Skip to main content
sharethis

หลังองค์กร 'กรีฑาโลก' (World Athletics หรือ WA) ประกาศจะออกข้อจำกัดห้ามไม่ให้ผู้หญิงข้ามเพศ (transgender woman) เข้าร่วมแข่งขันในกรีฑาหญิง นับตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. เป็นต้นไป โดยอ้างว่าเคยผ่านช่วงวัยรุ่นด้วยสรีระ "เป็นชาย" หรือที่เรียกว่า "male puberty" มาก่อน แต่เรื่องนี้ก็มีการทักท้วงจากกลุ่ม LGBTQ+ และจากนักวิจัยเรื่องกายภาพของคนข้ามเพศ และมีงานวิจัยหลายชิ้นในช่วงไม่กี่ปีนี้ที่ระบุว่า การแบนของกรีฑาโลกตั้งอยู่บนความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

องค์กร 'กรีฑาโลก' ' (World Athletics หรือ WA) ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะสั่งห้ามไม่ให้นักกีฬาที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศลงแข่งกรีฑาประเภทหญิง โดยจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. เป็นต้นไป

กรีฑาโลกประกาศว่าพวกเขาจะสั่งห้ามผู้หญิงข้ามเพศ โดยใช้คำเรียกพวกเธอว่าเป็น "ผู้ที่ผ่านช่วงวัยรุ่นด้วยสรีระแบบผู้ชาย" หรือที่เรียกว่า "male puberty" มาก่อน ในการแข่งขันกีฬาระดับอาชีพในประเภทหญิงโดยที่ เซบาสเตียน โค ประธานของกรีฑาโลกอ้างว่าเพื่อให้เกิด "ความยุติธรรม" กับนักกีฬาที่เป็นผู้หญิงตามเพศกำเนิด

โค อ้างว่ากลุ่มของพวกเขาได้พิจารณาโดยอาศัย "วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องสมรรถนะทางร่างกาย" ของ "ผู้ชาย" ซึ่งโคหมายถึง "ผู้มีเพศกำเนิดชาย" แต่ก็บอกว่าถ้าหากมีข้อมูลหลักฐานอื่นๆ มากกว่านี้ พวกเขาก็จะพิจารณาจุดยืนของพวกเขาใหม่อีกครั้ง "พวกเราไม่ได้ปิดกั้นไปตลอด" โคกล่าว

เซบาสเตียน โค ภาพจาก InfoGibraltar

ข้ออ้างที่ว่า 'ผู้หญิงข้ามเพศ' ได้เปรียบทางกายภาพนั้น ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

การตัดสินใจขององค์กรกรีฑาโลกในครั้งนี้ ขัดกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายชุดที่ออกมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องวิทยาศาสตร์กายภาพรวมถึงเรื่องฮอร์โมนหลายคนที่แสดงความคิดเห็นไปในทางตรงกันข้ามกับกรีฑาโลก อีกทั้งในตัวอย่างที่ผ่านมาผู้หญิงข้ามเพศก็ไม่เคยชนะได้เหรียญใดๆ เลยในการแข่งกีฬาโอลิมปิกร่วมกับหญิงตามเพศกำเนิด

ถึงแม้ว่าจำนวนข้อมูลงานวิจัยในเรื่องนี้ยังอยู่ในระยะตั้งไข่และอาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก แต่สื่อนิตยสารวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลีย คอสมอส แม็กกาซีน ก็ระบุว่า "มันเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า ไม่เพียงแค่ผู้หญิงข้ามเพศไม่ได้มีข้อได้เปรียบทางด้านกีฬาเมื่อต้องแข่งกับผู้หญิงตามเพศกำเนิด (cis women) เท่านั้น แต่นักกีฬาผู้หญิงตามเพศกำเนิดส่วนมากไม่ได้กังวลอะไรถ้าหากผู้หญิงข้ามเพศจะลงแข่งด้วย"

อย่างไรก็ตาม องค์กรกรีฑาโลกจะไม่ได้ระบุอธิบายให้ชัดเจนว่าพวกเขาหมายความว่าอย่างไรเวลาพูดถึง "การผ่านช่วงวัยรุ่นด้วยสรีระแบบผู้ชาย" หรือ "male puberty" แต่ผู้เขียนก็ประเมินว่ามันอาจจะหมายถึงการที่ฮอร์โมนเพศชายอย่างเทสโทสเตอโรนมีผลในการทำให้สมรรถนะทางร่างกายแตกต่างกันจนอาจจะทำให้ผู้หญิงข้ามเพศที่เคยมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจำนวนมากกว่าผู้หญิงตามเพศกำเนิดโดยค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนวัยผู้ใหญ่ มีข้อได้เปรียบในกีฬาบางประเภท [*]

แต่ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าข้ออ้างที่ว่าหญิงข้ามเพศได้เปรียบหญิงตามเพศกำเนิดไม่เป็นความจริง เพราะผู้หญิงข้ามเพศจำนวนมากที่เข้าถึงการบำบัดทดแทนฮอร์โมน (hormone replacement therapy) หรือที่เรียกว่า "เทคฮอร์โมน" ก็จะใช้ยายับยั้งเทสโทสเตอโรน และใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ถูกเรียกว่าเป็น "ฮอร์โมนเพศหญิง" อยู่แล้ว

นิตยสารวิทยาศาสตร์คอสมอส ระบุว่า ฮอร์โมนเหล่านี้ส่งผลต่อร่างกายของผู้หญิงข้ามเพศ โดยการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรไขมันในร่างกายไปตามส่วนต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีการลดระดับเซลส์เม็ดเลือดขาวให้อยู่ในระดับเดียวกับผู้หญิงตามเพศกำเนิดด้วย

อดา จาง นักวิทยาต่อมไร้ท่อซึ่งศึกษาเรื่องระบบฮอร์โมนจากมหาวิทยาลัยแห่งเมลเบิร์น กล่าวว่า ในกีฬานั้นมีการโกงด้วยการ "โด๊ปเลือด" เพื่อทำให้การไหลเวียนของเม็ดเลือดแดงดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามผู้หญิงข้ามเพศจะมีระดับเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ลำเลียงอ็อกซิเจนเท่ากับของผู้หญิงตามเพศกำเนิดทำให้สมรรถนะในด้านชั้นไขมันและระดับความหนาแน่นของกระดูกเทียบเท่ากับผู้หญิงตามเพศกำเนิดด้วย

ในขณะเดียวกัน เว็บไซต์ข้อมูลด้านการแพทย์อย่าง WebMD ก็เคยสัมภาษณ์ โจอันนา ฮาร์เปอร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการโอลิมปิกและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลัฟบะระ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในด้านการวิจัยกีฬา ที่พูดถึงเรื่องข้อกำหนดของคณะกรรมการโอลิมปิก (IOC) เมื่อปี 2559 ที่กำหนดให้ผู้หญิงข้ามเพศต้องมีฮอร์โมนต่ำกว่าระดับ 10 นาโนโมลต่อลิตรต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี ถึงจะลงแข่งในประเภทหญิงได้ อย่างไรก็ตามเคยมีการประกาศยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าวเมื่อปลายปี 2565 ส่วนหนึ่งเพราะมันมีโอกาสจะกลายเป็นการปิดกั้นผู้หญิงตามเพศกำเนิดที่มีฮอร์โมนต่างจากค่าเฉลี่ยด้วย

ทั้งนี้ ฮาร์เปอร์ยังได้พูดถึงข้อมูลที่ว่าหลังจากหญิงข้ามเพศเทคฮอร์โมนแล้ว ระดับเทสโทสเตอโรนของพวกเธอจะลดมาอยู่ในระดับเดียวกับผู้หญิงตามเพศกำเนิด โดยอ้างข้อมูลจากงานวิจัยปี 2562 ที่ระบุว่าผู้หญิงตามเพศกำเนิดร้อยละ 95 มีเทสโทสเตอโรนน้อยกว่า 2 นาโนโมลต่อลิตร ขณะที่ผู้หญิงข้ามเพศร้อยละ 94 มีเทสโทสเตอโรนอยู่น้อยกว่า 2 นาโนโมลต่อลิตร ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณกลุ่มประชากรที่ใกล้เคียงกับของผู้หญิงตามเพศกำเนิด

