'ผสานวัฒนธรรม' จ่อส่งหนังสือด่วนถึงนายกฯ ค้านชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ

จับตา 10 วันบังคับใช้ พ.ร.บ. มูลนิธิผสานวัฒนธรรมส่งหนังสือด่วนถึงนายกฯ คัดค้านการชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานอุ้มหายฯ 8.30 น. 14 ก.พ.นี้ ที่ทำเนียบฯ ขณะที่ ปธ.กมธ.พิจารณาฯ ชี้หากเลื่อนบังคับใช้ ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมไทยเสีย

13 ก.พ.2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่า พรุ่งนี้ (14 ก.พ.) เวลา 8.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ประชาชน จะเดินทางไปยื่นหนังสือด่วน ฉบับลงวันที่ 13 ก.พ. 2566 ถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้ตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ามีความพยายามในการชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยมีการใช้อคติทางการเมืองหรือกลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือหรือไม่ และขอให้รับรองต่อสาธารณชนว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะเป็นไปตามกำหนดเดิม คือ วันที่ 23 ก.พ.2566 เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทยโดยผู้มีอำนาจอีกต่อไป

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ในการขอเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา วันที่ 6 มกราคม 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ทำหนังสือถึง สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่ามีปัญหาขัดข้องในการเตรียมการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. และได้ระบุอุปสรรคและข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่เพียงเท่านั้น  มูลนิธิฯยังได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อได้ว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาทิ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้การตอบรับคำขอของ สตช. แล้วด้วย ขั้นตอนต่อไปคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพื่อตราพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้ต่อไป

ขณะเดียวกัน องค์กรภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐหลายฝ่ายออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านการชะลอพ.ร.บ. โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้ส่งจดหมายถึงกระทรวงยุติธรรมและนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายตามกำหนด ไม่ควรขยายเวลาบังคับใช้ ทั้งยังจัดทำข้อเสนอด้านการดำเนินงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยิ่งไปกว่านั้นหน่วยงานหลักด้านกระบวนการยุติธรรมอย่างสำนักงานอัยการสูงสุดยังได้จัดทำแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายอย่างละเอียดอีกด้วย

จากข้อมูลที่ได้รับดังกล่าว มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีข้อห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งถึงความพยายามของ สตช. และพวก ในการชะลอการบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันแปละปราบปรามการทรมานฯซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านพันธกรณีที่ไทยมีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) ซึ่งประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันเมื่อปี 2550 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ 2549 ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามไว้แล้ว รอการให้สัตยาบันเมื่อพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีผลใช้บังคับ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่าข้ออ้างของสตช.ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีเวลาที่ตระเตรียมกำลังพลและอุปกรณ์ตั้งแต่ปี 2564 โดยสตช.ได้ออกคำสั่ง ที่ 178/2564 เรื่อง การบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้น จับกุม และการสอบสวนคดีอาญา มาแล้ว ซึ่งการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ยิ่งจะช่วยให้มีการจัดสรรงบประมาณมาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งระเบียบภายในของ สตช. ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งเห็นชัดว่าข้ออ้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มิใช่กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ที่รัฐบาลจะเลื่อนการบังคับใช้ เพราะมิใช่กรณีฉุกเฉินมีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และเงื่อนไขอื่นๆตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  แต่อย่างใด

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังได้เรียนนายกรัฐมนตรีต่อไปว่า นอกจากรัฐบาลไม่มีความชอบธรรมและความจำเป็นในการเลื่อนการบังคับใช้พ.ร.บ. ออกไป ไม่ว่าโดยวิธีใดแล้ว  การกระทำดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงความ “ไม่เต็มใจ” (unwilling) ของรัฐบาลในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และเป็นการสวนทางกับเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทยที่เรียกร้องต้องการกฎหมาย เพื่อขจัดการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยสะท้อนให้เห็นจากการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรโดยมติเอกฉันท์ ดังนั้นรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจึงไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป

ปธ.กมธ.พิจารณาฯ ชี้หากเลื่อนบังคับใช้ ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมไทยเสีย

ทูเดย์ รายงานด้วยว่า ชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (พ.ร.บ.อุ้มหายฯ)  เปิดเผยว่า วันที่ 14 ก.พ.นี้ มีข่าวลือหนาหูว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีวาระการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)  เพื่อเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยอ้างถึงความไม่พร้อมของส่วนราชการผู้ปฏิบัติ ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว เห็นว่า หากเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไป จะเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ด้านความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอย่างรุนแรง ทั้งในระดับนานาชาติ และภายในประเทศ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท