Skip to main content
sharethis

งานวิจัยกระบวนการยุติธรรมในอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 19 สะท้อนปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวไอริชก็ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและผลการตัดสินคดีที่เลวร้ายกว่าในศาลอาญากลางของอังกฤษ บทเรียนจากยุคสมัยนั้นจะช่วยสร้างความเข้าใจต่อนโยบายกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในยุคปัจจุบันอย่างไรบ้าง

โครงการ The Economics Observatory (ECO) ระบุว่าในกระบวนการยุติธรรมของอังกฤษนั้น ชนกลุ่มน้อยมักจะตกเป็นจำเลยในคดีต่างๆ จำนวนมากอย่างไม่ได้สัดส่วน ในอังกฤษมีประชากรที่ไม่ใช่คนขาวอยู่ร้อยละ 15 จากทั้งหมด แต่ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมของอังกฤษเมื่อปี 2564 พบว่าชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ก็มีผู้ที่ถูกสั่งหยุดตรวจร้อยละ 37 มีผู้ถูกจับกุมร้อยละ 23 และในเรือนจำมีนักโทษที่เป็นกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่คนขาวอยู่ร้อยละ 27

เรื่องที่ชนกลุ่มน้อยในอังกฤษเผชิญในกระบวนการยุติธรรมนั้นนับเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตหลายแง่มุมที่พวกเขาต้องเผชิญของชีวิตประจำวันด้วย เช่น เรื่องตลาดแรงงาน, ที่อยู่อาศัย และตลาดผู้บริโภค

การที่พวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่าไม่ค่อยมีชนกลุ่มน้อยเหล่านี้อยู่ในภาคส่วนการตัดสินใจในกระบวนการยุติธรรม จากสถิติของกระทรวงยุติธรรมปี 2566 ระบุว่า บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมของอังกฤษมีตำรวจที่ไม่ใช่คนขาวอยู่เพียงร้อยละ 7 และมีผู้พิพากษาที่ไม่ใช่คนขาวอยู่ร้อยละ 10 เท่านั้น

แม้ความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติสีผิวเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในอังกฤษเท่านั้นแต่ยังเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือประเทศสหรัฐฯ แต่สำหรับในอังกฤษเรื่องนี้ยังเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนยุคสมัยใหม่แล้ว มีการระบุไว้ในระบบกฎหมายอังกฤษอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่ชนกลุ่มน้อยไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะทำงานเป็นลูกขุน

เรื่องจากประวัติศาสตร์

งานศึกษาของโครงการได้ย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสำหรับชาวไอริชในลอนดอน ในช่วงต้นศตวรรษ มีจำนวนชาวไอริชที่อาศัยอยู่ในลอนดอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากเหตุการณ์ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ หรือบางก็เรียกว่า ภัยความขาดแคลนเนื่องจากโรคในมันฝรั่ง ค.ศ. 1846-1852 (พ.ศ. 2389-2395) กลุ่มชาวไอริชอพยพเข้าลอนดอนในฐานะผู้อพยพที่ยากจน กลายเป็นชนชั้นล่าง มีช่องว่างรายได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานมาจนถึงแทบจะทุกวันนี้

ในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 นั้นเป็นที่รู้จักในฐานะช่วงเวลาที่เกิดความไม่สงบทางการเมืองและไอร์แลนด์มีความรู้สึกต้องการประกาศตัวเป็นเอกราชเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความพยายามเรียกร้องการปกครองตนเองได้กลายมาเป็นการใช้ความรุนแรงและการก่อเหตุวางระเบิดโดยกลุ่มไอริชรีพับลิกันบราเธอร์ฮูดในลอนดอนช่วงศตวรรษที่ 1880s

มีหลักฐานคำบอกเล่าเกี่ยวกับการเหยียดและกีดกันชาวไอริชเกิดขึ้นตลอดช่วงศตวรรษที่ 18 ถึงขั้นมีการกีดกันเลือกปฏิบัติอย่างเปิดเผยในตลาดแรงงานที่มีการใช้ประโยคกีดกันในการสมัครที่ระบุว่า "ชาวไอริชไม่ต้องสมัครเข้ามา”

