Skip to main content
sharethis

มารค ตามไท นักวิชาการจากสาขาการสร้างสันติภาพ ม.พายัพ เปิดข้อถกเถียง "การกำหนดอนาคตตนเอง” เป็น “สิทธิ” หรือ “หลักการ” พร้อมตั้งคำถามพลเมืองแบบไหนสามารถเรียกร้อง “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง” (Right to Self Determination: RSD)ได้ ย้ำต้องตอบให้ชัดปาตานีเป็นอาณานิคมของไทยหรือไม่ แบบไหน และต้องแยกแยะระหว่าง “เป็น” กับ “รู้สึกว่าเป็น” เพราะสำคัญทั้งคู่ ชี้การพูดคุยสันติภาพกับการทำประชามติสำคัญต่อกัน RSD เป็นการหาทางออกอย่างสันติ การอ้างหลักการเพราะอยากพูดคุย การลงประชามติเพราะจะรู้ความคิดคน ถึงเวลาสังคมไทยและปาตานีต้องเปลี่ยนหลักการไปสู่เป้าหมาย

ถอดปาฐกถาพิเศษ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Right to Self Determination : RSD) กับสันติภาพปาตานี” โดย มารค ตามไท รองศาสตราจารย์และอาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ในงานเปิดตัวองค์กรขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566

RSD "สิทธิ" หรือ "หลักการ"

“การกำหนดอนาคตตนเอง” คืออะไร เป็น “สิทธิ” หรือเป็น “หลักการ” เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง มีการถกเถียงกันค่อนข้างมากในวงวิชาการ บางคนอยากอ้างว่าเป็นสิทธิ แต่ถูกอีกฝ่ายถามว่าสิทธินี้รองรับโดยอำนาจที่ไหน

บางคนบอกว่า มันรองรับด้วยปฏิญญาสากลของสหประชาชาติ อยู่ในหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้การกำหนดอนาคตตนเองเป็นสิทธิ บางคนบอกว่าไม่ถึงกับเป็นสิทธิ แต่เป็นหลักการสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับการปกครอง และเป็นหลักการเก่าแก่หลายร้อยปี

การกำหนดอนาคตตนเองเป็นหลักการพื้นฐานที่สุดในการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะเป็นเรื่องของพลเมืองที่บอกว่า อยากอยู่อย่างไร

งานเปิดตัวองค์กรขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566

แม้จะเป็นสิทธิก็ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยจะยอมรับ

สำหรับกรณีปาตานีอาจไม่สำคัญว่ามันเป็นสิทธิหรือเป็นหลักการ เพราะต่อให้ถกเถียงว่าเป็นสิทธิก็ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยจะยอมรับฐานของสิทธินั้น ข้อตกลงบางอย่างกับสหประชาชาติก็ไม่ได้แปลว่าเป็นที่ยอมรับทั่วไป แม้ประเทศไทยจะเป็นภาคี

เพราะฉะนั้น สำหรับผมไม่สำคัญว่าเป็นสิทธิหรือเป็นหลักการในการพิจารณาวิธีการปกครองพลเมืองกลุ่มหนึ่ง ผมจะเน้นว่าเป็นหลักการที่คนใช้จริงมาตลอดหลายร้อยปี

การกำหนดอนาคตตนเอง คืออะไร มีความหมายอะไรได้บ้าง เรื่องนี้สำคัญ เพราะคำนี้ทำให้หลายคนกลัวเวลาพูดถึงปัตตานีหรือการสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะในฝ่ายรัฐ และจะต่อสู้กับความคิดนี่อย่างไร

จริงๆ มันไม่ใช่อะไรที่น่ากลัว ผมอยากจะแค่อธิบายในหลักการ เพราะถ้าไม่เข้าใจ เรามักจะระแวงและกลัว เพราะฉะนั้นถ้าเราคุยกันในหลักนี้ทั่วไปก่อนน่าจะเป็นประโยชน์

