Skip to main content
sharethis

เดเร็ก โชเลต์ ที่ปรึกษา กต.สหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สื่อระหว่างเยือนประเทศในอาเซียน แสดงความเป็นห่วงของปัญหาวิกฤตเผด็จการทหารพม่า ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงไทย และพูดถึงทางออกคือการต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวพม่าและส่งเสริมฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เดเร็ก โชเลต์ กำลังจะเดินทางไปเยือนกลุ่มประเทศอาเซียนภายในสัปดาห์นี้ โดยจะเน้นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่ความขัดแย้งภายในของพม่า ได้ส่งผลกระทบแผ่ขยายออกไปยังประเทศใกล้เคียง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กองทัพพม่าก่อการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

โชเลต์มีแผนการเดินทางเยือน อินโดนีเซีย และ ไทย ในช่วงวันที่ 20-24 มี.ค. นี้ ถือเป็นช่วงสุดท้ายของการเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องนี้มีความสำคัญโดยเฉพาะกับการเยือนอินโดนีเซียจากการที่อินโดนีเซียเป็นประธานของอาเซียนมาเกือบสี่เดือนแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ แดเนียล คริเทนริก เคยเยือนอินโดนีเซียมาก่อนเมื่อช่วงวันที่ 8-9 มี.ค.

โชเลต์ผู้ที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเดอะ สเตรท ไทม์ ว่าเขาจะหารือกับอินโดนีเซียในประเด็นเกี่ยวกับอาเซียนทุกเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสถานการณ์ของพม่า

ทางสหประชาชาติได้ประเมินไว้ว่ามีประชาชนราว 17.6 ล้านรายในพม่าที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม มีมากกว่า 1.6 ล้านรายที่พลัดถิ่นภายในประเทศ และมีอาคารพลเรือนราว 55,000 หลังคาเรือนถูกทำลายนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารวันที่ 21 ก.พ. 2564 มีพลเรือนมากกว่า 2,000 รายที่ถูกสังหาร มีนักโทษการเมืองอยู่ในเรือนจำประมาณ 16,000 ราย

กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ประกาศเรื่องการเดินทางของโชเลต์เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยบอกว่าโชเลต์จะเน้นย้ำเรื่องพันธกรณีของสหรัฐฯ ที่มีต่อความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ความเป็นอิสระและเปิดกว้างของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และการส่งเสริมความมั่นคงกับความมั่งคั่งของประเทศพันธมิตรของพวกเขา

กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่า ในการเดินทางเยือนไทยนั้น โชเลต์จะเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ทางการไทยเพื่อเน้นย้ำพันธกรณีของสหรัฐฯ ที่มีต่อความเป็นพันธมิตรระหว่างสองประเทศ หารือเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือในหลายประเด็น เช่น ประเด็นเรื่องสุขภาวะและประเด็นโลกร้อน รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์พม่าด้วย

โชเลต์กล่าวถึงประเด็นพม่าว่า เขายังมองไม่เห็นทางออกของปัญหาพม่า "ผมยังมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ อะไรๆ ก็ดูเหมือนจะเลวร้ายลงที่นั่น" โชเลต์กล่าว

"ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเขากำลังมองเห็นอยู่คือ การที่เผด็จการทหารพม่าเริ่มหมดสมรรถภาพในบางด้าน และฝ่ายต่อต้านเผด็จการก็สกัดกั้นกองทัพบกของพม่าได้พอสมควร ดังนั้นแล้วพวกเผด็จการพม่าก็จะหันไปใช้กองกำลังทางอากาศ แล้วมันก็จะกลายเป็นการใช้กำลังโจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมายซึ่งจะสร้างความทุกข์ยากแสนสาหัสต่อพลเรือน" โชเลต์กล่าว

"ดังนั้นแล้ว มันจึงเป็นเรื่องโชคร้ายที่ข่าวคราวจากในพม่าดูจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ซึ่งผมคิดว่ามันยิ่งเพิ่มความเร่งด่วนในการที่พวกเราจะพยายามทำอะไรบางอย่างให้มันสำเร็จ และทางการสหรัฐฯ ก็ได้พยายามไล่ตามเป้าหมายร่วมกับประเทศพันธมิตรของพวกเราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลของความพยายามที่ว่านี้ก็ยังคงอยู่ ความพยายามที่ว่าก็คือการลงโทษเผด็จการพม่าและทำให้เผด็จการพม่าโดดเดี่ยวเพื่อเป็นการกดดันพวกนั้น" โชเลต์กล่าว

โชเลต์ เรียกสถานการณ์ปัจจุบันของพม่าว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่อาเซียนต้องเผชิญในช่วงยุคสมัยนี้ มันกลายเป็นวิกฤตที่โชเลต์มองว่าอาจจะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศในการบรรลุเป้าหมายของตัวเอง

โชเลต์บอกว่ากลุ่มประเทศอาเซียนอาจจะรู้ดีกว่าสหรัฐฯ แต่นี้ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงมีความต้องการที่จะทำในส่วนของพวกเขา ทำงานร่วมกับอาเซียนในการบรรเทาผลกระทบทางลบจากวิกฤตพม่า แล้วก็พยายามแก้ไขปัญหาให้มากที่สุดในแบบที่พวกเขาจะทำได้

