Skip to main content
sharethis

ครม.มีมติให้รับคำนิยามการ "ทรมาน" และการให้มีบทลงโทษในฐานความผิดซ้อมทรมานตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (CAT) หลังพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายเริ่มใช้แล้วแม้จะเพิ่งเลื่อนใช้ไปบางมาตรา

เมื่อวานนี้ (28 ก.พ.2566) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลเผยแพร่มติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้ถอนคำแถลงตีความของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือ CAT และให้กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ดำเนินการดังกล่าวต่อสหประชาชาติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ หลังจากพ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและบังคับสูญหายเริ่มใช้ไปบางมาตราตั้งแต่ 22 ก.พ.2566 

สำหรับอนุสัญญาฉบับนี้ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานเมื่อ 2 ต.ค.2550 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 พ.ย.ปีเดียวกัน แต่รัฐบาลไทยรับอนุสัญญาฯ มาอย่างมีเงื่อนไขโดยตีความตามกฎหมายอาญาของไทยทั้งในส่วนคำนิยามของคำว่า “การทรมาน” ในข้อ 1 ของอนุสัญญาฯ และข้อ 4 ที่ให้การทรมานเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา รวมถึงข้อ 5 ที่รัฐไทยที่ร่วมเป็นภาคีจะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ที่อาจจำเป็นเพื่อให้ตนมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่อ้างตามข้อ 4 ของอนุสัญญาฯ 

ทั้งนี้การแถลงตีความบทบัญญัติในอนุสัญญาฯ ถือเป็นการตั้งข้อสงวนหรือเงื่อนไขที่จะใช้บทบัญญัติของอนุสัญญาเนื่องจากยังไม่สามารถปฏิบัติตามได้ทั้งหมด

นอกจากนั้นในการเข้าเป็นภาคีรัฐบาลไทยยังขอสงวนไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice – ICJ) ตามข้อ 30 ของอนุสัญญาฯ ด้วย

ทั้งนี้ในรายงานการประชุม ครม.ครั้งล่าสุดระบุว่า กระทรวงยุติธรรมชี้แจงถึงการขอถอนคำแถลงตีความครั้งนี้เป็นเพราะไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและบังคับสูญหายฯ เป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นมาตามกฎหมายระหว่างประเทศ 2 ฉบับ คืออนุสัญญาต่อต้านการทรมาณฯ และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ จึงทำให้ไทยสามารถถอนคำแถลงตีความทั้ง 3 ข้อที่รัฐบาลไทยเคยให้ไว้

ในรายงานระบุว่า ในส่วนของคำนิยามการทรมานในอนุสัญญาข้อ 1 นั้นมีการกำหนดความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 ของพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและบังคับสูญหายฯ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาแล้ว และใน พ.ร.บ.ยังมีการกำหนดบทลงโทษทางอาญาต่อการกระทำทรมานทุกกรณีตามมาตรา 35 และสำหรับความผิดต่อผู้สมคบตามมาตรา 39 และผู้สนับสนุนตามมาตรา 40 ซึ่งเป็นไปตามข้อ 4 ในอนุสัญญาที่ให้มีการกำหนดบทลงโทษทางอาญา แต่ในกรณีที่เป็นการพยายามกระทำผิดสมารถปรับใช้ตามประมวลกฎหมายอาญาได้

นอกจากนั้นจากข้อ 5 ของอนุสัญญา ที่กำหนดเรื่องเขตอำนาจศาลเหนือความผิดฐานกระทำทรมานนั้น ในพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและบังคับสูญหายกำหนดความผิดและบทลงโทษในมาตรา 5 และในมาตรา 8 ยังกำหนดให้กรณีเกิดการกระทำความผิดนอกประเทศต้องขึ้นศาลของไทย และไม่ให้ความผิดลักษณะนี้เป็นความผิดทางการเมืองตามมาตรา 9 ด้วย

อย่างไรก็ตามกระทรวงยุติธรรมยังขอสงวนไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามข้อ 30 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ไว้ต่อไป

ในรายงานประชุมยังระบุว่าการถอนคำแถลงครั้งนี้ของรัฐบาลจะเป็นประโยชน์แก่ไทยหลายประการ คือ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าว และเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ด้านสิทธิมนุษยชนสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือให้กับไทย อีกทั้งยังเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิในชีวิต ร่างกายและเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติให้เลื่อนการใช้พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและบังคับสูญหายบางมาตราคือ มาตรา 22-25 โดยมีการออกพระราชกำหนดออกมาเพื่อกำหนดให้เริ่มใช้มาตราเหล่านี้ในวันที่ 1 ต.ค.2566 และมีการส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเมื่อวานนี้ (28 ก.พ.2566)

สำหรับเนื้อหาของมาตรา 22-25 ที่ถูกเลื่อนใช้ออกไปเป็นส่วนที่กำหนดให้ระหว่างเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมตรวจค้น ควบคุมตัวต้องมีการบันทึกภาพและเสียงไว้และต้องบันทึกรายละเอียดกระบวนการเอาไว้รวมถึงเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถบันทึกภาพและเสียงได้

อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ได้มีการกำหนดให้เลื่อนใช้มาตราอื่นๆ ของพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและบังคับสูญหายออกไป  

ทั้งนี้ในการพิจารณาของสภาเมื่อวานนี้ ส.ส.ทั้งฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านต่างแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยเพราะมาตรา 22-25 ที่ถูกเลื่อนเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องสิทธิของประชาชนที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่และแสดงออกว่าจะไม่อนุมัติให้ พ.ร.ก.ที่รัฐบาลเสนอมาผ่าน แต่การพิจารณาต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากมี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 115 คนร่วมกันลงชื่อเพื่อขอให้ประธานส่งพ.ร.ก.ฉบับนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าขัดกับเงื่อนไขในการออกพ.ร.ก.ตาม มาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมีระยะเวลา 60 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net