Skip to main content
sharethis

คกก.อิสระฯ แก้ปัญหาบางกลอย มีมติที่ประชุมเห็นชอบแนวทางแก้ปัญหา 3 ระยะ สั้น-กลาง-ยาว เน้นแก้คดีความ พัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมอุทยานฯ ทำโครงการกลับไปทำกินถิ่นดั้งเดิม 

 

22 ก.พ.2566 วานนี้ (21 ก.พ. 2566) อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ณ อาคาร ก.พ. (เดิม) ทำเนียบรัฐบาล โดยเห็นชอบแนวทางแก้ปัญหา 3 ระยะ ตั้งแต่คดีความ คุณภาพชีวิต จนถึงแนวทางกลับไปทำไร่หมุนเวียนที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน รวมถึงให้นำข้อเสนอของ กมธ.ที่ดินฯ มาดำเนินการ

ในด้านคดีความ คณะกรรมการอิสระฯ รายงานว่าได้ประสานงานไปยังกระทรวงยุติธรรม และให้ทางกระทรวงยุติธรรมติดตามอย่างใกล้ชิด โดยให้เกิดผลดีและความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ได้ทราบว่าทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ประสานงานไปยังผู้พิพากษา และอัยการที่เกี่ยวข้องด้วย

สำหรับพื้นที่บางกลอยล่างในปัจจุบัน ที่ประชุมมีมติให้ใช้แนวทางเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยจะดำเนินการตามแผนใน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ได้แก่

ระยะสั้น

1. ข้อเสนอให้มีการทดลองทำ “นาข้าวแปลงรวม” โดบใช้พื้นที่ที่บ้านโป่งลึกจัดทำเป็นไร่ตัวอย่าง 

2. ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ในกรณีของน้ำผึ้งป่า ต้องหารือเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และมาตรา 65

3. การแก้ไขปัญหาด้านคดีความ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประสานการเลื่อนการพิจารณาคดีความฟ้องร้อง

ระยะกลาง

1. การพัฒนาระบบประปาภูเขา โดยแบ่งเป็นขั้นตอนการสำรวจและขั้นตอนการดำเนินงาน

2. การพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรณีที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ประสาน พอช. สำรวจและดำเนินงานตามโครงการบ้านมั่นคง

3. การจัดการขยะ ให้ อบต. ห้วยแม่เพรียง มีบทบาทหน้าที่เชิงรุกแก้ไขปัญหาขยะเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้คนในชุมชน

4. การปรับกลไกการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระฯ ให้มีการดำเนินงานเชิงพื้นที่มากขึ้น 

ระยะยาว

1. การพัฒนาเส้นทางถนนและสะพาน โดยนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการอิสระฯ

2. พัฒนาระบบประปาภูเขา ภายหลังการสำรวจพื้นที่ตามแผนระยะกลาง 

3. การนำแผนพัฒนาบางกลอยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อให้ชาวบ้านบางกลอยสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และควรเชิญหน่วยงานดังกล่าวเข้าร่วมประชุม

4. การบูรณาการเชิงพื้นที่ตามพระราชกฤษฎีกาบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 เพื่อให้ชาวบ้านบางกลอยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ส่วนประชาชนที่อยากจะกลับขึ้นไปตั้งถิ่นด้านเดิม มีมติที่ประชุมว่าเสนอนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ทำการสำรวจพื้นที่ตามมาตรา 64 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 โดยเสนอให้ทำโครงการศึกษาร่วมกัน

นอกจากนั้น เนื่องจากคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เสนอข้อเสนอการแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย ทั้งหมด 6 ข้อ ก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย  

1. ตั้งองค์กรหรือคณะกรรมการที่เป็นกลางร่วมเป็นคณะกรรมการ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วประเทศ จึงควรได้รับการแก้ไขอย่างถูกทิศทาง

2. กำหนดมาตรการเยียวยาและคืนสิทธิมห้กลุ่มขาวบ้านผู้เดือดร้อน และประสงค์กลับไปอยู่อาศัยทำกินตามระบบเกษตรไร่หมุนเวียน แบบวิถีชุมชนชาติพันธุ์

3. เร่งดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย แต่ประสงค์จะดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนบ้านบางกลอยล่าง

4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้สัญชาติแก่ราษฎรในหมู่บ้านบางกลอย 

