกิจกรรมซีเรียชี้แนะว่าการจะแก้ไขปัญหาคาราคาซังที่เกิดขึ้นในซีเรียได้นั้น นานาชาติควรจะต้องยืนเคียงข้างประชาชนซีเรียในการต่อต้านระบอบอัสซาด


ที่มาภาพประกอบ: IHH (CC BY-NC-ND 2.0)

15 ม.ค. 2566 ถึงแม้ว่าประชาชนชาวซีเรียหลายพันคนทางตอนเหนือของประเทศจะประท้วงต่อต้าน ถึงแม้ว่านักกิจกรรมและองค์กรสิทธิมนุษยชนของชาวซีเรียจะคัดค้านในเรื่องนี้ แต่ก็ดูเหมือนว่าประเทศในภูมิภาคใกล้เคียงกับซีเรียจะหันกลับามดีคืนกับจอมเผด็จการผู้อื้อฉาวของซีเรีย บาชาร์ อัล อัสซาด จนกลายเป็นการช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ให้กับผู้นำคนนี้ในระดับภูมิภาคและเป็นไปได้ว่าอาจจะถึงขั้นระดับโลก

ซีเรียมีเหตุการณ์ที่ประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่เมื่อปี 2554 ในช่วงที่ยังมีกระแส "อาหรับสปริง" และในตอนนั้นรัฐบาลอัสซาดก็ใช้กำลังอย่างโหดเหี้ยมในการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ประท้วงอย่างสันติ จนทำให้ชาติอาหรับส่วนใหญ่ก็ทำการตัดความสัมพันธ์กับอัสซาด แต่ทว่าหลังจากผ่านไปแค่สิบกว่าปี กลุ่มผู้นำในภูมิภาคอาหรับก็ดูเหมือนจะกลับลำ หันกลับมาผูกสัมพันธ์กับซีเรียอีกครั้ง ด้วยมุมมองในเรื่องผู้อพยพ รวมไปถึงประเด็นด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของตัวเอง

เมื่อช่วงต้นปีนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อับดุลลาห์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน ได้เดินทางเยือนกรุงดามาสกัสเพื่อเข้าพบกับอัสซาด และในช่วงเวลาเดียวกัน ประธานาธิบดีของตุรกี เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ก็ประกาศว่าในอีกไม่นานนี้เขาอาจจะเข้าพบปะกับอัสซาดและรัสเซียที่้เป็นพันธมิตรของซีเรียด้วย โดยที่เออร์โดกันอ้างว่าสาเหตุที่เขาจะพบปะกับผู้นำซีเรียนั้นเป็นไปตามกระบวนการสันติภาพของรัสเซีย

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา อัสซาดถูกกล่าวหาในเรื่องการกดขี่ข่มเหงประชาชนและเรื่องเลวร้ายอื่นๆ ในสงครามซีเรียที่เข้าข่ายอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หนึ่งในนั้นคือกรณีการใช้อาวุธเคมีโจมตีประชาชนซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในซีเรีย หนึ่งในกรณีที่อื้อฉาวมากคือเหตุการณ์ที่เมืองกูตา เมื่อปี 2556 ที่มีประชาชนนับร้อยนับพันคนเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยแก็สซารินผ่านทางขีปนาวุธ โดยที่อัสซาดปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งการก่อเหตุในเรื่องนี้

แต่ถึงแม้จะเผชิญข้อกล่าวหาเหล่านี้ แต่พอถึงปลายปี 2561 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรนก็หันมาจับมือกับรัฐบาลอัสซาด โดยมีการกลับมาเปิดสถานทูตในกรุงดามาสกัสอีกครั้งหลังจากที่ปิดไปเมื่อปี 2554 และนับตั้งแต่ที่มีการเปิดสถานทูตในครั้งนั้น รัฐบาลอัสซาดก็เริ่มจะได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศมากขึ้น

เช่นในเดือน พ.ย. 2564 รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานจากจอร์แดน, ซีเรีย, เลบานอน และอียิปต์ ต่างก็ทำข้อตกลงกันว่าเลบานอนจะทำการนำเข้าก๊าซจากอียิปต์และนำเข้าไฟฟ้าจากจอร์แดนผ่านทางซีเรีย

ในเดือน ต.ค. 2564 กษัตริย์ของจอร์แดนที่เคยเป็นผู้นำอาหรับคนแรกที่เรียกร้องให้อัสซาดลงจากตำแหน่ง ก็กลับลำด้วยการโทรศัพท์หาผู้นำซีเรีย ซึ่งเป็นการสนทนากันทางโทรศัพท์ครั้งแรกในรอบสิบปีหลังจากที่ทางซีเรียและจอร์แดนมีการประสานความร่วมมือด้านการค้าและความมั่นคงมาเป็นเวลาหลายเดือนก่อนหน้านั้น

อีกหลายประเทศในภูมิภาคอาหรับอย่าง อิรัก, เลบานอน, โอมาน และแอลจีเรีย ต่างก็เรียกร้องให้มีการต้อนรับซีเรียกลับเข้าสู่การเป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตอาหรับอีกครั้ง หลังจากที่ซีเรียถูกระงับการเป็นสมาชิกเมื่อปี 2554

