Skip to main content
sharethis

หมอทวีศิลป์แถลงชี้แจงปัญหาภาระงานหมอสังกัด สธ. ผลิตหมอใหม่แต่ละปีไม่ได้ตามเป้า ขาดแคลนทุกส่วน ยังต้องเติมแพทย์เข้าระบบ มี 9 รพ.ที่ต้องทำงานเกิน 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

6 มิ.ย.2566 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวชี้แจงเรื่องปัญหาภาระงานของแพทย์หลังจากนภสร วีระยุทธวิไล ชื่อเล่น ปุยเมฆ นักแสดงที่ออกมาเล่าเรื่องเหตุผลที่ลาออกจากราชการแพทย์เนื่องจากภาระงานของโรงพยาบาล

รองปลัด สธ. กล่าวว่าไทยมีแพทย์ทั้งหมดอยู่ที่ 5-6 หมื่นคน ส่วนที่อยู่ในสังกัด สธ. 24,649 คนหรือประมาณ 48% แต่ภาระงานของแพทย์ในสังกัดต้องรับผิดชอบประชาชนที่อยู่ในหลักประกันสุขภาพทั้งหมด 45ล้านคนหรือประมาณ 70 กว่าเปอเซนต์ของประชากร ทำให้ภาระงานของแพทย์ที่มีอยู่คือประมาณแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,000 คน แต่ตามมาตราฐานทั่วไปของโลกบอกว่าควรจะเป็นแพทย์ 3 คนต่อประชากร 1,000 คน ทำให้ยังขาดอยู่เยอะ

ทวีศิลป์กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตแพทย์ว่ามีแผนช่วงปี 2561-2570 ที่กระทรวงอุดมศึกษาที่มีหน้าที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่ก็บอกกับรัฐบาลไว้ตั้งแต่ปี 2561 แล้วว่าจะพยายามผลิตแพทย์ให้ได้ปีละ 3,000 คน ก็จะได้ราว 33,000 ในปี 2570 แต่มหาวิทยาลัยทำฝ่ายเดียวก็ทำไม่ทันทำให้ทาง สธ.เองก็ต้องมาช่วยผลิตแพทย์ด้วยราว 1 ใน 3 ตามเป้า 33,000 คน ก็จะเห็นว่ามีภาระงานการผลิตแพทย์ด้วย

ทวีศิลป์อธิบายต่อถึงเรื่องการจัดสรรทรัพยากรแพทย์ว่านอกจาก สธ.แล้วยังไม่ได้เป็นปลายทางเดียวของแพทย์ แต่ยังมีทั้งกระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร และคณะแพทย์ทางมหาวิทยาลัย 23 แห่งก็ต้องการทรัพยากรบุคคลทำให้มีการแบ่งทรัพยากรที่มีจำกัดอยู่นี้ออกไป แต่ก็มีการประชุมตกลงกันทุกปี แล้วที่ผ่านมาก็มีสูตรคำนวณในการแบ่งนักเรียนแพทย์ที่จบใหม่อยู่แล้ว

รองปลัด สธ.ยกตัวอย่างกรณีของปี 2566 ที่มีจบมา 2,759 คนก็ต้องมาแบ่งไปกับการเป็นอาจารย์แพทย์ Pre - clinic หรือโรงเรียนแพทย์เปิดใหม่ แล้วก็ยังต้องไปลบออกจากคณะแพทย์ตามภูมิภาคอีก 6 แห่งจนเหลือแพทย์จบใหม่มาให้ สธ. และกลาโหมแบ่งกันอีก ซึ่งทาง สธ.ก็ขอไว้ 2,161 คน แต่ก็ได้มาแค่ 1,960 คน แต่จากที่เคยมีวิจัยพบว่า สธ.ต้องมีบุคลากรใหม่ 2,055 คนทุกปีถึงจะพอ แต่ได้มาเฉลี่ย 1,800-1,900 คนที่บางปีก็ได้มาถึง 2,000คนบ้าง

ทวีศิลป์ยกตัวเลขยอดแพทย์จบใหม่ 5 ปีย้อนตั้งแต่ปี 2561 ผลิตแพทย์ได้ 2,016 จัดสรร 1,994 อัตราและ 2562 ผลิตแพทย์ 2,444 คน ปี 2563 จำนวน 2,039 คน และปี 2565 จำนวน 1,850 คน จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำสำเร็จได้ยากเมื่อหน่วยงานอื่นได้รับจัดสรรไปก่อนแล้ว สธ.ได้หลังสุด ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อภาระงานเยอะแต่มีคนน้อยลง และยังภาระงานก็ยังเพิ่มขึ้นจากในช่วงโควิดที่ผ่านมา

