Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นานมาแล้วที่สังคมไทยไม่ได้ตกอยู่ในภาวะลังเลทางจริยธรรม (ethical quandary) ว่าอะไรหรือใครกันแน่คือ ถูก ผิด ดี เลว หรือ สิ่งใดควร ไม่ควร ตัวอย่างชัดเจนหนึ่งคือ ยุคสมัยของ “คนดี” กับการบังคับใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ในฐานะเครื่องมือชี้ถูกผิดดีชั่วแบบฟันธง และลงโทษไล่ล่าตราหน้า “คนไม่ดี” ให้ออกไปจากสังคม 

การอดอาหารประท้วงของผู้ต้องหาทางการเมืองไล่มาจนถึงการอดอาหารอย่างสุดขั้วของตะวันและแบม คือปรากฎการณ์ที่กำลังลากเส้นแบ่งระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ของจริยธรรมการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย (ethics of cohabitation) หน้าที่พื้นฐานของจริยธรรมการอยู่ร่วมกันนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับชีวิตมนุษย์ แต่จะเป็นชีวิตใครบ้างที่ถูกนับรวมหรือให้ค่าควรแก่การปกป้องก็ขึ้นอยู่กับจริยธรรมที่แต่ละสังคมยึดถือในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งแปลว่าจริยธรรมในฐานะที่เป็นมาตรวัดว่าใครหรือสิ่งใดคือ ถูก ผิด ดี เลว และค่าชีวิตของใครมีมากกว่าใคร - เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

ร่างประท้วงอันแน่วแน่ของตะวันและแบม ในด้านหนึ่งกำลังทำหน้าที่ไล่รื้อถอนรากขุดโคนจริยธรรม “อันดีงาม” ที่ปฏิบัติการผ่านกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ด้วยการผลักสองสิ่งนี้ให้เข้าสู่ภาวะลังเลทางจริยธรรม (ethical quandaries) ผ่านคำถามที่เอาชีวิตตัวเองเข้าแลก - ชีวิตของกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับ ชีวิตมนุษย์สามัญด้วยกัน สิ่งใดควรค่าแก่การปกป้องมากกว่ากัน? ถ้าเราปกป้องกฎหมายนี้ แต่, ครั้งแล้วครั้งเล่า, กฎหมายนี้ก็ไม่ได้ปกป้องชีวิตสามัญของเราตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม เรายังต้องมีหน้าที่ปกป้องกฎหมายนี้ต่อไปอีกหรือไม่? ถ้าเราเมินเฉยต่อชีวิตมนุษย์สามัญด้วยกันเองภายใต้การถูกตั้งข้อหาอันไร้ขอบเขตจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ชีวิตสามัญของเราจะตกอยู่ในอันตรายอันไร้ขอบเขตนี้ไปด้วยหรือไม่? หากกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้อยุติธรรมต่อชีวิตมนุษย์สามัญครั้งแล้วครั้งเล่า ยังเป็นหน้าที่ของเราในฐานะมนุษย์สามัญอีกหรือไม่ที่ต้องเคารพกฎหมาย ซึ่งไม่เคารพชีวิตของเรา? อะไรกันแน่ที่คุกคามความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตเปราะบางของมนุษย์สามัญอย่างเราๆ ท่านๆ อยู่ ณ ขณะนี้ – การทำโพล, งานศิลปะ ฯลฯ หรือ ตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอันหาขอบเขตสิ้นสุดไม่ได้? ฯลฯ 

คำถามเชิงจริยธรรมเหล่านี้กำลังปะทุเงียบเชียบผ่านร่างประท้วงอย่างเอาเป็นเอาตายของตะวันและแบม ในขณะเดียวกันก็ขยับเส้นความสัมพันธ์ (ลดระดับความสัมพันธ์) ของกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ห่างเหินจากศรัทธาและความเชื่อมั่นของผู้คนในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ค่าที่นับวันทั้งตัวบทและการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ยิ่งทำตัวน่ากลัวอย่างไร้ขอบเขตจนสั่นคลอนความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของมนุษย์สามัญทุกคนแบบไม่เลือกหน้า สถานภาพทางจริยธรรมของกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบได้ค่อยๆ เปลี่ยนผ่านจาก “สิ่งที่แตะต้องไม่ได้” ไปสู่ความน่ากลัว น่ากลัวจนมนุษย์ด้วยกันต้องลุกขึ้นมา “แตะต้อง” เตือนสติด้วยร่างประท้วงอย่างเอาเป็นเอาตายกับสภาวะไร้ขอบเขตของการใช้อำนาจผ่านกฎหมาย - อะไรบ้างที่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายมาตรานี้? และสิทธิประกันตัวแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่? 

