หมอกควันไฟป่าภาคเหนือกลับมาวิกฤตอีกครั้ง

สถานการณ์หมอกควันไฟป่าพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดกลับมาวิกฤตอีกครั้ง GISTDA เผยพบจุดความร้อนในไทยสูงถึง 3,000 จุด พบมากในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านสูงสุดที่ สปป.ลาว เกือบ 10,000 จุด


ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

25 มี.ค. 2566 Thai PBS รายงานว่าสถานการณ์ปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดกลับมาวิกฤตอีกครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย พบค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐานสูงมาหลายวัน จนสภาพท้องฟ้าขมุกขมัวเป็นสีเหลืองปนส้ม และหลายคนได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ทำให้แสบตาและมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ

ข้อมูลจากการตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 25 - 354 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยเฉพาะพื้นที่ แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ส่วนค่าฝุ่นเมื่อเวลา 12.00 น. เวียงพางคำ อ.แม่สาย, เชียงราย วัดได้ 367 มคก./ลบ.ม ค่าฝุ่น PM10 วัดได้ 447 มคก./ลบ.ม ทำให้ค่า AQI สูงถึง 477

นอกจากนี้ ยังระบุว่าพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 26-29 มี.ค.นี้

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวแม่สาย พากันติดป้ายในจุดต่างๆรอบพื้นที่เมือง #Savemaesai PM2.5 อันตราย ชาวแม่สายไม่ไหวแล้ว

เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยตรง เนื่องจากฝุ่นพิษที่เกินมาตรฐานสูงเป็น 10 เท่า

เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน “เช็กฝุ่น” แบบรายชั่วโมง เมื่อเวลา 11.00 ที่ผ่านมา พื้นที่หลายจังหวัดช่วงตอนบนของประเทศในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดที่มีค่า PM 2.5 สูงสุดคือ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่จะตามมา ในขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑลวันนี้ พบค่าคุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี

GISTDA ใช้ดาวเทียมติดตามการเกิดไฟป่าพบจุดความร้อนในไทยสูงถึง 3,000 จุด สปป.ลาว เกือบ 10,000 จุด

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA (จิสด้า) ได้เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) เมื่อวานนี้ (24 มี.ค. 2566) พบจุดความร้อน (Hotspot) ทั้งประเทศสูงถึง 3,088 จุด พบมากที่สุดในพื้นป่าอนุรักษ์ 1,286 จุด // พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,237 จุด // พื้นที่เกษตร 255 จุด // พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 156 จุด // พื้นที่เขต สปก. 140 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 14 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ แม่ฮ่องสอน 547 จุด // น่าน 280 จุด และ เชียงใหม่ 221 จุด ทั้งนี้ จากการตรวจสอบค่าฝุ่น PM 2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” พื้นที่หลายจังหวัดช่วงตอนบนของประเทศในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดที่มีค่า PM 2.5 สูงสุด คือ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่อาจจะตามมา ขณะที่ทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในระดับดีมากต่อเนื่อง สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านสูงสุดต่อเนื่องใน สปป.ลาว 9,748 จุด รองลงมาคือ เมียนมา 6,352 จุด // เวียดนาม 879 จุด // กัมพูชา 652 จุด และมาเลเซีย 27 จุด ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในรูปแบบของหมอกควันข้ามแดน

ทส. บินตรวจ 2 พื้นที่เขตป่าสาละวิน พบการเผาพื้นที่เกษตรลุกลามป่าตามเส้นทางบิน ระดมเสือไฟเข้าควบคุมไฟป่า

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าภายหลังจากที่ นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า นายภูษิต หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนายการส่วนอำนวยการ สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า พร้อมด้วย นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง นายพรเทพ เจริญสืบสกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง หน่วยงานในสังกัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจติดตามการดำเนินงาน บินตรวจสถานการณ์ไฟป่าทางเฮลิคอปเตอร์ ทส.1110 เพื่อวางแผนการป้องกันไฟป่าบริเวณพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติสาละวิน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน อุทยานแม่สะเรียง (เตรียมการ) เพื่อยกระดับการควบคุมสกัดกั้นไฟป่าเพื่อลดจุดความร้อย โดยเพิ่มชุดปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์เข้าถึงประชาชนในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาไฟป่าเร่งด่วน

ทั้งนี้ จากการบินตรวจสภาพป่าตรวจพบกลุ่มควันไฟป่าตามเส้นทางการบิน ซึ่งมีทั้งการจุดเผาในป่าและจุดเผาในพื้นที่เกษตรลุกลามเข้าป่า ผอ.สำนักป้องกันฯ จึงร่วมประชุมมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่วางแผนในการจัดกำลังพลเสือไฟให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟเพื่อเข้าสกัดไฟที่เกิดขึ้นไม่ให้ลุกลามได้อย่างรวดเร็ว และขอความร่วมมือฝ่ายปกครองประชาสัมพันธ์ชุมชนงดการจุดเผาในพื้นที่เกษตร สำหรับสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำวันที่ 24 มี.ค. 2566 พบจุดความร้อน จำนวน 460 จุด จุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 - 23 มี.ค. 2566 จำนวน 4,077 จุด สูงสุดที่อำเภอแม่สะเรียง จำนวน 1,451 จุด โดยเกิดขึ้นสูงสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 2,446 จุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท