Skip to main content
sharethis

กรีนพีซ ประเทศไทย แถลงการณ์เรียกร้องให้ รัฐบาลประกาศให้พื้นที่ประสบฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นเขตภัยพิบัติทันที เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน และการเข้าถึงสิทธิในอากาศสะอาด

 

1 เม.ย. 2566 เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา กรีนพีซ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ รัฐบาลประกาศให้พื้นที่ประสบฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นเขตภัยพิบัติทันที เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน สืบเนื่องจากตลอดทั้งเดือนมีนาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางแห่งอาเซียน (ASEAN Specialised Metroolorical Centre-ASMC) ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [1] ได้ยกระดับการเตือนภัยสถานการณ์ฝุ่นพิษที่มีความเข้มข้นสูงซึ่งปกคลุมเหนืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด (Activation for Alert Level 3 for the Mekong Sub-region) [2]

ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนี้ส่งผลให้ประชาชนในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ต้องประสบกับผลกระทบทางสุขภาพ รวมถึงอาการหายใจติดขัด แสบตา เจ็บคอ บ้างมีอาการเลือดกำเดาไหล และไอเป็นเลือด จากการรับสัมผัสฝุ่นพิษในระดับที่เป็นอันตราย(hazardous) โดยมีดัชนีคุณภาพอากาศมากกว่า 100 ขึ้นไปต่อเนื่องกันนับสัปดาห์  นี่คือวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสังคมในวงกว้างและต้องมีมาตรการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยเร่งด่วน

กรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิในอากาศสะอาด #RightToCleanAir มีข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรักษาการณ์ ดังต่อไปนี้

● เพื่อให้สอดคล้องกับการเตือนภัยของศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางแห่งอาเซียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์สามารถใช้กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในการประกาศเขตภัยพิบัติในพื้นที่ที่มีผลกระทบจากฝุ่นพิษในระดับที่เข้มข้นต่อเนื่องกันอย่างน้อย 5 วันขึ้นไป โดยใช้เกณฑ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่มากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงภายใต้มาตรฐานคุณภาพอากาศ PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปที่จะมีการบังคับใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2566 ตามที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา [3]

● ใช้กลไกทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตรโดยเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่มีความโปร่งใสและภาระรับผิด (accountability) ตลอดห่วงโซ่อุปทานของการทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ(commodity-driven deforestation) โดยมีระบบตรวจสอบย้อนกลับการรับซื้อสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผาทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรจะต้องรับภาระความเสียหายรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการบำบัด เยียวยา และฟื้นฟูคุณภาพอากาศ สุขอนามัยและความเสียทางเศรษฐกิจ หากสินค้าเกษตรที่จะนำเข้าหรือส่งออกเกี่ยวข้องกับการเผา และการทำลายสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทาน [4] แทนที่จะผลักภาระทั้งหมดไปยังเกษตรกรที่อยู่ทั้งในระบบและนอกระบบเกษตรพันธะสัญญา

● ยุติโครงการเหมืองถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศทุกโครงการ และยุติการสนับสนุนการลงทุนหรือความเกี่ยวข้องใดๆ ของโครงการเหมืองถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเพื่อนบ้าน เหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นพิษ PM2.5 และปรอทซึ่งเป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนที่สำคัญ [5]

 

อ้างอิง 

[1] http://asmc.asean.org/home/

[2] Alert Level 3 เป็นระดับที่มีความเสี่ยงจากฝุ่นพิษข้ามพรมแดนสูงสุดในระดับภูมิภาค มีจุดความร้อนที่ active ต่อเนื่องและมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพปกคลุมอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2 วันขึ้นไป ความแห้งแล้งต่อเนื่องยาวนาน และมีการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝุ่นพิษที่ส่งผลกระทบต่อประเทศข้างเคียง http://asmc.asean.org/asmc-alerts/

[3] https://www.pcd.go.th/laws/26439

[4] วิกฤตฝุ่นพิษในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีมาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี และส่วนหนึ่งของปัญหาคือการขยายการลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งในภาคเหนือตอนบนของไทย และในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ลาวตอนเหนือและรัฐฉาน เมียนมา) โดยงานศึกษาวิจัยของกรีนพีซ ประเทศไทยพบว่า 1 ใน 3 ของมลพิษอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีที่มาจากพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้อมูลอ้างอิงจากสำนักงานศุลกากรภาคที่ 3 ปีงบประมาณ 2565 รายงานสถิติการนำเข้าสินค้า พบว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 13,200,999,565 บาท โดยที่ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (ไก่และหมู) เป็นอันดับท็อป 10 ของโลก

[5] ข้อเสนอในการปลดระวางโรงไฟฟ่าถ่านหินในประเทศไทยและการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม ระบุว่า หากปลดระวางถ่านหินภายในปี 2570 จะสามารถลดการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจนซึ่งเป็นคู่หูของฝุ่นพิษ PM2.5 ลงได้ 38,200 ล้านตัน และลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงจากมลพิษทางอากาศลงได้ 9,545 รายต่อปี https://www.greenpeace.org/thailand/publication/21396/climate-coal-phase-out-coal-thailand-report/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net