Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมอ่านเจอบางคอมเมนท์ในเฟซบุ๊กที่พูดถึงการอดอาหารประท้วงของ “ตะวันกับแบม” ว่า “ปกติก็มีคนตายด้วยอุบัติเหตุบนถนนวันละกว่าสิบคนอยู่แล้ว ถ้าจะมีคนอดอาหารประท้วงตายไปอีกสักสองสามคนก็คงไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร” ไม่แน่ใจว่าเขาคิดเช่นนั้นจริงๆ หรือแค่คอมเมนท์ประชดสังคม

ตะวัน หรือทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมที่ยื่นขอถอนประกันตัวเองในคดี ม.112 เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566 และกำลังอดข้าวอดน้ำอยู่ในคุกเพื่อต่อสู้เรียกร้อง 3 ข้อ คือ

  1. ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระจากอำนาจนำ ปกป้องเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
  1. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง
  1. พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

ในบ้านเรามักมีการเล่าขาน และ “ฟิน” กับวีรกรรมการต่อสู้ด้วยสันติวิธีของคนดังในอดีตอย่างมหาตมะ คานธี, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และคนอื่นๆ แต่สำหรับการต่อสู้ด้วยสันติวิธีของคนธรรมดาสามัญในปัจจุบันที่แม้จะยกระดับการต่อสู้ “ทะลุเพดาน” มากกว่า หรือก้าวหน้ามากกว่าวีรบุรุษตามเรื่องเล่าในอดีต คนส่วนใหญ่กลับเพียงแค่มองผ่านๆ หรือไม่ก็ตั้งข้อสงสัยในเชิงจับผิด

ใครที่เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของ “ปราชญ์พุทธ” บางคน ถ้าอ่านผ่านๆ อาจไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าอ่านอย่างไตร่ตรองอาจ “รู้สึกสะเทือนใจ” มากว่าเหตุใดปราชญ์พุทธจึงตีความพุทธธรรมในเชิงพยายามทำความเข้าใจและแก้ต่างให้กับ “การเสียสัตย์เพื่อชาติ” อันเป็นที่มาของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ทำนองว่า หากการเสียสัตย์เช่นนั้นเกิดจาก “เจตนาดี” เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็ถือว่าเป็น “การกระทำที่ถูกมากกว่าผิด” เป็น “การเสียสละตนเองเพื่อส่วนรวม” แต่กลับตั้งข้อสงสัยต่อการอดอาหารประท้วงเผด็จการทหารในเวลานั้นว่า เป็นการกระทำที่มีเจตนาใช้การอดอาหารประท้วงเพื่อ “เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง” หรือไม่ ถ้ามีเจตนาเช่นนั้นก็ผิด ทั้งๆ ที่มันชัดเจนอยู่แล้วว่า การอดอาหารประท้วงเพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ต่อรองทางการเมืองกับเผด็จการทหาร ย่อมมี “ความชอบธรรม” ตามแนวทางสันติวิธีและแนวทางประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ขณะที่การ (อ้างว่า) เสียสัตย์เพื่อชาติ อันเป็นที่มาของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมันคือการกระทำที่ผิดหลักการประชาธิปไตย และนำไปสู่การสังหารประชาชนชัดแจ้ง ซึ่งไม่สามารถอ้าง “เจตนาดีใดๆ” มาแก้ต่างได้อย่างสมเหตุสมผลเลย

ถ้ามองในเชิงปรัชญาศีลธรรมและปรัชญาการเมือง จะเห็นว่าทฤษฏี “เจตนาดี” ของปราชญ์พุทธดังกล่าวข้างบนไม่ได้ยึดโยงกับ “คุณค่าทางศีลธรรม” (moral values) และ “คุณค่าทางการเมือง” (political values) ของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะเผด็จการทหารก็อ้างเจตนาดีเสียสัตย์เพื่อชาติเพื่อให้ “ความชอบธรรม” กับการกระทำที่ขัดกับวิถีทางประชาธิปไตยและหลักสิทธิเสรีภาพพื้นฐานต่างๆ ได้ ขณะที่ประชาชนใช้การอดอาหารประท้วงเป็นเครื่องมือต่อสู้ต่อรองทางการเมืองกับเผด็จการทหารก็อาจ “ไม่ใช่เจตนาดี” แม้ว่าการกระทำเช่นนั้นจะสอดคล้องกับหลักเสรีภาพในการแสดงออกและเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยก็ตาม

