ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัย พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย มาตรา 22-25 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ส่งผลให้ พ.ร.ก.ดังกล่าว 'ไม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่ต้น'
18 พ.ค. 2566 ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รายงานเมื่อ 18 พ.ค. 2566 ระบุว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 กรณีเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง หรือไม่
สืบเนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 99 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นป คือ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แก้ไขเป็น ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงส่งความเห็นดังกล่าว เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันเฟซบุ๊กของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกจดหมายข่าวเกี่ยวกับคำวินิจฉัยเพิ่มเติมว่าแม้พ.ร.ก.จัดขัดรัฐธรรมนูญและไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้น แต่ย่อมไม่กระทบต่อกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้สอดคล้องกับมาตรา 172 วรรค 3 ที่บัญญัติให้กรณีที่รัฐสภาไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ให้ พ.ร.ก.นั้นตกไปแต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้ พ.ร.ก.นั้น
ศาลรัฐธรรมนูญยังระบุอีกว่า สำหรับการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและอุ้มหาย หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสมควรกำหนดแนวทางปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของหน่วยงานในการปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.
อนึ่ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ทาง ครม.มีมติขยายการกำหนดเวลาการมีผลบังคับใช้ในบางมาตรา คือ มาตรา 22-25 ซึ่งเป็นมาตราสำคัญ ออกไปบังคับใช้ 1 ต.ค. 2566
โดยมาตรา 22 กำหนดว่า การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน
ผลการพิจารณา ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากจำนวน (8 ต่อ 1) ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสี่ วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 กรณีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 "ไม่มีผลใช้บังคับ" มาตั้งแต่ต้น (22 กุมภาพันธ์ 2566) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากประเด็นข้างต้น หมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินด้วยมติ 8 ต่อ 1 ให้การออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน และอุ้มหาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ที่ว่าด้วย การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ให้ถือว่าการออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ไม่มีผลบังคับใช้แต่แรก
ส่วนเหตุผลที่คณะรัฐมนตรี เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. เคยอ้างว่าอุปกรณ์กล้องที่ติดตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อบันทึกภาพและเสียง และความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ยังไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ มาตรา 172 รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดโดยเร็วถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติหรือสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบต่อกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
หากพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่งมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดและพระราชกำหนดนั้นต้องตกไปตามวรรคสาม ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก มีผลใช้บังคับต่อไปนับแต่วันที่การไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นมีผล
ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้น หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติ ให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การพิจารณาพระราชกำหนดของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภา และการยืนยันการอนุมัติพระราชกำหนด จะต้องกระทำในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้นๆ

ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 18 พ.ค. 2566
จดหมายข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งเรื่องที่แม้ พ.ร.ก.จะไม่มีผลตั้งแต่แรก แต่ไม่กระทบต่อการกิจการที่เกิดไปแล้วระหว่าง พ.ร.ก.ถูกใช้