Skip to main content
sharethis

เวทีเสวนา ‘กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม VS การละเมิดสิทธิมนุษยชน’ สรุปสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือ เปิดปัญหานโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของรัฐที่ไปกระทบประชาชนในพื้นที่ แต่อีกขาก็ดำเนินโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไปด้วย พร้อมการเปิดรายงาน “ไร่หมุนเวียน” กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าไร่ข้าวโพดและการลงทุนภาคเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านของเอกชน

เมื่อ 22 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา สมัชชาองค์กรเอกชน ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากร และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ พร้อมเครือข่ายได้จัดประชุมสรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนบน ภายใต้หัวข้อ ‘กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม VS การละเมิดสิทธิมนุษยชน’ ณ โรงแรมไอบิส สไตล์ เชียงใหม่ ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมการบรรยายพิเศษ วงเสวนา การประมวลสถานการณ์สิ่งแวดล้อมภาคเหนือ ข้อค้นพบงานวิจัยเรื่องไร่หมุนเวียนและปัญหาฝุ่น PM2.5 และวงระดมความเห็นเกี่ยวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม

‘ทวงคืนผืนป่า-โครงการพัฒนา-PM 2.5’ สถานการณ์หลักภาคเหนือ

ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบรรยายในหัวข้อ ‘แนวคิดและการขับเคลื่อนนโยบายสิทธิในสิ่งแวดล้อม’  กล่าวถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยม

เขากล่าวว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมองว่าทรัพยากรต่างๆ เป็นต้นทุนในการสร้างมูลค่าและเม็ดเงิน สะท้อนจากการล่าอาณานิคมประเทศที่มีทรัพยากรที่สมบูรณ์เพราะต้องการสร้างกำไรให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนรัฐถูกตั้งขึ้นมาให้มีหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียม แต่กลับกลายเป็นว่ากลุ่มคนที่อยู่ในรัฐบาลเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองสูง จึงร่วมมือกับกลุ่มทุนที่แย่งยึดทรัพยากรจากประชาชนในสังคม นำมาสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ไพโรจน์ พลเพชร

ไพโรจน์ได้เชื่อมโยงถึง ‘หลักการสิทธิมนุษยชน’ ที่มีร่วมกับทางสากลว่า สิทธิไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกคนที่เป็นมนุษย์ ซึ่งความเกี่ยวโยงของสิทธิมนุษยชนกับรัฐ คือ รัฐมีหน้าที่รับผิดชอบและปกป้องต่อสิทธิของประชาชนทุกคน และทำให้การมีสิทธิเกิดขึ้นอย่างแท้จริง หากรัฐไม่เคารพ ไม่ปกป้องสิทธิของประชาชนเท่ากับว่ารัฐกำลังละเมิดสิทธิของประชาชนเสียเอง ด้วยรูปแบบวิธีการต่าง ๆ ทั้งการออกกฎหมาย นโยบาย โครงการพัฒนาต่าง ๆ

เขากล่าวต่อว่า เมื่อประชาชนถูกรัฐละเมิดสิทธิ ย่อมสามารถออกมาเรียกร้องให้รัฐแก้ไขได้ด้วยเช่นกัน หากย้อนไปในช่วงพ.ศ. 2515 ทั่วโลกเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายมากขึ้น จึงเกิดแนวคิดในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศทั่วโลก หรือ ‘ปฏิญญาสากล’ ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ที่มีหลักการในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรเพื่อชีวิตและการดำรงอยู่ของมนุษย์เอง

ต่อมาในปีพ.ศ. 2535 มีการร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ที่มีหลักการในการให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดแบบทุนนิยมที่มุ่งใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองเม็ดเงินและกำไร

“สิทธิมนุษยชนกับสิ่งแวดล้อมแยกออกจากกันไม่ได้ คือ ชีวิตมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมแยกจากกันไม่ได้ ถ้าทำลายสิ่งแวดล้อมมนุษย์เข้าก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ หรือถ้าจัดสรรทรัพยากรให้กับคนบางกลุ่มได้ใช้ทรัพยากรมนุษย์กลุ่มหนึ่งก็จะเข้าไม่ถึงทรัพยากร” ไพโรจน์กล่าว

