Skip to main content
sharethis

ฟังเสียงแรงงานข้ามชาติ-ทนายสิทธิฯ ‘กรณีโครงการ ม.33 เรารักกัน’ ตั้งเงื่อนไขทางสัญชาติเพื่อกีดกันสิทธิผู้ประกันตน-ขัดรัฐธรรมนูญ ในช่วงโควิด-19 ปี 63

ชวนฟังเสียงตัวแทนแรงงานข้ามชาติผู้ประกันตน ม.33 ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ในวาระ 27 พ.ค.2566 ครบ 1 ปี (ยื่นฟ้อง 27 พ.ค.2565) แรงงานข้ามชาติผู้ประกันตน ม.33 ยื่นฟ้อง 5 หน่วยงานรัฐ (สำนักงานประกันสังคม, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงการคลัง, คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้, คณะรัฐมนตรี) ต่อศาลปกครองกลาง กรณีโครงการของสำนักงานประกันสังคม ‘ม.33 เรารักกัน’ ไม่เยียวยาแรงงานทุกคนที่เป็นผู้ประกันตนในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 โดยหน่วยงานรัฐมีเจตนากำหนดคุณสมบัติกีดกันทางสัญชาติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4,27 และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD)

'คนต่างด้าว' คำอคติต่อแรงงานข้ามชาติกับวาทกรรมการแย่งงานคนไทย ทำให้นายจ้าง-รัฐบาลลอยแพไม่เยียวยาผลกระทบโควิด-19

“รู้สึกว่าเราเป็นคนอีกชั้นหนึ่ง ทั้งๆที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 33 เท่าคนไทย เอกสารทุกอย่างที่เรามีก็คือเป็นบัตรที่ทางรัฐไทยออกให้ เราสามารถทำประกันสังคมได้ มีใบอนุญาตแรงงานคุ้มครองตามกฎหมาย ทุกส่วนเราทำถูกหมดเลย แต่พอเวลาที่เราต้องได้รับการเยียวยาเขากลับมองว่าเราเป็นกลุ่มอื่นที่ต้องแบ่งแยกออกไปก่อน ทั้งที่เป็นคนกลุ่มเดียวกับกลุ่มแรงงานที่จ่ายประกันสังคม เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์สำหรับเรา ไม่ยุติธรรม” จา หอบ กล่าว

จา หอบ (นามสมมติ) แรงงานข้ามชาติผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นผู้ร่วมฟ้อง 5 หน่วยงานรัฐ กรณีที่โครงการ “มาตรา 33 เรารักกัน” ขัดต่อรัฐธรรมนูญไทยมาตรา 4,27 ซึ่งภาครัฐที่รับผิดชอบออกโครงการใช้เรื่องการระบุสัญชาติกีดกันการเข้าถึงสิทธิแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในกลุ่มกองทุนประกันสังคม จา หอบ เล่าให้ฟังถึงผลกระทบโรคระบาดโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติในช่วงที่ประเทศไทยประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลายฉบับ ตั้งแต่มีนาคม 2563  ส่งผลให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติถูกเลิกจ้างจำนวนมาก ผู้ประกอบการต่างปิดกิจการและโดยบางส่วนไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลไทยออกนโยบายขึ้นมาเพื่อเยียวยาผลกระทบต่อผู้ประกอบการคนไทยและแรงงานไทย แต่นโยบายทั้งหมดที่ออกมาไม่มีการเยียวยาผลกระทบกับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน  แม้กระทั้งโครงการมาตรา 33  ที่ช่วยเหลือแรงงานกลุ่มประกันสังคมก็กีดกันแรงงานข้ามชาติ ด้วยการระบุเฉพาะสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะได้รับการเยียวยา สิ่งนี้ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนเกือบ 1 ล้านคนที่อยู่ในประเทศไทยเข้าไม่ถึงสิทธิการเยียวยาและอยู่ในสภาวะที่ถูกกดทับด้วยนโยบายและอคติต่อแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคในกระแสข่าวช่วงโรคโควิด-19 รุนแรงในประเทศไทย