คริสโตเฟอร์ ฟิลิปส์ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอนเคยเขียนบทวิเคราะห์ลงในวอชิงตันโพสต์เมื่อปี 2562 หลังจากที่กลุ่มประเทศอาหรับเริ่มมีท่าทีเป็นบวกกับตอมเผด็จการอัสซาดมากขึ้นเรื่อยๆ ในบทวิเคราะห์สมัยนั้นระบุว่าถึงแม้จะมีกลุ่มประเทศอาหรับสนับสนุนแต่อัสซาดก็ยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคในการสร้างภาพให้ตัวเองคือจากสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และตุรกีที่เป็นพันธมิตรกับนาโต

เกมการทูตของตุรกี ที่เอื้อต่อการเมืองในประเทศตัวเอง?

อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานนี้ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกีก็ประกาศว่าอาจจะมีการพบปะกันระหว่างผู้นำระดับสูงของตุรกีกับซีเรีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ทางการของทั้งสองประเทศได้พบปะกันที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย มาแล้ว จากที่รัสเซียเป็นประเทศที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลอัสซาดและมีส่วนร่วมอย่างมากกับสงครามกลางเมืองในซีเรีย รัสเซียพยายามผลักดันให้ตุรกีกับซีเรียมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มผู้แทนจากทั้ง 3 ประเทศนี้จะพบปะกันอีกครั้งภายในเดือน ม.ค.นี้

ฟิลิปส์กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดว่า ถึงแม้ผู้นำตุรกีจะยอมพบปะผู้นำซีเรียแต่ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายอัสซาดเองก็ต้องระมัดระวังไม่มองว่าเออร์โดกันยอมรับพวกเขาด้วยความจริงใจ มันเป็นเรื่องแตกต่างกันอย่างมากในการที่รัฐมนตรีด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีการต่างประเทศพบปะกันและมีการคืนดีกันอย่างเต็มรูปแบบ อุปสรรคใหญ่ๆ ของซีเรียตอนนี้คือพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศและพื้นที่เมืองอิดลิบที่ตุรกีกำลังควบคุมอยู่

ตุรกีเป็นผู้ที่คอยหนุนหลังกลุ่มกองกำลังต่อต้านรัฐบาลในซีเรียมาโดยตลอด รวมถึงเมืองอิดลิบซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งสุดท้ายที่กลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลยังคงสามารถยึดครองพื้นที่เอาไว้ได้ และเป็นพื้นที่ๆ ได้รับการคุ้มครองจากตุรกี เช่นเดียวกับพื้นที่ขนาดเล็กกว่าแห่งอื่นๆ ในทางตอนเหนือของซีเรีย และดูเหมือนว่าตุรกีคงไม่อยากถอนอิทธิพลของตัวเองออกจากจุดนี้ในเร็ววันนี้

ผู้สังเกตการณ์ในเรื่องนี้มองว่าเออรโดกันต้องการอาศัยเรื่องนโยบายการต่างประเทศเพื่อเรียกคะแนนนิยมให้ตัวเองในการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงในเดือน มิ.ย. นี้ เบนต์ เชลเลอร์ ประธานสาขาตะวันออกกลา
งและแอฟริกาเหนือของมูลนิธิไฮนริช เบิล ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมประชาธิปไตย กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศของเออร์โดกันคือการสู้รบกับกลุ่มชาวเคิร์ดในซีเรียที่ตุรกีมองว่าเป็นศัตรูของชาติ และดูเหมือนว่าซีเรียกับตุรกีอาจจะมีความเห็นไม่ตรงกันเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวเคิร์ด

อีกเรื่องหนึ่งคือประเด็นผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากกว่า 3 ล้านคนในตุรกี ซึ่งเชลเลอร์มองว่าเออร์โดกันพยายามหาเสียงตรงจุดนี้ด้วยการประกาศว่าเขาจะทำให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียหลายล้านคนกลับประเทศของตัวเองได้

ท่าทีของยุโรปและสหรัฐฯ

แต่ไม่ว่าเออร์โดกันจะจริงใจต่อซีเรียหรือแค่เล่นเกมการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ในบ้านของตัวเอง แต่นักวิเคราะห์อย่างฟิลิปส์ก็มองว่าอัสซาดสามารถแก้ไขฟื้นฟูภาพลักษณ์ของตัวเองได้สำเร็จ แล้วเขาก็มองว่าอัสซาด "ชนะไปเรียบร้อยแล้ว" ในสงครามซีเรียจากการที่เขายังคงยึดกุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในซีเรียได้ และในแง่ทางการทหารแล้วฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ไม่มีทางเลือกอื่นๆ เหลืออยู่ แต่ทว่ามันก็เป็น "ชัยชนะที่ได้มาโดยไม่คุ้มเสีย" (Pyrrhic victory) เพราะประเทศของเขาถูกทำลายไปมาก