เปลี่ยนรัฐบาลแต่ผลพวงจากรัฐประหารยังคงอยู่

ช่วงต่อมา เป็นช่วงการประมวลสถานการณ์สิ่งแวดล้อมภาคเหนือ โดย ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มการประมวลสถานการณ์หลังช่วงปี 2557 จากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำมาสู่แผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติอย่างนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ป่า นำมาสู่การคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทั้งการดำเนินคดี ทำลายทรัพย์สิน ทำลายวิถีชีวิต ด้วยเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจในการจัดการและควบคุมที่ดินและทรัพยากรที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอย่างสมบูรณ์

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์

แม้สถานการณ์ทางการเมืองจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กฎหมาย นโยบายและคำสั่งที่ถูกสร้าง ถูกปรับแก้ภายใต้โครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่ไม่ปกติยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ก่อนที่รัฐบาล คสช.จะหมดอำนาจ ได้มีการแก้ไขกฎหมายป่าไม้หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่าฯ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ หรือแม้แต่ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ ‘คทช.’ ก็ถูกประกาศใช้ในปีเดียวกัน ซึ่ง คทช. อาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างโครงสร้างที่รวบอำนาจการจัดการที่ดินทุกประเภทในไทยให้อยู่ภายใต้โครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้

แม้ทางภาครัฐจะบอกว่านโยบายด้านทรัพยากรมีทิศทางเพื่อป้องกันการบุกรุกป่าและทรัพยากรธรรมชาติ หากพิจารณาครบถ้วนทุกมิติจะพบว่า มีความย้อนแย้งในกฎหมายนโยบายเหล่านี้ เช่น ขณะที่ภาครัฐแย่งยึดพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตในพื้นที่ป่า โดยอ้างว่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า แต่ขณะเดียวกัน รัฐก็อนุญาตให้ดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ทำลายทรัพยากร ทั้งเหมืองแร่ อุโมงค์ผันน้ำ เขื่อน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่ามกลางการอนุญาตให้บริษัทและกลุ่มทุนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้ ชุมชนที่อยู่กับป่าต้องเผชิญกับคำสั่งทางนโยบายให้เพิ่มพื้นที่ป่ากว่า 4 ล้านไร่ทั่วประเทศ ทำให้ชุมชนดั้งเดิมกลายเป็นผู้บุกรุก โดยยึดตามแนวเขตและชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่รัฐเป็นผู้กำหนดว่า พื้นที่ใดในป่าที่คนไม่สามารถอยู่ได้

จากปัญหาที่เกิดจากนโยบายกฎหมายของรัฐไทย มาสู่สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนในสังคมกำลังเผชิญ คือ สถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 กลุ่มคนที่ถูกเพ่งเล็งในทุก ๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมคือ คนที่อยู่กับป่า คนที่อยู่กับทรัพยากร ธนากรมองว่า ผู้คนในสังคมเติบโตมากับระบบการศึกษาที่สร้างความเข้าใจให้เราว่า สาเหตุของปัญหาป่าไม้ น้ำท่วม ภูเขาหัวโล้น ล้วนเกิดจากคนอยู่กับป่าทั้งสิ้น หรือแม้แต่วาทกรรม ‘ไร่เลื่อนลอย’ ที่ทำให้ผู้คนมีภาพจำต่อไร่หมุนเวียนในแง่ลบด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาภาครัฐที่มีอำนาจสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้กับสังคมในวงกว้าง กลับไม่ได้พยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนในสังคมแต่อย่างใด

“วิกฤตสิ่งแวดล้อมเนี่ยมันคือวิกฤตของความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนบนที่ดินผืนป่าทรัพยากรธรรมชาตินะครับมันคือความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง มันเป็นการต่อสู้กันระหว่างอุดมทางการเมืองที่มันยังไม่คลี่คลายไปไหนเลยแล้วมันเพิ่มตัวแปรอีกขึ้นมากมาย เพิ่มเติมคือว่ากำลังเผชิญกับภาวะการคลั่งสิ่งแวดล้อมนิยมแบบนึงของคนที่อาจจะเสียงดังกว่าคนปกตินะครับอยู่ภายใต้ความเป็นไปของสังคมประชาธิปไตยที่ระยะเปลี่ยนผ่าน” ธนากรกล่าว

จากวิกฤตสิ่งแวดล้อม สู่การตีตราหา “แพะรับบาป”

