Skip to main content
sharethis
  • ตลอดทั้งปี 2565 ทั่วโลกเผชิญกับโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเป็นหลัก ทั้งนี้ WHO เคยประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เพราะมีการกลายพันธุ์ส่วนโปรตีนหนามหลายตำแหน่ง ทำให้สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้มากขึ้น มีการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วสามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีก
  • สำหรับประเทศไทยการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน ได้ทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มจำนวนขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงต้นปี 2565 อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดอย่างมากแต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่กลับมีอาการที่ไม่รุนแรง ต่อมาเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยเริ่มลดลง ประเทศไทยจึงได้ปรับระดับโรคโควิด-19 จาก ‘โรคติดต่ออันตราย’ ลดลงมาเป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นมา
  • หลายประเทศก็ได้เผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้หลายประเทศได้ทยอยยกเลิกมาตรการเข้มงวดและหันมาใช้มาตรการอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 แทน มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 แล้ว แต่ในช่วงปลายปี 2565 การระบาดใหญ่ได้กลับไปยังจุดกำเนิดคือประเทศจีนอีกครั้ง ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนานาชาติ

ปี 2565 ถือว่าเป็นปีที่ 3 ที่มนุษย์โลกต้องเผชิญและพยายามใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ 'โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019' หรือ 'โควิด-19' (COVID-19) ผ่านวิกฤตการณ์การระบาดทั้งสายพันธุ์อู่ฮั่น สายพันธุ์อัลฟ่า สายพันธุ์เบต้า สายพันธุ์เดลต้า จนมาถึงสายพันธุ์โอมิครอน ที่คาดหมายกันว่าจะเป็นสายสุดท้ายก่อนที่โควิด-19 จะเปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่ (Pandemic) สู่สถานะโรคประจำถิ่น (Endemic)

การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2565

ตลอดทั้งปี 2565 ทั่วโลกเผชิญกับโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเป็นหลัก ทั้งนี้ WHO เคยประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เพราะมีการกลายพันธุ์ส่วนโปรตีนหนามหลายตำแหน่ง ทำให้สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้มากขึ้น มีการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วสามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีก | ที่มาภาพ: geralt (Pixabay License)

ช่วงเดือน พ.ย. 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 หรือชื่อเรียกภายหลังคือ "สายพันธุ์โอไมครอน" (Omicron) ครั้งแรกในหลายประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้

ต่อมาในเดือน ธ.ค. 2564    เริ่มพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย มีการเปิดเผยว่า ณ ช่วงเวลานั้นเชื้อ COVID-19 ที่ระบาดในไทยส่วนใหญ่พบเป็นสายพันธุ์เดลต้าเป็นส่วนใหญ่หรือคิดเป็น 83.8% ส่วนสายพันธุ์โอไมครอน 16.2%

ช่วงต้นปี 2565 สัดส่วนการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทยเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกลับการกลับมาระบาดอย่างหนักของโควิด-19 หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ลดลงไปเมื่อปลายปี 2564 (ก่อนการปรากฎกายของสายพันธุ์โอไมครอน) จนถึง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2565 เชื้อโควิด-19 ที่ระบาดในไทยส่วนใหญ่พบเป็นสายพันธุ์โอไมครอนเกือบ 100% โดยสถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในประเทศไทยพุ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยถึงจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2565 ที่ 28,379 ราย (เฉพาะตรวจ RT-PCR) จากนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ได้ทยอยลดลง หลังจากที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565

สำหรับอาการของผู้ป่วยสายพันธุ์โอไมครอนนั้น จากข้อมูลที่รวบรวมโดยกระทรวงสาธารณสุข ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ พบว่าเบื้องต้นอาการไม่แตกต่างจากอาการโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ มีไข้ เจ็บคอ และไอแห้ง ๆ เกือบทุกประเทศรายงานตรงกันว่าความรุนแรงไม่มากเท่าเดลตา หลายประเทศบอกว่ารุนแรงน้อยกว่าเดลตาพอสมควร พบบางรายมีอาการปอดอักเสบ และเนื่องจากการที่ไม่ค่อยจะแสดงอาการเมื่อป่วยทำให้เป็นการยากในการคัดกรอง รวมทั้งผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ก็ยังสามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีก ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้จึงอาจปะปนกับผู้ไม่ติดเชื้อได้อย่างกลมกลืน อันเป็นสาเหตุของการระบาดอย่างหนักในช่วงต้นปี 2565

ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่าในช่วงปลายปี 2565 (26 พ.ย.-2 ธ.ค.) ผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อก่อโรคโควิด-19 พบว่าสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยเกือบทั้งหมด 100% เป็นสายพันธุ์โอไมครอน ไม่พบสายพันธุ์เดลตาแล้ว โดยเป็นโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2.75 ร้อยละ 75.9 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดที่ตรวจพบ

โควิด-19 สายพันธ์ต่างๆ ที่เคยระบาดในประเทศไทย

สายพันธุ์อู่ฮั่น (Serine) พบครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในช่วงปลายปี 2562 และพบที่ไทยครั้งแรกในเดือน ม.ค. 2563 จากหญิงชาวจีนที่เดินทางมาจากอู่ฮั่น การแพร่เชื้อครั้งนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อในหลายพื้นที่ต่างๆ และเกิดคลัสเตอร์ในจุดสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น สนามมวยลุมพินี ราชดำเนิน และ จ.สมุทรสาคร

สายพันธุ์เบตา (B.1.351) ระบาดครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ พบครั้งแรกในประเทศไทยเดือน ม.ค. 2564 ซึ่งผู้ติดเชื้อรายแรกๆ ในไทยเดินทางมาจากแทนซาเนีย เชื้อสายพันธุ์นี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วขึ้น 50% จากสายพันธุ์ดั้งเดิม ก่อให้เกิดอาการหนักหากลงปอดจะทำให้จะทำให้เจ็บหน้าอกหายใจลำบาก

สายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7) ระบาดครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร พบครั้งแรกในไทยเดือน เม.ย. 2564 โดยการแพร่ระบาดเริ่มต้นที่ คลัสเตอร์ทองหล่อและแพร่กระจายไปเกือบทุกจังหวัด แต่สายพันธุ์นี้ไม่ค่อยน่ากังวลมากนัก ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้มีอาการไม่มากนัก ไข้ต่ำๆ ปวดตามร่างกาย แต่ยังรับกลิ่นได้ปกติ

สายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) ระบาดครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย พบที่ไทยครั้งแรกเดือน พ.ค. 2564 จากคลัสเตอร์แคมป์คนงานหลักสี่ ก่อนที่จะเกิดการระบาดกระจายเป็นวงกว้างทั่วทุกพื้นที่ และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย ซึ่งสายพันธุ์นี้ถือว่าอันตรายมากในไทย เพราะส่งผลให้มีผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นจำนวนมากถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบโดสแล้วก็ตาม

สายพันธุ์โอไมครอน (B.1.1.529) ระบาดครั้งแรกในแถบแอฟริกาใต้ พบครั้งแรกในไทยเดือน ธ.ค. 2564 เป็นสายพันธุ์ที่ WHO เคยประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เพราะมีการกลายพันธุ์ส่วนโปรตีนหนามหลายตำแหน่ง ทำให้สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้มากขึ้น มีการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วสามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีก สายพันธุ์โอไมครอน เป็นสายพันธุ์มีการกลายพันธุ์มากที่สุด จนเกิดสายพันธุ์ย่อยมากมาย ซึ่งในไทยจะพบหลายสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเป็นหลัก ทั้ง BA.2, BA.4/BA.5 จนถึงสายพันธุ์ BA.2.75 (ข้อมูล ณ ธ.ค. 2565)

ปรับสถานะจาก ‘โรคติดต่ออันตราย’ สู่ ‘โรคเฝ้าระวัง’