ขณะเดียวกันชัยชนะที่ว่านี้ก็ทำให้กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเฉดหัว กลับมาเข้าหาอัสซาดในเชิงผลประโยชน์มากขึ้นด้วย แต่ฟิลิปส์ก็มองว่า สำหรับประเทศตะวันตกแล้ว มันคงเป็นไปได้ยากที่จะหันกลับมาดีกับอัสซาดเว้นแต่ว่าอัสซาดทำอะไรใหญ่ๆ ตอบแทนชาติตะวันตกเหล่านี้ได้

เมื่อพิจารณาแล้วคงเป็นไปได้ยากที่อัสซาดจะยอมอ่อนข้อให้กับชาติตะวันตก จึงทำให้ยุโรปและสหรัฐฯ กลายเป็นอุปสรรคหลักๆ ในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของอัสซาดในสายตาโลก อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ บางประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอย่าง กรีซ, โรมาเนีย, บัลแกเรีย และแม้แต่ อิตาลี กับ สเปน ก็เคยพิจารณาว่าจะเลิกโดดเดี่ยวซีเรียดีหรือไม่ ฟิลิปส์บอกว่านั้นเพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้เคยมีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และประเด็นต่างๆ ต้องพิจารณาไม่ว่าจะเป็นการอพยพแบบไม่ปกติ, การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, เสถียรภาพในภูมิภาค และการสำรวจพลังงานในแถบตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

แต่ทว่า พอเกิดสงครามยูเครนกลุ่มชาติตะวันตกเหล่านี้ก็เลิกพิจารณาว่าจะกลับไปคืนดีกับอัสซาด เพราะสงครามยูเครนทำให้ยุโรปมีท่าทีต่อต้านรัฐบาลซีเรียหนักแน่นขึ้นจากการที่รัฐบาลอัสซาดของซีเรียเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ภักดีต่อรัสเซียมากที่สุด

ยิ่งเป็นสหรัฐฯ แล้วยิ่งยากที่จะมีท่าทีผ่อนปรนต่อรัฐบาลซีเรีย จากการที่ เน็ต ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะไม่ทำให้ความสัมพันธ์กับซีเรียกลับมาเป็นปกติ และไม่สนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัฐบาลอัสซาด สหรัฐฯ แถลงในเรื่องนี้หลังจากที่มีคำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเออร์โดกันกับอัสซาด

นักกิจกรรมแนะ ควรยืนหยัดเคียงข้างประชาชนซีเรียต้านอัสซาด

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านซีเรียอย่างฟิลิปส์ยังได้แนะนำว่า สิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนซีเรียจากสภาพคงเดิมที่เป็นระบอบอำนาจนิยมกดขี่คือการที่ซีเรียแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นที่ต้องการในเวทีโลก เช่นในช่วงยุคต้นคริสตทศวรรษที่ 1990s หลังจากที่สหรัฐฯ มองซีเรียด้วยสายตาระแวงสงสัยเพราะซีเรียในตอนนั้นมีท่าทีต่อต้านอิสราเอล ซีเรียก็กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังแนวร่วมที่นำโดยสหรัฐฯ ในการสู้รบกับกองทัพซัดดัม ฮุสเซน ของอิรักที่ทำการรุกรานคูเวต

ในขณะเดียวกันกลุ่มองค์กรนักกิจกรรมซีเรียก็ไม่พอใจกับการประเมินเช่นนี้ ไม่ว่าชาติอื่นๆ จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ให้ผลประโยชน์กับพวกเขามากเพียงใดในการคืนความสัมพันธ์กับซีเรีย ไลลา กิกิ ผู้อำนวยการขององค์กรที่มีฐานอยู่ในอังกฤษชื่อ เดอะ ซีเรีย แคมเปญ กล่าวว่า สิ่งที่นานาชาติควรทำมากกว่าคือการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวซีเรีย แทนที่จะไปปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลอำนาจนิยมอัสซาด

"การคืนความสัมพันธ์ให้เป็นปกติกับรัฐบาลอัสซาดเป็นการส่งสารถึงชาวซีเรียหลายล้านคน ผู้ที่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายทารุณว่า ความทุกข์ทรมานของพวกเขานั้นถูกละเลย ... นี่ (รัฐบาลอัสซาด) เป็นรัฐบาลที่ยิงผู้ประท้วงอย่างสันติจนเสียชีวิต และเป็นพวกที่ทิ้งระเบิดในประชาชนของตัวเองหลายหมื่นคนโดยไม่เลือกเป้าหมาย มันเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำจากทั่วทุกมุมโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพยุโรป ควรจะต้องยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวซีเรียในการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย โดยการประณามการคืนความสัมพันธ์กับรัฐบาลซีเรีย" กิกิกล่าว


เรียบเรียงจาก
Welcome back, Bashar Assad: Has the Syrian dictator won?, DW, 10-01-2023
Turkey's Erdogan says Syrian airstrikes just 'the beginning', DW, 23-11-2022
Erdogan says he may meet Syria’s Assad for ‘peace’ in the region, Aljazeera, 05-01-2023

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Ghouta_chemical_attack
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net