ถึงแม้ว่าในเอกสารขององค์กรกรีฑาโลกจะระบุอ้างว่า ผู้หญิงข้ามเพศ "มีข้อได้เปรียบจากมวลกล้ามเนื้อ, ปริมาณกล้ามเนื้อ และความแข็งแกร่งมากกว่าผู้หญิงตามเพศกำเนิด" ถึงแม้ว่าจะเทคฮอร์โมนมาเกิน 12 เดือนแล้ว แต่ในรายงานเล่มเดียวกันก็ยอมรับว่า "มีข้อมูลการทดลองที่จำกัด" ในเรื่องนี้

ในทางตรงกันข้าม วิทยาศาสตร์กระแสหลักดูเหมือนจะไม่สนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวขององค์กรกรีฑาโลก วารสารด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์การกีฬาอย่าง "สปอร์ตเมดดิซีน" ก็เคยเผยแพร่รายงานในปี 2560 ว่า ไม่มีงานวิจัยโดยตรงและมีความคงเส้นคงวาชิ้นไหน ที่พบว่าผู้หญิงข้ามเพศมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันแต่อย่างใด นักวิจารณ์บอกว่าการสั่งห้ามหญิงข้ามเพศแข่งกีฬากับผู้หญิงตามเพศกำเนิดถือเป็นการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม องค์กรกรีฑาโลก ก็ยังดื้อดึง โดยอ้างในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า "มันเห็นได้ชัดว่ามีการสนับสนุนน้อยมากภายในวงการกีฬา ที่จะมีทางเลือกแบบแรกที่นำเสนอต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทางเลือกที่ว่านั่นคือการให้นักกีฬาคนข้ามเพศคงระดับของเทสโทสเตอโรนเอาไว้ที่ 2.5 นาโนโมลต่อลิตร ภายในระยะเวลา 24 เดือน เพื่อที่จะมีสิทธิลงแข่งในระดับนานาชาติในประเภทกีฬาหญิงได้"

เพศสรีระไม่ได้เป็นเส้นตรง ปัจจัยกายภาพหลายอย่างไม่เกี่ยวกับเพศกำเนิด

แต่หลักฐานต่างๆ ก็ดูจะชี้ไปในทางตรงกันข้ามกับข้ออ้างของกรีฑาโลก แม้กระทั่งงานวิจัยที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้โดยองค์กรด้านจรรยาบรรณกีฬา อย่าง ศูนย์แคนาดาเพื่อจรรยาบรรณในการกีฬา (CCES) ที่ทำการสำรวจตั้งแต่ปี 2554-2564 ออกเผยแพร่ต่อสื่อเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมาระบุว่าปัจจัยทางชีวเวช (biomedical) อย่าง "การเคยผ่านช่วงวัยรุ่นด้วยร่างกายแบบผู้ชาย" หรือ ขนาดปอด หรือ ความหนาแน่นของกระดูก ไม่ได้สร้างความได้เปรียบทางการกีฬาแต่อย่างใด มีหลักฐานน้อยเกินไปที่จะสนับสนุนว่าปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดความได้เปรียบ

ในทางกลับกัน ศูนย์แคนาดาเพื่อจรรยาบรรณในการกีฬา (CCES) ระบุว่าปัจจัยทางสังคมอย่างเช่นโภชนาการของบุคคลและคุณภาพในการฝึกซ้อมต่างหากที่มีส่วนในความได้เปรียบเสียเปรียบในการกีฬา ทำให้รายงานฉบับนี้ระบุว่าผู้หญิงข้ามเพศที่ทำการบล็อกเทสโทสเตอโรนให้อยู่ในระดับต่ำพอแล้ว ก็จะเป็นที่ชัดเจนว่าพวกเธอไม่มีความได้เปรียบทางกายภาพแต่อย่างใด