กระจายอำนาจคือแบบภายใน เรียกร้องเอกราชคือแบบภายนอก

การกำหนดอนาคตตนเอง มักจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือการกำหนดอนาคตตนเองแบบภายใน (Internal Self Determination) และแบบภายนอก (External Self Determination)

การกำหนดอนาคตตนเองแบบภายใน (Internal Self Determination) คือการที่พลเมืองกลุ่มหนึ่งในรัฐใดรัฐหนึ่งคิดว่า วิธีตัดสินบางอย่างในรัฐนั้นไม่กระจายอำนาจให้คนทั่วไปมีส่วนในการกำหนดอนาคตในฐานะเป็นพลเมือง และเรียกร้องให้ใช้หลักการกำหนดอนาคตตนเอง เพื่อยืนยันเรื่องการกระจายอำนาจให้มากขึ้น

ส่วนการกำหนดอนาคตตนเองแบบภายนอก (External Self Determination) คือการกำหนดชะตากรรมตัวเองในลักษณะที่ว่า ถ้าจำเป็นก็ออกจากรัฐนั้นไปเป็นรัฐอิสระ คือพลเมืองกลุ่มนี้ออกมาจากรัฐโดยพูดถึงหลักการการกำหนดชนอนาคตตนเอง และคิดว่าไม่สามารถกำหนดได้ถ้าเป็นแบบภายใน

การกำหนดอนาคตตนเองที่ไม่ได้มีความหมายเดียว

ทั้งสองแบบนี้เป็นหัวข้อที่คนพยายามทำความเข้าใจและยกตัวอย่างจากที่ต่างๆ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะพูดถึงการกระจายอำนาจ หรือ Autonomy ระดับต่างๆ หรือจะถึงขั้นเป็นการเอกราช ทั้งหมดนี้ก็อยู่ภายใต้ความเข้าใจเรื่องการกำหนดอนาคตตนเอง เพียงแต่อยู่ในระดับต่างกัน

เพราะฉะนั้น การกำหนดอนาคตตนเองไม่ได้มีความหมายเดียว มีความหมายกว้างๆ มีแบบหลายแบบ ตั้งแต่แบบการเปลี่ยนแปลงน้อยจนถึงการเปลี่ยนแปลงมาก แต่ทั้งหมดอยู่บนหลักของการกำหนดอนาคตตนเอง คือเรียกร้องในประเด็นของผู้ที่อนาคตจะถูกกระทบ

เราเห็นการถกเถียงกันเกี่ยวกับปาตานีว่าจะไปอย่างไรในอนาคต บางคนพูดถึงการปรับโครงสร้างการปกครองแบบหนึ่ง ไม่ต้องมากก็ได้หรือมากขึ้น หรือบางคนเรียกร้องให้แยกออกมาเป็นรัฐอิสระ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ความหมายของการกำหนดอนาคตตนเอง แต่ไม่ใช่แค่ได้ยินคำนี้ก็กระโดดไปเข้าใจว่ามันมีความหมายเดียว คือความหมายแบบภายนอก

พลเมืองแบบไหนสามารถเรียกร้องการกำหนดอนาคตตนเอง

คำถามคือ พลเมืองกลุ่มไหนแบบไหนสามารถเรียกร้องการกำหนดอนาคตตนเองแบบภายนอก

แบบภายใน พลเมืองทุกกลุ่มทุกระดับสามารถใช้หลักการกำหนดอนาคตตนเองมาเป็นพื้นฐานของการเรียกร้องการมีส่วนร่วมในการปกครองได้ การพัฒนาการปกครองท้องถิ่นทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานหลักการนี้ทั้งสิ้น

