Skip to main content
sharethis
  • 'ก้าวไกล' มีมติโหวตคว่ำ พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย จี้ ส.ส. รัฐบาลต้องปกป้องประชาชน อย่าทำสภาล่มหรือยื่นศาล รธน. เตะถ่วงเพื่ออุ้มประยุทธ์ เช่นเดียวกับ 'ไทยสร้างไทย' ที่ร้อง ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้านคว่ำ
  • ประธานสภาฯ เดินหน้า ถก พ.ร.ก. เว้นแต่องค์ประชุมไม่ครบก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ยอมรับก่อนลงมติสภาฯเสียง 1 ใน 5 ขอยื่น ศาล รธน.วินิจฉัยความชอบตาม ม.172 ได้ แต่หากลงมติไม่อนุมัติก็ถือว่าจบ
  • โฆษกรัฐบาล เผย ตำรวจยันความจำเป็นในการเสนอเลื่อนบังคับใช้แจงต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

27 ก.พ.2566 ความคืบหน้ากรณีการเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ดังกล่าว ขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะ ม.22 ม.23 ม.24 และม.25 ออกไป ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป จากเดิมที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 22 ก.พ.2566 

'ก้าวไกล' มีมติโหวตคว่ำ พ.ร.ก. จี้ ส.ส. รัฐบาลต้องปกป้องประชาชน อย่าทำสภาล่มหรือยื่นศาล รธน. เตะถ่วงเพื่ออุ้มประยุทธ์

ทีมสื่อพรรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลว่า ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมเพื่อพิจารณา พ.ร.ก. ดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (28 ก.พ. 66) โดยตนได้แจ้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล มีมติโหวตคว่ำ พ.ร.ก. ฉบับนี้ของรัฐบาล และไม่เห็นด้วยกับการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.ก. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล

“พ.ร.บ. อุ้มหายฯ เป็นกฎหมายที่ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลผลักดันร่วมกันกับภาคประชาสังคม เพื่อคุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิและร่างกายของประชาชนระหว่างถูกควบคุมตัว ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยยืนยันต่อ กมธ. ของสภาเองว่า เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ทันแน่นอน ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดที่ พ.ร.บ. อุ้มหายฯ จะต้องบังคับใช้แล้ว การออก พ.ร.ก. เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จึงรับฟังไม่ได้ และชัดเจนอยู่แล้วโดยไม่ต้องถามศาล รธน. ว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมิได้เป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด” ทั้งนี้ชัยธวัชให้ความเห็นว่า “พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและผู้กำกับดูแลตำรวจ ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ เพราะการอ้างว่าตำรวจไม่พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายทั้งๆ ที่มีเวลาเตรียมตัวถึง 120 วัน แท้จริงแล้วมันสะท้อนตัวตนของ พล.อ. ประยุทธ์ที่ไม่ต้องการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิและชีวิตร่างกายของประชาชน ซึ่งถ้าพรุ่งนี้ พ.ร.ก. ถูกคว่ำในสภา พล.อ.ประยุทธ์สมควรต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯทันที เพราะไม่มีความชอบธรรมที่จะรักษาการต่อหลังยุบสภาอีกแล้ว”

นอกจากนี้ในประเด็นที่มีการเสนอให้ ส.ส. เข้าชื่อต่อประธานสภาเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการ พ.ร.ก. นั้น เลขาธิการพรรคก้าวไกลชี้ว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่าไม่ควรยื่นศาล รธน. เพราะเป็นอำนาจเต็มของสภาผู้แทนฯ อยู่แล้วที่จะลงมติว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกมาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ   ที่สำคัญ การยื่นศาล รธน. จะเป็นการช่วยเตะถ่วงให้ พ.ร.ก. ที่ออกมาโดยมิชอบสามารถบังคับใช้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประชาชน และคนที่จะได้ประโยชน์ที่สุดจากการยื่นศาล รธน. คือ พล.อ. ประยุทธ์เพราะไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองใดๆ หากสภาโหวตไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ของรัฐบาล

ชัยธวัช ยืนยันว่า ส.ส. ก้าวไกลจะไม่ร่วมยื่นคำร้องไปยังศาล รธน. และเรียกร้องให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลอย่าเจตนาทำให้สภาล่มในวันพรุ่งนี้ รวมทั้งขอให้ลงมติเพื่อคุ้มครองประชาชน มิใช่เพื่อคุ้มครอง พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลอย่าเขียนด้วยมือแต่ลบด้วยเท้า ควรลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะแสดงตัวให้ชัดเจนว่าจะอยู่ข้างประชาชนหรืออยู่ข้างผู้นำบ้าอำนาจ และขอเตือนว่าอย่าลักไก่ด้วยการชิงยื่นคำร้องไปยังศาล รธน. เพื่อตัดตอนไม่ให้มีการลงมติกันในสภา เพราะจะแสดงให้ประชาชนเห็นชัดเจนว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีความกล้าหาญและซื่อตรงต่อประชาชนพอที่จะลงมติในสิ่งที่ถูกต้อง แต่เลือกจะปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ และกลัวจะเสียคะแนนนิยมหากต้องโหวตเห็นชอบกับ พ.ร.ก.