ทั้งนี้ยังมีหลักฐานงานวิจัยที่ไปไกลกว่านั้นคือถึงขั้นระบุว่าปริมาณ เทสโทสเตอโรนก็ไม่ได้หมายความว่าได้เปรียบเสมอไป นั่นคืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมแนช ที่เคยตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำอย่าง 'เนเจอร์' มีเนื้อหาระบุว่า แม้แต่เทสโทสเตอโรน ไม่ได้ส่งผลต่อสมรรถภาพที่แตกต่างกันระหว่างนักกีฬาชายหญิงมากขนาดนั้น

งานวิจัยจาก ม.โมแนช ระบุว่าสิ่งที่จำเป็นต่อสมรรถภาพบางด้านในการกีฬาอย่างการสร้างมวลกล้ามเนื้อ หรือใช้พละกำลังได้ถึงขีดสุดนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องมาจากเทสโทสเตอโรนเป็นหลัก แต่มาจากฮอร์โมนการเจริญเติบโตหรือ "โกรทฮอร์โมน" บวกกับ ฮอร์โมนที่มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายอินซูลินที่เรียกว่า IGF-1 และ กระทั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงก็มีโอกาสจะมาทำหน้าที่เชิงแอนาบอลิก (เช่น การสร้างหรือซ่อมแซมมวลกล้ามเนื้อ) แทนเทสโทสเตอโรนได้

แต่ในเมื่อมีหลักฐานเช่นนี้แล้ว ทำไมองค์กรกีฬาใหญ่ๆ บางแห่งอย่างกรีฑาโลกยังถึงหาเรื่องแบนผู้หญิงข้ามเพศ ในรายงานของ CCES ระบุว่า "มีหลักฐานที่หนาแน่น" พบว่า นโยบายขององค์กรกีฬาระดับอาชีพนั้นออกมาโดยตั้งอยู่บนฐานคิดแบบการเหยียดผู้หญิงข้ามเพศ, การเหยียดเพศหญิงที่เป็นคนผิวสี, การเหยียดเชื้อชาติสีผิว, และมีอคติเอนเอียงไปตามบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมการเมืองในพื้นที่ของพวกเขา

บรรทัดฐานดังกล่าวนี้มาจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานในการกีดกันผู้หญิงออกจากกีฬา โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีร่างกายที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน "ความเป็นหญิง" ในสังคม

กรีฑาโลกเคยใช้เรื่องเนื้อตัวร่างกายมาตั้งกฎกีดกันคนเพศกำเนิดหญิงมาก่อน

เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับกรณีของ คาสเตอร์ เซเมนยา นักวิ่งคนผิวดำจากแอฟริกาใต้ผู้มีเพศกำเนิดหญิง (การใช้คำว่าเพศกำเนิดหญิงในที่นี้คือ assigned female at birth ใช้ตามเพศที่บุคคลนั้นๆ ถูกระบุมาตั้งแต่ตอนกำเนิด ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลังจากนั้น-ผู้เขียน) เธอมีร่างกายดูกำยำ และหลังจากที่เธอชนะเหรียญทองวิ่ง 800 เมตรในการแข่งขันเวิร์ลด์แชมเปียนชิพในปี 2552 เธอก็เผชิญกับการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติด้วยการถูกกล่าวหาในเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องเพศกำเนิดของเธอด้วย

คาสเตอร์ เซเมนยา ภาพโดย Yann Caradec

และผู้ที่กล่าวหาเธอก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นองค์กรกรีฑาโลกนั่นเอง ซึ่งในตอนนั้นยังใช้ชื่อว่า สหพันธ์กรีฑาสมัครเล่นนานาชาติ (IAAF) ทางองค์กรกล่าวหาเธอทั้งเรื่องการใช้ยาเสพติด กล่าวหาเธอว่ามีเพศกำกวม (intersex) เพียงเพราะมีพัฒนาการในการทำลายสถิติของตัวเองอย่างมากเทียบกับปีก่อนหน้านี้ หลังจากนั้นในปี 2553 เธอก็ถูกกีดกันจากการลงแข่งเพราะ IAAF อ้างว่ายังตรวจสอบเพศกำเนิดของเธอยังไม่เสร็จ