“ถ้าเวลาดูข่าวช่วงนั้นจะเห็นว่าคนไทยจะพูดถึงผลกระทบโควิด-19 รุนแรง แต่เชื่อไหมว่าแรงงานข้ามชาติกระทบรุนแรงที่สุด อย่างแรงงานข้ามชาติเรื่องค่าน้ำค่าไฟ ถ้าเป็นคนไทยก็ยังมีญาติพี่น้องมาจุนเจือ แต่พี่น้องแรงงานเองเขาจากประเทศบ้านเกิดมาทำงานประเทศไทย เขาไม่มีญาติพี่น้อง ที่จะมาซัพพอร์ต ที่จะมาช่วยได้เลย อาหารการกินอาจจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเอาอาหารมาให้ตอนที่เราอยู่ในแคมป์คนงานกักตัวอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันไม่ได้เพียงพอต่อแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในแคมป์ บางทีอาหารก็ไม่พอลูกต้องแบ่งกันกินอย่างอดอยาก” จา หอบ กล่าว

ความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ จา หอบ กล่าวว่า เขาตัดสินใจมีส่วนร่วมในการฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองกลาง เพราะคิดว่าควรมีใครคนใดคนหนึ่งหรือเป็นกลุ่มก้อนไปเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติที่ควรจะได้เหมือนๆกันในฐานะมนุษย์ อย่างกรณีมาตรา 33 ที่แรงงานข้ามชาติเกือบล้านคนจ่ายประกันสังคมทุกเดือน จากข้อมูลในร่างข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาสังคม เกษตรกร และผู้ประกอบการฯ ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ คือ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ระบุไว้ในข้อที่ 8 ในวิธีการใช้งบประมาณ โดยระบุว่า ผู้ได้รับสิทธิจำนวนประมาณ 9.27 ล้านคน โดยมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ณ มกราคม 2564 จำนวน 11.12 ล้านคน หักผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างด้าว (แรงงานข้ามชาติ) จำนวน 950,000 คน และหักผู้ประกันตนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งได้รับสิทธิตามโครงการเราชนะ จำนวน 904,034 คน[1]  การออกแบบคุณสมบัติและระเบียบการใช้เงินที่ออกมาของสำนักงานประกันสังคมสะท้อนให้เห็นชัดว่ากระทรวงแรงงานและรัฐบาลไทย  ไม่มองเห็นแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนทำประโยชน์ให้ประเทศไทยเป็นคนที่เดือดร้อนที่ต้องดูแล  กีดกันกลุ่มคนเกือบ 1 ล้านคนด้วยกำหนดคุณสมบัติเฉพาะสัญชาติไทยที่ควรจะรับค่าใช้จ่ายเยียวยาแรงงานในโครงการ ม.33 เรารักกัน สิ่งนี้รู้สึกเลยว่าไม่ยุติธรรมต่อแรงงานเพียงเพราะเป็นคนต่างด้าว เราจึงถูกผลักออกไป การฟ้องคดีนี้จึงอยากให้เห็นแรงงานทุกคนควนได้รับการเยียวยาเหมือนกันในฐานะมนุษย์ และไม่ควรละทิ้งใครในประเทศไทยเพียงเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ-สัญชาติ

“การออกมาเรียกร้องของแรงงานข้ามชาติ เพราะเราเจอสถานการณ์ที่ไม่ยุติธรรมจริงๆ อยากให้เห็นอกเห็นใจกัน ไม่อยากให้มองว่าเราอยู่ในเมืองไทยมาแย่งทรัพยากร สิ่งที่ได้มันแลกมาด้วยแรงงานของพวกเรา เอาแรงของคนข้ามชาติมาขยับเขยื้อนเศรษฐกิจมาช่วยพัฒนาประเทศ ในมุมมองนี้เวลาที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินไม่อยากให้ปล่อยแรงงานข้ามชาติลอยแพ ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าได้เข้าไปในจิตใจในความคิดของคนที่มาเป็นแรงงานข้ามชาติ มันสามารถตอบโจทย์ด้วยซ้ำว่า แรงงานเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มันควรที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มันควรจะมองเหมือนคนทั่วไป ไม่ใช่มองคนที่สัญชาติหรือไม่มีสัญชาติ คนมีเอกสารหรือไม่มีเอกสาร” จา หอบ กล่าว

จา หอบ กล่าวถึง อคติต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยฝังแน่นในทางลบจนทำให้การออกมาพูดหรือเรียกร้องสิทธิของพวกเขามักถูกโยงไปว่าอยากได้สิทธิพิเศษหรือความเท่าเทียมกับคนไทยในทุกเรื่อง ซึ่งจา หอบ กล่าวว่าในความเห็นของเขาเขาไม่ได้เรียกร้องให้มีสิทธิเท่ากันในทุกเรื่องแต่หากมองพวกเขาในฐานะแรงงานไม่ว่าจะเป็นคนชาติใดก็ตาม กลุ่มคนที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายตามเงื่อนไขของรัฐบาลไทยนั้น ก็ควรได้รับสิทธิในการคุ้มครองแรงงานที่ควรจะเป็น เพราะมองในมุมของคนไทยบางคนมีความเชื่อปนอคติว่าแรงงานข้ามชาตินั้นได้เปรียบ อาจจะต้องให้ลองคิดในทางกลับกันถึงสภาพที่คนไทยเองเมื่อไปเป็นแรงงานข้ามชาติทำงานในต่างประเทศแล้วถูกละเมิดสิทธิไม่ได้รับความคุ้มครองมันยุติธรรมหรือไม่ ให้มองด้วยว่าถ้าตนเป็นกลุ่มคนเหล่าจะรู้สึกอย่างไร การเรียกร้องของพวกเขาจึงไม่ได้เรียกร้องเกินกว่าสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในกรอบของกฎหมายแรงงานสากลที่ควรจะเป็นในฐานะของสิทธิความเป็นมนุษย์

ทนาย HRDF ชี้ องค์กรภาครัฐไทยศรีธนญชัย ตีความรัฐธรรมนูญเลี่ยงคำทางกฎหมายเพื่อลอยแพแรงงานข้ามชาติ แนะให้ใช้กรอบอนุสัญญาระหว่างประเทศ CERD และมองแรงงานข้ามชาติผู้ประกันตนในฐานะแรงงานที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศไทย

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

“ถ้าไม่เยียวยาผู้ประกันตนทุกคน ก็ไม่ควรตั้งชื่อโครงการเรารักกันมาตรา 33 การใช้คำว่ามาตรา 33 มันหมายถึงทุกคนที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายย่อมได้สิทธิ ไม่ควรถูกเลือกโดยสัญชาติ”  สุมิตรชัย กล่าว

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และที่ปรึกษากฎหมาย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) / Human Rights and Development Foundation (HRDF) กล่าวว่า ที่มาของการเป็นทนายให้กับคดีของแรงงานข้ามชาติฟ้อง 5 หน่วยงานรัฐ โดยตนมองว่าเป้าหมายของการฟ้องคือมุ่งไปเรื่องของการที่ ‘โครงการ ม.33 เรารักกัน’ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และ 27 ว่าด้วยเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยในช่วงต้นได้ทำหนังสือร่วมกับมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(มสพ.) ส่งคำร้องไปที่ประกันสังคม แต่หน่วยงานประกันสังคมได้ทำหนังสือแจ้งกลับมาว่าโครงการ ม.33 เรารักกัน ไม่เป็นการกีดกันทางเชื้อชาติ เพราะเป็นเรื่องสิทธิของคนไทยเท่านั้น การตอบกลับของประกันสังคมทำให้ทีมทนายความและ มสพ. มองไปที่องค์กรศาลรัฐธรรมนูญโดยคิดว่าเป็นการกระทำของรัฐที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความโดยดำเนินการส่งคำฟ้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้วินิจฉัยเรื่องนี้ ซึ่งผลวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินระบุเช่นเดียวกับประกันสังคมว่าโครงการไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะ คำว่า ‘เชื้อชาติ’ กับ ‘สัญชาติ’ ไม่เหมือนกันในทางพจนานุกรม ซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ไม่มีระบุคำว่าสัญชาติอีกด้วย เพราะฉะนั้นการกำหนดโครงการมาตรา 33 เรารักกันจึงให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทยได้และไม่ขัดต่อมาตรา 27 ในรัฐธรรมนูญ

