Skip to main content
sharethis

เช็คจุดยืน ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมาก ส.ส. (อัปเดตล่าสุด 18 พ.ค. 66 เวลา 19.00 น.)

มีแนวโน้มโหวต

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล

  • ฐปนีย์ เอียดศรีชัย นักข่าวชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “มาเป็นสักขีพยานว่า ส.ว.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ประกาศจุดยืนจะโหวตนายกฯ ที่มาจากฉันทามติของประชาชน 1 เสียงของ ส.ว. ที่จะยืนข้างประชาชนค่ะ”
  • ซากีย์ เปิดเผยว่า โดยธรรมเนียม ถ้าดูระบบรัฐสภาในระดับสากล ให้เกียรติพรรคการเมืองเป็นอันดับแรกในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าไม่ได้ให้เป็น พรรคที่ 2 หรือ 3 แต่จำเป็นต้องเอามารยาททางการเมือง และรับบที่ได้รับการยอมรับสากลกลับมาให้กลไกกลับมา ไม่งั้นจะเจอทางตันอีกรอบ
  • พร้อมกันนี้ ซากีย์ เรียกร้องไปยังสมาชิกวุฒิสภา กลับมายืนตามหลักการรัฐสภา ต้องให้พรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าไม่ได้ก็เป็นพรรคถัดไป ตามหลักกติกาสากล (ที่มา: เดอะรีพอร์ตเตอร์)

วันชัย สอนศิริ 

  • ก่อนหน้านี้วันชัยมีท่าทีไม่ชัดเจน คล้ายกับจะไม่โหวตตามมติเสียงข้างมาก แต่ในท้ายที่สุดก็โพสต์ข้อความชี้แจงทางเฟซบุ๊กยืนยันว่า ใครรวมเสียง ส.ส.ได้ข้างมากก็โหวตให้คนนั้นเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย และตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ภัทรา วรานิมิตร

  • ภัทรา โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า “เคารพมติของประชาชน ขอประกาศจุดยืนสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี” 

วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์

  • วุฒิพันธุ์เขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับมติมหาชน

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. อำพล แสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กระบุว่า “ผลเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66 สะท้อนเจตนามหาชนชัดเจนแล้ว จากนี้ควรปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ ไม่ว่าใครก็ตาม อย่าได้แทรกแซงไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ร่วมกันสานพลังชาติตามบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่ายจะดีกว่า ประเทศไทยถึงจะไปต่อได้” 

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม

ดิเรกฤทธิ์ เปิดเผยว่า ตนคำนึงถึงเสียงของประชาชนที่มาใช้สิทธิเป็นสำคัญ และการที่จะพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี มองว่าต้องผ่าน 3 ด่าน คือ

1. มีเสียง ส.ส. 250 เสียงขึ้นไป

2. มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ รวมถึงที่มีการร้องเรียนต่างๆ กับองค์กรอิสระ อยากเรียกร้องให้องค์กรอิสระ เร่งวินิจฉัยออกมา เพราะจะมีผลต่อการพิจารณาของ ส.ว.

3. ต้องดูความสามารถในการขับเคลื่อนนโยบาย

“รับฟังเสียงของประชาชนแน่นอนครับ และพร้อมโหวตสนับสนุนนายกฯ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ที่มาจาก ส.ส.ที่รวมกันได้เกินกว่า 250 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทยให้ยั่งยืนต่อไป” 

ทรงเดช เสมอคำ

  • สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ทรงเดช เสมอคำ ส.ว.ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน จ.สุโขทัย พร้อมที่จะสนับสนุนพรรคก้าวไกล (ที่มา : คมชัดลึก 17 พ.ค.66)

เฉลิมชัย เฟื่องคอน

  • เฉลิมชัย กล่าวในเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘สมาชิกวุฒิสภาในฐานะหุ้นส่วนประชาธิปไตย’ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ตนจะพิจารณาเลือกนายกฯ โดยจะเอาพรรคการเมืองที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ คือ 251 เสียงขึ้นไปเป็นหลัก

วัลลภ ตังคณานุรักษ์

  • วัลลภ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวโดยนำข้อความที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า "ใครรวมได้เสียงข้างมาก เกิน 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เป็นนายกฯ ได้เป็นรัฐบาลครับ ไม่มีใครขวางได้" (ที่มา : ไทยพีบีเอส)