เรื่องนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนกฎกลับไปกลับมาในเรื่องระดับเทสโทสเตอโรนที่เหมาะสมสำหรับการแข่งขันกรีฑาหญิงอีกด้วย ในปี 2558 มีการเปลี่ยนกฎเกี่ยวกับผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงเพื่อเปิดกว้างในเรื่องนี้มากขึ้น คำตัดสินในครั้งนั้นตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า ไม่มีหลักฐานมากพอที่บ่งชี้ว่าปริมาณเทสโทสเตอโรนนั้นสามารถเพิ่มสมรรถภาพให้กับนักกีฬาหญิง และมีการระบุให้ IAAF ต้องหาหลักฐานให้ได้ภายในเวลา 2 ปีมายืนยันว่าเทสโทสเตอโรนมีผลต่อเรื่องดังกล่าวจริง

อย่างไรก็ตาม IAAF ได้ประกาศกฎใหม่เมื่อเดือน ส.ค. 2561 ว่าให้บุคคลที่มีสภาวะผิดปกติในพัฒนาการทางเพศที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมากกว่า 5 นาโนโมลต่อลิตร ต้องทำการบำบัดเพื่อลดระดับเทสโทสเตอโรนก่อน (ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิงข้ามเพศจำนวนมากทำอยู่แล้ว จากการเทคฮอร์โมนนั่นเอง-ผู้เขียน) ถึงจะลงแข่งกีฬาหญิงได้ แต่การที่ทาง IAAF จำกัดประเภทกีฬาที่บังคับใช้กฎนี้ทำให้มองได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงกฎเพื่อเน้นเล่นงาน เซเมนยา เท่านั้น

เซเมนยาได้ฟ้องร้องในเรื่องที่เธอถูกบังคับให้ต้องเทคฮอร์โมนเพื่อที่จะลงแข่งได้ เธอบอกการเทคฮอร์โมนในช่วงระหว่างปี 2553-2558 ทำให้เธอป่วยด้วยอาการปวดท้องอยู่เสมอ และการต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ของ IAAF เป็นสิ่งที่ทำร้ายเธอทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ทว่าการฟ้องร้องของเธอก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ ล่าสุดสิ่งที่เซเมนยาทำคือการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปเมื่อปี 2564 และยังคงรอผลการพิจารณา

"ความยุติธรรมทางการกีฬา" หรือเป็นแค่ข้ออ้างในการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันแน่

ในเมื่อสิ่งที่องค์กร 'กรีฑาสากล' ทำนั้นไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วทำไมพวกเขาถึงยังมีการออกกฎเกณฑ์เช่นนี้ เรื่องนี้อาจจะเป็นอย่างที่งานวิจัยของ ศูนย์แคนาดาเพื่อจรรยาบรรณในการกีฬา (CCES) ระบุเอาไว้ว่ามันมาจากทัศนคติแบบกีดกันเลือกปฏิบัติขององค์กรเหล่านี้ ทั้งกับผู้หญิงข้ามเพศ และผู้หญิงตามเพศกำเนิด ซึ่งขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน

CCES ระบุว่ากลุ่มคนข้ามเพศมักจะถูกกีดกันออกจากพื้นที่ต่างๆ ทางสังคมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงที่พักอาศัย, งานสาธารณสุข, พื้นที่สาธารณะร่วมถึงสถานที่ทางการกีฬา เรื่องนี้ทำให้สภาพชีวิตของผู้หญิงข้ามเพศย่ำแย่ จากการที่พวกเธอถูกลดสถานะทางสังคมลง (Downward mobility) และการต้องเผชิญกับการเหยียดคนข้ามเพศแบบที่ใช้แนวคิดคนตรงเพศกำเนิดเป็นใหญ่ (cissexist)

ทั้งนี้ยังมีข้อสังเกตอีกว่า ในประวัติศาสตร์ของการตั้งกฎเกณฑ์กีฬาเหล่านี้ มักจะตั้งโดยมองว่ากีฬาของผู้หญิงเป็นอะไรที่ "ต้อยต่ำกว่า" และในประวัติศาสตร์ก็เคยมีการอาศัยเรื่องเพศสรีระที่แตกต่างกันไม่มากระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายเพื่อเป็นข้ออ้างกีดกันผู้หญิงออกจากงานกีฬาใหญ๋ๆ เช่น โอลิมปิก