แต่ในแบบภายนอก พลเมืองแบบไหนที่ใช้หลักการแบบนี้ได้ ลักษณะของกลุ่มต้องเป็นอย่างไร กลุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่พอใจสภาพที่เป็นอยู่หรือเปล่า หรือต้องเป็นกลุ่มใหญ่และใหญ่แค่ไหน ต้องมีความเหมือนกันแค่ไหน ทั้งทางภาษา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา หรือไม่จำเป็น ไม่มีคำตอบตายตัว คำตอบชัดในวงการวิชาการคือ ไม่มี

แต่มีแบบกลุ่มที่ไม่ชัด เช่น หมู่บ้านหนึ่งมีลักษณะทำมาหากินอย่างหนึ่งและอยากเป็นประเทศอิสระมีอยู่ 5,000 คน โดยทั่วไปในทางวิชาการบอกว่ากลุ่มแบบนี้ใช้หลักการกำหนดอนาคตตนเองแบบภายนอกไม่ได้ เพราะจะเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง

ส่วนแบบที่ได้แน่คือเข้าเงื่อนไข เช่น ปาตานี หรือกลุ่มประเทศอื่น เช่น สก็อตแลนด์ คาตาโลเนีย รัฐบาวาเรียของเยอรมันที่เหมือนรัฐใหญ่ แต่มีลักษณะบางอย่างต่างกันทางวัฒนธรรมหรือวิธีดำเนินเศรษฐกิจ

ถ้าเป็นคนจำนวนมากพอและมีความปรารถนาอย่างหนึ่งก็เข้าข่ายว่าสามารถเรียกร้องการกำหนดอนาคตตนเองแบบภายนอก สามารถเรียกร้องไม่ได้แปลว่าเรียกร้องสำเร็จ แต่ในแง่ความหมายมันพอได้ ไม่ใช่เหมือนหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยากจะแยกตัวออก

แบบปาตานีเข้าข่ายอยู่แล้วทั้งจำนวนและประวัติศาสตร์ สามารถเรียกร้องได้ เพราะไม่ใช่หมู่บ้านเล็กๆ

ปัจจัยความสำเร็จของประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม

ในโลกปัจจุบันหรืออย่างน้อย 50-60 ปีที่ผ่านมา เวลามีพลเมืองกลุ่มหนึ่งเรียกร้องการกำหนดอนาคตตนเองแบบภายนอก ปฏิกิริยาของรัฐทั่วไปและองค์กรระหว่างประเทศเป็นอย่างไร มี 3 กรณี

กรณีแรก ค่อนข้างชัดและเป็นที่ปฏิบัติการในนานาชาติมา 50-70 ปีแล้ว คือการสนับสนุนกลุ่มพลเมืองที่ต้องการกำหนดอนาคตตนเองแบบภายนอกเป็นรัฐอิสระ ถ้ากลุ่มนั้นตกเป็นอาณานิคมของประเทศอื่น นี่เป็นเหตุให้เกิดรัฐเอกราชเยอะ

กรณีที่สอง รัฐและองค์กรระหว่างประเทศสนับสนุนกลุ่มที่เรียกร้องการกำหนดอนาคตตนเองแบบภายนอก โดยที่รัฐแม่ไม่ได้มีจุดยืนว่าห้ามเรียกร้อง แต่บอกว่าต้องขึ้นอยู่กับพลเมืองในกลุ่มที่เรียกร้องนั้นเห็นชอบจริงหรือไม่

ทั้งสองกรณีนี้ รัฐและองค์กรระหว่างประเทศยอมรับ ถ้าเป็นอาณานิคมและถ้าไม่เป็นอาณานิคมแต่รัฐแม่ยินยอม

ตัวอย่างการประกาศเรียกร้องการกำหนดอนาคตตัวเองแบบภายนอกที่สำเร็จ คือประเทศนอร์เวย์ ซึ่งต้นศตวรรษที่ 20 นอร์เวย์เป็นส่วนหนึ่งของประเทศสวีเดน กลุ่มคนนอร์เวย์อยากประกาศตัวเป็นรัฐอิสระโดยยึดหลักการกำหนดอนาคตตนเอง แม้คนสวีเดนบางคนไม่อยากให้ออก แต่ไม่ถึงขั้นจะไปขวาง ในที่สุดกลายเป็นคนละประเทศ