5. กำหนดแนวทางลดผลกระทบด้านคดีความที่กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่ใชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรม 

6. การดำเนินการใดๆ ที่จะใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ควรสร้างกลไกการทีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตัดสินใจอย่างแท้จริง

ซึ่งข้อเสนอของคณะกรรมาธิการทั้ง 6 ข้อ สอดคล้องกับแนวทางของกรรมการอิสระ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทาง พร้อมจัดทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการที่ดินแจ้งถึงการดำเนินการที่สอดคล้องกัน

ส่วนการสำรวจของพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยอยู่อาศัยมีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ เหมือนกับกรณีที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเกาะหลีแป๊ะ คณะกรรมการอิสระฯ ขอสนับสนุนภาพถ่ายทางอากาศบริเวณบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ของกรมแผนที่ทหาร เพื่อนำมาเป็นสารตั้งต้นในการเริ่มการสำรวจตามมาตรา 64 เพราะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จะได้เห็นร่องรอยการทำประโยชน์ว่ามีอยู่จริง โดยให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DS)I เป็นหน่วยงานในการอ่านแปลภาพถ่าย

ชาวบางกลอยสะท้อนปัญหาปัจจุบัน ถูกคุกคาม ขาดอาหาร เหตุไร้ที่ทำกิน

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า ชาวบ้านบางกลอย ในนาม ‘กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น’  ได้ประชุมหมู่บ้านเพื่อสรุปสถานการณ์ปัญหาและข้อเสนอแนะถึงคณะกรรมการอิสระฯ ดังกล่าว โดยพบว่าชุมชนประสบปัญหาการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ เจ็บป่วย ขาดแคลนอาหาร  เนื่องจากยังไร้ที่ทำกิน

พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2566 ชาวบ้านบางกลอยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนายหนึ่ง ว่าพบ ตะกินุ กว่าบุ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ในระหว่างการลาดตระเวนในพื้นที่ป่า โดยได้มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนายหนึ่งยิงปืนข่มขู่ตะกินุจนหนีไป และหายไปจากชุมชนประมาณ 7 วัน ทำให้ญาติของนายตะกินุอยู่ในสภาวะวิตกกังวล และชาวบ้านบางกลอยได้จัดคนเข้าไปลาดตระเวนตามหาในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นตะกินุได้กลับมาถึงชุมชนโดยสวัสดิภาพ

​แม้ยังไม่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้นายตะกินุได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนายนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความลุแก่อำนาจและขาดความชั่งใจ ทำให้ชาวบ้านกังวลว่าเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากเห็นตัวอย่างชุมชนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่มีชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ยิงจนเสียชีวิต

ส่วนสถานการณ์ด้านรายได้ พบว่า ชาวบ้านบางกลอยที่ทำงานทอผ้าในโครงการศูนย์ฝึกศิลปาชีพ โครงการในพระราชดำริ แจ้งว่า ได้รับรายได้ต่อวันต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย และการจ่ายค่าแรงล่าช้าประมาณ ๒-๓ เดือน หรือหากได้ค่าแรงตามกำหนดก็อาจไม่ได้น้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินมาอย่างยาวนาน แม้จะมีการประสานงานจากอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วในช่วงปลายปี 2565

นอกจากนั้น ยังพบว่าชุมชนประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร

โดยชาวบ้านบางกลอยยังคงขาดแคลนอาหาร เป็นผลจากการไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินทำกินแต่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ แต่ขณะนี้ความจำเป็นเรื่องด่วนด้านอาหารคือข้าวและพริก

​รวมถึงชาวบ้านบางกลอยหลายคนป่วยเป็นไข้เลือดออก ท้องเสีย อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด ไข้หวัด ซึ่งอาการของโรคเหล่านี้แพร่ระบาดอยู่ทั่วหมู่บ้านในขณะนี้

สำหรับคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้รับการลงนามแต่งตั้งโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565 โดยมีอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประกอบกับมีสัดส่วนของภาควิชาการผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านเข้ามาร่วม ที่ผ่านมามีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ได้มีมติรับรองให้ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน เป็นชุมชนดั้งเดิม และให้มีมาตรการช่วยเหลือทางคดี รวมถึงตอบสนองข้อเรียกร้องของกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นที่ต้องการกลับไปทำกินแบบไร่หมุนเวียนที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net