จากการที่ผู้ติดเชื้อโควิก-19 ในประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ ในช่วงเดือน พ.ค. 2565 จึงมีการผ่อนคลายให้โรงเรียนทั่วประเทศ 35,000 แห่ง เปิดเทอมเรียน on-site 100% วันแรก ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2565 ไทยเปิดประเทศโดยจากเดิมกำหนดให้ชาวไทยและชาวต่างชาติต้องลงทะเบียนผ่านระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) เปลี่ยนเป็นยกเลิกการลงทะเบียนในส่วนของคนไทย แต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังต้องลงทะเบียนตามเดิม สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ สามารถเดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัวเพียงแค่แสดงผลตรวจ RT-PCR หรือ Professional ATK ภายใน 72 ชม. ก่อนเดินทาง หรือหากไม่มีผลตรวจก่อนเดินทางสามารถรับการตรวจได้เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด หลังจากปิดไปเมื่อเดือน เม.ย. 2564 รวมระยะเวลา 417 วัน

ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 ประเทศไทยได้ปรับระดับโรคโควิด-19 จาก ‘โรคติดต่ออันตราย’ ลดลงมาเป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ ลำดับที่ 57 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัดซีนครอบคลุมมากกว่า 82% และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามยังคงมีผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคจำนวนหนึ่งที่ต้องขอให้มารับวัคซีนให้ครบ เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่เป็นปกติมากที่สุด โดยจะปรับเปลี่ยนมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ภายใต้การพิจารณาอย่างสมดุล ทั้งมุมมองด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันอย่างเป็นทางการวันสุดท้าย พบว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 4,681,309 คน เสียชีวิตรวม 32,764 คน (แต่ถ้านับเฉพาะระหว่าง 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2565 มีผู้เสียชีวิตรวม 11,971 คน)

ทั้งนี้กรมควบคุมโรคยังคงรายงานตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่รักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตเฉลี่ยรายวัน (รายงานเป็นรายสัปดาห์) ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.-31 ธ.ค. 2565 โดยมีรายละเอียดดังนี้

วันที่

ผู้ป่วยรายใหม่รักษาในโรงพยาบาล

เฉลี่ยรายวัน

ผู้เสียชีวิต

เฉลี่ยรายวัน

9-15 ต.ค. 2565

2,234 คน

319 คน/วัน

53 คน

7 คน/วัน

16-22 ต.ค. 2565

2,616 คน

374 คน/วัน

40 คน

5 คน/วัน

23-29 ต.ค. 2565

2,551 คน

364 คน/วัน

33 คน

4 คน/วัน

30 ต.ค.-5 พ.ย. 2565

2,759 คน

394 คน/วัน

40 คน

5 คน/วัน

6-12 พ.ย. 2565

3,166 คน

452 คน/วัน

42 คน

6 คน/วัน

13-19 พ.ย. 2565

3,957 คน

565 คน/วัน

69 คน

9 คน/วัน

20-26 พ.ย. 2565

4,914 คน

702 คน/วัน

74 คน

10 คน/วัน

27 พ.ย.-3 ธ.ค. 2565

4,284 คน

612 คน/วัน

105 คน

15 คน/วัน

4-10 ธ.ค. 2565

3,961 คน

566 คน/วัน

107 คน

15 คน/วัน

11-17 ธ.ค. 2565

3,419 คน

488 คน/วัน

113 คน

16 คน/วัน

18-24 ธ.ค. 2565

2,900 คน

414 คน/วัน

89 คน

12 คน/วัน

25-31 ธ.ค. 2565

2,111 คน

302 คน/วัน

75 คน

10 คน/วัน

สถานการณ์ในต่างประเทศรอบปี 2565 

ตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญในต่างประเทศรอบปี 2565 ที่ผ่านมา

ม.ค. 2565 เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนที่ติดต่อกันได้ง่ายทำให้การเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่หลายแห่งทั่วโลกไม่คึกคักเหมือนเคย หลายเมืองตั้งแต่กรุงปารีสของฝรั่งเศสจนถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียยกเลิกการจัดงานฉลองแต่กรุงลอนดอนของอังกฤษจัดงานฉลองผ่านทางโทรทัศน์