ช่วงต่อมา เป็นช่วงเสวนาในหัวข้อ ‘ชาติพันธุ์อยู่ตรงไหนในนโยบายแก้ฝุ่น-ไฟ ภาคเหนือ’ โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ นิราพร จะพอ เยาวชนชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย, สมคิด ทิศตา ชุมชนบ้านแม่ส้าน จ.ลำปาง, บัญชา มุแฮ ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ จ.ลำพูน, นัทธมน คงเจริญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย พชร คำชำนาญ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

การเสวนานี้พูดถึงสถานการณ์ที่ผ่านมาและที่กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือ ภายใต้นโยบายและคำสั่งของภาครัฐที่บังคับใช้ในช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่รุนแรง อย่าง ‘มาตรการห้ามเผา’ ที่ประกาศใช้มาอย่างต่อเนื่องหลายปีทั่วทั้งภาคเหนือในช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. ซึ่งจะตรงกับช่วงการใช้ไฟในการเผาเตรียมพื้นที่ของไร่หมุนเวียนของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เมื่อชุมชนไม่สามารถใช้ไฟได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงและกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้คนในชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของรัฐว่า การใช้ไฟในไร่หมุนเวียนมีความจำเป็น และไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของปัญหาฝุ่น PM2.5 เสียด้วยซ้ำ

นอกจากปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์ คือ การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้คำสั่งนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้ ทั้งกรณีชุมชนห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย และชุมชนขุนอ้อนพัฒนา จ.ลำปาง ซึ่งสร้างความกังวลใจและความไม่มั่นคงในวิถีการทำไร่หมุนเวียนของชุมชน แม้หลายชุมชนจะมีรูปแบบการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรม สร้างรากฐานที่เข้มแข็ง พยายามสื่อสารถึงหน่วยงานและสังคมให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงว่า ชุมชนชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่า ไม่ได้เป็นผู้ทำลายแต่เป็นผู้ดูแลรักษา รวมถึงมีหลักฐานทางวิชาการที่รองรับวิถีการจัดการทรัพยากร วิถีการทำไร่หมุนเวียนของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอว่าไม่ได้เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่กฎหมายนโยบายที่เป็นต้นตอของปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขให้เป็นธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์และคนอยู่กับป่า ชุมชนก็ย่อมเผชิญสถานการณ์ปัญหาเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

มีความพยายามในการเปิดเผยที่มาของปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือว่า มีสาเหตุหลักจากการเผาไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเป็นบริษัททุนของไทยที่ข้ามประเทศไปลงทุนและทำเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทางรัฐบาลกลับไม่ได้พยายามเปิดเผยข้อเท็จจริงในส่วนนี้ให้แก่สังคมแต่อย่างใด นำมาสู่รูปแบบหนึ่งของภาคประชาชนที่ใช้ต่อสู้กับภาครัฐในประเด็นฝุ่นควัน PM2.5 คือ ‘การฟ้องศาลปกครอง’

ที่ผ่านมา ประชาชนได้รวมตัวกันดำเนินการฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนต่อศาลปกครอง เพื่อให้รับผิดชอบต่อปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นมาอย่างเรื้อรัง ซึ่งในขณะนี้กระบวนการของคดีอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งทางศาลรับฟ้องเพียงนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตลาดทุน

เปิดงานวิจัยล้างบาปไร่หมุนเวียน ระบบเกษตรดั้งเดิมรักษ์สิ่งแวดล้อมมากกว่าทำลาย

ในงานยังมีการนำเสนอข้อค้นพบจากงานวิจัย : ศักยภาพของการบริการของระบบนิเวศ การดูดซับ PM 2.5 ในระบบบไร่หมุนเวียน” โดย จตุพร เทียรมา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงผลการวิจัยการดูดซับฝุ่นละอองขนาดเล็กของระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนและป่าชุมชนของชุมชนบ้านแม่ส้าน จ.ลำปาง โดยกระบวนการในการศึกษามีขั้นตอน คือ ศึกษาข้อมูลฝุ่นในพื้นที่ก่อนการวิจัย ศึกษาความเข้มข้นของปริมาณฝุ่น PM2.5 ก่อน ระหว่าง และหลังการเผาไร่หมุนเวียน ศึกษาศักยภาพในการกักเก็บฝุ่นของใบไม้ในพื้นที่ป่าหมุนเวียน วิเคราะห์และประเมินผลการปล่อยมลพิษจากการเผาไร่หมุนเวียน และวิเคราะห์แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่

