Skip to main content
sharethis

'เก็บตก' 'ชยพล' สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายงบฯ กลาโหม เขียน KPI สะเปะสะปะ แถมใช้วิธี 'สุทินดาวน์น้อย' แม้ลดงบฯ ลดเงินดาวน์ซื้ออาวุธ แต่ซ่อนหนี้ก้อนโตให้ประเทศชาติในอนาคต ถามย้ำจุดยืน ไหนว่าพัฒนาร่วมหรือหันมาสวมกอดกันแทนแล้ว

 

7 ม.ค. 2567 ยูทูบ TPchannel ถ่ายทอดสดออนไลน์เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2567 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีที่ 2) เป็นพิเศษ วันที่ 2 โดยชยพล สท้อนดี สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณกระทรวงกลาโหม ปี 2567 พบปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะงบจัดซื้ออาวุธ ที่หน้าปกบอกว่างบลด โครงการซื้อเยอะ แต่ไส้ในใช้วิธี ดาวน์เงินน้อย สร้างภาระหนี้ต่อไปในอนาคต

ชยพล กล่าวถึงการทำงบประมาณของกองทัพว่า เป็นการจัดทำงบประมาณมั่วซั่วโดยเฉพาะตัวชี้วัด หรือ KPI 

สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายเริ่มจากการเขียนงบประมาณของกองทัพบกมีปัญหาอย่างมาก โดยมีการของบประมาณทั้งสิ้น 17,623 ล้านบาท แต่วัตถุประสงค์ และตัวชี้วัด (KPI) กลับไม่ระบุอะไร เหมือนกับส่ง 'กระดาษเปล่า' มาให้ 

เมื่อมาดูงบประมาณแล้ว ก็ต้องดูตัวชี้วัดของแต่ละโครงการ ชยพล กล่าวว่า ในกรณีของกองทัพเรือ ระหว่างปี 2566 และปี 2567 จะมีความแตกต่างเล็กน้อยในเรื่องการเขียน แต่ใจความยังเหมือนกัน โดยกองทัพเรือระบุตัวชี้วัดในเชิงคุณภาพ คือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรือ สัดส่วน 90% ทีนี้คำถามถือไม่รู้จะวัดอย่างไร เพราะเมื่อปีที่แล้ว  เรือรบหลวงสุโขทัยล่ม แต่ KPI ได้ตามเป้า 90%

เช่นเดียวกับตัวชี้วัดของกองทัพอากาศ เมื่อปี 2566 ปล่อยเครื่องบิน MIG ของกองทัพพม่า ล้ำน่านฟ้าไทยกว่า 15 นาที แต่ตัวเลข KPI ได้ 89% เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในเอกสารซึ่งระบุว่าอยู่ที่ 80% ไม่ทราบว่ามโนเอาเลขในฝันมากรอกแทนหรือไม่ นี่เป็น KPI ที่ไม่สะท้อนผลลัพธ์ และประสิทธิภาพของกองทัพ และไม่มีผลต่อการพัฒนากองทัพเลย

ตัดงบวิจัยซ้ำซ้อน พุ่งหนุน สปท. 

ชยพล กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาล และสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า จะพัฒนากองทัพให้ทันสมัย โดยหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบโดยตรงคือสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันประเทศ (สปท.)  ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนการพัฒนาและการวิจัยยุทโธปกรณ์ภายในประเทศ เพื่อนำเทคโนโลยีไปต่อยอดในอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต โดยปี 2566 ได้รับงบฯ 500 ล้านบาท และในปี 2567 ได้รับงบฯ 850 ล้านบาท ประมาณการรายได้ 5 ล้านบาท 

ชยพล กล่าวถามว่า อะไรคือปัญหาที่ทำให้ไม่มีการวิจัยพัฒนาออกมาในเชิงพาณิชย์ หรือขายยุทโธปกรณ์ให้กองทัพได้เสียที หรือมันติดปัญหาการจัดงบประมาณสะเปะสะปะ และไม่มีประสิทธิภาพ เพราะแต่ละเหล่าทัพต่างมีงบประมาณทำงานวิจัยซ้ำซ้อน ไม่นำงานวิจัยของ สปท. มาใช้ประโยชน์ 

ยกตัวอย่าง กองทัพเรือ ตั้งงบฯ วิจัยระบบ UAV ปี 2566-2567 จำนวน 69 ล้านบาท ทั้งที่ สปท.ก็ทำได้ กองทัพบกตั้งงบฯ วิจัยของตัวเอง จำนวน 34.22 ล้านบาท แทนที่จะเอางบประมาณไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการวิจัยของกระทรวงกลาโหมโดยตรง หรือถ้าทำแบบเดียวกันกับงานวิจัยได้ เราจะได้ทรัพยากรร่วมกัน ทุกคนทุกเหล่าทัพส่งนักวิจัยมาทำงานร่วมกัน ถ้าทำแบบที่แนะนำได้ เชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพ และนำไปใช้ได้จริง

โครงการซื้ออาวุธไม่ตรงปก ดาวน์ต่ำ สร้างหนี้ให้ประเทศในอนาคต

ชยพล กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมงบประมาณโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ จะลดลง 2,400 กว่าล้านบาท แต่พอดำดิ่งในคลังแสง ถ้าเราอยากให้ยอดเงินในการจัดหาอาวุธปีนี้ดูน้อย โดยที่ไม่ลดโครงการในการจัดหาอาวุธให้ทำอย่างไร ก็ต้องดาวน์ให้น้อย