“รอบนี้ถ้าเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงเกิด สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ปีกฝั่งแรงงานต้องดันเรื่องนี้ เรามีเคสไปยืนยันแล้วว่า โครงการ ‘ม.33 เรารักกัน’ ปัญหาของมันคือพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงานข้ามชาติที่ควรได้รับการเยียวยา แต่ถูกตัดสิทธิเพียงเพราะเรื่องสัญชาติคำเดียว เหตุผลเพียงพอที่จะใส่คำนี้ไปในรัฐธรรมนูญเพื่อการไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ”  สุมิตรชัย กล่าว

ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญไทยที่ส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในคดีนี้ ทนายสุมิตรชัย กล่าวถึง 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination (CERD) ประเทศไทยตั้งข้อสงวนว่าจะไม่ตีความอนุสัญญาฉบับนี้เกินกว่ากฎหมายไทยกับรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งกรรมการ CERD เคยให้ความเห็นว่าขอให้ไทยถอนข้อสงวนนี้แต่ก็ไม่มีการปฏิบัติจากรัฐไทย เพราะฉะนั้นการใช้อนุสัญญานี้ในประเทศไทย เขาก็จะตีความไม่เกินกฎหมายไทย เราจึงไม่สามารถเอาอนุสัญญานี้มาเป็นเหตุผลทางกฎหมายตรงๆเพื่อให้ศาลวินิจฉัยได้ ศาลจะตีความตามกฎหมายไทยก่อนว่าเป็นแบบนี้  2.รัฐธรรมนูญนี้เขียนไม่ชัด จริงๆในความเห็นทนายสุมิตรชัยคิดว่าชัดแล้วแต่การตีความแบบศรีธนญชัยของหน่วยงานรัฐที่เล่นคำระหว่างคำว่า “เชื้อชาติ” กับ “สัญชาติ” ทำให้เห็นว่าการเลือกปฏิบัติคนสัญชาติอื่นในประเทศไทยขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน คนทุกคนไม่ว่าเชื้อชาติสัญชาติอะไรควรได้รับสิทธิเท่ากันภายใต้รัฐธรรมนูญ

“เรางมเส้นทางพอสมควรที่จะหาทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันเป็นเรื่องใหม่มากไม่เคยเจอ เราถกกันในทีมว่าตกลงเราจะไปที่ไหนดี เราทุกคนมองว่ามันเป็นเรื่องการเลือกปฏิบัติและการขัดรัฐธรรมนูญ พอมันเป็นเรื่องขัดรัฐธรรมนูญเราเลยคิดว่าต้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พอมันอยู่ภายใต้โครงการพิเศษในช่วงโควิด มันเป็นเรื่องการกระทำของรัฐที่ขัดรัฐธรรมนูญจึงไปศาลปกครอง กระบวนการขั้นตอนทั้งหมดเหมือนระบบไม่ยอมรับเลย ไม่เปิดทางให้เรื่องนี้ไปสู่การวินิจฉัยง่ายๆ” สุมิตรชัย กล่าว

สุมิตรชัย  กล่าวต่อว่า จากคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินนี้ เพื่อเป็นกลไกให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อ ทาง มสพ. จึงดำเนินการช่วยแรงงานข้ามชาติยื่นต่อไปถึงศาลรัฐธรรมนูญว่าเราไม่เห็นด้วยกับผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย ผลปรากฎว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัย กล่าวว่า คำฟ้องนี้ไม่ใช่ขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องทางปกครอง ตัวแทนผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติจึงไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาต่อศาลปกครองสูงสุด โดย มสพ. เห็นว่าคดีที่ตัวแทนผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติอุทธรณ์คดีนี้มีผลกระทบต่อสาธารณชนและส่งผลในวงกว้าง โดยอ้างถึงพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ให้สิทธิคู่กรณีในการฟ้องคดีไว้ในกรณีที่คดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคลเพื่อให้ศาลรับไว้พิจารณา ซึ่งประชาชนสามารถอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องได้ ซึ่งในกระบวนการทางกฎหมายกลุ่มแรงงานข้ามชาติทำได้แค่รอ โดยในระหว่างนี้จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลปกครองที่จะวินิจฉัยเนื้อหาทั้งหมดที่ส่งไป