การพาเหรดตั้งกระทู้ถามของพรรคฝ่ายค้านและ ส.ส. บางคนจากฝั่งรัฐบาลต่อกระบวนการยุติธรรมผ่านร่างประท้วงของตะวันและแบม รวมถึงวิธีตอบกระทู้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมดนี้คือ เสียงของประชาชนที่เปล่งผ่านร่างผู้แทนของพวกเขา ผู้แทนของพวกเขาที่ในหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ก็เสงี่ยมใส่กฎหมายอาญา มาตรา 112 กันมาอย่างแข็งขัน ผนวกกับกระบวนการยุติธรรมที่ทยอยปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประหนึ่งจะขังลืมชีวิตเหล่านั้นที่ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ 

ปรากฎการณ์เช่นนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านของจริยธรรมการอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองไทย ไม่มากก็น้อย แต่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม และไม่ว่าผู้แทนในสภาอันโอ่อ่าหรือผู้คนในกระบวนการยุติธรรม “อันทรงเกียรติ” จะจริงใจหรือไม่กับคำพูดและการกระทำครั้งนี้ของตนเอง แต่พวกเขาก็ “แอ๊ค” ตรงกันข้ามกับคำถามเชิงจริยธรรมที่ส่งตรงมาจากร่างประท้วงอันแน่วแน่ของตะวันและแบมไม่ได้ เฉกเช่นครั้งหนึ่งในยุคสมัยของ “คนดี” ที่ทุกคนก็ต้อง “แอ๊ค” แบบเดียวกัน ใส่เสื้อสีเดียวกัน ยืนตรงเมื่อได้ยินเพลงเดียวกัน กรีดร้อง เกี้ยวกราดหรือสงบปากพับเพียบ ไปในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าลึกๆ แล้วในใจ, ใครจะรู้สึกเช่นไรอยู่ก็ตาม

ปฏิบัติการทางอำนาจไม่ใช่เรื่องผิวเผินแค่ความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี ระหว่างปัจเจกบุคคล หรือระหว่างกลุ่มต่างๆ มันไม่ใช่เรื่องระหว่างกลุ่มตำรวจกับกลุ่มประชาชน หรือ ปัจเจกผู้พิพากษากับผู้ต้องหา แต่อำนาจดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมันยังทำงานบนการกระทำของผู้คนในฐานะที่เป็นบรรทัดฐานความประพฤติ ถ้าแบบแผนการกระทำใดไม่สามารถโน้มน้าวการกระทำของผู้คนในสังคมได้อีกก็แปลว่าอำนาจนั้นอาจไม่ดำรงอยู่แล้ว อาทิ ไม่สามารถบังคับให้คนตัดผมทรงเดียวกันได้อีก ไม่สามารถรณรงค์ให้คนเฉลิมฉลอง, ไว้อาลัย, หรือตราหน้าคนอื่นในเรื่องเดียวกันได้อีก ไม่สามารถทำให้ผู้คนเงียบใส่ตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อชีวิตของกันและกันได้อีก ฯลฯ สภาวะที่ควบคุมกำกับการกระทำของผู้คนไม่ได้แล้วเช่นนี้, อำนาจนั้นก็ไม่อาจดำรงอยู่แล้วเช่นกัน แม้ว่าผู้มีอำนาจจะยังนั่งอยู่ในตำแหน่งอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่เดิมก็ตาม แต่อำนาจไม่ได้สิงอยู่ในร่างของใครคนใดคนหนึ่ง อำนาจ (โดยเฉพาะในสังคมการเมืองไทย) ทำงานผ่านจริยธรรมที่ผูกขาดว่าอะไรถูก อะไรผิด หากผู้มีอำนาจยังอยากจะรักษาอำนาจนั้นเอาไว้กับตัว ก็จำเป็นต้องเล่นบทไปตามมาตรวัดทางจริยธรรมของยุคสมัยที่การชี้ผิดชี้ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของผู้คนอยู่เสมอ การดันทุรังเล่นบท “คนดี” บนมาตรวัดทางจริยธรรมเดิมๆ อาจกลายเป็นการรับบทผู้ร้ายบ้าอำนาจในสังคมที่ยึดถือจริยธรรมชุดใหม่ในการอยู่ร่วมกันไปแล้ว