มีงานวิจัยเมื่อไม่นานนี้ทำการสำรวจในเชิงประจักษ์ว่าการกีดกันและเลือกปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้นในการพิจารณาคดีของศาลในอดีตยังคงเกิดขึ้นมาจนถึงในศาลยุคปัจจุบันหรือไม่ โดยตั้งคำถามในงานวิจัยว่าลูกขุนที่เป็นผู้ชาย เกิดในอังกฤษ และมีความมั่งคั่งเพียงพอ ปฏิบัติต่อจำเลยไอริชและเหยื่อชาวไอริชแตกต่างไปจากที่ปฏิบัติต่อจำเลยผู้มีเชื้อสายชาวอังกฤษหรือไม่

งานวิจัยดังกล่าวนี้อาศัยข้อมูลจากการพิจารณาคดี 150,000 คดีที่ศาลอาญากลางกรุงลอนดอนที่เรียกว่า "โอลด์เบลีย์" ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1800-1899 (พ.ศ. 2343-2442) ซึ่งเอามาจากบันทึกการพิจารณาคดีของโอลด์เบลีย์ในฉบับดิจิทัล

ในฉบับดั้งเดิมของบันทึกการพิจารณาคดีนั้น มีการตีพิมพ์ออกมาหลังจากที่ศาลพิจารณาเสร็จสิ้นทุกครั้ง มีรายละเอียดต่างๆ อย่างเช่นชื่อของจำเลย และของผู้เข้าร่วมในการพิจารณาคดี, ข้อหา และผลการพิจารณาคดี เนื่องจากว่าในตอนนั้นไม่มีการบันทึกเชื้อชาติหรือชนชาติที่มาของจำเลย นักวิจัยจึงอาศัยสำมะโนประชากรอังกฤษและแคว้นเวลส์ปี 2424 ในการพิจารณาว่าชื่อของจำเลยเป็นชื่อแบบไอริช แบบอังกฤษ หรือแบบอื่นๆ เพื่อหาว่าจำเลยและผู้เข้าร่วมพิจารณาคดีนั้นๆ เป็นคนเชื้อสายใด

การพิจารณาที่ว่านี้ทำให้นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบผลการตัดสินของศาลต่อจำเลยและเหยื่อที่มีชื่อแบบชาวไอริชเทียบกับคนที่มีชื่อแบบชาวอังกฤษได้

ผลออกมาเป็นอย่างไร

ผลการวิจัยระบุว่า ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษดังกล่าวนั้น คณะลูกขุนจะปฏิบัติต่อจำเลยที่มีชื่อแบบไอริชอย่างแข็งกร้าวหรือหยาบคายมากกว่าและมีโอกาสที่จะถูกตัดสินว่ามีความผิดมากกว่า รวมถึงคนที่มีชื่อแบบไอริชยังมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับข้อเสนอแนะให้ลงโทษสถานเบา การเลือกปฏิบัติเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษดังกล่าวและดำเนินอย่างต่อเนื่องมาจนถึงช่วงปลายศตวรรษ

กลุ่มคนชื่อแบบไอริชที่ตกเป็นจำเลยในคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงมักจะเผชิญกับการตัดสินแบบเลือกปฏิบัติเช่นนี้มากกว่า แต่ก็พบการเลือกปฏิบัติแบบนี้ในคดีที่กระทำต่อทรัพย์สิน(ลักวิ่งชิงปล้นไปจนถึงการเผาหรือทำลาย) ในจำนวนมากเช่นเดียวกัน

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า จำเลยที่มีชื่อฟังดูเป็นไอริชอย่างชัดเจนมากกว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างแข็งกร้าวมากกว่า แต่ปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่นบ้านเกิดของพวกเขาในไอร์แลนด์ไม่ได้นำมาอธิบายถึงการถูกเลือกปฏิบัติของพวกเขา

นอกจากนั้นทางโครงการ ECO ยังระบุอีกว่าได้ศึกษาถึงฝ่ายต่างๆ ในการพิจารณาคดีไปด้วย ทำให้ทราบว่ามีชนกลุ่มน้อยชาวไอริชอยู่น้อยมากในระดับผู้ตัดสินใจและอคติของฝ่ายตุลาการและลูกขุนที่มีชาติกำเนิดเป็นอังกฤษที่เอนเอียงต่อจำเลยที่มีชื่ออังกฤษ