ผ่านมา 60 ปีแล้ว ปัจจุบันแทบไม่มีการยินยอม

กรณีที่ 3 ไม่ค่อยมีรัฐไหนหรือองค์กรระหว่างประเทศรับรอง ถ้ามีกลุ่มที่เรียกร้องการกำหนดอนาคตตนเองแบบภายนอกและรัฐแม่ไม่ยอม บอกว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดนและขัดกับหลักการของประเทศ ซึ่งแล้วแต่ว่าจะอ้างเป็นรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดๆ บางทีมองถึงขั้นเป็นกบฏ

ในกรณีนี้รัฐอื่นและองค์กรระหว่างประเทศจะไม่ออกมาสนับสนุนอย่างเปิดเผย เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศต่างๆ และรัฐแม่ที่ไม่ยอมก็จะบอกว่าเป็นเรื่องภายใน กรณีนี้จะไม่ค่อยมีเลยในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ไม่มีเลย แต่มีน้อยที่จะทำอย่างนี้เพราะเป็นการประกาศแทรกแซง

การเป็นอาณานิคมกับความต้องการกำหนดอนาคตตนเอง

ถ้าเป็นอาณานิคม โลกมักจะสนับสนุน ถามว่า “อาณานิคม” คืออะไร มีหลายแบบหรือเปล่า และแบบไหนที่สามารถเรียกร้องกำหนดอนาคตตนเองแล้วโลกจะยอมรับเหมือนสมัยก่อน เหมือนกรณีอินเดียและพม่าที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ในปัจจุบัน การเป็นอาณานิคมกลายเป็นเรื่องที่คู่กับความต้องการกำหนดอนาคตตนเอง แล้วอาณานิคมในโลกปัจจุบันเป็นอย่างไรเพื่อจะโยงกับการกำหนดอนาคตตนเอง 

การกำหนดอนาคตตนเองปาตานี ไม่ง่าย

การกำหนดอนาคตตนเองกับสันติภาพปาตานี สิ่งแรกคือไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะน่าจะมีความเห็นหลากหลายมากในคนปาตานีเอง คำถามคือ ปาตานีกับการเป็นอาณานิคมของรัฐไทยในปัจจุบัน (ไม่ใช่อดีต) เป็นอย่างไร

บางคนมองว่าปาตานีเป็นอาณานิคม ไม่ใช่เคยเป็นในอดีตแต่กำลังเป็นอยู่ พูดอย่างนี้ต้องขยายความเพราะฟังแปลกๆ จากความหมาย เช่น พม่าเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษแบบนั้นค่อนข้างชัด

เพราะฉะนั้น ต้องให้ชัดก็คือ เป็นหรือไม่เป็น ถ้าเป็นและเป็นแบบไหน ถ้าไม่เป็นและไม่เป็นแบบไหน

คำถามนี้มันโยงกับการใช้หลักการกำหนดอนาคตตนเอง ถ้าไม่อยู่ในกรอบนี้ก็เหมือนคนปาตานีแค่ไม่อยากอยู่ภายใต้รัฐไทย และอยากใช้หลักการกำหนดอนาคตตนเองแบบภายนอก ถ้าแบบภายในไม่มีปัญหา เพราะนี่คือการกระจายอำนาจธรรมดารองรับด้วยหลักการประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่แบบภายนอกมันมากกว่าหลักการประชาธิปไตย ก็เลยต้องพูดว่า “เป็นหรือไม่เป็น” อย่างไรในปัจจุบัน

บริบทของการเรียกร้อง RSD

มีหลายบริบท หนึ่งคือ ถูกจับมาขังและอยากออกไปกำหนดอนาคตตนเอง อันนี้กรณีอาณานิคมทั่วไป