อีกทั้งในแง่สถิติแล้ว ผู้หญิงข้ามเพศก็ไม่เคยชนะเหรียญทองเลยสักเหรียญเดียวนับตั้งแต่ที่ได้รับอนุญาตให้แข่งในกีฬาโอลิมปิกตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา (ราว 19 ปี) มีแต่นักกีฬาที่เป็นนอนไบนารีเท่านั้นที่เคยได้เหรียญทอง แม้กระทั่งในกีฬาที่ต้องใช้เน้นใช้แรงกายอย่างการยกน้ำหนัก ก็เคยมีผู้หญิงข้ามเพศชื่อ ลอเรล ฮับบาร์ด ลงแข่งยกน้ำหนักหญิงในปี 2564 ซึ่งเธอไม่ได้เหรียญใดๆ เลย เป็นที่ชวนให้น่าคิดว่า ผู้หญิงข้ามเพศมีข้อได้เปรียบอย่างที่พวกกรีฑาโลกอ้างจริงหรือ

หรือสุดท้ายก็ต้องหันกลับมามองประเด็นนี้ในแง่สิทธิมนุษยชนกันจริงๆ เพราะการสั่งแบนคนข้ามเพศล่าสุดนี้ มีกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่ามันเสี่ยงต่อการ "ละเมิดหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน"

แอนนา บราวน์ ประธานกรรมการบริหารขององค์กรสิทธิมนุษยชน อิควอลิตีออสเตรเลีย กล่าวว่า "นโยบายเช่นนี้เสี่ยงที่จะละเมิดหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนในเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งระบุให้นโยบายต่างๆ ต้องมีความริเริ่มมาจากการนับรวมผู้คนอย่างครอบคลุม เว้นแต่การกีดกันนั้นมีความชอบธรรมที่เหมาะสมพอเมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงที่ตรวจพบได้" โดยที่บราวน์บอกว่าในแง่นี้ "(องค์กร)กรีฑาโลกทำได้ไม่ถึงมาตรฐานที่กำหนดไว้"

ริกกี คอจแลน นักกรีฑาหญิงข้ามเพศชาวออสเตรเลียที่เกษียณแล้วกล่าวว่าเธอรู้สึกผิดหวังต่อกฎใหม่ของกรีฑาโลกโดยที่เธอรู้สึกว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ "ตั้งอยู่บนฐานของการกีดกันเลือกปฏิบัติ"

"เสียงแห่งความเกลียดถูกขยายใหญ่บนฟากหนึ่งแล้วอีกฟากหนึ่งก็คือเสียงของความหวาดกลัว ชุมชนของพวกเราถูกแบ่งแยกแล้วมันก็ทำให้พวกเราพลาดโอกาสในการบรรลุความสำเร็จในสิ่งที่พวกเราจะสามารถบรรลุได้ก็ต่อเมื่อร่วมมือร่วมใจกันเท่านั้น โดยพวกเราจะร่วมมือร่วมใจกันด้วยจิตวิญญาณมุ่งมาดปรารถนาที่จะเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของพวกเราทุกคน" คอจแลนกล่าว

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้มันเกี่ยวของกับสิทธิมนุษยชนคือการที่มุมมองเพศสรีระแบบแบ่งแยกชายหญิงเป็นขั้วตรงข้ามนั้น กลายเป็นมุมมองแบบคนขาวเป็นใหญ่ที่ไม่เพียงแต่กีดกันคนข้ามเพศเท่านั้นแต่ยังเสี่ยงจะกีดกันผู้หญิงตามเพศกำเนิดที่เป็นคนผิวสี หรือผู้หญิงตามเพศกำเนิดที่มีเพศสรีระไม่เป็นไปตามแบบแผนขนบทางสังคมด้วย ซึ่งกลายเป็นการขัดกับข้ออ้างของกรีฑาโลกที่อ้างว่า "ทำไปเพื่อปกป้องผู้หญิง(ตามเพศกำเนิด)”