จตุพร เทียรมา

ผลการวิจัยพบว่า ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดลำปาง มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงมกราคม-เมษายน โดยปี 2566 ค่าความเข้มข้นสูงขึ้นทุกจังหวัดภาคเหนือมีค่าใกล้เคียงกัน อาจเกิดจากการแพร่กระจายของแหล่งมลพิษระดับภูมิภาคเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งสอดคล้องกับจุดความร้อน แหล่งกำเนิดมีทั้งในประเทศ และภายนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าความเข้มข้นของปริมาณฝุ่นในพื้นที่บ้านแม่ส้านต่ำกว่าพื้นที่จังหวัดลำปางและพื้นที่โดยรอบ เมื่อพิจารณาศักยภาพในการกักเก็บฝุ่นด้วยพืชในไร่หมุนเวียนที่พักฟื้นไว้ พบว่าอัตราการกักเก็บฝุ่นสูงกว่าการปลดปล่อยฝุ่นที่เกิดจากการเผาไร่หมุนเวียน จึงทำให้สอดคล้องกับค่าความเข้มข้นของฝุ่นในบ้านแม่ส้านที่มีความเข้มข้นฝุ่นต่ำกว่าพื้นที่โดยรอบ

ส่วนผลการศึกษาการพังทลายของหน้าดินจากการทำไร่หมุนเวียน กรณีชุมชนบ้านแม่ส้าน จ.ลำปาง โดยกระบวนการในการศึกษาได้เลือกพื้นที่การใช้ประโยชน์ 4 ลักษณะ คือ ไร่ข้าวโพด ไร่หมุนเวียนปีปัจจุบัน ไร่หมุนเวียนที่พักฟื้นไว้เป็นเวลา 4 ปี (ไร่เหล่า) และพื้นที่ป่าธรรมชาติ โดยจะเก็บข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ไหลบ่าและปริมาณตะกอนดินของแปลงวิจัยทั้งสี่แปลงตลอดฤดูฝน 1 ปี ซึ่งผลการวิจัยพบว่า การไหล่บ่าของน้ำฝนแตกต่างกันตามความพรุนของดิน การอุ้มน้ำของดิน และอินทรียวัตถุในแต่ละแปลง โดยการไหลบ่าของน้ำของไร่ข้าวโพดจะเยอะที่สุดเพราะดินอุ้มน้ำได้น้อย ความพรุนของดินต่ำ ส่วนไร่หมุนเวียนปีปัจจุบันที่แม้จะเพิ่งตัดฟันและเผาเตรียมการเพาะปลูก กลับมีปริมาณน้ำไหลบ่าน้อยที่สุดเพราะดินอุ้มน้ำได้ดีกว่า ส่วนป่าธรรมชาติและไร่เหล่าสามปีที่แม้จะไม่ได้ทำการเพาะปลูก แต่มีน้ำไหลบ่าเยอะกว่าไร่ข้าวปีปัจจุบัน เป็นเพราะว่ามีเศษใบไม้และวัสดุอินทรีย์ปกคลุมหน้าดินจึงทำให้น้ำไหลลงใต้ดินได้ยากกว่า

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

‘สิ่งแวดล้อมกับสิทธิมนุษยชน’ ในฐานะสิ่งเดียวกัน หาใช่คู่ขัดแย้ง

ในช่วงบ่าย เป็นช่วงระดมความเห็นผู้เข้าร่วมประชุม ในหัวข้อ “วิกฤตสิ่งแวดล้อมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน” โดยมีผู้ร่วมพูดคุย ได้แก่ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers),  ชยา วรรธนะภูติ นักวิชาการอิสระ,  พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่,  ลาหมึทอ ดั่งแดนวิมาน เยาวชนบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน,  จรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.),  ปราโมทย์ เวียงจอมทอง เยาวชนปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคี จ.ตาก,  ชาติชาย ธรรมโม เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ  ดำเนินรายการโดย เฉลิมชัย วัดจัง Land Watch Thai และเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมงานในช่วงท้าย เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล หน่วยงาน และภาคประชาชน เพื่อไม่ให้ทิศทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนดังที่ผ่านมา