สอง ถูกจับมาให้อยู่เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ไม่ได้เป็นอาณานิคม แต่คนที่ถูกจับไม่อยากอยู่แล้ว เพราะครอบครัวนี้ต่างจากฉันมากเกินไป หรือถูกจับมาเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่ไม่ได้ถูกปฏิบัติเหมือนคนอื่นในครอบครัว เหมือนถูกขังแล้วก็อยากออก

ปาตานีเป็นอาณานิคมของไทยหรือไม่

ในทางวิชาการพบว่า อาณานิคมมี 4-5 แบบ เช่น แบบอพยพคนมาอยู่ในพื้นที่ที่มีคนอยู่มานานแล้วเพื่อจะให้ฟื้นที่นั้นมีคนหลากหลาย เรียกว่าแบบ Setter ก็มีอยู่เยอะ

อาณานิคมแบบไม่ย้ายคนเข้าไป แต่คุมพื้นที่ไว้เพื่อเอาทรัพยากรอย่างเดียว คืออาณานิคมแบบ exploitation

อาณานิคมภายใน คือมีอำนาจไม่เท่ากับส่วนอื่นของรัฐที่ตัวเองอยู่ รัฐไม่เอาใจใส่ เหมือนควบคุมพื้นที่นั้นไม่ให้เจริญ

สุดท้าย อาณานิคมแบบที่ต้องการเปลี่ยนให้เหมือนพื้นที่ของรัฐใหญ่ เรียกว่า Assimilation คือจะทำให้ส่วนนั้นเหมือนส่วนใหญ่ทุกอย่างทั้งประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา เช่น พยายามเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษา

ต้องแยกแยะระหว่าง “เป็น” กับ “รู้สึกว่าเป็น”

ในกรณีที่คนปาตานีพูดว่ารู้สึกว่า “เป็นอาณานิคมของรัฐไทย”ต้องพูดให้ชัดว่าเป็นอาณานิคมแบบไหน

ต้องแยกแยะระหว่าง “เป็นอาณานิคม” กับ “ความรู้สึกว่าเป็น” ทั้งสองอย่างนี้ต่างกัน แต่สำคัญทั้งคู่

ปาตานีเป็นอาณานิคมของรัฐไทยหรือไม่ จะเป็นได้หลังจากกำหนดนิยามของอาณานิคมว่าเป็นแบบไหน จากนั้นก็ดูตัวเลขต่างๆ ทั้งเรื่องงบประมาณ นโยบายต่างๆ เป็นการศึกษาข้อเท็จจริง

ส่วนที่สองคือ รู้สึกว่าเป็น คือความรู้สึกของคนว่าเป็นอาณานิคมของอีกรัฐหนึ่ง โดยไม่ได้ศึกษาสถิติว่าถูกเอาเปรียบอย่างไรหรือไม่ เป็นความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง เพราะถ้ารู้สึกว่าเป็น ก็ไม่มีความสุขในการดำเนินชีวิต

“ความรู้สึกว่าเป็น” อาจจะจริงกว่าสถิติ

“ความรู้สึกว่าเป็น” ผมมักอธิบายว่า อยู่ไม่เป็นสุข อึดอัด เพราะรู้สึกว่าไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐแม่ รู้สึกว่าเป็นสอง เป็นรอง รู้สึกว่าอำนาจมากดทับเราแล้วเราหายใจไม่ค่อยออก

ความรู้สึกนี้อาจจะไม่มาบนพื้นฐานสถิติ แต่อาจจะจริงกว่าสถิติที่เราเก็บมาศึกษา เพราะมันกระทบกับการดำเนินชีวิตทุกวัน จะทำอย่างนี้จะทำอย่างนู้น จะเลี้ยงลูกอย่างไรให้โต ให้มีคุณค่าบางอย่างก็ทำไม่ได้ ถูกส่วนนี้บังคับ ครอบครัวตัวเองยังดูแลไม่ได้ ความรู้สึกแบบนี้มันสำคัญเท่าๆกัน