ชยพล กล่าวต่อว่า เขาขออนุญาตแนะนำ 'สุทินดาวน์น้อย' หรือ 'นวัตกรรมอินโนเวทินของคลังแสง' จากกราฟแสดงงบประมาณผูกพันใหม่ในแต่ละปี เริ่มจากปี 2564-2565 มีเปอร์เซ็นต์การดาวน์อยู่ที่ประมาณ 20% ของแต่ละโครงการ แต่เมื่อปี 2566 เปอร์เซ็นต์การดาวน์เริ่มลดลงเหลือ 13% ของงบโครงการ และปี 2567 น้อยลงไปหนัก เหลือ 8.8% เท่านั้น ซึ่งหากจะรักษาวิจัยทางการคลัง เราก็ต้องรักษาการดาวน์ให้อยู่ที่ 20% หรือเมื่อคิดเป็นมูลค่าโครงการต่างๆ ก็ต้องจ่ายเงินดาวน์เพิ่ม 5,312 ล้านบาท หรือถ้าเอายอดดาวน์งวดแรกมาโปะเพิ่มลงไป ก็ต้องเป็น 35,000 ล้านบาท  

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวด้วยว่า เมื่อจ่ายเงินดาวน์น้อยแล้ว ยอดผูกพันที่จะก่อหนี้ผูกพันมีกันยาวๆ มูลค่ามากกว่า 57,815 กว่าล้านบาท เพิ่มจากเมื่อปี 2566 ราว 2.3 เท่า นี่คือพลังของอินโนเวทินที่ซ่อนหนี้ก้อนโตไว้ ถ้าไม่ตรวจสอบให้ดีเราอาจไม่เห็น 

ชยพล ฝากคำถามถึงสุทิน คลังแสง ว่าถ้างบประมาณไม่เพียงพอ ทำไมไม่ลดโครงการจัดหาอาวุธของกองทัพลงไป ไม่ใช่ปล่อยไว้จำนวนโครงการเท่าเดิม แต่ไปลดยอดเงินดาวน์ เป็นภาระปีต่อไป และถามถึงนายกฯ ว่านี่เป็นการพยายามเอาใจกองทัพใช่หรือไม่ ไหนบอกว่าเป็นการพัฒนาร่วมกัน

ต้องโปร่งใส เปิดเผยเอกสารเกี่ยวกับการกู้ซากเรือสุโขทัย 

ชยพล กล่าวว่า เขาขออภิปรายเรื่องบประมาณการกู้เรือสุโขทัย โดยนำบันทึกข้อความของกองทัพเรือที่นำมาชี้แจงต่อกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ เมื่อปี 2566 ซึ่งมีรายละเอียดเรื่องผู้รับเหมาที่ยื่นเสนอ คุณสมบัติของผู้รับเหมา ส่วนของค่าจ้างและการจ่ายเงิน ฯลฯ

ชยพล ระบุว่า ส่วนที่น่าสนใจคือ ข้อ 2.1.3.2 ซึ่งเป็นส่วนของค่าจ้างและการจ่ายเงินผู้รับเหมานั้น ระบุว่า ‘ต้องส่งมอบเรือหลวงสุโขทัยให้กับทางราชการที่ท่าเทียบเรือ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช อำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี ในสภาพที่ตัวเรือใกล้เคียงกับผลสำรวจตามเอกสาร ‘Detail survey repor’t ชำระคราบโคลนทั้งภายนอกและภายในตัวเรือให้เรียบร้อย ปรับแต่งสภาวะเรือให้มีความปลอดภัย ลอยลำได้ด้วยตัวเอง’

ชยพล ระบุต่อว่า การกู้ซากเรือ การทำความสะอาด ไปจนถึงการปรับสภาวะให้เรือกลับมาลอยได้ เป็นการใช้งบฯ ให้ผู้รับเหมาปรับแต่งเรือปกปิดสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เรือล่มหรือไม่ 

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวถึง รมว.กระทรวงกลาโหม ว่ารายงาน "Detail survey report" (ผลสำรวจเรือล่มสุโขทัย) ยังไม่มีเคยเห็นรายงานนี้เลย นอกจากหน่วยงานในกองทัพเรือ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าการกู้เรือครั้งนี้จะไม่ใช่การกลบเกลื่อนหลักฐาน จึงอยากฝากให้ รมว.กระทรวงกลาโหม ประสานกองทัพเรือเพื่อขอเอกสารรายงานตัวนี้มาเปิดเผยให้ทราบทั่วกัน เพื่อตรวจสอบว่าสาเหตุการล่มที่แท้จริงคืออะไร และสภาพของเรือคืออะไร 

นอกจากประเด็นข้างต้น ชยพล ได้อภิปรายถึงปัญหาการซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน รุ่น S26T ซึ่งกำลังเป็นปัญหาได้เครื่องยนต์ไม่ตรงสเปก และเลยกำหนดส่งมากว่า 94 วัน หรือกว่า 3 เดือนแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลกล้าตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรต่อ แม้ว่าจะไม่ได้ริเริ่มในรัฐบาลเพื่อไทย แต่อำนาจการตัดสินใจอยู่ในมือของรัฐบาลนี้ 

นอกจากนี้ ชยพล ยังฝากให้รัฐบาลว่าการซื้อที่ดีที่ประเทศจะได้ประโยชน์ ต้องคำนึงถึงการจัดซื้อแบบชดเชย หรือ 'offset policy procurement' ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการส่งต่อเทคโนโลยีผ่านการจัดซื้อ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันประเทศต่อไป 

ชยพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการอภิปรายครั้งนี้เขามีข้อเสนอปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม 1. ต้องโปร่งใสในการทำเอกสารชี้แจงงบประมาณ โปร่งใสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล 2. มีวินัย ในการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่ดาวน์ สร้างภาระให้รุ่นลูกหลาน 3. กล้าตัดสินใจ ยึดเอาผลประโยชน์ของไทยเป็นที่ตั้ง และ 4. ตรวจสอบได้ พร้อมเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานไม่ซุกซ่อน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net