Skip to main content
sharethis

ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.ขอนแก่น เผยทำงานเชิงรุก ร่วมเครือข่ายในพื้นที่ออกหน่วยให้คำแนะนำสิทธิบัตรทองกับชุมชน เผยช่วยเหลือญาติผู้ป่วยฉีดวัคซีนโควิด ประสานส่วนกลางแค่สัปดาห์เดียว ได้เงินช่วยเหลือเยียวยาทันที - รพ.กล้วยน้ำไทร่วมมือ สปสช. ให้บริการรับส่งต่อผู้ป่วย เพิ่มความสะดวกรักษาใกล้บ้าน-ลดแออัด รพ.รัฐ 

26 ส.ค. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งข่าวว่า นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เปิดเผยว่า ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.ขอนแก่น ไม่ได้ทำงานเชิงรับอย่างเดียว แต่ยังขับเคลื่อนการทำงานเชิงรุกด้วย โดยประสานกับเครือข่ายในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ที่เป็นภาคประชาสังคม ร่วมออกหน่วยบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับชุมชน  

รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาท) ตลอดจนรับเรื่องร้องทุกข์ หรือตอบคำถามข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการใช้สิทธิบัตรทอง ทั้งการเปลี่ยนหน่วยบริการ การลงทะเบียนย้ายสิทธิสำหรับประชาชนที่มีภูมิลำเนาต่างถิ่น  

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของการช่วยเหลือกรณีที่อาจได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ ให้ได้รับการเยียวยาอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การประสานช่วยเหลือเยียวยาให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเสียชีวิตที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ญาติอยู่ที่ จ.ขอนแก่น และได้มาร้องทุกข์ที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.ขอนแก่น 

นายปฏิวัติ กล่าวต่อไปว่า ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จึงได้ประสานไปยัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม. ที่รับผิดชอบในพื้นที่ของผู้เสียชีวิต ซึ่งมีหลักเกณฑ์ชดเชยกรณีฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเสียชีวิต โดยไม่ต้องมีการสอบสวนสาเหตุ จนในที่สุดญาติ และครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับการช่วยเหลือชดเชย จำนวนประมาณ 2 แสน - 4 แสนบาท โดยกรณีดังกล่าวเกิดการเสียชีวิตซึ่งคาดว่ามาจากการฉีดวัคซีน สปสช. จึงอนุมัติให้ได้รับการชดเชยในทันที  

"จากกรณีที่เกิดขึ้น ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.ขอนแก่น รับเรื่องร้องทุกข์จากญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งเหตุเกิดเมื่อช่วงปลายปี 2565 โดยญาติเข้ามาร้องทุกข์กับหน่วยฯ เมื่อเดือน ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยได้ประสานเพื่อช่วยเหลือกับสปสช. เขต 13 กทม. และพบว่าเข้าข่ายให้การช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ดูแลคุ้มครอง ซึ่งประสานให้การช่วยเหลือกับญาติผู้เสียชีวิตเพียง 1 สัปดาห์ ก็ทราบว่าได้มีการอนุมัติการช่วยเหลือกับกรณีที่เกิดขึ้นจากสปสช.แล้ว" ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.ขอนแก่น ระบุ 

ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.ขอนแก่น กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.ขอนแก่น ยังปรับเปลี่ยนช่องทางการรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ใช้สิทธิบัตรทองผ่านเพจ 'บัตรทองของเรา' ซึ่งเป็นของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่มาร่วมขับเคลื่อนดูแลสิทธิด้านสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ เพราะประเด็นด้านระบบบริการสุขภาพสาธารณสุข เป็น 1 ใน 8 ภารกิจหลักของงานคุ้มครองผู้บริโภคด้วย 

"การเปิดช่องทางการร้องทุกข์ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวมถึงการลงพื้นที่ออกหน่วยร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ก็ช่วยให้การเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิบัตรทองใน จ.ขอนแก่นมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น" นายปฏิวัติ กล่าว  

รพ.กล้วยน้ำไทร่วมมือ สปสช. ให้บริการรับส่งต่อผู้ป่วย เพิ่มความสะดวกรักษาใกล้บ้าน-ลดแออัด รพ.รัฐ 

นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1 ใน 17 โรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการรับส่งต่อผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน สิทธิบัตรทอง ในพื้นที่ กทม. ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 กล่าวถึงเหตุผลที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ตัดสินใจเข้าร่วมให้บริการในครั้งนี้ว่า เดิมทีโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทให้บริการคนไข้สิทธิบัตรทองอยู่แล้วประมาณ 1 แสนคน แต่ต่อมาได้มีการยกเลิกสัญญากับ สปสช. ทำให้คนไข้ที่เคยรับบริการกับกล้วยน้ำไทมีปัญหาไม่ได้รับความสะดวก 

นพ.สุวินัย กล่าวว่า คนไข้เดิมเหล่านี้ส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ในละแวกที่ตั้งของโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เมื่อมีการยกเลิกสัญญา ทำให้ถูกย้ายไปขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาลของรัฐซึ่งอยู่ไกลกว่าเดิม บางส่วนไม่สามารถหาหน่วยบริการทุติยภูมิได้ บางส่วนยังเป็นสิทธิว่างที่ยังหาหน่วยบริการลงไม่ได้ และอีกส่วนก็ถูกย้ายไปขึ้นทะเบียนกับคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทก็มีเครือข่ายคลินิกในระดับปฐมภูมิอยู่แล้ว เมื่อมีการส่งต่อก็จะส่งมาที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ทำให้เกิดการดูแลต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นที่ปกติก็มีความหนาแน่นอยู่แล้ว 

เมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้แล้ว โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทจึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยให้สามารถถูกส่งต่อมาที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทได้ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระ ลดความแออัดของโรงพยาบาลของรัฐอีกด้วย”นพ.สุวินัย กล่าว 

นพ.สุวินัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของความพร้อมในการให้บริการนั้น โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทมีความพร้อมอย่างเต็มที่เพราะเดิมทีก็ให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองอยู่แล้ว ครอบคลุมบริการตั้งแต่อาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน การรับส่งต่อจากคลินิกหรือโรงพยาบาลรัฐที่ไม่มีเตียงรองรับ โรคหัวใจ โรคประสาทและสมอง และสาขาอื่นๆ ทุกสาขา โดยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจะได้รับบริการตามมาตรฐานวิชาชีพ และเท่าเทียมกับผู้ป่วยประกันสังคมและผู้ป่วยเงินสดที่จ่ายเงินเอง 

“โรงพยาบาลเรารับทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคมและคนไข้เงินสดทั่วไป มาตรฐานการรักษาเท่าเทียมกัน เพียงแต่เรื่องห้องอาจจะต่างกัน เช่น สิทธิบัตรทองหรือประกันสังคมจะมีห้องรวมให้ แต่ถ้าอยากอยู่ห้องเดี่ยวก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เป็นต้น แต่ในเรื่องการดูแลรักษา ผ่าตัด การให้ยา ทุกอย่างเหมือนกันหมดเป็นมาตรฐานเดียวกัน”นพ.สุวินัย กล่าว 

นพ.สุวินัย กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากการแถลงความร่วมมือในครั้งนี้แล้ว สิ่งที่อยากเห็นในอนาคตคือการที่ภาครัฐให้โอกาสโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระให้มากขึ้น เพราะคนไข้ไปหนาแน่นที่โรงพยาบาลรัฐเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่คนไข้บางส่วนอาจมีที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า จึงอยากให้กระจายผู้ป่วยมาให้โรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือรัฐในการลดความแออัด 

อนึ่ง มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ระบุว่า บุคคลที่ได้ลงทะเบียนแล้ว ให้ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขได้จากหน่วยบริการประจำของตนหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง หรือจากหน่วยบริการอื่นที่หน่วยบริการประจำของตนหรือเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องส่งต่อ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้บุคคลนั้นมีสิทธิเข้ารับบริการจากสถานบริการอื่นได้ ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยคำนึงถึงความสะดวกและความจําเป็นของผู้ใช้สิทธิรับบริการ และให้สถานบริการที่ให้บริการนั้นมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุนตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net