มีกรณีตัวอย่างคดีที่เป็นชาวอังกฤษกับชาวไอริชตกเป็นจำเลยร่วมกัน ชาวอังกฤษรายนั้นก็มีโอกาสจะถูกตัดสินให้มีความผิดมากขึ้นตามไปด้วย รวมถึงมี "อคติแบบ พวกเขา-พวกเรา" ทำให้กรณีที่มีชาวอังกฤษเป็นเหยื่อและชาวไอริชเป็นจำเลย ชาวไอริชมีโอกาสที่จะถูกตัดสินให้มีความผิดมากกว่า ในทางตรงกันข้ามคดีที่มีชาวอังกฤษเป็นจำเลยแต่ชาวไอริชเป็นเหยื่อมีโอกาสจะตัดสินให้จำเลยมีความผิดน้อยกว่า

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดมุมมองและทัศนคติเชิงลบต่อชาวไอริชเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่ชาวไอริชอพยพหลีกหนีความแร้นแค้นประเทศตนเป็นจำนวนมาก, ความไม่สงบทางการเมือง และเหตุวางระเบิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงหลงเหลือมาถึงยุคสมัยใหม่

ทั้งนี้การเลือกปฏิบัติต่อจำเลยชาวไอริชที่เริ่มเกิดขึ้นและเพิ่มขึ้นในช่วงทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์แล้ว แต่รูปแบบการเลือกปฏิบัติลักษณะนี้กลับไม่ค่อยเกิดขึ้นน้อยในช่วงที่มีเหตุระเบิดจำนวนมากปลายศตวรรษ

ในรายงานของโครงการระบุข้อสันนิษฐานไว้ 2-3 เหตุผล เหตุผลแรกคือเป็นไปได้ว่ามุมมองต่อชาวไอริชอย่างมีอคติที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 นั้นแตกต่างไปจากอคติที่มีต่อชาวไอริชในช่วงทศวรรษ 1880

อีกความเป็นไปได้หนึ่งซึ่งสัมพันธ์กับธรรมชาติของเหตุการณ์คือ เหตุระเบิดอาจจะเป็นเหตุการณ์ที่นำมาใช้ตีขลุมเหมารวมประชากรชาวไอริชทั้งหมดไม่ค่อยได้และยังเป็นการง่ายกว่าที่จะระบุถึงตัวบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำ

นอกจากนี้แล้ว เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นช่วงปลายศตวรรษยังเป็นช่วงเดียวกับที่มีการกลืนกลายทางเศรษฐกิจของชาวไอริชในลอนดอนไปแล้ว ทำให้เป็นการลดผลกระทบเรื่องอคติต่อชาวไอริช

การเลือกปฏิบัติต่อชาวไอริชในการพิจารณาคดีเป็นแค่หนึ่งในตัวอย่างของอคติในการตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงยุคสมัยนั้น มีงานวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับศาลอาญากลางลอนดอนที่แสดงให้เห็นอคติอื่นๆ อีกเช่น เพศของจำเลย การพิจารณาลงโทษที่มีธงอยู่แล้วและมีการใช้ผลการพิจารณาคดีก่อนหน้ามาใช้พิจารณา ต่างก็เป็นปัจจัยในการนำมาตัดสินคดีทั้งที่ไม่ควรนำมาใช้ตัดสิน

บทเรียนสำหรับปัจจุบันคืออะไร

การวิจัยบันทึกจากศาลลอนดอนในช่วงยุคดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติจากระบบกฎหมายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต่อผู้อพยพชาวไอริช

การเลือกปฏิบัติเช่นนี้เกิดขึ้นไปพร้อมกับการขาดตัวแทนของชนกลุ่มน้อยในระบบกฎหมายด้วย อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ไม่เพียงแค่กระทบต่อจำเลยชาวไอริชเท่านั้นแต่ยังกระทบต่อเหยื่อชาวไอริชด้วย เรื่องนี้เมื่อนำมาพิจารณาเทียบเคียงกับหลักฐานเชิงประจักษ์ในยุคปัจจุบันในเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติสีผิวในบริบทสหรัฐฯ แล้ว ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างมากว่า การมีตัวแทนที่เป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ด้วยนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างระบบกระบวนการยุติธรรมที่มีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ก็ระบุว่าพวกเขาได้ศึกษาเรื่องผลกระทบของการเลือกปฏิบัติต่อจำเลยหรือเหยื่อชาวไอริช แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามันส่งผลสืบเนื่องอย่างยาวนานมาถึงครอบครัวหรือชุมชนเชื้อสายไอริชในยุคปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป

 

เรียบเรียงจาก

How have minorities been treated by the UK’s judicial system?, Economics Observatory

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net