ทุกกรณีมีพวกอยู่เป็น พวกไม่อยากเป็น และยังไงก็ได้

เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ตอนที่ปาเลสไตน์เป็นอาณานิคมของจักรวรรดิโรมัน นักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์พบบางอย่างที่ตรงกับประวัติศาสตร์อื่น คือเกือบทุกกรณีที่คนในอาณานิคมจะมีความเห็นเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 พอใจกับการเป็นอาณานิคม พร้อมจะอยู่ต่อ กลุ่มนี้มักทำงานใกล้ชิดฝ่ายรัฐแม่ และฝ่ายรัฐก็ใช้คนกลุ่มนี้มาบริหารพื้นที่อาณานิคม

กลุ่มที่ 2 ไม่อยากเป็นอาณานิคมต่อไปและใช้หลักการกำหนดอนาคตตนเองแบบภายนอกเพื่อออกไปเป็นรัฐอิสระ แต่ไม่อยากทำอย่างที่หลายกลุ่มทำ เช่น ตั้งกองกำลังต่อสู้ พวกเขาไปคุยไม่ใช่แค่กับรัฐแม่ แต่ต้องคุยกับคนของตัวเองที่เข้ากับรัฐแม่ด้วย

กลุ่มที่ 3 คือประชาชนซึ่งยังไงก็ได้

ทุกกรณีจะมี 3 กลุ่มนี้ โดยมีสัดส่วนทั้งที่ต่างกันและใกล้เคียงกัน เช่น ตอนสหรัฐอเมริกาเป็นอาณานิคมของอังกฤษเมื่อ 200-300 ปีก่อน ก็มีกลุ่มหนึ่งอังกฤษตั้งเป็นผู้ว่าฯ นายกเทศมนตรี อีกกลุ่มบอกไม่อยากเป็นอาณานิคมแล้ว ส่วนอีกกลุ่มยังไงก็ได้

ปาตานีก็มีพวกอยู่เป็น-ไม่อยากเป็น และยังไงก็ได้

ในกรณี ปาตานีกับการกำหนดอนาคตตนเอง ถ้าจะเสนอจุดยืนต่อโลกในยุคปัจจุบัน มันต้องเสนอในลักษณะเป็นอาณานิคมอะไรสักแบบ แต่ใครจะคิดว่าเป็น

ถ้าคนปัตตานีจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าปาตานีเป็นอาณานิคมของรัฐไทย แต่คนปาตานีเหมือนกันอีกชุดหนึ่งบอก เราไม่ได้เป็นอาณานิคมของรัฐไทย อยู่อย่างนี้ดีแล้ว และคนปาตานีจำนวนหนึ่งยังไงก็ได้ ไปได้ทุกทาง

ก็เลยเกิดสถานการณ์ที่คนปาตานีเองมีความเห็นต่าง ความรู้สึกอยากจะไปทางไหนในการกำหนดอนาคตตนเอง คืออะไร ไม่น่าจะต่างจากที่อื่น มีทั้ง 3 แบบ

พูดคุยสันติภาพกับการทำประชามติสำคัญต่อกัน

การพูดคุยสันติภาพกับการทำประชามติทำไมจึงสำคัญต่อกัน เพราะการทำประชามติเกือบจะเป็นเครื่องมือเดียวของการกำหนดอนาคตตนเอง เพื่อที่จะถามว่ากี่คนกันแน่ที่เห็นชอบกับทิศทางที่เราจะกำหนดอนาคตตนเอง และทำไมถึงคิดว่าอยากจะกำหนด เช่น รู้สึกว่าเป็นอาณานิคมของรัฐไทย

การทำประชามติทำในหลายเรื่อง หลายประเทศทำ สมมุติการห้ามสูบบุหรี่ในร้านอาหาร บางประเทศทำเพราะมันกระทบทุกคน บางคนบอกว่าสูบได้ แต่บางคนไม่เอา