ก.พ. 2565 เดนมาร์ก ประกาศยกเลิกมาตรการทั้งหมดที่ใช้จำกัดการระบาดของโรคโควิด-19 นับเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรป (EU) แม้ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมากสูงถึงวันละ 40,000-50,000 คน คิดเป็นเกือบร้อยละ 1 ของประชากร 5.8 ล้านคน ต่อมาหลายประเทศก็ได้เดินตามแนวทางนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเชิ้อสายพันธุ์โอไมครอนนั้นไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก ในเดือนเดียวกันนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าพบการระบาดของเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ใน 57 ประเทศทั่วโลก โดยมีผลวิจัยบางส่วนชี้ว่าสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวอาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้นกว่าเชื้อโอไมครอนดั้งเดิม

มี.ค. 2565 องค์การอนามัยโลก ปรับคำแนะนำสนับสนุนการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิ (บูสเตอร์) เป็นการเร่งด่วน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจุดเดิมที่องค์การอนามัยโลก เคยมองว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ไม่มีความจำเป็นและนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีน

เม.ย. 2565 หลายประเทศเริ่มเปิดพรมแดน และผ่อนปรน-ยกเลิกมาตรการที่ใช้จำกัดการระบาดของโรคโควิด-19, เวียดนามมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมพุ่งทะลุ 10 ล้านคน สูงสุดในภูมิภาคอาเซียนแซงหน้าอินโดนีเซีย

พ.ค. 2565 องค์การอนามัยโลก ประมาณการผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 ระหว่าง 1 ม.ค. 2563-31 ธ.ค. 2564 ทั่วโลกใหม่ ว่าอยู่ที่ประมาณ 14.9 ล้านราย ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่แต่ละประเทศแจ้งอย่างเป็นทางการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า โดย WHO เชื่อว่ามีประเทศจำนวนมากที่แจ้งจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งไม่ได้นับหรือนับต่ำกว่ายอดผู้เสียชีวิตตามความเป็นจริง ทั้งนี้ WHO ระบุว่า 84% ของผู้ที่เสียชีวิตนั้นกระจุกตัวอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และทวีปอเมริกา โดยสัดส่วนผู้เสียชีวิตที่เป็นชายนั้นสูงกว่าหญิง ที่ 57% ต่อ 43% และโดยส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ, ในเดือนเดียวกันนี้เกาหลีเหนือยอมรับว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเป็นครั้งแรกและมีผู้เสียชีวิต

มิ.ย. 2565  สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกข้อกำหนดที่ใช้มาเป็นเวลา 17 เดือน ที่ให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศทางเครื่องบินต้องมีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบ ซึ่งเป็นไปตามกระแสเรียกร้องกดดันจากสายการบินต่างๆ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาชี้ว่าการฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิตของผู้คนได้ถึงเกือบ 20 ล้านคน ในปีแรกที่มีวัคซีน

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาเพิ่มขึ้นทั่วโลก สัญญาณโควิด-19 คลี่คลาย?

ช่วงเดือน ต.ค. 2565 สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เปิดเผยว่าในปี 2564 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง น้ำมัน และถ่านหิน ในปริมาณราว 33.5 พันล้านตัน และในปี 2565 ตัวเลขดังกล่าว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 1% หรือคิดเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 300 ล้านเมตริกตัน ในขณะที่ก๊าซคาร์บอนจากการใช้งานถ่านหินเพิ่มขึ้น 2% ส่วนปริมาณการใช้งานน้ำมันก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ตัวเลขการเพิ่มขึ้นในปี 2565 นี้ เป็นผลมาจากการผลิตไฟฟ้าและภาคการบิน เนื่องจากการเดินทางโดยเครื่องบินกำลังฟื้นตัว อันเป็นผลมาจากการเข้มงวดมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่ลดลง

 

ก.ค. 2565 ในช่วงปลายเดือนนี้ ญี่ปุ่นรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 152,536 คน ซึ่งเป็นยอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุด นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในญี่ปุ่น เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