ผู้ที่พูดถึงเรื่องดังกล่าวนี้คือ นักกีฬาว่ายน้ำชายข้ามเพศที่ชื่อ สกายเลอร์ เบลาร์ เขาบอกว่าการแอบซ่อนความเกลียดกลัวคนข้ามเพศและการเหยียดเพศหญิงไว้ในนามของ "การปกป้องผู้หญิงและเด็ก" นั้น นับเป็นกลวิธีที่ได้ผลที่พวกฝ่ายขวาใช้ขจัดความเป็นมนุษย์และขจัดความจริงออกไปจากบทสนทนา แทนที่พวกเขาจะเข้าใจคนข้ามเพศโดยเฉพาะคนข้ามเพศที่เป็นเยาวชนในแง่ที่ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดและต้องการการคุ้มครองมากที่สุด แต่คนพวกนี้กลับบิดเบือนหลักการใช้การอ้างว่าปกป้องผู้หญิงและเด็กเพื่อเอามาสร้างการกีดกันคนข้ามเพศมากขึ้น

เบลาร์ กล่าวว่าการกีดกันผู้หญิงข้ามเพศในกีฬาสุดท้ายแล้วมันจะทำร้ายผู้หญิงตามเพศกำเนิดเองด้วย เพราะมันจะทำให้พวกที่ออกนโยบายต้องหันมาคอยกำหนดกะเกณฑ์เนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงโดยมีภาพลักษณ์ว่าแบบไหนนับเป็นความเป็นผู้หญิงที่ถูกต้องเอาไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว และต้องเป็นสิ่งที่ "เป็นผู้หญิงมากพอ" ในสายตาของพวกที่มีอำนาจอยู่ในระบบ (ซึ่งก็คือระบอบปิตาธิปไตยและแนวคิดคนขาวเป็นใหญ่)

เบลาร์ บอกว่าระบบการสั่งห้ามผู้หญิงข้ามเพศโดยอ้างเรื่องเนื้อตัวร่างกายของพวกเธอจะเสี่ยงต่อการทำให้ผู้หญิงตามเพศกำเนิดที่ถูกมองว่ามีรูปลักษณ์หรือมีสมรรถภาพทางร่างกายที่ "แมนเกินไป" เสี่ยงต่อการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติไปด้วย โดยเฉพาะผู้หญิงคนผิวดำที่มักจะได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากแนวคิดแบบเกลียดผู้หญิงที่เป็นคนผิวดำ (misogynoir) ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ เซเรนา วิลเลียมส์ นักเทนนิสหญิง, ซีโมน ไบลส์ ผู้มีฉายาราชินียิมนาสติก, ชาคาร์รี ริชาร์ดสัน นักวิ่งสหรัฐฯ

"โวหารต่อต้านคนข้ามเพศหลอกให้พวกสาวกขี้ตื่นหลงเชื่อไปว่าผู้หญิงข้ามเพศเป็นภัย และหลงเชื่อว่าการกีดกันพวกเธอนับเป็นแนวคิดสตรีนิยม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบอบปิตาธิปไตยที่ประกอบด้วยชายตามเพศกำเนิดที่เป็นคนขาวส่วนใหญ่ กำลังฉวยใช้เรื่องนี้มาเป็นอาวุธ" เบลาร์กล่าว

"การสั่งแบนในแบบของกรีฑาโลกเช่นนี้ เป็นเรื่องอยุติธรรม, กีดกันเลือกปฏิบัติ, เหยียดเพศหญิง, เกลียดกลัวคนข้ามเพศ และเต็มไปด้วยการต่อต้านคนผิวดำและการเหยียดเชื้อชาติสีผิว ผู้หญิงข้ามเพศไม่ได้เป็นภัยอะไรต่อการแบ่งกลุ่มผู้หญิง การกีดกันผู้หญิงข้ามเพศต่างหากที่เป็นภัยต่อเรื่องนี้" เบลาร์กล่าว


เรียบเรียงจาก


งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Caster_Semenya
https://en.wikipedia.org/wiki/Transgender_people_in_sports

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net