เมื่อรัฐอยากทำตามความปรารถนาของพลเมือง นี่คือรัฐประชาธิปไตย ไม่อยากให้คนที่อยู่ในอำนาจข้างบนไปกำหนดเอง ก็เลยทำประชามติกันทุกเรื่องทั่วไป รวมถึงประชามติเรื่องแยกตัวออกไปเป็นรัฐอิสระ

ภาพจำลองประชามติ

RSD เป็นการหาทางออกอย่างสันติ

ในกรณีปาตานี ถ้าใช้อนุมานจากกรณีอื่นในประวัติศาสตร์ ความเห็นของคนปาตานีเองน่าจะหลากหลายในประเด็นนี้ เช่น มองปาตานีเป็นอาณานิคมของรัฐไทยหรือเปล่าจึงอยากกำหนดอนาคตตนเองแบบภายนอก หรือรู้สึกไม่เป็นไร อันนี้จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะถ้าหาคำตอบไม่ได้จะเดินต่อไปแบบสันติไม่ได้

ทันทีเราบอกว่า หลักการกำหนดอนาคตตนเองสำคัญ ก็แปลว่าเราอยากหาทางออกอย่างสันติ ถ้าเราไม่ต้องการหาทางออกอย่างสันติ ก็ไม่ต้องบอกหลักการอะไร เราสู้อย่างเดียว ถ้ากำลังเยอะก็ชนะ น้อยก็แพ้

อ้างหลักการเพราะอยากคุย-ลงประชามติเพราะจะรู้ความคิดคน

พอเราอ้างหลักการ แปลว่าเราอยากจะหาวิธีออกในการพูดคุย เราอยากพูดคุย อยากสนทนา อยากให้เหตุผลว่าทำไมถึงต้องการไปทิศนี้ทิศนั้น

แต่การพูดคุยสันติภาพดีขึ้นในตอนหลัง คือ ทุกฝ่ายบอกว่า สำคัญมากที่ฟังความรู้สึกของประชาชนในปาตานี ก่อนนี้ไม่มี แต่ต่างฝ่ายต่างอ้างเฉยๆ ว่าเป็นเสียงของคน รัฐบอกว่าคนส่วนใหญ่คิดเหมือนรัฐ ขบวนการก็บอกว่าคนส่วนใหญ่คิดเหมือนขบวนการ แต่ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าคิดอย่างไร

เราจะหาว่าคนคิดยังไง มีวิธีเดียวคือการทำประชามติ เรื่องอะไรบ้างก็ต้องไปวางแผนว่า เรื่องไหนที่จะให้คำตอบว่าคนปาตานีรู้สึกว่า ตัวเองเป็นอาณานิคมหรือไม่ แค่ไหน แบบไหน และทำไมถึงจำเป็นจะต้องใช้หลักการกำหนดอนาคตตนเอง

“เป้าหมายให้ความชอบธรรมแก่วิธีการ” จะนำสู่หายนะ

สันติภาพในปัตตานีจะต้องมาจากที่ทุกฝ่ายเปลี่ยน เปลี่ยนจากการยึดหลักการ “เป้าหมายให้ความชอบธรรมแก่วิธีการ” The ends justify the means ไปเป็น “วิธีการไม่ใช้ความรุนแรง จะให้ความชอบธรรมแก่เป้าหมาย”

หลักการ “เป้าหมายให้ความชอบธรรมแก่วิธีการ” นี้บอกว่า ถ้าเรามีเป้าหมายบางอย่างหรือคุณค่าบางอย่างที่เรายึดมากจนทำยังไงก็ได้เพื่อให้ได้เป้าหมายนี้ มันจะให้ความชอบธรรมแก่วิธีการใด ๆ ก็ตามที่ใช้เพื่อให้ได้มาแก่สิ่งนี้ จะใช้วิธียิง อุ้มหาย วิธีไอโอต่างๆ วิธีวางระเบิด ทุกวิธีการชอบธรรมถ้าเรายึดหลักนี้ว่า ใช้วิธีอะไรก็ได้มันชอบธรรม ถ้ามันพาเราไปสู่เป้าหมาย