ผมอ่านความเห็นของมิตรสหายที่บอกว่า “ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยกับความคิดเรื่องศาสนากับรัฐของปราชญ์พุทธท่านนั้น แต่ก็ศรัทธาในจริยาวัตรอันงดงามสมความเป็นพระของท่านอย่างยิ่ง” แม้ผมจะเข้าใจเหตุผลในการ “แยกแยะ” เช่นนั้นของมิตรสหาย แต่คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจคือ ระหว่าง “พระเมาเหล้า” กับ “พระดี” ในสังคมนี้แบบไหนน่ากลัวมากกว่า

พระเมาเหล้าที่เป็นข่าวบ่อยๆ อาจมองกันว่าเสียภาพลักษณ์วงการสงฆ์ ทำให้คนเสื่อมศรัทธาพุทธศาสนา แต่บ้านเราก็แก้ปัญหานี้ได้ง่ายดายคือ จับพระเมาเหล้าสึกได้เลย โดยไม่ต้องสนใจว่าต้องอาบัติปาราชิก (ขาดจากความเป็นพระ) หรือไม่

แต่ “พระดี” เช่น พระนักปราชญ์ที่มีจริยาวัตรน่าเลื่อมใส มีผู้คนศรัทธาจำนวนมาก คือพระที่สร้างองค์ความรู้พุทธธรรมเป็นที่รู้จักของคนไทยและนานาชาติ นี่นับว่าเป็นข้อดีอย่างไม่ต้องสงสัย ทว่าปัญหาคือ พระนักปราชญ์กลับผลิตสร้างผลงานการปรับใช้พุทธธรรมสืบทอดประวัติศาสตร์ “พุทธราชาชาตินิยม” และอ้างอิงหลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาตามกรอบคิดแบบพุทธราชาชาตินิยมเป็นป้อมปราการต่อต้านการแยกศาสนาจากรัฐ หรือการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง (political secularization) และการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางสังคม (social secularization) ซึ่งจะนำไปสู่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยโลกวิสัย (secular democracy) ให้เป็นจริง จึงเห็นได้ชัดว่าพระนักปราชญ์สร้างผลกระทบทางสังคมมากกว่า

ถ้าเปรียบเทียบวาทกรรม “พระดี” กับ “คนดี” จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น ตัวอย่างเช่น นักการเมืองแถวหน้าคนหนึ่งมีภาพลักษณ์เป็นคนดี ซื่อสัตย์ สมถะเรียบง่าย ไม่เคยเลี้ยงกาแฟใครสักแก้ว ชงกาแฟ (ของส่วนรวมในอาคารรัฐสภา) กินเอง ด้วยภาพลักษณ์ความเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ไม่โกง ทำให้เขาไม่เคยเป็น ส.ส. สอบตก ตลอดชีวิตนักการเมืองที่ยาวนาน เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ มาหมด เคยเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย เขาเป็นคนพูดจาดีมีหลักการ แต่ความเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ยึดหลักการของเขาไม่ได้แสดงออกในทางต่อต้านรัฐประหารอย่างชัดเจน ตรงกันข้าม เขากลับยินดีร่วมรัฐบาลสืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร และไม่ปรากฏชัดเจนว่าเขาเคยแสดงความเห็นปกป้อง “เสรีภาพ” ของประชาชนที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบตะวันและแบม แต่ปรากฏชัดว่าจุดยืนทางการเมืองของเขาและพรรคของเขาเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยม ที่ปฏิเสธข้อเสนอแก้ไขและยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระนักปราชญ์ที่เป็น “พระดี” กับนักการเมืองที่เป็น “คนดี” ได้ผลิตซ้ำและผลิตสร้างความคิดและแสดงบทบาทสนับสนุน และค้ำยันอุดมการณ์ทางการเมืองและโครงสร้างอำนาจทางการเมืองแบบราชาชาตินิยมอย่างชัดเจน และนั่นก็คือเหตุผลว่าทำไมพระนักปราชญ์ที่เป็นพระดีจึงเจริญในเส้นทางสมณศักดิ์ฐานันดรถึงขั้นเป็น “สมเด็จพระราชาคณะ” และทำไมนักการเมืองที่เป็นคนดีจึงดำรงตำแหน่งสูงสุดในระบบอำนาจทางการเมืองแบบไทยๆ ได้อย่างยาวนาน