ส.ค. 2565 องค์การอนามัยโลกระบุว่าแม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกโดยเฉลี่ยแล้วจะลดลง แต่ก็ยังเตือนว่าการเฝ้าระวังที่ลดน้อยลงในหลายประเทศ ทั้งการตรวจหาเชื้อ การรายงานผล รวมถึงระบบแจ้งเตือนต่างๆ น่าจะมีส่วนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อถูกประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง และในเดือนเดียวกันนี้เกาหลีเหนือประกาศว่าการระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว

ก.ย. 2565 องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าโควิด-19 จะระบาดอีกหลายระลอกในอนาคต ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น, ช่วงต้นเดือนญี่ปุ่นรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน จำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่นก็เป็นอุปสรรคต่อการเผาศพ

ต.ค. 2565 องค์การอนามัยโลกออกมาระบุว่าโควิด-19 ยังคงถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก แม้ว่ามันจะได้รับการประกาศให้ดำรงสถานะดังกล่าวมานานเกือบ 3 ปีแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังเตือนว่าจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในยุโรปจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และมาพร้อมกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนที่อ่อนแอตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะป่วยหนักและเสียชีวิต ด้านองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน GAVI  (Global Alliance for Vaccines and Immunization - GAVI) เผยว่าประสบปัญหาในการจัดซื้อวัคซีนให้กับประเทศที่ขาดแคลนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และทางองค์กรตัดสินใจปรับเปลี่ยนแผนงานที่เอื้อให้มีการถอนเงินสดออกมาโดยไม่มีการล่าช้า ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องซื้อวัคซีนไว้สำหรับการระบาดใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้น
พ.ย. 2565 องค์การอนามัยโลกได้ปรับปรุงรายชื่อเชื้อโรคชุดใหม่ที่ต้อง "จับตามองอย่างใกล้ชิด" เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นการระบาดใหญ่ได้อีกครั้ง ได้แก่  ได้แก่ เชื้อโคโรนาไวรัสโควิด-19, เชื้อไวรัสอีโบลา, เชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก, เชื้อไข้เลือดออกลาสซา, เชื้อโรคเมอร์ส หรือ Middle East respiratory syndrome (MERS), เชื้อโรคซาร์ส หรือ severe acute respiratory syndrome (SARS), เชื้อไวรัสนิปาห์, เชื้อไวรัสซิกา และเชื้อโรค Disease X
ธ.ค. 2565 องค์การอนามัยโลกประเมินว่าประมาณ 90% ของประชากรโลกน่าจะมีภูมิคุ้มกันต้านไวรัสโควิด-19 แล้ว แต่ก็ยังได้ออกมาเตือนว่าให้เฝ้าระวังความเป็นไปได้ว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมาอีก ในเดือนนี้ยังครบรอบ 1 ปีที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเป็นสายพันธุ์อันน่ากังวล เนื่องจากว่าสายพันธุ์นี้มีศักยภาพในการแพร่เชื้อเหนือสายพันธุ์ก่อนหน้านั้นอย่างสายพันธุ์เดลต้า

ข้อมูลจากเว็บไซต์ worldometers.info ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 (เวลา 23.38 น. GMT) ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 664,779,961 ราย เสียชีวิต 6,696,880 ราย หายป่วย 636,729,959 ราย

การระบาดใหญ่กลับไปที่จีน สถานการณ์ยังคงหน้าจับตา

ช่วงปี 2565 ที่ผ่านมาประชาชนจีนได้ลุกฮือประท้วงมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในหลายพื้นที่ | ที่มาภาพ: Wikimedia

แม้จีนจะดำเนินนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” (Zero-Covid) มาอย่างแข็งขันและดูเหมือนจะได้ผลในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ช่วงปลายปี 2565 สถานการณ์โควิด-19 ในจีนกลับได้สร้างความกังวลให้กับทั่วโลกอีกครั้ง 