โดยไม่อาจหวนคืน, ร่างประท้วงของ “ผู้ต้องหา” ในคดีอาญา มาตรา 112 ได้ลากพาทั้งสังคมไทยมาเผชิญหน้ากับความลังเลทางจริยธรรมเป็นที่เรียบร้อย ผ่านคำถามเรียบง่าย -ในฐานะมนุษย์เราจะปกป้องสิ่งใดระหว่างลมหายใจของมนุษย์ด้วยกันเอง หรือ กฎหมายที่จ้องแต่จะพรากอิสรภาพและลมหายใจของมนุษย์ด้วยกันเองอย่างไร้ขอบเขต? คำถามนี้พุ่งตรงไปยังเหล่ามนุษย์สามัญที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม พร้อมเตือนความจำให้กัน (อีกครั้ง) ว่ากฎหมายและความยุติธรรมไม่ได้หลุดลอยมาจากสวรรค์ชั้นฟ้า แต่มีกำเนิดและพันธสัญญาเหนียวแน่นต่อความเป็นมนุษย์ 

หากย้อนกลับไปในมหากาพย์ตำนานของกรีกโบราณก็จะพบว่ามนุษย์เข้าสู่ยุคตั้งคำถามและใช้เหตุผลในการแสวงหาคำตอบมาตั้งแต่เมื่อหกร้อยปีก่อนคริสตกาล (ยุคก่อนโสคราติส) นั่นแปลว่า นานมากแล้วที่มนุษย์เลิกปล่อยให้โชคชะตาของตนเป็นไปตามกำหนดอำเภอใจของอำนาจลึกลับดำมืดที่เต็มไปด้วยเทพเจ้าและสรวงสรรค์ และมนุษย์ไม่ว่ายุคไหนๆ ต่างก็ขบคิดหาวิธีอยู่ร่วมกันเพื่อเป้าหมายแห่งการปลอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ เรื่อยมา

กฎหมายกับแนวคิดเรื่องความยุติธรรมก็ถือกำเนิดและมีพัฒนาการมาจากพันธกิจนี้ของมนุษย์ - การอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต พ้นไปจากพันธกิจนี้ก็หาเหตุผลไม่ได้ว่ามนุษย์เราจะมีกฎหมายไปทำไม

หากนับตามมาตรวัดทางจริยธรรมที่เปลี่ยนไปในสังคมไทย สิ่งที่กดดันกระบวนการยุติธรรมอยู่ในขณะนี้อาจคือตัวกระบวนการยุติธรรมเองที่ทำตัวข้ามพ้นพันธกิจของกฎหมาย ในความหมายว่าทำตัวข้ามพ้นความเป็นผู้เป็นคนต่อมนุษย์สามัญด้วยกันเอง จนมนุษย์ด้วยกันเองต้องมาอดข้าวอดน้ำประท้วงใส่ในดีกรีที่หนักขึ้นเรื่อยๆ - จริยธรรมใหม่ของการอยู่ร่วมกันกำลังแลกหมัดกับจริยธรรมเก่าด้วยชีวิต 

จะช้าหรือเร็ว, ผู้แพ้ย่อมคือผู้ที่ไม่หมุนตามความเปลี่ยนแปลงจริยธรรมในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์

 

อ้างอิง
ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา (2564), วรเจตน์ ภาคีรัตน์
Michel Foucault Power: Essential works of Foucault 1954 – 1984 volume 3 (1994), edited by James D Faubion
Precarious Life, Vulnerability, and the Ethics of Cohabitation (2012), Judith Butler. 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net