Skip to main content
sharethis

ฝ่ายค้านฯ ชี้รัฐบาลออกพ.ร.ก.ขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  แอมเนสตี้ฯ เตรียมยื่นแถลงการณ์ต่อ 5 พรรคพรุ่งนี้

27 ก.พ.2566 ความคืบหน้ากรณีการเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ดังกล่าว ขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะ ม.22 ม.23 ม.24 และม.25 ออกไป ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป จากเดิมที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 22 ก.พ.2566 นั้น

วันนี้ (27 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมด้วยนักกิจกรรม ผู้เสียหายจากการทรมานและครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย จะเดินทางไปยื่นหนังสือแถลงการณ์เกี่ยวกับการเลื่อนใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบการทรมานและอุ้มหายบางมาตราต่อตัวแทน 5 พรรคการเมืองที่รัฐสภาเกียกกาย ในวันอังคารที่ 28 ก.พ. 2566  เวลา 10.30 น. ณ ห้องแถลงข่าวของรัฐสภา 

มติชนออนไลน์และสำนักข่าวไทย รายงานตรงกันว่า ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ 28 ก.พ.นี้ เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอว่า การออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีเหตุความจำเป็น ไม่มีภัยพิบัติ ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หากรัฐบาลจะอ้างเรื่องการจัดหากล้องไม่ทัน ต้องขยายเวลาออกไปก่อน ก็สามารถจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษได้ อีกทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในกำกับดูแลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่จะหางบประมาณมาจัดซื้อได้ จึงไม่จำเป็นต้องออกพระราชกำหนด

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวด้วยว่า หากจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า พ.ร.ก.นี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องยื่นคัดค้านก่อนที่จะมีพิจารณาหรือก่อนการอนุมัติ พ.ร.ก. หากมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาต้องสั่งให้ยุติการพิจารณาจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และตามกรอบเวลาประธานสภาจะต้องส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และตราบใดที่ยังไม่มีการอนุมัติจากสภา หรือยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผลบังคับใช้ พ.ร.ก.ก็ยังมีอยู่ตลอด โดยช่วงระยะเวลาเป็นปัจจัยที่จะตัดสินใจต่อการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านคาดหวังว่าสภาควรจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอนุมัติ พ.ร.ก.หรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรอนุมัติ ก็ไม่ควรที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ชลน่านกล่าวต่อว่า หากสภาอนุมัติ ก็ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบ จึงเป็นสภาพบังคับให้ ครม.เปิดสมัยวิสามัญเพื่อให้วุฒิสภาพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุ้มหาย หากวุฒิสภาอนุมัติ ก็จบไป หรือหากสภาไม่อนุมัติและวุฒิสภาไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ก็ตกไป แต่หากสภาไม่อนุมัติ และส่งให้วุฒิสภา แล้ววุฒิสภา อนุมัติก็ต้องส่งกลับมายังสภาพิจารณาอีกครั้งว่าจะยืนยันมติของวุฒิสภาหรือไม่

สำหรับจุดยืนของพรรคฝ่ายค้านนั้น ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าคือไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าวด้วยเห็นว่ากระบวนการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ สมัยประชุมสภาจะปิดวันที่ 28 ก.พ. หากจำเป็นต้องเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าว ต้องมีเงื่อนไขว่ายังมีรัฐบาลอยู่ และจะต้องเปิดภายในอายุของสภาคือวันที่ 23 มี.ค. 2566 เท่านั้น หากหมดอายุสภาแล้วก็ไม่สามารถเปิดสมัยวิสามัญได้

ขณะที่ท่าทีของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์นั้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย โดยประเมินว่าสภาฯ จะสามารถพิจารณา และอภิปรายได้ แต่อาจจะยังไม่สามารถลงมติได้ เนื่องจากจะมีผู้เข้าชื่อ 1 ใน 5 เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการออกพ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ โดยประธานสภาฯ ต้องพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นด้วยต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน3วัน และศาลรัฐธรรมนูญต้องรับเรื่องไปวินิจฉัยภายใน 60 วัน โดยพ.ร.ก.นี้มีผลบังคับใช้ต่อไป

สาทิตย์ กล่าวด้วยว่าสำหรับประเด็นสภาฯ ล่มหรือไม่ ตนมองว่าสุ่มเสี่ยง เพราะฝ่ายค้านต้องมาครบ เนื่องจากเหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกรอบ ส่วนรัฐบาลเสียงแตก เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ส่งพ.ร.ก.เข้าสู่สภาฯ  มีส่วนที่เห็นชอบต้องอนุมัติเพราะเป็นกฎหมายของรัฐบาล ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าไม่เห็นด้วย และจะโหวตไม่เห็นด้วย และอีกส่วนจะไม่เข้าประชุม

“หากสภาฯล่ม จะหมดสมัยประชุม หนีไม่พ้นที่รัฐบาลต้องขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพราะหากไม่ยุบสภาฯ จะมีเวลาถึง 23 มีนาคม และรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ครม.ต้องเสนอให้สภาฯพิจารณาโดยเร็ว ส่วนกรณีการโยนให้รัฐบาลชุดหน้า ผมมองว่าไม่ได้ เพราะรัฐบาลชุดนี้ต้องเปิดสมัยวิสามัญ แต่หากเปิดแล้วล่มอีก เพราะรัฐบาลเล่นเกมอาจถูกตรวจสอบเรื่องจริยธรรมได้ ดังนั้นเป็นสภาพบังคับที่ส.ส.รัฐบาลต้องมาประชุม” สาทิตย์ กล่าว

สาทิตย์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการแสดงจุดยืนของ พรรคประชาธิปัตย์ จะหารือเพื่อเป็นมติอีกครั้ง ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ โดยยอมรับว่าในพรรคประชาาธิปัตย์ มีส.ส.ส่วนหนึ่งไม่เห็นกับพ.ร.ก. ดังกล่าว ส่วนแนวโน้มต่อการไม่อนุมัตินั้นต้องรอมติของพรรคคอีกครั้ง อย่างไรก็ดีกฎหมายดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นจุดยืนของพรรคมาโดยตลอด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net