พิศาล มาณวพัฒน์

  • พิศาล กล่าวใน รายการตอบโจทย์เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า มันไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้นที่คนที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ได้มีสิทธิเพียงฝ่ายเดียว แล้วต้องมาร่วมกับคนที่มาจากการแต่งตั้ง แล้วคนที่มาจากการแต่งตั้งมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับคนที่จะเลือกไม่เลือก ตนคิดว่ามันไม่ยุติธรรม ดังนั้นก็จะฟังและก็จะให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนให้มากที่สุดในวันเลือกตั้ง (ที่มา : ประชาไท)

รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล

  • รณวรินทธิ์ กล่าวว่า ถ้ามีคนเดียว แล้วเสนอพิธา ก็ไม่ได้น่ารังเกียจ เพราะมาจากมติมหาชน ส.ส.เขตก็ได้มาก และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้เยอะ รวมกันแล้วได้อันดับ 1 ก็มีสิทธิ์อันชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งองค์ประกอบที่จะพิจารณาพรรคร่วมมีใครบ้าง นโยบายเป็นอย่างไร ตรงนั้นน่าสนใจกว่า (ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ประมาณ สว่างญาติ

  • ประมาณ กล่าวว่า ตนไม่คัดค้านใครจะมาเป็นนายกฯ ขอให้เป็นไปตามมติของประชาชน ซึ่งในฐานะเกษตรกรคนหนึ่ง ที่ได้รับเลือกจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน และมีความเชื่อมโยงจากประชาชน ส่วน สว.ท่านอื่น ก็ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างจิตใจ แต่ตัวเองอยากให้ไปทางที่ไม่ขัดแย้ง ยิ่งมีมติประชาชนนำมาแล้ว ก็ควรที่จะไปทางนั้นมากกว่า (ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

มณเฑียร บุญตัน

  • วันนี้ (18 พ.ค.) มณเฑียร ระบุว่า ตอนแรกคิดจะงดออกเสียงเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ตามที่เรียกร้องกัน แต่เมื่อถึงตอนนี้จะโหวตตามน้ำคือ ส.ส.เป็นน้ำ เอาอย่างไรตนก็เอาอย่างนั้น ไม่ต้องใช้สมองคิดเลย ไม่ต้องใช้วิจารณญาณเลย (ที่มา: มติชนออนไลน์)

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ 

  • วันนี้ (18 พ.ค.) สถิตย์ ประกาศจุดยืนโหวตให้พรรคที่รวมเสียง ส.ส. ได้เกินครึ่งเพื่อตั้งรัฐบาล ขอให้สิทธิตามหลักประชาธิปไตย (ที่มา: เดอะสแตนดาร์ด)

ประภาศรี สุฉันทบุตร

  • วันนี้ (18 พ.ค.) ประภาศรี โพสต์เฟซบุ๊ก ประกาศจุดยืนเคารพมติของประชาชน “เห็นชอบ” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ดร.ตวง อันทะไชย

  • วันนี้ (18 พ.ค.)  ตวง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวช่อง 3 ระบุว่า ส่วนตัวยังคงยึดหลักประชาธิปไตยให้กำลังใจพรรคก้าวไกลในการทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลเพราะว่าพรรคก้าวไกลได้ฉันทามติจากพี่น้องประชาชนเสียงส่วนใหญ่ให้มาทำหน้าที่บริหารประเทศ
  • ส่วนตัวตนเองไม่ได้มีปัญหากับพรรคก้าวไกล ส่วนเรื่องจะโหวตให้พิธา เป็นนายกหรือไม่ตนเองมองว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะตอบคำถามนี้ปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนและขบวนการให้ทุกอย่างตกผลึกเสียก่อน
  • มั่นใจว่าพรรคก้าวไกลสามารถทำได้สามารถรวบรวม ส.ส. สว.ได้ครบตามกติกา 376 คน แน่นอนเพราะว่าพรรคก้าวไกลเก่งมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

  • เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 66 เจตน์ ให้สัมภาษณ์กับ The Standard ประกาศชัดว่าถ้าพรรคเพื่อไทยชนะตนจะไม่โหวตให้แพทองธาร เพราะ “ประเทศไทยไม่ใช่ที่ลองงานของใคร” แต่ในเชิงหลักการเลือกนายกฯ ของตนนั้นจะพิจารณาจาก “เสียงมหาชน” เป็นหลัก
  • นอกจากนี้ เจตน์ ยังโพสต์เฟซบุ๊กด้วยว่า ผลการเลือกตั้งเป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าพรรคก้าวไกลชนะถล่มทลายเพราะอะไร พรรครวมไทยสร้างชาติโดยนายกลุงตู่ทำอะไรต่างๆมากมายให้ประเทศไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐประหารปี 57 แต่ไม่สามารถได้ใจประชาชนแพ้การเลือกตั้งเพราะเหตุใดอย่างไรก็ตาม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแบบนี้ ต้องเคารพเสียงของประชาชน (ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

  • พลเดช กล่าวว่า แนวทางโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของตนเองจะดูว่าฝ่ายใดรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง ก็พร้อมโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือใครก็ตาม เพราะถือเป็นฉันทามติที่ประชาชนต้องการ และสถานการณ์ปี 2566 ไม่เหมือนปี 2562 จะถอยกลับไปเป็นแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เรื่องการตอบแทนควรหมดไป ปราศจากการพันธนาการใดๆ
  • ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ฝ่ายรัฐบาลต้องพึงระวังในนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าจะนำนโยบายหาเสียงที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนบางเรื่องมาเป็นนโยบายบริหารประเทศต้องระมัดระวัง รอบคอบ (ที่มา : มติชนออนไลน์)

งดออกเสียง

พรเพชร วิชิตชลชัย - ประธาน ส.ว.

  • พรเพชร กล่าวว่า ในฐานะที่ตนทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา ซึ่งวาระที่จะมาถึงนี้ เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตนก็จะถือหลักปฏิบัติก็คืองดออกเสียง เหมือนกับ เมื่อครั้งการโหวตเลือกนายกฯในปี 2562 ซึ่งมีการโหวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ ครั้งนั้น ตนก็งดออกเสียงมันก็เป็นหลักที่ทำมาตลอด ถ้าไม่ทำอย่างนั้นมันก็ผิดแปลกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ในส่วนของส.ว.ก็ต้องถือว่า เป็นอิสระ และการที่เขาจะเเสดงความเห็นอย่างไรก็เป็นอิสระของเขา (ที่มา : ข่าวสดออนไลน์)

พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์

  • “ส่วนตัวชัดมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าจะไม่โหวต เพราะหลักการของการเมืองโดยทั่วไป ไม่มีที่ไหนที่ให้ ส.ว. มาโหวตเลือกนายก เพราะ ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ที่ครั้งแรกเราสนับสนุนเพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับพิเศษที่ต้องการให้ได้นายกที่จะมาปฏิรูปประเทศแต่พอมาแล้วไม่เห็นทำอะไรได้เลย”
  • “เมื่อเรายึดหลักการ เมื่อเรายึดหลักการเราก็ไม่ควรจะเปลี่ยนแปลงไปตามผลการเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าจะมีคนไปโหวตให้ และเราก็ไม่ว่าอะไร เพราะมันเป็นสิทธิส่วนตัว” พญ.คุณหญิง พรทิพย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ Endgame เกมที่แพ้ไม่ได้ เลือกตั้ง 66 ของ The Standard เมื่อ 15 พ.ค. 66

มีแนวโน้มไม่โหวต

จเด็จ อินสว่าง

  • จเด็จ กล่าวว่า ส.ว. คงต้องรอดูก่อนว่าฝ่ายใดจะรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง และจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ จึงค่อยพิจารณาโหวตให้หรือไม่ แต่ถ้าเสียงข้างมากเสนอชื่อพิธา เป็นนายกฯ ส่วนตัวจะไม่โหวตให้แน่นอน เพราะพิธามีจุดด้อยในเรื่องปัญหาทัศนคติการเมืองที่จะยกเลิกมาตรา 112  ซึ่งรับไม่ได้ เพราะปฏิญาณตนจะจงรักภักดี ถ้าเลือกพิธาไปก็ไม่รู้จะเสียของหรือไม่ (ที่มา: ไทยโพสต์)