ตัวอย่างที่ยกมาเพื่อชวนคิดว่า ปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่มีความคิดความเชื่อพื้นฐานบางอย่างรองรับเสมอ ความคิดความเชื่อพื้นฐานแบบหนึ่งที่รองรับปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองในบ้านเราที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ ความคิดความเชื่อแบบพุทธไทย เช่น ตัวอย่างความคิดของปราชญ์พุทธเกี่ยวกับเรื่องเสียสัตย์เพื่อชาติและการอดอาหารประท้วงดังกล่าวแล้วเป็นต้น ยังมีตัวอย่างความคิดความเชื่อพื้นฐานแบบพุทธที่แพร่หลายกันมานาน ดังข้อความข้างล่างนี้

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/238296179593402/photos/a.238316889591331/5942184432537853

นี่คือความคิดพื้นฐานแบบพุทธไทยที่เชื่อว่า “ความไม่เสมอภาค” เช่น การเกิดในตระกูลสูง ต่ำต่างกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมดี ไม่ดีต่างกันถูกกำหนดมาแล้วจากกรรมเก่าในอดีตชาติ การผลิตซ้ำประวัติศาสตร์พุทธราชาชาตินิยมโดยสาระสำคัญแล้วก็สอดคล้องกับความเชื่อพื้นฐานนี้ เพราะเป็นการปกป้องอุดมการณ์และโครงสร้างทางการเมืองบนฐาน “ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม” ให้คงอยู่ต่อไป

พูดอีกอย่างคือ คุณค่าทางศีลธรรมแบบพุทธไทยหรือพุทธราชาชาตินิยมยึดโยงอยู่กับความเชื่อเรื่อง “ความไม่เสมอภาค” ที่ถูกกำหนดมาแล้วโดยกรรมในอดีตชาติของแต่ละคน ทำให้เชื่อต่อไปว่าการทำดีและการเป็นคนดีจะช่วยให้เลื่อนสถานะชนชั้นทางสังคมสูงขึ้นในชาตินี้และชาติหน้า ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศนี้ก็ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่ขัดหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย แต่เป็นเพราะนักการเมืองและประชาชน “ไม่มีธรรมาธิปไตย” ดังที่ปราชญ์พุทธบอกว่า “ธรรมาธิปไตยไม่มาจึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ” ซึ่งหมายถึงนักการเมืองและประชาชนยังไม่มีธรรมาธิปไตย ประเทศนี้จึงยังไม่เป็นประชาธิปไตย

แต่ปราชญ์พุทธก็ไม่เคยตั้งคำถามว่า สถาบันกษัตริย์ที่บรรดานักบวชสรรเสริญว่ามีธรรมาธิปไตยหรือปกครองโดยธรรมนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างไร และมหาเถรสมาคมหรือศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม อันเป็นสถาบันที่สอนธรรมาธิปไตยนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยแล้วหรือยัง

ถ้ายืนยันว่าสถาบันกษัตริย์และศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมที่เปี่ยมล้นด้วยธรรมาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีความเป็นประชาธิปไตย แต่นักบวชที่ปกป้องสองสถาบันดังกล่าวมีหน้าที่สอนนักการเมืองและประชาชนให้มีธรรมมาธิปไตยเพื่อจะหาประชาธิปไตยให้เจอ นี่ย่อมเป็น “ความย้อนแย้ง” อย่างยิ่ง

จากความคิดพื้นฐานที่ย้อนแย้งเช่นนั้นนำไปสู่การกระทำที่ย้อนแย้งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น นักบวชและผู้รู้พุทธอ้างธรรมาธิปไตยตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองและประชาชนที่ยึดหลักประชาธิปไตย แทนที่จะอ้างธรรมาธิปไตยตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัติย์และสถาบันสงฆ์ที่ยึดหลักธรรมาธิปไตย ทำให้เกิดทัศนคติผิดๆ ว่าการคอร์รัปชันของนักการเมืองเป็นความผิดร้ายแรงกว่าการทำรัฐประหาร หรือนอกจากจะไม่มองตามเป็นจริงว่า รัฐประหารคือการคอร์รัปฯ ร้ายแรงกว่าแล้วยังส่งเสียงเชียร์ว่ารัฐประหารคือการแก้ปัญหาคอร์รัปฯ

แล้วเราก็ได้เห็นพฤติกรรมทางศีลธรรมของผู้คนในสังคมที่คนส่วนใหญ่ถือพุทธ เช่น พวกเขาฟูมฟายเสียใจกับหมาแมวถูกรังแก (ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ถ้านั่นเกิดจากจิตสำนึกปกป้องสิทธิของสัตว์) แต่กลับ “วางเฉย” กับการล้อมฆ่าประชาชนที่ชุมนุมทางการเมืองกลางเมืองหลวง อีกทั้งหลังการฆ่าเพิ่งผ่านพ้น บรรดานักปฏิบัติธรรมก็ออกมาจุดเทียนแห่งสันติฉีดน้ำ ปัดกวาดชำระล้างทำความสะอาดกรุงเทพฯ ปัดเป่าเสนียดจัญไรให้หายไป เพื่อ “คืนความสุข” ให้คนกรุงเทพฯ