การระดมความเห็นในช่วงนี้ มีการพูดถึงประเด็นสิทธิในการเผากับสิทธิอากาศสะอาด ที่เป็นข้อถกเถียงกันในช่วงสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันรุนแรง ซึ่งอาจจะต้องหารือกันในเชิงรายละเอียดว่า สิทธิในการเผาหรือการใช้ไฟที่จำเป็น กับการมีอากาศสะอาดจะต้องควบคู่กัน เพราะที่ผ่านมาการดำเนินการใด ๆ ของหน่วยงานรัฐจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ไฟในช่วงเวลานั้นเสมอ โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนนอกจากจะถูกเพ่งเล็งในปัญหาฝุ่นควันไฟป่าแล้ว ในมิติของป่าไม้ก็เป็นที่เพ่งเล็งของทางหน่วยงานที่มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่า โดยไม่ได้คำนึงถึงว่า การยึดคืนพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนเพื่อนำไปปลูกป่านั้น จะแก้ปัญหาป่าที่ลดลงได้จริงหรือไม่

จากปัญหาป่าไม้ที่ลดลง หากพิจารณาในมิติโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อน เหมืองแร่ อุโมงค์ผันน้ำ รวมไปถึงภาคส่วนอุตสาหกรรมพลังงานต่างๆ ที่ทางภาครัฐอนุญาตให้เข้าใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างง่ายดาย แม้ต้องทำลายป่าไม้และทรัพยากรมากเพียงใดก็ตาม มีการกล่าวถึง กรณีสร้างเขื่อนบริเวณตอนบนลุ่มน้ำโขงในประเทศจีน ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ตลอดลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางและตอนล่าง และกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำ พันธุ์ปลาลดลงเกือบถึงขั้นสูญพันธุ์ แม้ผลกระทบจะสูง แต่กลุ่มทุนและภาครัฐยังคงพยายามสร้างเขื่อนบริเวณลุ่มน้ำโขงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงระดมความเห็นจากผู้เข้าร่วมงาน ได้มีความเห็นประเด็นเรื่องคาร์บอนเครดิตที่กระทบต่อสิทธิชุมชนจาก ดร.สุรินทร์ อ้นพรม นักวิจัยอิสระ ที่กำลังศึกษาประเด็นนี้อยู่ ซึ่งพบว่า นโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าในยุคนี้ เกิดจกการที่รัฐไทยเข้าเป็นสมาชิกว่าด้วยอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ และร่วมทำข้อตกลงว่า สิบปีหลังจากนี้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 จากที่มีอยู่ในขณะนี้ นำมาสู่เป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่า 55% ของประเทศไทย ตามที่ทำข้อตกลงในอนุสัญญา และทำให้เกิดนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า โครงการคาร์บอนเครดิต รวมถึงสถานการณ์การแย่งยึดพื้นที่สีเขียว การแย่งยึดที่ดินป่าไม้จากชุมชน สุรินทร์กล่าวว่า หลังจากนี้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กระแสสิ่งแวดล้อมเช่นนี้จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ช่วงสรุปสถานการณ์ในพื้นที่และข้อเสนอภาคประชาชนสู่ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดย กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้เปิดประเด็นด้วยการตั้งคำถามว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ต่อสู้ขับเคลื่อนกันมาร่วมสามสิบกว่าปีจนถึงปัจจุบัน เพราะเหตุใดยังคงต้องขับเคลื่อนกันอยู่ราวกับว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งคู่ตรงข้ามกัน กฤษฎาเห็นว่า ประเด็นนี้ประกอบด้วยอำนาจสามส่วน ได้แก่ อำนาจนิยม ประโยชน์นิยม และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อำนาจนิยม เป็นเหมือนอำนาจที่มาบังคับ อำนาจเบื้องบนที่ครอบงำทางความคิด เป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การสร้างมายาคติ การสร้างวาทกรรม การบังคับใช้กฎหมายนโยบาย ส่วนประโยชน์นิยมอาจยกตัวอย่างได้ว่า ในยุคสัมปทานไม้ รัฐไม่เคยตั้งคำถามกับชุมชนในพื้นที่ป่าว่าเป็นอุปสรรคกับการจัดการป่าหรือไม่ เพราะรัฐเล็งเห็นประโยชน์จากชาวบ้านในพื้นที่ว่าสามารถเป็นแรงงานในการทำไม้ได้ แต่ไม่ได้มองว่าชาวบ้านเป็นเจ้าของร่วม ประโยชน์นิยมจะมองว่า สิ่งเหล่านั้นสามารถสร้างเม็ดเงิน สร้างมูลค่าได้หรือไม่ และอำนาจส่วนสุดท้ายคือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นอำนาจที่มีขึ้นเพื่อคัดง้างกับสองอำนาจแรก

