Skip to main content
sharethis
  • คนทำงานเล่าเรื่อง 'ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น' ยันการเคารพในอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น จะเป็นจุดเริ่มต้นเชิงบวกในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองเชิงอัตลักษณ์ 
  • ย้ำเพดานเสรีภาพมิได้ขับเคลื่อนผ่านโต๊ะเจรจาเท่านั้น มันก่อเกิดจากการต่อสู้จากผู้คนตัวเล็กๆ ในทุกระดับ
  • หลังแม่ทัพภาค 4 มีคำสั่งแต่งตั้งทหารและตำรวจ 22 นาย เป็นคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์

31 ม.ค.2566 จากกรณีแม่ทัพภาค 4 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคม รวมทั้งด้านการเมือง ที่ประกอบด้วยนายทหารและตำรวจ 22 นาย เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยที่ก่อนหน้านั้นเพิ่งมีประเด็นเจ้าหน้าตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ตรวจยึด การ์ดเกม Patani Colonial Territory โดยมิได้ชี้แจงการใช้อำนาจแต่อย่างใด ระบุเหตุผลว่าเป็นการ์ดเกมส์ ที่หมิ่นเหม่ สุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย  หลังจากนั้นปรากฏการโปรยใบปลิวกล่าวหาการ์ดเกมส์ดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคง บิดเบือนประวัติศาสตร์ และผิดหลักศาสนา ขณะที่ พรรคไทยภักดี ยื่นเรื่องต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบมูลนิธิก้าวหน้า ว่าสนับสนุนกิจกรรม ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ถ้าผิดวัตถุประสงค์ก็สมควรสั่งยุบมูลนิธิดังกล่าวนั้น

คนทำงาน 'ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น' ย้ำเพดานเสรีภาพมิได้ขับเคลื่อนผ่านโต๊ะเจรจาเท่านั้น มันก่อเกิดจากการต่อสู้จากผู้คนตัวเล็กๆ ในทุกระดับ

ไม่เพียงการ์ดเกมนี้ที่ถูกวิพากษ์ไปจนถึงโจมตี เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผ่านนักเล่าเรื่องอย่าง เจะฆูฮาซัน หรือฮาซัน ยามาดีบุ ที่ได้รับความนิยมจากชาวมลายู มีผู้รับฟังการเล่าเรื่องราวผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก นอกจากนี้เขายังจัดทำทริปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่มีผู้เข้าร่วมแตกต่างหลากหลาย ทั้งกลุ่มนักศึกษา ประชาชนในพื้นที่ ข้าราชการ เด็กๆ จากโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ให้ความสนใจ กิจกรรมของฮาซันเหล่านั้นก็ถูกจับตามองจากฝ่ายความมั่นคงเช่นกัน 

อารีฟีน โสะ

อารีฟีน โสะ หนึ่งในกลุ่มที่จัดทำเกมนี้ ซึ่งกลุ่ม Chachiluk Board game ผู้ผลิตเกมที่เป็นประเด็น เล่าว่าพวกเขาตั้งกลุ่มขึ้นมาทำบอร์ดเกมส์ ด้วยความชอบเล่นบอร์ดเกมส์แนวต่างๆ จนนำมาสู่การริเริ่มออกแบบบอร์ดเกมส์ที่ตอบโจทย์ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่อยู่ในความสนใจของคนในพื้นที่ โดยเริ่มจากเกมส์เกี่ยวกับชุดประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่มีชื่อว่า Patani Colonial Territory โดยแบ่งการ์ดเป็นช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตามยุคสมัย เช่น ช่วงการแบ่งการปกครองเจ็ดหัวเมือง เรื่องเล่าเกี่ยวกับการเจาะเอ็นร้อยหวาย เป็นต้น แต่วิธีคิดทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการเล่นเกมส์นี้เป็นสิ่งน่ากลัว สุ่มเสี่ยง อันตราย เป็นภัยต่อความมั่นคง มากกว่าเป็นการริเริ่มทำความเข้าใจชุดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์

ขณะที่ ฮาซัน เล่าว่า หลายต่อหลายครั้งถูกเชื้อเชิญให้ไปชี้แจงการจัดกิจกรรมต่างๆ ต่อตัวแทนฝ่ายความมั่นคง ตนรู้ว่าการชี้แจงทำความเข้าใจ เป็นประโยชน์ต่อการทำกิจกรรมของตนเอง  อย่างน้อยที่สุดถือเป็นการทำงานระดับทัศนคติกับเจ้าหน้าที่ต่างถิ่น ที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องเล่า ภาษา วัฒนธรรม ของเราชาวมลายู แต่ตนยังรู้สึกเหมือนถูกคุกคามตลอดเวลา เมื่อทุกๆ การกระทำต้องรายงาน ไม่ว่าเราจะชี้แจงอย่างไร สุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับการรายงานข้อมูลของพวกเขา และระดับนโยบายจะตีความการกระทำของเราอย่างไร จะให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายพวกเขาก็มีอำนาจที่จะทำได้  

ฮาซัน ยืนยันว่า การจัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การเล่าเรื่องที่ไม่คุ้นเคยเหล่านี้ จะช่วยให้รัฐหรือฝ่ายความมั่นคง ค่อย ๆ เรียนรู้ว่าชาวมลายูมีชุดประวัติศาสตร์ของตนเอง มีวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่าง ที่สำคัญชาวมลายูเป็นคนเฉกเช่นคนในภูมิภาคอื่น ๆ มีสิทธิ มีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกัน การเริ่มต้นด้วยการเคารพในอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น จะเป็นจุดเริ่มต้นเชิงบวกในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองเชิงอัตลักษณ์ที่ดำรงอยู่มาโดยตลอด ฮาซันหวังว่ารัฐบาลจะเรียนรู้บทเรียนสำคัญในครั้งนี้

สำหรับความเห็นต่อการเจรจาสันติภาพ ที่กำลังเป็นไประหว่างแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูและรัฐบาลไทย ที่กำลังพยายามให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน ในการแสวงหาทางออกความขัดแย้ง คือ การแสวงหาทางออกทางการเมืองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ที่สอดคล้องกับการเป็นรัฐเดี่ยว และการจัดให้มีการปรึกษาหารือสาธารณะ การลดความรุนแรง และข้อตกลงหยุดยิงในอนาคต

อารีฟีน ให้ความเห็นว่า กระบวนการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นถือว่ามีนัยยะที่ดีต่อการเปลี่ยนผ่านจากการใช้อาวุธ สู่การใช้วิธีการทางการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนักร่วมกัน คือหลายครั้งหลายคนที่เคยวิพากษ์วิจารณ์การเจรจาสันติภาพ จนเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับการเจรจา เป็นผู้บ่อนทำลายกระบวนการสันติภาพ โดยที่พวกเขายืนยันว่ากระบวนเจรจาเป็นประโยชน์ ซึ่งตนเห็นด้วยว่ากระบวนการเจรจานั้นเป็นประโยชน์ หากแต่มิใช่การพยายามอธิบายว่า ด้วยการมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพ คนในพื้นที่จึงมีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง  

อารีฟีน กล่าวอีกว่า เพดานเสรีภาพมิได้ขับเคลื่อนผ่านโต๊ะเจรจาเท่านั้น มันก่อเกิดจากการต่อสู้จากผู้คนตัวเล็กๆ ในทุกระดับ หากเราทำให้เสรีภาพทางการเมืองเป็นเรื่องที่ถูกต่อรอง หรือค้ำจุนโดยการเจรจา วันใดที่โต๊ะล้มขึ้นมา ความเสียหายจะก่อเกิดต่อผู้คนในพื้นที่ ดังนั้นเราต้องยืนยันว่าเสรีภาพในการแสดงออกนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนควรมีสิทธิในการแสดงออก ไม่ว่าจะมีการเจรจาหรือไม่ก็ตาม อารีฟีนกล่าวทิ้งท้าย

 

อนึ่ง เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2565 เจ้าหน้าตำรวจ สภ.บันนังสตา ทำการตรวจยึด การ์ดเกม Patani Colonial Territory โดยมิได้ชี้แจงการใช้อำนาจแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเป็นการ์ดเกมส์ ที่หมิ่นเหม่ สุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย  ต่อมา 15 ธ.ค. 2565 พบว่ามีการโปรยใบปลิวตอบโต้เกี่ยวกับการ์ดเกมส์ ในเขตพื้นที่อำเภอบันนังสตา เนื้อความสรุปได้ว่าเป็นการ์ดเกมส์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง บิดเบือนประวัติศาสตร์ และผิดหลักศาสนา ขณะที่พรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมอย่างพรรคไทยภัคดียื่นเรื่องต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบมูลนิธิก้าวหน้า ว่าสนับสนุนกิจกรรม ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ถ้าผิดวัตถุประสงค์ก็สมควรสั่งยุบมูลนิธิดังกล่าว และเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมาแม่ทัพภาค 4 มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคม รวมทั้งด้านการเมือง ที่ประกอบด้วยนายทหารและตำรวจ 22 นาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net