ผมอาจจะพูดอะไรย้อนหลังซ้ำๆ แต่ภาพเหล่านั้นก็คือภาพสะท้อนความคิดพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนที่ลุกขึ้นสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยกลายเป็น “คนแปลกหน้า” ในระบบคุณค่าทางศีลธรรมและคุณค่าทางการเมืองแบบไทย ไม่ว่าคนเสื้อแดงที่ถูกฆ่าเรื่อยมาถึงคนแบบตะวันและแบมที่อดอาหารประท้วงในวันนี้ พวกเขาถูกทำให้กลายเป็นคนแปลกหน้าในระบบคุณค่าทางศีลธรรมและคุณค่าทางการเมืองแบบไทยเสมอมา

จึงไม่แปลกที่แม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่ฟินกับการเสียสละลูกเมียเป็นทาสของเวสสันดร ฟินกับการอุทิศตนบำเพ็ญทุกกรกิริยาของสิทธัตถะว่านั่นคือ “การเสียสละอันยิ่งใหญ่เพื่อชาวโลก” แต่เฉยๆ หรือมองว่าการเสียสละแบบตะวันและแบมเป็น “เรื่องส่วนตัว” หรือเป็นพวกที่หาเรื่องใส่ตัว สร้างความแตกแยก ไม่ใช่การกระทำ “ความดี” และไม่เกี่ยวกับการเป็น “คนดี” ในระบบคุณค่าทางศีลธรรมแบบไทยแต่อย่างใด แม้แต่บรรดานักบวชและนักสันติวิธีที่พร่ำสดุดีสันติวิธีแบบคานธี ก็เลือกที่จะ “วางเฉย” กับการต่อสู้แบบสันติวิธีเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตย

แต่อย่างไรก็ตาม อาจไม่จริงว่าคนที่ต่อสู้ด้วยสันติวิธีแบบตะวันและแบมจะถูกทำให้กลายเป็นคนแปลกหน้าได้ตลอดไป เพราะเป็นไปได้หรือค่อยๆ เป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าอำนาจที่ขัดกับหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยกำลังถูกทำให้กลายเป็น “คนแปลกหน้า” ด้วยเช่นกัน ดังเกิดปรากฏการณ์ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญกษัตริย์ในโรงหนังมากขึ้นๆ เกิดปรากฏการณ์โห่ เมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญกษัตริย์ก่อนการแสดงคอนเสิร์ต เป็นต้น

ทว่าคำถามคือ แผ่นดินธรรมแผ่นดินทองอันแสนงดงามแห่งนี้จะเลือดเย็นและโหดร้ายกับคนธรรมดาสามัญที่ลุกขึ้นสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยไปถึงไหน ทำไมคุณค่าทางศีลธรรมและคุณค่าทางการเมืองของแผ่นดินนี้จึงกดทับ “ความเป็นคน” ของเรา จนทำให้เรากลายเป็น “ศพที่เดินได้” ผู้หลอกตนเองว่าเป็นคนดีที่เปี่ยมคุณธรรม!

เมื่อเราย้อนกลับไปพิจารณาข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของตะวันและแบมที่ยกมาข้างต้น ชัดเจนว่าคือข้อเรียกร้องขั้นต่ำสุดที่จะทำให้ประเทศนี้สร้างระบอบประชาธิปไตยที่สามารถให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและความเป็นอิสระและเป็นกลางของของศาลได้จริง การปฏิเสธหรือการเพิกเฉยอย่างเลือดเย็นต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ย่อมสะท้อนความเสื่อมทรุดอย่างหนักของ “ทุกสถาบัน” ทางสังคมและการเมือง รวมทั้งความไร้อุดมการณ์ประชาธิปไตยของพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชน

แน่นอนว่า ทุกสถาบันทางสังคมและการเมือง กระบวนการยุติธรรม และทุกพรรคการเมืองที่ปฏิเสธอย่างเลือดเย็นต่อข้อเรียกร้องเพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความยุติธรรม พวกเขาก็คือ “คนแปลกหน้า” ของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ พวกเขาเป็น “สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์” ที่แปลกแยกจากประชาชนที่เลี้ยงดูพวกเขา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net