“คำถามง่ายๆคือแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายเขาไม่เดือดร้อนจากโควิด-19 เหรอ คุณคิดอย่างไรถึงไปตั้งเงื่อนไขว่าคนจะได้รับการเยียวยาในมาตรา 33 ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น...การตั้งโครงการนี้จึงมีเจตนากีดกันพี่น้องแรงงานข้ามชาติออกชัด กลุ่มนี้ไม่ได้อะไรเลย โครงการเราชนะก็ไม่ได้ อันนี้พอเข้าใจว่าให้คนไทยเท่านั้น เป็นโครงการฉุกเฉิน แต่ประกันสังคมที่เก็บเงินจากแรงงานข้ามชาติทั้งหมดเหมือนคนไทย เงินที่เขาสมทบเขาก็ควรมีสิทธิได้รับการเยียวยา เพราะมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ไม่มีใครไม่กระทบกับโควิด-19 ซึ่งทั่วโลกเขาก็ไม่ได้เลือกปฏิบัติเขาก็จ่ายหมดกับคนที่อยู่ในประเทศเขา การที่คุณปล่อยใครไว้ให้อยู่ตามชะตากรรมที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 ตามลำพัง สุดท้ายมันสะท้อนกลับมาที่สังคม เพราะเขาก็จะกลายเป็นแหล่งเชื้อโรคต่อไป เขาถึงเยียวยาทุกคนเพื่อให้ lockdown ได้ เพื่ออยู่ในบ้านได้ไม่ไปไหน มีเงินพอดำรงชีวิตได้” สุมิตรชัย กล่าว

 

ปสุตา ชื้นขจร ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้ ปสุตา ชื้นขจร ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) / Human Rights and Development Foundation (HRDF) ผู้ที่ขับเคลื่อนร่วมกับทนายสุมิตรชัย เน้นย้ำว่า การที่ออกมาสนับสนุนแรงงานข้ามชาติในการต่อสู้คดี เพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยรัฐบาลต้องทำการเยียวยาแรงงานข้ามชาติย้อนหลังสถานการณ์โควิด-19 และหลังจากนี้รัฐบาลควรช่วยเหลือ แรงงานข้ามชาติที่หลุดออกจากประกันสังคมช่วงโควิดที่ผ่านมา โดยการนิรโทษให้ผู้ประกันตนที่หลุดออกจากระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม ม.33 ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างแรงงานในช่วงนั้น แล้วนายจ้างไม่มาแจ้งจัดหางานส่งผลให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถหางานใหม่ได้และไม่ได้สิทธิประกันสุขภาพอีกต่อไป การถูกลอยแพของแรงงานข้ามชาติในช่วงดังกล่าวยังส่งผลถึงปัจจุบันกับเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานให้เขาเข้าสู่ระบบ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงของผลกระทบในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การถอดบทเรียนผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วนำมาพิจารณาจํานวนแรงงานข้ามชาติและกลุ่มคนที่ได้รับอนุญาตทํางานคงเหลือทั่วราชอาณาจักรไทย ณ ปัจจุบัน จำนวน 2,744,631 คน[2] รัฐบาลจะเห็นถึงปัญหาใหญ่ที่ผูกกับปัญหาสถานะของแรงงานข้ามชาติรวมถึงแรงงานไร้สัญชาติ และสถานะการคุ้มครองแรงงานทุกคนรวมทั้งคนไทยภายใต้ตัวประกันสังคมซึ่งทั้งหมดคือปัญหาเรื่องเดียวกันที่เป็นเรื่องสิทธิแรงงงานและสิทธิมนุษยชน

 

[1] อ้างอิงถึง หนังสือส่วนราชการ  ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ด่วนที่สุด ที่ นร. ๑๑๐๖/(คงก.) ๐๔๑  ลงวันที่ ๑๑ ก.พ.๒๕๖๔, เรื่อง ผลพิจารณาคณะกรรมการการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๖๔.

[2] ฝ่ายสารสนเทศ กลุ่มงานพัฒนาระบบควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว,สถิติการทำงานของคนต่างด้าวประจำเดือนเมษายน 2566, ฝ่ายทะเบียนและสำรสนเทศ กกจ.ที่ 12/2566 สบต.9, สืบค้นเมื่อ, 30 พ.ค.2566, https://www.doe.go.th/prd/download/download_by_pool_file/102293

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net