จากคำถามว่า ‘สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งคู่ตรงข้ามกันหรือไม่?’ เมื่อวิเคราะห์กันที่รากฐานสิ่งแวดล้อมกับสิทธิมนุษยชน จะเห็นว่า สิทธิมนุษยชนให้คุณค่ากับทุกชีวิต เช่นเดียวกันกับสิ่งแวดล้อมที่เห็นคุณค่าของทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตมนุษย์ที่มีมูลค่าหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตที่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย แสดงว่ารากฐานของสิ่งแวดล้อมกับสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องเดียวกัน ในมิติความหลากหลายของมนุษย์ สิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและความหลากหลาย ผู้คนแตกต่างกันภายใต้ความเท่าเทียม ส่วนมิติสิ่งแวดล้อมก็มุ่งเน้นเรื่องความหลากหลายทางชีวิภาพในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“หากสิทธิมนุษยชนปฏิเสธการกดขี่ ปฏิเสธอำนาจนิยม ปฏิเสธการครอบงำ แล้วกระบวนการสิ่งแวดล้อมจะเห็นด้วยกับเรื่องการกดขี่หรือ? สุดท้ายแล้ว สิทธิมนุษยชนคือหลักสากล ไม่ว่าหลักการนี้จะทำเกิดมูลค่าหรือไม่ก็ตาม เช่นเดียวกันกับสิ่งแวดล้อม เราปฏิเสธได้หรือว่า เราจะเอาแค่อากาศสะอาดของชนชั้นกลาง คนในเมือง แล้วปล่อยให้ประชาชนในป่าได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายเหล่านี้ เพราะฉะนั้น สิ่งแวดล้อมใด ๆ ก็ตามที่ถลำเข้าไปในบ่วงของอำนาจนิยมและประโยชน์นิยม กำลังลอยจากรากฐานเดียวกันกับสิทธมนุษยชน รากฐานของการปกป้องสิ่งแวดล้อมคือการปกป้องชีวิตของมนุษย์” กฤษฎากล่าว

แถลงการณ์ประชาชน ยุติละเมิดสิทธิประชาชนด้วยกระแสสิ่งแวดล้อม

ในช่วงท้ายของงาน ได้มีการอ่านแถลงการณ์ภาคประชาชนแสดงเจตนารมณ์ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กระแสสิ่งแวดล้อม โดยมีเนื้อหาดังนี้

ท่ามกลางความรุนแรงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงทศวรรษให้หลังนี้ที่กระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากลุ่มประชาชนคนชายขอบ เกษตรกรรายย่อย คนยากจน และกลุ่มชาติพันธุ์อย่างพวกเราคือผู้เดือดร้อนที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มประชาชนผู้ถูกทำให้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ขาดทรัพยากรและทุนทรัพย์ในการปรับตัวสู้โลกรวนแล้ว ยังตกเป็นจำเลยในปัญหาสิ่งแวดล้อม และจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกสังคมชี้หน้าตีตรา ถูกรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐออกกฎหมายและนโยบายมาละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอในทุกฤดูกาล

รัฐไทยพยายามผลิตซ้ำอคติทางสังคมต่อประชาชนที่อยู่ในฐานทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้นว่าการมีอยู่ของเราเป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำ ตัดไม้ทำลายป่า ระบบ ‘ไร่หมุนเวียน’ ของเราถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘ไร่เลื่อนลอย’ การใช้ไฟเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยสมดุลนิเวศถูกมองว่าเป็นการเผาป่า เป็นต้นเหตุของ PM 2.5 กระทบคนเมือง รัฐจึงออกมาตรการมาจำกัดควบคุมวิถีชีวิตอันปรกติสุขของเรา หนักเข้าก็แย่งยึดที่ดินทำกินโดยอ้างวาทกรรมการอนุรักษ์เพื่อคนทั้งประเทศ ดังเช่นเกิดปรากฏการที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าตรวจยึดแปลงไร่หมุนเวียนในขณะนี้