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ 

  • กิตติศักดิ์ บอกว่า ยังไม่ถึงเวลาจะพูด พร้อมยังเผยสเป็กนายกฯ ว่าชอบคนจงรักภักดี (ที่มา: มติชนออนไลน์)

มีแนวโน้มงดออกเสียง

  • พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ - ปลัดกระทรวงกลาโหมฯ
  • พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ - ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
  • พล.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ - ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.)
  • พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ - ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)
  • พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ - ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)
  • พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ - ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

การโหวตเลือกนายกฯ ของผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่งนั้น มีจุดยืนในการทำหน้าที่ ส.ว.มาตั้งแต่ประกาศไม่รับเงินเดือนแล้ว โดยจะงดออกเสียงในประเด็นทางการเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาการวางตัวไม่เป็นกลาง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์เดียวกันของ ผบ.เหล่าทัพและยึดปฏิบัติ ถือเป็นแนวทางเดียวกัน

“ก่อนหน้านี้ ผบ.เหล่าทัพก็งดออกเสียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2565 รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งนี้ ไม่ว่าชื่อแคนดิเดตนายกฯ จะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม ผบ.เหล่าทัพก็จะงดออกเสียง” (ที่มา: ไทยโพสต์ อ้างอิงแหล่งข่าวจาก ส.ว.)

ยังไม่ชัดเจน

สมชาย แสวงการ

  • เมื่อ 15 เม.ย. สำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างอิงคำพูด สมชาย ที่บอกว่า การเลือกนายกฯ ของตนจะมีเกณฑ์ของตัวเอง แม้พรรคก้าวไกลจะรวมเสียงข้างมากในสภาได้ก็ตาม
  • สมชาย ยังเผยสเป็กของตนอีกว่าคนจะเป็นนายกฯ ต้องเป็นคนซื่อสัตย์และไม่สร้างปัญหาให้ประเทศ และยังอ้างว่า ‘ฮิตเลอร์’ อดีตผู้นำนาซีเยอรมนีที่นำประเทศสู่สงครามโลก ก็มาจากเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกตั้งเข้ามา

เสรี สุวรรณภานนท์

  • เสรี ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 66 ว่า ต้องดูการรวบรวมเสียงของพรรคก้าวไกลจะรวบรวมเสียงได้ 310 เสียงจริงหรือไม่ ถ้ามีการยกเลิกหรือแก้ไขเรื่องสำคัญอย่าง มาตรา 112 ตนไม่สามารถโหวตให้พิธา หรือถ้าเสนอชื่อแคนดิเดตคนอื่นที่ไม่ใช่พิธาแต่ยังแตะ ม.112 ตนก็จะไม่โหวตให้เช่นกัน
  • “ถ้าคิดจะสร้างกระแสกดดัน ส.ว. ลงมติให้ตามที่ต้องการ โดยอ้างฉันทามติมาเป็นกระแสกดดัน รับรองว่า ไม่สามารถมากดดัน ส.ว.ได้ เราพร้อมใช้อำนาจหน้าที่อย่างเหมาะสม ถูกต้อง” เสรี กล่าว (ที่มา: ทูเดย์)

พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช

  • พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ยังไม่ขอตอบเรื่องการตัดสินใจโหวตนายกรัฐมนตรี (ที่มา: ข่าวสดออนไลน์)

สังศิต พิริยะรังสรรค์

  • สังศิต โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า พร้อมโหวตพิธานั่งนายกฯ แต่ต้องตอบคำถาม 2 ข้อก่อน
    • มีความเห็นต่ออธิปไตยไทยอย่างไร
    • มีความเห็นต่อความสงบสุขของคนในประเทศอย่างไร

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

  • วีระศักดิ์ ระบุว่า ขั้นตอนยังอีกห่างไกล อีก 2-3 เดือน ยังไม่มีอะไรจะพูด ส่วนจะยกมือโหวต หรืองดออกเสียง ยังไม่สามารถตอบได้ พร้อมบอกว่า ขณะนี้ไม่มีใครสื่อสารอะไรมา จึงยังไม่มีเหตุที่จะให้ความเห็นตอนนี้ (ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์)

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net