'ไทยสร้างไทย' ร้อง ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้านคว่ำ

คลื่นข่าว MCOT NEWS FM 100.5 รายงานว่า ชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคไทยสร้างไทย และอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เรียกร้องให้ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน พิจารณา คว่ำ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566  ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ (28ก.พ.66) เพื่อให้ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนก่อนจะหมดวาระของสภาฯ

ประธานสภาฯ เดินหน้า ถก พ.ร.ก. เว้นแต่องค์ประชุมไม่ครบก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ยอมรับก่อนลงมติสภาฯเสียง 1 ใน 5 ขอยื่น ศาล รธน.วินิจฉัยความชอบตาม ม.172 ได้ แต่หากลงมติไม่อนุมัติก็ถือว่าจบ

ไทยพีบีเอส รายงานว่า ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าว ที่จะพิจารณาในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ว่า มีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 172 หรือไม่ ก่อนหน้านี้ก็มี ส.ส.ใช้เวลาหารือในที่ประชุมเรื่องนี้และยอมรับว่า มีบางฝ่ายกังวลว่าจะมีการยื่นเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า พ.ร.ก.ที่ออกมานี้ขัดต่อมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งสมาชิกสามารถทำได้ในการเข้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในการประชุมวันที่ 28 ก.พ. บรรจุระเบียบวาระเรื่องเดียว ซึ่งก็ต้องเดินหน้าพิจารณา เว้นแต่หากองค์ประชุมไม่ครบก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ หากสามารถเปิดประชุมได้มีการลงมติแล้วมีมติไม่อนุมัติก็ถือว่าไม่ผ่าน ซึ่งหมายถึงการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายก็ไม่มีผล และยืนยันว่าการพิจารณา พ.ร.ก. ไม่สามารถที่จะชะลอได้ แต่มีเพียงช่องทางที่สมาชิกใช้สิทธิทางกฎหมายในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการลงมติ โดยการเข้าชื่อ 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ ซึ่งหากมีการยื่นมาในฐานะประธานสภาก็ต้องยื่นส่งศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน

พร้อมกันนี้ชี้แจงว่า พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวรัฐบาลส่งมายังสภาในวันที่ 23 ก.พ. ช่วง 16.15 น. จึงต้องหาหรือว่าจะนัดประชุมวันไหน และชินวรณ์ บุณยเกียรติ วิปรัฐบาลแจ้งว่าทุกฝ่ายพร้อมหารือในวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งองค์ประชุมก็ต้องเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายรัฐบาล

โฆษกรัฐบาล เผย ตำรวจยันความจำเป็นในการเสนอเลื่อนบังคับใช้แจงต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงการเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง มีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการจับกุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินคดีในชั้นศาลได้ นั้น 

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานหลักที่เสนอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีข้อชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะม.22 ม.23 ม.24 และม.25 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับกุมและควบคุมตัวอย่างต่อเนื่องไว้ตลอดเวลาจนส่งพนักงานสอบสวน ที่ต้องเก็บไฟล์ภาพและเสียงไว้ตลอดจนกว่าคดีจะขาดอายุความ จึงต้องมีแหล่งจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่ง ม.22 ในเรื่องการบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมตัวผู้ต้องหา และควบคุมตัวโดยผู้ที่จับกุม ไม่ใช่เฉพาะแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผู้ที่ไปดำเนินการควบคุมตัว ต้องมีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องจนส่งพนักงานสอบสวน 

