Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 21 สิงหาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3

นายวุฒิสาร ตันไชย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ รายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มี ส.ส.แปรญัตติ 1 คน ร่าง พ.ร.บ.ที่ใช้ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นร่างหลักจำนวน 9 มาตรา กมธ.มีการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 7 มาตรา และเพิ่มมาตราขึ้นใหม่จำนวน 3 มาตรา โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้วันออกเสียงประชามติเป็นวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ส.ในกรณีเลือกตั้งทั่วไป หรือวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากการดำรงตำแหน่งครบวาระได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการออกเสียงประชามติพร้อมการจัดการเลือกตั้ง โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ให้ ครม. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หารือร่วมกัน

นายวุฒิสารกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงวิธีการการออกเสียง กำหนดวิธีการออกเสียงให้กระทำได้โดยการใช้บัตรออกเสียง หรือการออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือออกเสียงทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือออกเสียงโดยวิธีอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต.กำหนด เพื่อความสะดวกของประขาชนผู้มาใช้สิทธิ ส่วนเรื่องคะแนนเสียงกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงผู้ไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องการจัดทำประชามตินั้น สำหรับการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงประชามติต้องไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรือลงคะแนนออกเสียงในทางใดทางหนึ่ง เมื่อได้ประกาศกำหนดวันออกเสียงแล้ว ให้ กกต.เผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียง โดยให้ผู้มีสิทธิออกเสียงรับทราบอย่างทั่วถึง และให้ กกต.จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและรอบด้านเท่าเทียมกัน รวมทั้งกำหนดให้เขตออกเสียง หน่วยออกเสียง เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด

โดยเป็นการพิจารณาเรียงตามมาตราในวาระ 2 ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยการการแก้ไขของ กมธ.เสียงข้างมาก เห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไขที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอต่อสภา ได้แก่ ร่างมาตรา 3 ซึ่งแก้ไขมาตรา 10 ที่ กมธ.เสียงข้างมาก การกำหนดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการทำประชามติที่เป็นวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นเนื่องจากครบวาระ ต้องไม่เร็วกว่า 60 วัน และไม่ช้ากว่า 150 วันนับจากวันที่รับแจ้งจากประธานรัฐสภา ร่างมาตรา 4 แก้ไขมาตรา 11 ซึ่งยกเลิกวรรคสองและวรรคสาม และใช้ข้อความใหม่ ที่มีสาระสำคัญคือ กรณีที่ประชาชน 5 หมื่นชื่อ จะยื่นเรื่องต่อ ครม.ให้พิจารณาทำประชามติ สามารถทำผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

ส่วนมาตราที่ ส.ส.อภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง คือ ร่างมาตรา 6 แก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์ออกเสียงที่เป็นข้อยุติ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับเดิม กำหนดให้ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น คือ ผู้มาออกเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ โดย กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว คือ เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ซึ่ง กมธ.ได้เพิ่มหลักเกณฑ์คือ ต้องเป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิดในเรื่องที่ทำประชามตินั้นด้วย ซึ่งนายวุฒิสารชี้แจงว่า การออกมาทำประชามติถือเป็นหน้าที่ ดังนั้นจึงต้องมีช่องให้งดออกเสียงเพื่อเป็นทางออกให้กับผู้มาใช้สิทธิออกเสียง

พริษฐ์ วัชรสินธุ : อภิปรายร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เมื่อ 21 ส.ค. 67

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน อภิปราย 2 ประเด็น ประเด็นที่ 1. การเห็นชอบในการแก้ไขมาตรา 3 มาตรา 4  มาตรา (4/1) มาตรา 6/1 และมาตรา 7 ในส่วนที่ 2. ประเด็นความแตกต่างของความสงวนความเห็นกับร่าง กมธ. เสียงข้างมาก 

ข้อเสนอที่ กมธ. เห็นด้วยกับร่างของพรรคก้าวไกลที่เสนอ มีอยู่ 3 ข้อเสนอ 1. ปลดล็อคให้ประชาชนออกเสียงผ่านทางออนไลน์ 

2. ปลดล็อคให้จัดประชามติพร้อมการเลือกตั้ง กำหนดกรอบเวลา 2 ระดับ 2.1) กรณีที่ทั่วไป ไม่ได้จัดประชามติพร้อมการเลือกตั้ง กรอบเวลาจะกำหนดโดยประชามติจะต้องเกิดขึ้นภายใน 90 - 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภาหรือวันที่ ครม. มีมติ 2.2) กรณีพิเศษ ที่ต้องการจัดประชามติพร้อมการเลือกตั้ง ขยายกรอบเวลาขึ้นมา โดยประชามติจะต้องเกิดขึ้นภายใน 60 - 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภาหรือวันที่ ครม. มีมติ

3. การเพิ่มกลไก กระบวนการในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายระหว่างหน่วยงานต่างๆ กรณีที่จัดประชามติ ทำให้ กกต. ปฎิบัติงาน สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น

ในส่วนประเด็นที่กรรมธิการเสียงข้างมากเห็นต่างกับร่างของพรรคก้าวไกล มี 2 ประเด็น 1. คำถามมาตรการในการจัดประชามติพร้อมการเลือกตั้งให้สะดวกครอบคลุมการเลือกตั้งประเภทอะไรบ้าง (ในรายละเอียดของร่างกรรมธิการเสียงข้างมากครอบคลุม สส.ทั่วไป สส.ท้องถิ่น แต่ในร่างของพรรคก้าวไกลเพิ่มการครอบคลุม 2 คือ 1. การเลือกตั้งซ่อม สส. หรือเลือกตั้งซ่อมท้องถิ่น การเลือกตั้งประเภทที่ 2 คือ การเลือกตั้งอื่น) 

2. คำถาม ตัวเลือก ประชามติออกแบบอย่างไรได้บ้าง (ในรายละเอียดของร่างกรรมธิการเสียงข้างมาก เห็นชอบ และไม่เห็นชอบ เป็นการจำกัดเพียงแค่ 2 ตัวเลือก ในร่างของพรรคก้าวไกลตัดคำว่าเห็นชอบ และไม่เห็นชอบออกจาก กม. เพื่อให้ประชาชนออกแบบคำถามที่กว้างได้)

ด้าน ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย ทั้งนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย สงวนความเห็นให้เพิ่มหลักเกณฑ์ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิด้วย เพื่อเป็นเกณฑ์ที่ใช้สะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและ ส.ส.พรรคประชาชน ลุกขึ้นทักท้วงและสนับสนุนการแก้ไขตาม กมธ.เสียงข้างมาก

ขัตติยา สวัสดิผล อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฝั่งกรรมธิการเสียงข้างมาก

ขณะที่ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายแสดงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นต้นตอวิกฤตของปัญหา โดย 1 ทศวรรษที่ผ่านมาพบประจักษ์พยานเหตุการณ์สำคัญ คือ ยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค สั่งให้นายเศรฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และคำถามที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เผชิญคือกังวลว่าจะซ้ำรอยการหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ โดยเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าการเมืองไทยไร้เสถียรภาพ บริหารประเทศไม่ต่อเนื่อง ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นวิกฤตที่มีต้นตอจากรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ให้เป็นจริงใน 4 ปี

หลังที่ประชุมอภิปรายในวาระสองเรียงตามมาตราเสร็จแล้ว ได้ลงมติในวาระ 3 เห็นชอบ 409 คะแนน ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียงไม่มี ไม่ลงคะแนน 2 คะแนน ถือว่าที่ประชุมมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ ฉบับที่… พศ. … พร้อมเห็นชอบข้อสังเกตของ กมธ. จากนั้นจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในลำดับต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net