อย่างไรก็ตาม โชเลต์ได้แสดงความชื่นชมอาเซียนที่พยายามแก้ไขปัญหามาจนถึงจุดนี้ด้วย เขากล่าวถึงการที่อินโดนีเซียที่เป็นผู้นำอาเซียนสมัยปัจจุบันสร้างความคืบหน้าโดยการแต่งตั้งสำนักผู้แทนพิเศษในการประสานงานนโยบายพม่า ซึ่งทำงานภายใต้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย เรตโน มาร์ซูดี

มาร์ซูดีบอกว่าทางสำนักผู้แทนพิเศษฯ จะทำการกดดันเผด็จการทหารพม่าหนักขึ้น เพื่อให้มีการทำตามแผนฉันทามติสันติภาพ 5 ข้อ ที่อาเซียนเคยเสนอไว้ โดยที่โชเลต์บอกว่าอาเซียนทำได้ดีในการออกแผนสันติภาพ 5 ข้อนี้ และสหรัฐฯ ก็สนับสนุนแผนสันติภาพดังกล่าว

อย่างไรก็ตามโชเลต์บอกว่าเขาเล็งเห็นว่าภายในอาเซียนเองก็มีมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ แต่การที่กลุ่มประเทศอาเซียนสามารถบรรลุฉันทามติได้โดยมีมุมมองต่อวิกฤตที่ใกล้เคียงกันก็ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชม และทางสหรัฐฯ อยากช่วยส่งเสริมประสานงานในเรื่องนี้

แผนฉันทามติสันติภาพ 5 ข้อจากอาเซียนออกมาเมื่อปี 2564 มีการเรียกร้องให้หยุดใช้ความรุนแรง และให้มีการเจรจาทางการเมืองในพม่าในแบบที่คำนึงถึงอย่างครอบคลุมทุกฝ่าย

โชเลต์บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า ไม่ได้อยู่แค่ในพม่า พวกเขาควรกังวลว่ามันจะส่งลกระทบต่อเนื่องไปยังที่อื่นด้วย โดยที่ประเทศใกล้เคียงกับพม่าอย่าง บังกลาเทศ, อินเดีย, จีน และไทย ต่างก็เน้นเรื่องความมั่นคงที่ชายแดนของพวกเขาในการทำให้แน่ใจว่าการสู้รบของกลุ่มต่างๆ ในพม่าจะไม่แพร่กระจายข้ามเขตแดนมายังประเทศของพวกเขา

นอกจากเรื่องของการสู้รบแล้ว โชเลต์ยังได้พูดถึงปัญหาอาชญากรรมและการทุจริตคอร์รัปชันที่กำลังเติบโตขึ้นในพม่าจากการที่บ้านเมืองไร้ขื่อแปและอาจจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอาเซียนไปด้วย อีกทั้งกรณีคนพลัดถิ่นภายในประเทศกับการที่มีผู้ลี้ภัยออกจากพม่ายังส่งผลสะเทือนต่อประเทศใกล้เคียง เช่นกรณีบังกลาเทศในตอนนี้ต้องรองรับผู้ลี้ภัยชาวพม่ามากกว่า 1 ล้านคนในค็อกซ์บาซาร์ นับเป็นการกระจุกตัวของผู้ลี้ภัยที่มากที่สุดในโลก โดยเริ่มมาตั้งแต่เหตุการณ์กองทัพพม่าสังหารหมู่ประชาชนชาวโรฮิงญาทำให้เกิดการลี้ภัยจำนวนมากไปยังค็อกซ์บาซาร์มาก่อนแล้ว

โชเลต์กล่าวว่าสิ่งที่อาเซียนต้องการในตอนนี้ไม่ใช่รัฐล้มเหลว (failed state) ซึ่งพม่ากำลังจะกลายเป็นเช่นนั้น มันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงพยายามช่วยเหลือประเทศพันธมิตรในภูมิภาคอาเซียนในการทำให้สถานการณ์กลับมามีเสถียรภาพด้วยการนำพม่ากลับสู่หนทางประชาธิปไตย

"ผมคิดว่าในรายงานสถานการณ์ก็มีข่าวดีอยู่บ้าง พวกเรากำลังได้เห็นจิตวิญญาณที่ไม่ยอมแพ้อย่างน่าทึ่งของประชาชนชาวพม่า นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเผด็จการทหารกำลังพ่ายแพ้ และเหตุผลหลักๆ นั่นก็คือ... ความเข้มแข็งและความมีชีวิตชีวาของฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทหารในพม่า" โชเลต์กล่าว

ข้อมูลจากโชเลต์ระบุว่าในตอนนี้เผด็จการทหารพม่าควบคุมพื้นที่อยู่ร้อยละ 50 เท่านั้น โชเลต์มองว่าฝ่ายสหรัฐฯ และพันธมิตรเองควรจะต้องมีการต่อยอดจากตรงจุดนี้ให้ได้ ทำเพื่อประชาชนชาวพม่าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพยายามส่งเสริมฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการให้มากขึ้น

เรียบเรียงจาก

US keen to sync with Asean on worsening crisis in Myanmar; top official warns of danger of failed state, Strait Times, 20-03-2023


Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, การเมือง, ความมั่นคง,

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net