ทวีศิลป์อธิบายถึงระยะเวลาในการผลิตแพทย์ 1 คนว่าใช้เวลาเรียนแพทย์ 6 ปี และเป็นแพทย์อินเทิร์น 1 ปีเป็นตามที่แพทยสภากำหนดไว้ว่าต้องมีการเพิ่มพูนทักษะอย่างน้อย 1 ปีเพื่อให้แพทย์จบใหม่มีทักษะต่างๆ จากการได้เจอเคส เพราะในช่วงประมาณปี 2536-2538 เคยมีการประเมินว่าการเรียน 6 ปีแล้วมาทำงานเลยไม่เพียงพอ จึงต้องมีการเพิ่มพูนทักษะ โดยให้นักเรียนแพทย์เป็นอินเทิร์นในสังกัดกระทรวงและต้องทำหน้าที่สอนด้วย และแม้ว่าตามความต้องการของแพทยสภาคือต้องการให้มีการเพิ่มทักษะด้วยแต่ สธ.คือต้องการให้มาทำงานเลย ทำให้เมื่อต้องทำงานด้วยสอนไปด้วยจึงต้องทำงาน 2-3 หน้าที่ขึ้นมา

รองปลัด สธ.กล่าวต่อว่าเมื่อจำนวนบุคลากรที่จบใหม่ถูกจัดสรรมาน้อย แล้วเมื่อภาระงานที่เป็นประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยที่จัดไว้แตกต่างจากต่างประเทศคือผู้ป่วยไม่นัดไว้ก่อนก็เข้ามาใช้บริการได้ตลอดและต้องให้บริการทั่วถึงซึ่งเป็นนโยบายที่ สธ.รับมาแล้วก็ทำให้เกิดภาระงานต่อแพทย์ที่มีอยู่ 20,000 คนทั่วประเทศที่ต้องรับให้บริการประชากร 70 กว่าเปอเซนต์นี้

ทวีศิลป์ระบุว่าจากข้อมูลที่ทำสำรวจไว้เมื่อพฤศจิกายน โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงที่มีอยู่ 117 แห่ง มีอยู่ 9 แห่งที่มีแพทย์ที่ต้องทำงานเกิน 64 ชั่วโมง มี 4 แห่งที่มีเกิน 59 ชั่วโมง และ 11 แห่งที่เกิน 52 ชั่วโมง มี 8 แห่งเกิน 50 ชั่วโมง และ 23 แห่งมากกว่า 40 ชั่วโมง แต่มาตรฐานโลกกำหนดไว้ว่าต้องทำงานต่ำกว่า 40 ชั่วโมงซึ่งเป็นมาตรฐานในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีแพทย์เป็นหลักแสนคนที่มากกว่าไทยมาก ซึ่งทาง สธ.ก็พยายามทำแต่ก็ต้องเติมแพทย์เข้ามาให้ได้มากกว่านี้และมีเป้าหมายที่จะลดชั่วโมงทำงานในโรงพยาบาลข้างต้นอยู่ เขากล่าวว่าในเมื่อต้นน้ำน้อย น้ำไหลมาน้อยก็ยังแห้งแล้งกันอยู่ก็เป็นสิ่งที่พยายามสื่อสาร

รองปลัด สธ.กล่าวถึงปัจจัยของแพทย์จบใหม่ที่ออกจากระบบไป ทั้งกรณีนักเรียนแพทย์ที่ทำอินเทิร์นครบหนึ่งปีก็จะได้ใบรับรองการเพิ่มพูนทักษะแล้วก็จะมีสิทธิที่แพทยสภาให้คือเอาไปลาเรียนได้ก็จะออกจากระบบการบริการประชาชนของ สธ.ไปปีละประมาณ 4,000 คน จากแพทย์ที่มีอยู่ประมาณ 24,000 คน ก็จะเหลือประมาณ 20,500 คน แต่แพทย์ที่ออกไปเรียนเหล่านี้ก็ไปเรียนต่อเฉพาะทางซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่แพทย์ใหม่ก็ต้องไปมีอนาคตและทาง สธ.เองก็ต้องการแพทย์เฉพาะทางด้วย

ทวีศิลป์กล่าวว่าสำหรับการผลิตแพทย์เฉพาะทางรวมแล้วก็ 10 ปีคือการเรียนแพทย์ 6 ปี มีเป็นอินเทิร์นปี 7 แล้วก็ไปเรียนต่อเฉพาะทางอีก 3 ปี ก็ต้องลงทุนไปทั้งเวลาและสิ่งต่างๆ พอสมควร แต่ประคับประคองกันมาตลอด แต่อย่างไรก็ตามก็มีแพทย์ที่ทั้งลาออกเพราะไม่อยากทำงานตรงนี้แล้ว ลาออกไปเรียนต่อ รวมถึงแพทย์ที่เกษียรอายุด้วยในแต่ละปี

ทวีศิลป์กล่าวถึงเรื่องสวัสดิการของแพทย์เพิ่มเติมด้วยว่ามีทั้งการเพิ่มค่าตอบแทนขึ้นมา ส่วนเรื่องหอและบ้านพักก็ได้ใช้งบที่เหลือจากช่วงโควิด-19 มาปรับปรุงที่พักตามโรงพยาบาลต่างๆ เพราะที่ผ่านมาพอของบประมาณให้กับบุคลากรไปไม่ใช้ของบไปถึงผู้ป่วยก็ถูกตัดงบทุกที แต่เรื่องภาระงานก็ยังเป็นเรื่องยากเพราะจำนวนแพทย์กับภาระงาน จึงต้องมีแผนผลิตแพทย์เพิ่มปรับรอบอัตรากำลังใหม่ 2565-2569 จำนวน 35,000 คนในปี 2569 เพิ่มขึ้นอีก 11,000 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net