ประชาชนจีนได้ลุกฮือประท้วงมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในหลายพื้นที่ เช่น ในนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง และอีกหลายเมืองของจีน โดยสถานการณ์การประท้วงยกระดับขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมในเมืองกวางโจว อันเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของจีนปะทะกับตำรวจปราบจลาจล การลุกฮือครั้งนี้นับเป็นการขัดขืนของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในจีนนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ขึ้นรับตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อทศวรรษก่อน - ช่วงปลายเดือน พ.ย. 2565 องค์กรของชาติตะวันตกอย่าง Freedom House ประเมินว่าในช่วงที่คลื่นแห่งความไม่พอใจของประชาชนในจีนขึ้นสูงสุดนั้น มีการชุมนุมประท้วงอย่างน้อย 27 จุดทั่วประเทศ ส่วนองค์กร  ASPI ของออสเตรเลีย ประเมินว่ามีการประท้วงเกิดขึ้น 43 แห่งใน 22 เมืองทั่วประเทศจีน

ต่อมารัฐบาลจีนได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดในการควบคุมโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ตลาดและธุรกิจต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งแล้ว และสั่งยกเลิกการจำกัดการเคลื่อนย้ายของผู้คนในหลายจุด เป็นต้น จนท้ายสุดก็ยกเลิกมาตรการสกัดกั้นการระบาดและหันมาใช้ชีวิตร่วมกับไวรัส ตั้งแต่ 7 ธ.ค. 2565 เป็นต้นมา ซึ่งได้ทำให้ยอดติดเชื้อในจีนพุ่งสูงรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

แม้องค์การอนามัยโลกจะยินดีที่จีนได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์รับมือกับการระบาดของโควิด-19 นี้ แต่ต่อมาท่าทีของนานาชาติกลับเปลี่ยนไปเป็นความกังวลทั้งสถานการณ์ระบาดในจีนแทน โดยเฉพาะชาติตะวันตก ตัวอย่างเช่น บริษัท Airfinity ของอังกฤษประเมินว่าอาจมีประชาชนเสียชีวิตราว 9,000 คนต่อวันในจีน เนื่องจากโควิด-19 และว่ายอดเสียชีวิตรวมจากโควิดนับตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมาในจีนนั้นอาจแตะระดับ 100,000 คน จากยอดผู้ติดเชื้อ 18.6 ล้านคน กระนั้นองค์การอนามัยโลกก็ยังออกมาระบุย้ำว่าไม่พบการระบาดของโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่จีน แต่รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตที่จีนรายงานนั้นก็ดูต่ำกว่าความเป็นจริง

รวมถึงความกังวลที่จีนจะเปิดประเทศในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2566 หลายประเทศก็ได้ประกาศมาตรการเฝ้าระวังนักท่องเที่ยวจากจีน ทั้งให้ผู้ที่เดินทางมาจากจีนต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 แบบ PCR ที่เป็นลบก่อนเข้าประเทศ รวมทั้งยังมีประเทศที่ประกาศไม่เปิดรับผู้เดินทางมาจากประเทศจีน เป็นต้น มาตรการเหล่านี้ถูกนำมาใช้เนื่องจากความกังวลถึงสถานการณ์แพร่ระบาดหลังยกเลิกการควบคุมโรคนี้อย่างเข้มงวดในจีนนั่นเอง ทั้งนี้ฝั่งรัฐบาลจีนกลับมองว่ามาตรการเหล่านี้เป็นการ “เลือกปฏิบัติ” ต่อคนจีน.

ที่มาข้อมูล: 

Timeline สถานการณ์ COVID-19 (รวบรวมโดย TCIJ)

Timeline of the COVID-19 pandemic (Wikipedia, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 23 ธ.ค. 2565)

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนและมาตรการรองรับ “โควิด” เป็นโรคเฝ้าระวังเริ่ม 1 ต.ค.นี้ (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 21 ก.ย. 2565)

อัปเดต! กรมวิทย์เผยขณะนี้โควิด BA.2.75 เป็นสายพันธุ์หลักระบาดในประเทศไทย (Hfocus, 7 ธ.ค. 2565)

ย้อนไทม์ไลน์ "โควิด19" จาก อู่ฮั่น ยัน โอไมครอน ไทยเจอแล้วกี่สายพันธุ์ (คมชัดลึก, 9 ธ.ค. 2565)

Energy Agency: CO2 Emissions Rise in 2022, but More Slowly (VOA, 19 October 2022)

COVID-19 travel curbs against Chinese visitors 'discriminatory': State media (CNA, 30 December 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net