ทั้งนี้ ในการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพ ตามที่ ครม. ได้อนุมัติงบประมาณนั้น จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนกว่าจะได้รับอุปกรณ์มาแจกจ่าย จึงเป็นเหตุผลที่มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว (ส่วนมาตราอื่น ๆ ยังใช้เหมือนเดิม) แต่ถ้าไม่เลื่อนอาจจะเกิดความเสียหายในด้านคดีความได้ และอาชญากรจะนำมาเป็นประโยชน์ต่อตนเองเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี เพราะจะต้องมีการบันทึกภาพไว้ตลอดตั้งแต่การจับกุมและควบคุมตัว จนไปถึงการส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน ซึ่งในวันนี้ยังไม่มีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องมือ ระบบที่เป็นหัวใจสำคัญ ของ พ.ร.บ.นี้ รวมถึงทุกหน่วยงานของรัฐอื่นก็มีข้ออุปสรรคในลักษณะเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ การออก พ.ร.ก. เรื่องนี้มิได้เป็นเรื่องทางฝ่ายการเมือง แต่เป็นเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ ได้ร้องขอโดยแท้ เพราะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องอุปกรณ์การบันทึกภาพและเสียง อุปกรณ์การจัดเก็บข้อมูล รวมถึงระบบในการจัดเก็บ การดาวน์โหลดข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากในแต่ละวันตำรวจมีการเผชิญเหตุ และจับกุมผู้กระทำความผิดทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก มีกำลังพลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่ต่ำกว่า 150,000 นาย ทั้งฝ่ายป้องกันปราบปราม สืบสวน จราจร ฝ่ายควบคุมฝูงชน สอบสวน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งหน่วยงานหลักในการปฏิบัติหน้าที่และเกี่ยวข้องมากที่สุดคือ ตช. เพราะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิดได้กว้างขวางครอบคลุมแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่าหน่วยงานอื่น และยังมีหน่วยราชการที่มีหน้าที่และอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายอีกหลายหน่วย ที่ยังไม่ชัดเจนในความพร้อมในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน 

อนุชากล่าวต่อไปว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงด้วยว่า ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้ต้องมีการส่งข้อมูลให้กับผู้รับแจ้ง คือ พนักงานอัยการ และฝ่ายปกครองในทันทีด้วย ซึ่งการทำงานจะต้องมีการจัดตั้งเป็นระบบประสานส่งต่อกัน กำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกัน และควรมีการซักซ้อมการปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการดังกล่าวอย่างครบถ้วน หากบังคับใช้ทันที โดยไม่เลื่อน อาจจะเกิดความเสียหายในวงกว้าง หากเร่งรีบบังคับใช้อาจจะเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของรัฐมีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นว่า การนำกฎหมายออกใช้ ทั้งที่รู้ว่าในขณะนี้หน่วยงานหลักคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่มีความพร้อม จะทำให้การเฝ้าระวังและการเก็บรวบรวมและบันทึกพยานหลักฐานในระหว่างการคบคุมตัวของเจ้าหน้าที่มีความไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจทำให้เป็นประเด็นโต้แย้งในชั้นการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ส่งผลให้การจับมิชอบ การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ซึ่งจะเป็นผลร้ายแรงต่อสังคมและความปลอดภัยสาธารณะอย่างร้ายแรง 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รอความพร้อมดังกล่าวข้างต้น ทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มิได้เพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยพยายามที่จะดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้ เท่าที่จะดำเนินการได้ในขณะนี้ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในการจับกุม ในข้อหาที่มีอัตราโทษสูง ให้บันทึกภาพและเสียงอยู่แล้ว ตลอดจนเจ้าหน้าที่สายตรวจ จราจร ที่ตั้งจุดตรวจจะต้องติดตั้งกล้องประจำตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ตั้งจุดตรวจเท่าที่จะสามารถกระทำได้ และกวดขันให้เข้มแข็งเพื่อเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และเพื่อให้เข้าถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังกล่าวอย่างแท้จริง

“ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการเตรียมการและร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและหน่วยราชการต่าง ๆ ขับเคลื่อนการเตรียมการเพื่อปฏิบัติตาม พร.บ.ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นเรื่องของการกำหนดมาตรฐานการทำงานใหม่ มีรายละเอียดการปฏิบัติที่จะต้องออกเป็นระเบียบที่ใช้ร่วมกันของหลายหน่วยงาน รวมทั้งต้องเตรียมการทั้งเรื่องบุคลากร และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไปพร้อมๆ กันหลายประการ ซึ่งระยะเวลาการเตรียมการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ 120 วัน ไม่เพียงพอที่จะดำเนินการให้มีความพร้อมทุกด้านได้ โดยเฉพาะเรื่องอุปกรณ์การถ่ายภาพและเสียง และอุปกรณ์การจัดเก็บไฟล์ภาพและเสียงไว้ตลอดอายุความ ทั้งนี้ ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้จะอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้น และประชาชนจะได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิและข้อกฎหมายต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม และหลังจากนี้จะมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา ซึ่งกฎหมายใหม่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าในเรื่องสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติงานที่สุจริตจะเป็นเกราะคุ้มกันให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net