ในทางกลับกัน รัฐกลับนำทรัพยากรที่คนในพื้นที่ร่วมกันดูแลไปแปรเป็นเงินเพื่อแสวงหาผลกำไรให้กลุ่มทุนน้อยใหญ่และเครือข่ายชนชั้นนำ ท่ามกลางการกดหัวประชาชนจนจมดิน ไม่มีแม้แต่สิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการส่งเสียง เป็นต้นว่าการแย่งยึดทรัพยากรของเราไปสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ถลุงทำลายจนสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และการนำป่าไม้ของเราไปแปรเป็นคาร์บอนเครดิต ฟอกเขียวให้กลุ่มทุนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วให้ยังคงดำรงอยู่ได้และเติบโตมั่งคั่งขึ้นอย่างไม่รู้จักพอ

จะเห็นได้ว่า รัฐบาลมุ่งอนุมัติโครงการน้อยใหญ่ที่มีกลุ่มทุนและรัฐราชการเป็นศูนย์กลางบนข้ออ้างประโยชน์สาธารณะและความเจริญจอมปลอมของประเทศท่ามกลางการสูญเสียฐานทรัพยากรส่วนรวมอย่างถาวร โดยตัดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนผู้รับผลกระทบที่แบกรับความสูญเสียซ้ำซากไม่ต่างจากยุคอดีต และขณะเดียวกันกลับไม่แยแสต่อการดำเนินนโยบาย กฎหมายที่ละเมิดสิทธิการอยู่อาศัยทำกิน แย่งชิง กีดกัน ขับไล่ประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์-ชนเผ่าพื้นเมืองออกจากที่ดิน ผืนป่า และท้องทะเล พร้อมจะตีตราให้ประชาชนที่ด้อยอำนาจเป็นดัง “แพะรับบาป” ในกระแสสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นธรรม เป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำพาประเทศไทยให้ขึ้นสู่อันดับต้นๆ ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก

ณ วันนี้ ในเวทีสรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนบน พวกเราจึงได้ร่วมกันส่งเสียงอีกครั้ง เพื่อให้เพื่อนร่วมสังคมเข้าใจวิถีชีวิตบนความหลากหลายวัฒนธรรมที่ยังสัมพันธ์กับผืนป่า ก็เพราะวิถีชีวิตที่ยังคงพึ่งพาป่าและดูแลป่าให้เหลือรอดเช่นนี้มิใช่หรือที่ทุกคนปรารถนาต้องการท่ามกลางวิกฤตการเปลี่ยนแปลวสภาพภูมิอากาศ หรือหลายคนต้องการเพียงผืนป่า สัตว์ป่า ทรัพยากร ที่ปราศจากผู้คนและชุมชนแบบเรา และแม้ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศอย่างแสนสาหัส แต่ก็ไม่ควรมีเพียงคนบางกลุ่ม คนบางวัฒนธรรมที่ต้องถูกตราหน้า ติดป้ายให้ต้องกลายเป็นตัวการดั่งแพะรับบาปในเรื่องนี้อย่างไม่เป็นธรรม ตอกย้ำอคติ มายาคติทางสังคม กดทับให้พวกเรากลายเป็นอื่นอยู่ทุกยุคสมัย

การต่อสู้ของพวกเราเดินทางมาถึงอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่เราได้ร่วมตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ท่ามกลางการเกิดขึ้นของร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด และร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เราหวังว่าทุกผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าทางสังคม โดยไม่ละทิ้งประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ถูกกระทำซ้ำเติมต่อไป ไม่เดินหน้าผลิตซ้ำอคติทางสังคมต่อกลุ่มคนชายขอบ และยังปล่อยให้ชนชั้นนำผู้ทำลายล้างโลกยังลอยนวล

เราหวังว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอาศัยข้ออ้างด้านวิกฤตวิ่งแวดล้อมจะหมดไปจากสังคมนี้ เพราะหากเราต้องการผืนป่า ผืนน้ำ ต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี การร่วมกันหยุดสร้างมายาคติ สร้างแพะรับบาปด้านผืนป่าและสิ่งแวดล้อม การร่วมกันปกป้องชุมชนคนกับป่าบนความเป็นธรรมทางสังคมวัฒนธรรมมากกว่าการมุ่งใช้อำนาจการปกครองแบบรวมศูนย์ จะเป็นก้าวสำคัญ เป็นดั่งทางรอด มากกว่าทางเลือกของสังคม

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net