หลักการนี้เป็นสาเหตุของความรุนแรงส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ ก็คนที่คิดว่าจุดหมายปลายทางสำคัญกว่าวิธีการที่จะใช้ และไม่ว่าเราจะต่อสู้เพื่อสถาบันอะไรหรือเพื่ออะไร ทำอะไรก็ได้มันชอบธรรมหมดเพราะเป้าสำคัญกว่าวิธี

วิธีการไม่ใช้ความรุนแรง จะให้ความชอบธรรมแก่เป้าหมาย

ผมคิดว่าต้องพิจารณาเปลี่ยน

ไม่ใช่เฉพาะในบริบทปาตานี ที่จริงบริบทในประเทศไทยอื่นที่กำลังขัดแย้งกันด้วย ณ บัดนี้ รวมถึงสิ่งหนึ่งกำลังเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง คือต้องเปลี่ยนเป็นการมองว่า “วิธีการให้ความชอบธรรมกับเป้าหมาย” ไม่ใช่ “เป้าหมายให้ความชอบธรรมแก่วิธีการ”

วิธีการวิธีไม่ใช้ความรุนแรง มันจะให้ความชอบธรรมแก่เป้าหมายที่เรามี เพราะว่ามันจะเป็นวิธีที่ดำรงอยู่เมื่อได้เป้าหมาย

ถ้าเรามีเป้าหมายและเราบอกเราชนะได้ด้วยการฆ่าทุกคนที่เห็นต่างจากเรา พอได้เป้าหมายนั้นขณะที่อยู่มันก็ต้องอยู่แบบฆ่ากัน เพราะเราใช้วิธีนั้นมา มันชอบธรรมไปแล้วเราก็จะใช้กับทุกคนที่เห็นต่าง

แต่ถ้าเรายึดวิธีการเป็นสิ่งให้ความชอบธรรม ไม่ได้แปลว่า พอต่อสู้ด้วยการถกเถียงเกิดแพ้ ก็ไม่ได้แปลว่าทิ้งเป้าหมาย ก็แปลว่าสู้ต่อไป ถกเถียงต่อไป

ถ้าในระบบการเลือกตั้งก็คือถกเถียงต่อไปเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งครั้งถัดไป ไม่ใช่ว่าตอนเลือกตั้งครั้งนี้เราแพ้เราเลยทำทุกอย่างเพื่อจะล้มคนชนะ เพราะเราถือว่าเป้าหมายสำคัญกว่าการใช้วิธีการอะไรก็ได้ อย่างนี้มันจะไม่ยั่งยืน

ทั้งสังคมไทยและปาตานีต้องเปลี่ยน

ในกรณีปาตานี ผมก็คิดว่าการเลือกหัวข้อหารือกันวันนี้ สำหรับผมมันสะท้อนว่าคล้ายๆ จะเปลี่ยนแล้วจากที่ “จะทำอะไรก็ได้ที่ชอบธรรมขอให้ได้เป้าหมาย” เป็น “เราจะยึดวิธีการเพื่อต่อสู้สำหรับเป้าหมาย” แต่ไม่ใช่เราจะทำอะไรก็ได้ ถึงตั้งหลักการกำหนดอนาคตตัวเอง

ในการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเองในภาพกว้าง ผมก็คิดว่าหลายฝ่ายยังยึดหลักเก่าว่า The ends justify the means  คือเป้าหมายนี้สำคัญ เราต้องรักษาไว้ เพราะฉะนั้นจะทำอะไรก็ได้ วิธีการทุกวิธีชอบธรรมหมด อันนี้ก็คือก็หายนะหมดทั้งสังคม ในกรณีปัตตานีก็น่าจะเป็นเช่นนั้น 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net